ว่าด้วย "ประโยชน์โดยรวมของสังคม"


ไม่ว่าการกระทำใดที่มุ่งประโยชน์เพื่อสังคมโดยรวม "ต้นทุนที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อแลกมาซึ่งประโยชน์นั้นจะต้องไม่รวมความบาด เจ็บและล้มตายของชีวิตมนุษย์เป็นอันขาด " เพราะไม่เช่นนั้น การกระทำดังกล่าวได้เสียความชอบทำในการอ้างว่าทำเพื่อสังคมไปแล้ว

วันก่อนเขียนบล๊อกแล้วคุณพ่อมาคอมเมนต์และตั้งคำถามที่น่าสนใจเอาไว้ว่า จริงๆแล้วประโยชน์โดยรวมของบ้านเมืองคืออะไร?  ประโยชน์ของบ้านเมืองคือสิ่งที่แต่ละฝ่ายมักอ้างถึง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตร ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือโดยนัยก็ตาม ผู้เข้าร่วมชุมนุมย่อมรู้สึกลึกๆว่าการออกไปร่วมประท้วงคือการทำเพื่อชาติ เพื่อสังคม เพื่อในหลวง ฝ่ายรัฐบาลเพื่ออ้างความชอบธรรมก็มักจะอ้างประโยชน์ที่ว่านี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำอะไรต่างๆเสมอ  ในที่นี้ผมจะจับคำว่า บ้านเมือง เท่ากับ สังคม ถือว่าเป็นคำความหมายเดียวกัน

พอพูดถึง "สังคม"  โดยมากเราก็มักจะนึกถึง "ประชาชน" แต่ใครบ้างถูกนับรวมเป็นประชาชน ? ผมเชื่อว่าในแว่บแรกๆ เราทุกคนคิดว่าตัวเราเองเป็นประชาชน แล้วใครไม่ใช่ประชาชน ผมว่าเรามักจะคิดกลายๆว่า รัฐบาลไม่ใช่ประชาชน ตำรวจไม่ใช่ประชาชน ผู้พิพากษาไม่ใช่ประชาชน นายทุนไม่ใช่ประชาชน

... แต่เอาเข้าจริงๆ ทุกคนก็เป็นคนไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ทั้งนั้น มีบัตรประจำตัวประชาชนทั้งนั้น (เว้นข้าราชการสมัยก่อน) ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย พูดภาษาไทย ผูกพันกับประเทศไทยด้วยกันทั้งนั้น ... สำหรับผม ผมคิดว่าทุกคนเป็นประชาชน

รัฐบาล ตำรวจ ผู้พิพากษา ส.ส. หรือ ส.ว. นักธุรกิจ นายทุน ฯลฯ ต่างก็เป็นประชาชนเมื่อเขาถอดเอาหัวโขนออกไปแล้วทั้งสิ้น ที่แตกต่างจากเราทุกคนก็คือ เขามีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่เรายินยอมมอบให้เขาเป็นธุระจัดการความสงบเรียบร้อย และความเจริญงอกงามของสังคม ให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรมเท่านั้นเอง

ประชาชน หลายๆคน ที่มีการปฏิสัมพันธ์กันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม รวมกันเป็น "สังคม"(ขอนิยามเป็นเบื้องต้นในที่นี้ และจะไม่ไปลงลึกถึงนิยามของคำว่าสังคมในที่นี้)  แต่ว่า ต้องคนเยอะขนาดไหน ถึงจะเรียกว่า "สังคม" ?  600 คนหน้าทำเนียบ นับเป็นสังคมหรือไม่?  หมื่นคนแสนคนที่ชุมนุมกับพันธมิตรฯเป็น "สังคม"หรือไม่  คนเรือนล้านที่เป็นแนวร่วมพันธมิตร นับได้ว่าเป็น "สังคม" หรือไม่ คนเป็นเกือบสิบล้านที่เลือกพรรคพลังประชาชนถือเป็น "สังคม" หรือไม่ ?  ... ใครคือ สังคม?​ ... เครือข่ายของส.ส. และหัวคะแนนที่อาจนับได้กว่าพันกว่าหมื่นชีวิตทั่วประเทศ ถูกนับรวมในสิ่งที่เรียกว่า "สังคม" นี้หรือไม่ ?​

ระหว่างที่นั่งเขียนอยู่นี้ ในบัดดล ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมา ... นั่นคือ ความคิดเกี่ยวกับคำว่า "สงฆ์" 

คำว่า "สงฆ์" หมายความว่า หมู่ , ชุมนุม  (http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%A7%A6%EC#find9 )  คำว่า สงฆ์ นี้ใช้มากในพระพุทธศาสนาในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา ในที่นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นที่เรากำลังพูดถึง อยากจะยกคำว่า "สังฆทาน" มาพิจารณา

คำว่า สังฆทาน หมายความว่า ทานเพื่อสงฆ์  คือ การถวายเป็นกลางๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%A7%A6%B7%D2%B9 )   บนพื้นฐานของคำว่า "สงฆ์" และ "สังฆทาน" ... ผมคิดว่าเราน่าจะสามารถเปรียบเทียบกับคำว่า ประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อบ้านเมืองได้กลายๆ

จากจุดนี้ ผมคิดว่าความหมายที่ชัดที่สุด ของการทำประโยชน์เพื่อสังคม (หรือเพื่อบ้านเมือง หรือเพื่อส่วนรวม) นั้น  หมายถึง  "ประโยชน์ที่ทำแล้วส่งผลเป็นกลางๆไม่จำเพาะเจาะจงไปที่คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง"  หรือ ถ้าพูดอีกอย่างคือ  "หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นและบอกว่าเป็นไปเพื่อสังคมแล้วล่ะก็ คนทุกหมู่เหล่าควรจะสามารถเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งๆนั้นได้โดยเสมอหน้ากัน"  ไม่ว่าจะเป็นประชาชน  นักการเมือง  ผู้พิพากษา  ตำรวจ  ควรจะสามารถเข้าถึงประโยชน์จากการกระทำนั้นๆได้  เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง สินค้าสาธารณะ (Public Goods) ที่ไม่สามารถกีดกันผู้ทีไ่ด้รับประโยชน์ได้ (Non-excludable)  (เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของสินค้าสาธารณะ อีกคุณสมบัติคือ การบริโภคของคนหนึ่งไม่ไปจำกัดการบริโภคของอีกคนหนึ่ง (Non-rivalry))

สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้วประโยชน์ตกแก่คนบางกลุ่ม หรือประโยชน์นั้นไม่สามารถเข้าถึงได้โดยหรือเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มอื่นๆ นั่นย่อมไม่ใช่ประโยชน์ต่อสังคมเป็นแน่ ... จุดสำคัญ อยู่ที่เจตนารมย์ และผลลัพธ์จริงของการกระทำนั้นๆ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของใครก็ตามที่ต้องการ และคนสามารถเข้าถึงประโยชน์นั้นได้โดยเสมอหน้ากันหรือไม่  ...

ในทางกลับกัน ผมคิดว่า การเข้าถึงประโยชน์นี้ควรจะเป็นไปโดยสมัครใจด้วย คือ ไม่ใช่ทุกคนถูกบังคับหรือยัดเยียดให้รับผลของการกระทำนั้น (ซึ่งเชื่อว่าเป็นประโยชน์) เพราะสิ่งนั้นอาจไม่เป็นประโยชน์กับทุกคนก็ได้ ...​หรือหากมีความตั้งใจให้ทุกคนได้ประโยชน์ การดำเนินการเพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์ก็ควรจะยืดหยุ่นพอที่จะเข้ากับเงื่อนไขที่หลากหลายของแต่ละคนได้

อย่างไรก็ดี ถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์ , there's  no  such   thing  as  free  lunch ... เช่นเดียวกัน การทำประโยชน์เพื่อสังคมนั้นย่อมมีต้นทุนที่ต้องเสียไปกับการกระทำนั้น (ทั้งค่าเสียโอกาส และตัวเงิน หรือกำลังแรงกาย ความคิด และอื่นๆที่ลงไปกับกิจกรรมนั้นๆ)  ต้นทุนเอกชน (Private Cost) ของผู้ผลิตสินค้าสาธารณะนั้นย่อมมี ในขณะเดียวกัน ผลกระทบภายนอก (Externalities) สองอย่างนี้รวมกันทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ต้นทุนทางสังคม (Social Cost) (ขอร้องว่าโปรดอย่าเอาไปสับสนกับคำว่า "ทุนทางสังคม" (Social Capital))

ผลกระทบภายนอก นั้นอาจเป็นผลเสีย ผลร้าย ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มของคนอื่น เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ผลกระทบภายนอกคือ ต้นทุนของผู้คนที่ต้องย้ายถิ่นฐาน ป่าและความหลากหลายทางธรรมชาติที่เสียไป ฯลฯ, พันธมิตรฯชุมนุมปิดถนน รถติดถือเป็นผลกระทบภายนอก , ลูกๆของนักธุรกิจพันล้านที่เป็นนักการเมืองด้วย ไม่จ่ายภาษี ผลกระทบภายนอก อาจเป็นความหงุดหงิดของผู้จ่ายภาษีที่มีรายได้น้อยกว่า และผลร้ายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานในเรื่องการเสียภาษี  เป็นต้น

ฉะนั้นไม่่ว่าจะทำอะไรก็ตาม "เพื่อสังคม" ก็ควรที่จะตระหนักถึงเรื่องประโยชน์และต้นทุนจากการกระทำนั้นด้วย พึงมุ่งให้ได้ประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด (Maximize Social Benefit) ในขณะเดียวกัน ก็พยายามลด ต้นทุนทางสังคม (Social Cost ที่ = Private Cost + Externalites) ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน  ...วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดต้นทุนทางสังคมนั้นก็คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อนที่จะเริ่มทำอะไรซักอย่าง หากจำเป็นต้องดำเนินการจริงๆ ก็ควรมีการชดเชยที่เหมาะสม

"สมมติ" (ตัวใหญ่ๆเลย) ว่า ตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ด้วยอาวุธหนัก (หมายถึงวัตถุระเบิดที่มีผลให้คนเสียชีวิต ขาขาด แขนขาด) ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย มิให้เกิดความรุนแรงและเสียหายต่อผู้คนและทรัพย์สินสาธารณะ แล้วเกิดความสูญเสียขึ้นกับผู้ชุมนุม ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อันนี้ถือเป็นผลกระทบภายนอกของการรักษาความสงบ  ... รัฐก็ควรจะชดเชยให้กับผู้เสียหาย อันนี้ยังไม่รวมกับการหาตัวผู้รับผิดชอบมาดำเนินคดีตามกฎหมายแพ่งและอาญา

อย่างไรก็ดี ผมเห็นด้วยกับ อ.เกษียร เตชะพีระ  ที่ท่านกล่าวในวันนึงในการสอนวิชาปรัชญาการเมืองว่า ไม่มีอุดมการณ์ไหน คุ้มค่ากับการเอาชีวิตมนุษย์เข้าแลก ... ไม่ว่าการกระทำใดที่มุ่งประโยชน์เพื่อสังคมโดยรวม "ต้นทุนที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อแลกมาซึ่งประโยชน์นั้นจะต้องไม่รวมความบาดเจ็บและล้มตายของชีวิตมนุษย์เป็นอันขาด "  เพราะไม่เช่นนั้น การกระทำดังกล่าวได้เสียความชอบทำในการอ้างว่าทำเพื่อสังคมไปแล้ว  หากอธิบายให้ชัดขึ้นก็คือ คนที่บาดเจ็บล้มตาย ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากเขาบาดเจ็บล้มตายหรือพิการไป เขาย่อมไม่สามารถได้รับการชดเชยและรับประโยชน์หลังจากนัน้ได้อีก (ในกรณีตาย) หรือได้อย่างเต็มที่ (ในกรณีพิการ)  (หรือได้ชั่วคราว ในกรณีบาดเจ็บ... แต่กรณีนี้ก็สามารถได้รับการชดเชยและกลับมาได้ประโยชน์ในภายหลัง แต่ไม่ได้หมายความว่า สามารถทำให้บาดเจ็บได้ การสูญเสียเหล่านี้ตั้งแต่บาดเจ็บไปถึงตาย ไม่ควรเกิดขึ้นเลย)

ฉะนั้นในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันระหว่างรัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น แต่ละฝ่ายควรจะประเมินตนเองว่ากำลังทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือไม่ ในทุกขณะจิตที่มีการดำเนินการใดๆลงไป ข้อเขียนนี้อาจจะเป็นเกณฑ์หนึ่งในหลายๆเกณฑ์ในการประเมิน หากประเมินแล้วไม่ได้ทำเพื่อสังคม หากเป็นฝ่ายพันธมิตร ก็ควรจะหยุดการชุมนุมเสีย หากเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ควรจะยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้คนที่อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมเข้ามาทำงาน  ... ถ้าหากประเมินแล้ว ต่างทำเพื่อสังคม ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะขัดแย้งกัน แต่ควรจะหันหน้าเข้าหากันและคุยกันเพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและสังคมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 215064เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บังเอิญผ่านเข้ามาเจอบล๊อกนี้

อ่าว ชลนี่หน่า แต่ไม่รู้ชลจำเราได้่ป่าวนะ(55)

ข้อถามเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลต้องยุบสภา

ในเมื่อเค้ามาจากการเลือกตั้ง ชนะมาด้วยเสียงส่วนใหญ่

แต่ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจ แล้วใช้กฏหมู่อยู่เหนือทุกสิ่ง เราจำเป็นต้องอ่อนข้อให้อย่างนั้นหรือ

ต่อไป ใครอยากได้อะไร ใครพอใจยังไง ก็ก่อม๊อบตั้งแก๊งค์

ระบบการเลือกตั้งจะมีไว้ทำไม ในเมื่อถ้าผลมันออกมาไม่ถูกใจเราก็ฉีกทิ้ง

เราว่า เลือกใหม่อีกก็ชนะอีก แล้วพธม ก็ไม่ยอมอยู่ดีใช่ปะ แล้วจุดจบจะอยู่ตรงไหนอ่ะ

เมื่อใครบางคนพอใจที่จะหยุด?

เมลมาแลกเปลี่ยนความเห็นมั้งนะ เราอยากรู้ว่าชลคิดว่าไง

เราหวังว่าเบลจะเข้ามาตอบอีกนะ เพราะว่า เราไม่แน่ใจว่า ใช่เบลที่เราจำได้หรือเปล่า แล้วก็มันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอีเมล์ให้เลยแฮะ ...

เราส่งเมลไปแล้วนะ

เราอยากฟังความเห็นของคนที่เห็นว่ายุบสภา ความเห็นจากคนที่(ดู)มีเหตุผล 55

เพราะที่เราถาม เราอยากรู้ความเห็นจริงๆไม่ได้ตีรวน กวนทีน

เท่าที่เราเห็นนะ ความเห็นที่อยากให้ยุบสภา(เท่าที่เราถามมา)ก็มาจากคนที่เป็น พธม

พอเราถามงี้ เค้าเลยยัดเราใส่ว่า เป็นรัฐบาลซะงั้น แล้วก็จะตอบด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดดด

สุดท้ายไม่ได้คำตอบ ได้แต่อารมณ์ซะหยั่งงั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท