สุขได้ เดี๋ยวนี้!..


คนเหล่านั้นแสวงหาความสุข แต่กลับสร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วจะสุขได้อย่างไรกันหนอ

ชีวิตจะสุขได้ต้องรู้เท่ารู้ทัน รู้เท่ารู้ทันที่ว่านี้ ก็คือรู้ไตรลักษณ์ หรือเรียกอีกอย่างว่า  สามัญลักษณะ คือลักษณะที่ทั่วไป หมายความว่ามีเหมือนกันทุกผู้ทุกนามทั่วสากลจักรวาล ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้  หลัก 3 อย่างนั้น  เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครเลยที่จะฝืนได้ มีผู้ที่พยายามจะฝืนหลักนี้มากมาย   แต่ก็ไม่มีใครสามารถฝืนหลักนี้ไปได้  แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังไม่พ้นจากหลักความจริงอันนี้  หลักที่ว่านี้คือหลัก อนิจจัง  ทุกข์ขัง  อนัตตา นั่นเอง   อนิจจัง คือความไม่เที่ยง   ทุกข์ขัง คือ ความเป็นทุกข์   อนัตตา คือ ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน   นี้เป็นหลักสัจธรรม  ถ้าเราเข้าถึงไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว  ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ของเรายังไม่มุ่งถึงขนาดนั้นก็ได้ เอาแค่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต แล้วเราจะได้มีทุกข์น้อย ๆ ไม่ถึงกับว่าสิ้นทุกข์  แต่เมื่อยังทุกข์อยู่ก็ให้ทุกข์น้อย ๆ บางคนอย่าว่าแต่เข้าใจ  กลับพยายามเปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา เป็นว่า เที่ยงแท้ เป็นสุขและมีตัวตน  ก็เลยมีทุกข์เยอะกันเต็มบ้าน      เต็มเมือง    ทีนี้   มาดูกันตามลำดับ

                      J ประการแรก   อนิจจัง  คือ ความเป็นของไม่เที่ยง  อันนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจน ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญารู้จักคิดไตร่ตรองก็จะเห็นได้ ว่ามันเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน  ถ้าพิจารณาหยาบ ๆ ก็คือ เกิดแล้วตาย ไม่มีใครเกิดแล้วไม่ตาย ไม่สามารถอยู่ชั่วนิรันดร์ได้  ถ้าพิจารณาอย่างกลางก็คือ  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป   ได้แก่  เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลางและดับไปในที่สุด  นี่เราก็จะเห็นได้อย่างที่ตัวเราเปลี่ยนแปลงจากเด็กทารกเป็นเด็กโต  เป็นวัยรุ่น  วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน แก่ชราและก็ถึงสิ้นชีวิต  ต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่เที่ยงแท้ นี่เป็นอย่างกลาง ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดก็คือว่า มันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะเวลา ในทางธรรมกล่าวไว้ว่าทุกขณะจิตไวมาก  ไวยิ่งกว่าวินาที  เป็นเศษเสี้ยวของวินาที  ไม่มีอะไรที่อยู่คงที่   สิ่งที่เราเห็นเหมือนกับว่าคงที่   เช่น  ก้อนหิน  เหล็ก อะไรต่าง ๆ นั้น    แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่นิ่ง  ถ้าอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ก็จะเห็นได้ชัดเช่นกัน  ซึ่งจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านก็รู้  ท่านก็ตรัสไว้เหมือนกัน  แต่ท่านไม่ได้ใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์  ท่านใช้ศัพท์ภาษาบาลี  พวกอะตอม พวกโมเลกุลนี้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้แล้ว เรื่องปรมาณูก็เคยตรัสไว้แล้ว แม้แต่ในอะตอมหนึ่ง ๆ ก็ยังประกอบด้วยโปรตรอน นิวตรอน อิเล็กตรอน  อิเล็กตรอนก็วิ่งวนอยู่รอบ ๆ นิวเคลียส  ซึ่งเป็นโปรตรอนกับนิวตรอน มันไม่เคยหยุดนิ่งมันวิ่งจี๋เคลื่อนที่อยู่ทุกขณะ นั่นแหละคือหลักอนิจจัง ร่างกายของเราก็เหมือนกัน ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ในแต่ละเซลมันทำงานอยู่ตลอด อย่างเลือดนี่ก็ไหลเร็วมาก ถ้าขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์ เราก็จะเห็นเลือดวิ่งจี๋เลยไม่ได้หยุดหย่อน   คนเราเกิดและตายอยู่ทุกขณะ

                      ยกตัวอย่าง  สมมติว่าตอนเราเกิดมาใหม่ ๆ มีคนมายืมจากแม่เรา ยืมไปอุ้มหน่อย   อุ้มไปครู่เดียว  แล้วเอาตัวโต ๆ อย่างตอนนี้ไปคืนให้แม่เรา   แม่เราบอกว่าไม่ใช่  ไม่ใช่ลูกฉันแน่นอน   หัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ไม่ใช่  แต่เพราะกาลเวลาเปลี่ยนแปลงทีละนิดเติบโตสืบเนื่องมา   เราจึงคิดว่าเป็นคนเดิม   จริง ๆ แล้ว  ถ้าว่ากันตามตรงเด็กคนนั้นได้ตายไปแล้ว เซลในสมัยนั้นแทบจะไม่เหลือแล้วนะ  รูปร่างก็ต่างกัน  น้ำหนักส่วนสูงก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ   กายมันจึงไม่ใช่แล้ว  รวมถึงจิตของเราก็เหมือนกัน  มันไม่เคยหยุดนิ่ง  มันก็เกิดดับสืบเนื่องทุกขณะเช่นกัน  นี่คือความไม่เที่ยง  ไม่มีใครที่จะข้ามพ้นได้   ถ้าเราเข้าใจหลักอันนี้ย่อมเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นความเป็นจริงของธรรมชาติ  อย่างเช่น เกิดผมหงอกขึ้นบนศีรษะ  แปลกไหม  ผิดธรรมชาติไหม  ต้องไปเดือดร้อนกับมันไหม ถ้าเราอยากให้ดูดีจะย้อมก็ได้ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าไปเดือดร้อน อย่าไปคิดมาก  อย่าไปเป็นทุกข์อะไรกับมัน รับรู้มันตามความเป็นจริง  แล้วแก้ไขเท่าที่จะทำได้  แค่นั้น  ไม่ต้องทุกข์ ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องไปทุกข์กับมัน   แค่รับรู้มันเฉย ๆ   ยิ่งไปกว่านั้น  จะเห็นได้ว่า  ทั้งกายและจิตเกิดดับเร็วมาก  นั่นคือ คนเราเกิดชาติใหม่ (ชาติ-ชาตะ  หมายถึง  การเกิด) ทุกขณะ  ฉะนั้น  คนที่เคยพลาดพลั้ง  ทำผิดทำชั่ว  อย่าไปมัวเสียใจว่า ชาตินี้เอาดีไม่ได้    ฉันเป็นคนชั่ว  เป็นคนบาป  โศกเศร้าตรอมตรมจมอยู่กับอดีตทั้งชีวิต  รอแต่การเกิดใหม่รอโอกาสแก้ตัว  ชาติหน้าหวังใจว่า  ฉันจะตั้งใจเป็นคนดี  หรือบางคนถึขนาดต้องฆ่าตัวตาย  อย่าเลย !  ขณะที่เข้าใจธรรมบรรยายนี้  คุณเกิดชาติใหม่แล้ว   ขอเชิญมาร่วมกันทำความดีเดี๋ยวนี้เถิด  คุณเกิดใหม่แล้ว  จริง ๆ !  (การเกิด(ชาติ) การตาย (มรณะ) มีทุกขณะ  อย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า  ไม่ต้องรอถึงชาติหน้าชาติไหน  วันนี้เดี๋ยวนี้  ก็เกิดตายอยู่ทุกขณะเวลา)

                  J ประการที่สอง  ทุกขัง  ได้แก่  ความเป็นทุกข์  ถ้าอธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ ความทุกข์กาย  ทุกข์ใจที่เราได้รับ  แต่ถ้าอธิบายโดยลึกซึ้งแล้วสิ่งไม่มีชีวิตก็เป็นทุกข์ได้ ความเป็นทุกข์นั้นหมายความว่าไม่สามารถจะคงสภาพเดิมได้ คือ เมื่อมันไม่เที่ยงแล้วมันก็เป็นทุกข์     มันต่อเนื่องกันอย่างนี้  ไม่อาจคงสภาพเดิมได้  เราไม่อาจเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดกาลได้  ไม่อาจมีความสุขตลอดกาลได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ   อาการที่ถูกบีบคั้นโดยความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถคงสภาพเดิมได้นี้  เรียกว่า ทุกข์   อย่างเช่น   หนังสือก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หนังสือที่เราพิมพ์ขึ้นมารวบรวมเป็นเล่มก็ถือว่าเกิดแล้ว ใช้ไปๆ ก็เริ่มเก่า  ก็คือมันแก่  จากนั้นก็เริ่มฉีกขาดหลุดรุ่ย  ก็คือเจ็บ สุดท้ายก็ตาย คือ สูญสลายไป    พระเถรีท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า   ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป   ความจริงแล้ว  อาการที่สุขเกิดขึ้น มันเป็นเพียงอาการของทุกข์ที่น้อยลงเท่านั้นเอง เหมือนเราเดินกลางแดด อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส  พอไปถึงใต้ร่มไม้อุณหภูมิ  35  องศา   เราก็ เอ้อ! ค่อยยังชั่ว  รู้สึกเป็นความสุข จริง ๆ   แล้วเป็นแค่อุณหภูมิที่ลดลงมาเท่านั้นเอง ที่จริงก็ยังร้อนอยู่   เพราะฉะนั้น   อาการสุขคือทุกข์ที่น้อยลงเท่านั้นเอง  คนส่วนใหญ่ปรารถนาความสุข แต่เขาไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร สุขที่แท้จริงคือ การไม่ถูกกิเลสบีบคั้น  คือว่างจากกิเลส   อยากโน่นอยากนี่ แล้วได้สมปรารถนา มันก็ยังทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา ทุกข์เพราะการรักษา และทุกข์เพราะการเสียไปอยู่ดี สุขที่แท้จริงคือ สุขด้วยการว่างจากกิเลส มีคนถามหลวงพ่อรูปหนึ่งว่า  หลวงพ่อทำยังไงจึงจะไม่เป็นทุกข์    หลวงพ่อตอบว่า   ก็อย่าไปสุขมันเลย   ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี มีผู้หญิงพากันมาถือศีลในวันพระ นางวิสาขาก็ไปถามผู้หญิงที่มีอายุต่าง ๆ กัน ถามเด็กรุ่นสาวว่าทำไมมาถือศีลฟังธรรม สาว ๆ ก็บอกว่า อยากได้อานิสงส์จะได้แต่งงานไว ๆ  มีสามีดี ๆ  ไม่อยากขึ้นคาน  พอไปถามผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกแล้ว พวกเธอก็ตอบว่า เพราะอยากจะหลีกหนีจากภาระที่บ้าน เบื่อลูก เบื่อสามี เลยมาอยู่วัดซักวันค่อยยังชั่ว  พอไปถามคนแก่   คนแก่ตอบว่า  เมื่อตายแล้วอยากไปสวรรค์เลยมาถือศีลฟังธรรม นางวิสาขาไปทูลพระพุทธเจ้า   พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่า ในคนเหล่านี้ทั้งหมดเหมือนกับโคที่เขานำไปสู่โรงฆ่าสัตว์ แต่ละก้าวของมนุษย์ที่เดินไปนี้  นำไปใกล้ความตายทุกขณะ  แต่ไม่มีใครเลยปรารถนาความสิ้นทุกข์ ไม่มีใครเลยที่ถือศีลฟังธรรมปฏิบัติธรรมด้วยความปรารถนาหมดกิเลส ปราศจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีเลย   คนเหล่านั้นแสวงหาสุขที่เจือด้วยทุกข์    

ในสังคมปัจจุบันก็เหมือนกัน  มนุษย์ทั้งสิ้นล้วนแสวงหาสุขที่เจือด้วยทุกข์  คือ แสวงหาลาภ  ยศ  สรรเสริญ  เช่น  ความมั่นคงทางทรัพย์สิน   ครอบครัวที่อบอุ่น  ตำแหน่งหน้าที่การงาน  วุฒิการศึกษาสูง ๆ  ความนิยมยกย่องต่าง ๆ ฯลฯ  แทบไม่มีใครเลยที่พยายามว่างจากกิเลส  และถ้าแสวงหาโดยไม่เลือกวิธีการด้วยแล้วก็ยิ่งซ้ำร้าย  คนเหล่านั้นแสวงหาความสุข  แต่กลับสร้างเหตุแห่งทุกข์  แล้วจะสุขได้อย่างไรกันหนอ  มนุษย์ที่น่าสงสาร   จงปรารถนาความสิ้นกิเลสเถิด  นั่นคือบรมสุขอย่างแท้จริง

J ประการสุดท้าย  เป็นหลักธรรมสูงสุด ได้แก่  อนัตตา  คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน  คนส่วนใหญ่คงจะค้านหัวชนฝาเลยว่าไม่มีตัวตนนั้น เป็นไปได้อย่างไร แล้วที่พูดอยู่นี้   ฟังอยู่นี้ใครล่ะ  ถ้าไม่ใช่ตัวตนแล้วคืออะไร    แท้จริงแล้ว  สังขารคือของสมมติชั่วคราว  เป็นของที่ยืมมาจากธรรมชาติทั้งนั้น  สิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตทั้งหลาย ล้วนเป็นเพียงธาตุที่ประชุมรวมกันเท่านั้น  ธาตุในทางวิทยาศาสตร์มีอยู่ไม่น้อยกว่า 105 ธาตุ   แต่ในทางพุทธศาสนา ท่านรวมสรุปเป็น 4 ประเภท  คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรที่เป็นของแข็งจัดเป็นดิน ของเหลวจัดเป็นน้ำ พวกก๊าซ อากาศ จัดเป็นลม  อะไรที่เป็นอุณหภูมิ จัดเป็นไฟ เพราะฉะนั้นร่างกายของเราเกิดขึ้นมาจากธาตุ 4   จากเด็กเล็ก ๆ จนโตมาขนาดนี้  โตมาด้วยอาหารทั้งนั้น   ถ้าเราไม่กินเข้าไปก็ไม่โตขนาดนี้  ไม่มีชีวิตถึงทุกวันนี้   เพราะฉะนั้น  เรายืมเขามา พอตายแล้วเป็นไง เอาไปเผาบ้าง ฝังบ้าง มันก็คืนสู่ดิน คืนสู่ธรรมชาติ มันเป็นของยืมมา เหมือนอย่างรถ ตรงไหนคือรถ พวงมาลัย หลังคา เบาะ ตัวถัง เครื่องยนต์ ฯลฯ  หรือว่าส่วนไหน ชี้ซิส่วนไหนคือรถ  แต่ละส่วนไม่ใช่รถแต่ประกอบกัน จึงสมมติเรียกว่ารถ แยกออกไป ถอดชิ้นส่วนออกให้หมด ความเป็นรถก็ไม่มีแล้ว ตัวเราก็เหมือนกัน  หูรึคือเรา  จมูก ฟัน ปาก หัวใจ  ตับ ไต ไส้  แยกมาดู  ความเป็นตัวเราไม่มี  ประกอบกันเข้าจึงสมมติว่าเป็นคนชื่อนี้ก็เท่านั้นเอง  เพราะฉะนั้น  ตัวตนที่แท้จริงจึงไม่มี  ที่เราทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะตัวตน  เพราะว่าเราบำรุงบำเรอตัวตนทั้งนั้น  อยากได้ของเย็น  อยากได้ของอร่อย อยากได้สัมผัสที่อ่อนนุ่ม  อยากได้เสียงที่ไพเราะ  ล้วนอ้างอิงกับตัวตน  ตัวเราอยากได้  แต่ถ้าเราละความเป็นตัวตนได้ก็สบายไปเยอะ  แบบไหนก็สุขได้  มันล้วนเป็นสิ่งธรรมชาติทั้งนั้นเลย จะร้อนจะเย็นเป็นเพียงความรู้สึก  จะอิ่มไม่อิ่ม  จะอร่อยไม่อร่อย  แยกกันที่ลิ้นที่รสชาติ  เราไปยึดถือมันเพราะตัวตนเท่านั้นเอง ใครจะตายตั้งร้อย  พัน  หมื่น เราไม่รู้สึก   แต่พอเติมคำว่า ของเรา เข้ามาปุ๊บ เดือดร้อนเลย ของใครหายไม่รู้สึกเท่าไร พอของเราขึ้นมาละก็เดือดร้อนเลย ขออภัยบิดาใครเสียไปนี่ ก็เออเสียใจด้วยนะ แต่พอบอกบิดาของเราอยู่ไม่ติดเลย เต้นผางเลย   ทำงานไม่ได้เลย  แฟนใครไปไหนไม่เดือดร้อน  แฟนเราขึ้นมาเนี่ย โอ้โห!  นั่งไม่ติดนะ  ก็เพราะคำว่าของเรานี่เอง    แท้จริงแล้ว  ตัวเราไม่มี  เมื่อตัวเราไม่มีแล้ว  ของเราจะมาจากที่ไหน  ใครที่มานินทาเรา  มาทำให้เสียหน้า เสียอะไรอย่างนี้ หน้ามันจะมีจากไหน มันไม่มี ตัวตนมันไม่มี เท่านี้ก็จบ ใครด่าใครก็เป็นทุกข์  ใครพูดคำหยาบก็บาปไป เราไม่โกรธเราก็ไม่เป็นทุกข์ เราไม่พูดคำหยาบเราก็ไม่บาป

เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจไตรลักษณ์  ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว ถึงยังไม่หมดกิเลสก็เป็นทุกข์น้อย ทุกข์อยู่แต่ทุกข์น้อย ๆ มีคำกล่าวว่า นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ  มนุษย์อยู่ในโลก  แต่ไม่รู้จักโลก  บัดนี้เรามีตาแล้ว มีทั้งตาเนื้อ และตาในคือปัญญา  บัดนี้เราจะเป็นผู้ที่ไม่หลงโลก  รู้จักโลก  ก็จะไม่ต้องเต้นไปตามกิเลสต่างๆ  แม้ยังอยู่ในโลก เราก็จะเป็นผู้สงบ  คือ  ภายนอกเคลื่อนไหวแต่ภายในนั้นสงบ   ให้ใช้หลักที่ว่า กอบัวเกิดจากโคลนและอาศัยน้ำ  แต่โคลนและน้ำไม่สามารถแปดเปื้อนดอกบัวได้   เราเกิดและอาศัยอยู่ในโลกที่    เต็มไปด้วยทุกข์ เต็มไปด้วยกิเลส   เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย  แต่เราไม่ทุกข์เราไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส เราไม่สับสน เราไม่วุ่นวาย เหมือนที่ยสกุลบุตรเดินไปบ่นไปว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ  พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า  ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ   เชิญมาทางนี้   เมื่ออ่านธรรมบรรยายนี้จบแล้ว  อาตมาขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลาย อยู่อย่างสุขสงบท่ามกลางโลกที่วุ่นวายนี้เถิด

ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่  033  ประจำวันพฤหัสบดี ที่  7 - 14  มิถุนายน  2550

หมายเลขบันทึก: 216455เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • นมัสการค่ะ
  • มารับหลักธรรมเพื่อความสงบจิตสงบใจในวันออกพรรษาค่ะ

สาธุคะ....พระอาจารย์

เทศน์ได้ใจมากค่ะท่าน

ชี้แนะให้อยู่อย่างสุขสงบท่ามกลางโลกที่วุ่นวายได้

โดนไปเต็มๆ...

กราบนมัสการพระอาจารย์ สาธุ สาธุ สาธุ

เกิดดับ ใช่แล้วค่ะ เกิดดับ โลกดำเนินไป เกิด แล้วมันก็ดับ ดับในสรรพสิ่ง ดับ ความคิดฟุ้งซ่าน เกิดความคิดใหม่ แล้วก็ดับแล้วก็เกิด อยู่อย่างนี้ บางครั้งเกิดแล้วสุข บางครั้งเกิดแล้วทุกข์ ดับแล้ว ดับ ดับแล้วคงความดับ ดับแล้วดับดับ ไม่ร้อน เฉยไหม เหมือนเฉยดูลมเหมือนเฉย แต่ไม่เฉยก็ยังเกิดดับ เกิดดับ

สาธุ บทความเตือนสติค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

ธรรมะที่ท่านเสนอและแสดง... เป็นสิ่งดีที่ ควรแก่การสดับ...เป็นอย่างยิ่ง

เพราะเป็นไปเพื่อความสงบ...ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่มีสุขใดเสมอเหมือน

ขอให้พระสัทธรรมดำรงอยู่สิ้นกาลนาน

ขอให้พระสงฆ์สุปฏิปันโนดำรงอยู่มิขาดสาย

ขอเหล่าสัตว์จงพบทางสุขทั่วทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ด้วยเทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท