อิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ : การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางศาสนา ภาษา และเผ่าพันธุ์


น่าประทับใจกับเยาวชนเรา

งานเขียนนี้เป็นของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เก็บมาให้อ่านกันครับ     เป็นน้องที่ทำงานการศึกษาร่วมกันอยู่เด็กยะลานี่เองครับ ความคิดเป็นไงก็ลองอ่านกันดูแล้วกันครับ

           

อิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ : การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางศาสนา ภาษา และเผ่าพันธุ์

                                                                                                                                มูฮำหมัดราพีร์  มะเก็ง[1]

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คือมิติแห่งความหวังที่ทุกคนอยากจะให้ก่อเกิดขึ้นในเร็ววันต่อสถานการณ์บ้านเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ เป็นมิติที่เราทุกคนต้องหยุดใช้อารมณ์ หรือแม้กระทั่งหยุดใช้เหตุผลที่แต่ละบุคคลก็มีมโนทัศน์แตกต่างกันออกไป มิใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งแต่คือความพึงกระทำของทุกคน หากจะถามว่าแล้วอะไรคือมิติแห่งความหวังที่แท้จริง ผู้เขียนคิดว่า “ความรัก และความเข้าใจซึ่งกันและกัน” อาจเป็นมิติเดียวที่จะน่าเหลียวมองลองทบทวนและตระหนักเพราะหากทุกคนมีความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้วเหตุผลใดๆก็ไม่จำเป็นต้องหยิบยกมากล่าวอ้างต่างๆนานา เช่นนี้แล้วสันติ ก็จะเป็นความหมายของอิสลามอย่างประจักษ์แจ้ง แล้วคำว่า “สังคมานุภาพ” ก็จะก่อเกิดอย่างสมภาคภูมิในเร็ววัน

ศาสนาอิสลามเรียกร้องความยุติธรรม สันติภาพ และยึดมั่นในหลักการแห่งความรัก ความเข้าใจที่เอื้ออาทรระหว่างมนุษย์ อย่าลืมว่า อิสลามปฏิเสธแนวความคิดพฤติกรรมสุดโต่งและความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ความหลากหลายทางศาสนา ภาษา และเผ่าพันธุ์ ถือเป็นพื้นฐานทางธรรมชาติและข้อเท็จจริงของสังคมมนุษย์ โดยที่ความหลากหลายดังกล่าวไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างที่จะสร้างความบาดหมาง และเป็นศรัตรูระหว่างกัน[2] มนุษย์อย่างเราๆถูกกำเนิดมาในสภาพที่มีความแตกต่างกันในหลายๆด้าน และแตกออกเป็นหลายกลุ่มชน หลายเผ่าพันธุ์ แต่นั่นมิใช่จะก่อให้เกิดเป็นเส้นแบ่งที่จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ความหลากหลายดังกล่าวจะนำพาไปสู่การรู้จักกัน ดังที่เรายึดถือกันว่า ต้าอารุฟ (รู้จัก) ต้าฟาฮุม (เข้าใจ) ต้าอาวุน (ช่วยเหลือ)”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการบิดเบือนในหลักคำสอนบางบทบางตอนของกลุ่มคนที่คอยฉกฉวยช่วงชิงพื้นที่ของมวลชนโดยเฉพาะพื้นที่ของปัญญาชนคนหนุ่มสาวอันจะก่อเกิดเรื่องราวอีกมายมายให้ได้เรียนรู้และสัมผัส ขุมพลังทางปัญญาของมวลชนกลุ่มนี้เปรียบดั่งใบไม้ที่ต้องลม จิตใจสั่นไหวไปมามากกว่าจะยืนหยัดอย่างถูกต้อง ความปรองดองที่ควรจะเป็นกลับกลายเป็นการเข่นฆ่าไม่เว้นแม้แต่ละวัน สิ่งสำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่ว่า มิติของความแตกต่าง คือสิ่งที่จะนำมาสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้น จนหลายครั้งผู้เขียนก็มานั่งขบคิดว่า บางครั้งเรื่องบางเรื่องก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น เพียงธรรมดาของเส้นแบ่ง แห่งมิติความแตกต่างทางศาสนา ภาษาและเผ่าพันธุ์ เรื่องราวที่ว่านั้นถึงได้ก่อเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนใครต่อใครต่างโจทย์ขานกันถึงความโหดร้ายของอิสลาม จนกลายเป็นโรคที่แพร่ระบาดทั่วทุกแห่งหนตำบล นั่นก็คือโรคกลัวอิสลามหรือที่เรียกว่า “อิสลามโฟเบีย” ทั้งๆที่อิสลามสอนให้นอบน้อมต่อทุกคนแม้จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันก็ตาม คำถามคือ ประวัติศาสตร์อิสลามเคยมีหลักฐานใดบ้างปรากฏถึงการมีชีวิตร่วมกันกับคนต่างศาสนิก คำตอบคือ ...ในประวัติศาสตร์อิสลามปรากฎความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมทั้งผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยเช่นเดียวกัน เช่น พบว่ามีการใช้บ่อน้ำร่วมกันระหว่างท่านเราะสูล (ศ็อลฯ) และเศาะหาบะฮฺกับชาวยิวขณะอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ เมื่อท่านเราะสูล (ศ็อลฯ) วะฟาต (เสียชีวิต) พบว่า มีอุปกรณ์การทำสงครามของท่านเราะสูล (ศ็อลฯ) ถูกจำนองไว้กับชาวยิว ทั้งสองกรณีนี้ยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงแบบอย่างความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมที่ท่านเราะสูล (ศ็อลฯ) เคยปฏิบัติ[3]

จากข้อความหลักฐานดังกล่าวข้างต้นสื่อให้เห็นว่า หลักคำสอนของศาสนาอิสลามยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การกระทำหรือคำกล่าวใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามเกลียดชังรังเกียจศาสนิกในศาสนาและชาติพันธุ์อื่นๆไม่ใช่หลักคำสอนของอิสลาม[4] อย่าลืมว่าถ้าคนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆหันมาฆ่ากันเองต่อไปจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง

มาเถอะครับมาร่วมกันมองความแตกต่าง เป็นความหลากหลาย มองความหลากหลายเป็นความมากมายทางความคิด มองความมากมายทางความคิดเป็นสิทธิอันพึงมีของมวลมนุษยชาติ ลดทอนประวัติศาสตร์ที่ขาดซึ่งข้อเท็จจริง ทิ้งร่องรอยให้เหลือเพียงความทรงจำที่ควรเล่าขาน มากกว่าการสร้างเรื่องราวความบาดหมางทางจิตใจให้ลูกหลาน เพราะถึงแม้วันวานจะเป็นอย่างไร เราก็คือคนไทยที่เป็นไท อย่างสมภาคภูมิในพื้นแผ่นดินนี้ ผืนแผ่นดินที่ธงไตรรงค์จะยังคงโบกสะบัดพัดไปมา บ่งบอกถึงกาลเวลาที่เลิศล้ำค่ากับคำว่า “สยามประเทศ” สู่ความเป็นเขตคาม “ประเทศไทย” อาจจะต่างเชื้อชาติ อาจจะต่างศาสนา อาจจะต่างที่มาที่ไป แต่ทุกคนก็คือคนไทย

ขอเถอะครับแม้สังคมทุกวันนี้จะเป็นเช่นไร ขอให้หัวใจทุกๆดวงของคนในพื้นที่มีที่ว่างแห่งความรักให้เหลือได้คิดพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรอง สร้างความปรองดองต่อเพื่อนผองน้องพี่ให้ก่อเกิดเป็นรูปธรรม ผู้เขียนเชื่อว่าความสันติจะก่อเกิดซึ่งศานติเป็นแน่แท้ ด้วยความหวังและดุอาอฺ[5] ดั่งบทประพันธ์ที่ว่า                         

สังคมไทยทุกวันนี้มีหลายหลาก                       มากกว่ามากสารพันแห่งปัญหา

                                ความเป็นน้องเป็นพี่เคยมีมา                                             วันเวลาจะยิ่งพรากให้จากไกล

                                ถึงเวลาที่พวกเราต้องร่วมกัน                                            สมานฉันท์รักชาติศาสน์ไหนไหน

                                ไม่แบ่งแยกความแตกต่างชนชาติใด                               เราคนไทยควรปรองดองพี่น้องกัน

                                คือยึดมั่นความสัตย์ซื่อถือสุจริต                                        พร้อมย้ำคิดก่อเกิดเลิศสร้างสรรค์

                                ตระหนักถือความเป็นธรรมสิ่งสำคัญ                             จดจำวันเราทั้งผองครองค่า ไท

                                เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง                                       สร้างพลังศักดิ์และศรีมิหวั่นไหว

                                สมานฉันท์สามัคคีมั่นคงไว้                                              ร้อยดวงใจสู่ศานติ ในพื้นที่ฯ[6]

                ผู้เขียนอยากให้ทุกคนยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องแล้วพึงปฏิบัติอย่างจริงจัง ข้อมูลในหนังสืออิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ จะเป็นประตูอีกบานหนึ่ง อาจจะไม่ใช่แค่ที่พึ่ง แต่อาจจะเป็นหนึ่งหนังสือสำคัญที่ปัญญาชนไม่ใช่แค่ควรอ่านแต่ต้องอ่านให้ถ่องแท้ แต่หากอ่านอย่างถ่องแท้แล้วปล่อยให้ตัวหนังสือเพียงบอกผ่านความเป็นจริงให้รับรู้โดยปราศจากการปฏิบัติตาม ความวุ่นวายก็จะยังคงอยู่ไม่มลายหายไป เว้นแต่ใครคนใดคนหนึ่งจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรียงความเรื่องนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสืออิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ไปเผยแพร่ แก้ไขข้อผิดพลาดทางความคิดที่ผ่านๆมา เชื่อแน่ว่า เวลาแห่งการรอคอยความศานติจะมิใช่แค่การรอคอยอย่างลมๆแล้ง อย่าลืมว่าท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “จงเผยแพร่แม้เพียงอายะห์เดียวก็ตาม” ฉะนั้นแล้วจะช้าอยู่ใยกับสิ่งที่ควรจะเป็น

 



[1] นักศึกษาสาขาวิชาเอกเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[2] หนังสืออิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ หน้าที่ 16

[3] หนังสืออิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ หน้าที่ 17

[4] หนังสืออิสลามกับความจริงที่ต้องรู้ หน้าที่ 17

[5] การขอพรจากพระเจ้า

[6] บทประพันธ์โดย อาจารย์สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร  คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

หมายเลขบันทึก: 216716เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาติดตามอ่านครับ

เมื่อเราเดินทางไปในสวนแห่งหนึ่งที่มีดอกไม้หลากชนิด ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับความสวยงาม ของดอกไม้ที่มีอยู่ในสวน

เช่นเดียวกัน ความหลากหลาย ในสังคม เป็นความสวยงาม เช่นเดียวกับ สวนดอกไม้ครับ

---------------------------------------------

***บันทึกนี้มีประโยชน์กับงานศึกษา วิจัย ของผมมากครับ

ขอบคุฯพี่เอกมากครับ

1. จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร งานวิจัยของพี่มีอะไรจะให้ช่วยก็บอกนะครับ เผื่อผมมีข้อมูลอยู่บ้าง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความหลกหลายของสวนดอกไม้ ครับ

สมานฉันท์รักชาติศาสน์ไหนไหน

ไม่แบ่งแยกความแตกต่างชนชาติใด

เราคนไทยควรปรองดองพี่น้องกัน

เป็นความจริงที่อยากให้มีในทุกวันนี้มากเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นจริงๆ ส่งเข้าประกวดงานฮิญาบ สีเทากับเคราหลากสีด้วยหรือเปล่าค่ะ ใช้ภาษาได้สวยจริงๆ สมแล้วที่เป็นมือขวาของอาจารย์

ขอบคุณ

คุณ

3. มนัสนันท์ มากครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

และ

4. [email protected] ไม่ได้ส่งเข้าประกวดเพราะงานชิ้นนี้ส่งประกวดของ ศอ.บต. ก่อนแล้ว ก็น่าเสียดายเหมือนกัน

จากประสบการณ์และการสังเกตสังคมรอบข้าง และในฐานะที่เป็นคนสอนด้านนี้

ความแตกแยกทั้งหมด แม้กระทั่งการรายอไม่เหมือนกันของปีนี้(หรือปีไหนๆ) เหตุผลใหญ่ คือ ปัญหาทางจิตวิทยา

อย่างรายอปีนี้ที่แตกต่างกันเพราะไม่อยากตามเขา เลยไปตามคนอยู่ไกล

อยาก... ไม่อยาก.. อันนี้ที่ต้องแก้

อภัย เข้าใจ รัก และร่วมมือกัน อย่างที่ คนเขียนเขียนมานั้นแหละครับ

ขอบคุณ อาจารย์มากครับ

6. Ibm ครูปอเนาะ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้ง ขออัลลอฮฺให้อาจารย์ดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ น่าชื่นชมอาจารย์จริงๆผมทราบว่าอาจารย์กลับมาทำงานแล้ว ยังไงก็รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

มาให้กำลังใจน้องคะ เพราะจบ มอ.ปัตตานีเหมือนกัน ทั้ง 3 จังหวัด เป็นเมืองน่ารัก ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ เป็นส่วนผสมที่งดงาม ทุกวันนี้ยังไม่เคยลืมทุกเส้นทางที่เคยขี่มอร์ไซต์ ไปเที่ยว ไปหาเพื่อน ไปออกค่าย

อยากให้เมืองเล็กๆทั้ง 3 จว.ชายแดนภาคใต้ กลับมาสงบร่มเย็นเหมือนหลายหัวใจที่หวังเช่นกันคะ

ขอบคุณมากครับ

8. โคสิน และยินดีที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท