วิถีชีวิตชาวนาในชุมชนบางพลี


นางสาวพรรณา แสงนภาเพ็ญและนางสาวประจวบ พูลเจริญ เรียบเรียง

เมื่อหวนรำลึกถึงวิถีชีวิตในชุมชนบางพลีเมื่อครั้งอดีตกาล สิ่งแรกๆ ที่เรามักนึกถึงคือ การทำนาเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบางพลีทั้งนี้เพราะ มีพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่ไพศาล และมีน้ำเพียงพอ
ต่อการทำเกษตรกรรม จึงเอื้ออำนวยต่อการเป็นสังคมเกษตรกรรม     
การทำนา จึงเป็นอาชีพหลักของคนในภูมิภาคนี้    แม้ว่าในปัจจุบันสังคมบางพลีได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญตามยุคสมัยกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม  ส่งผลให้กิจกรรมหรือพิธีกรรมบางอย่างลบเลือนหายไป แต่ยังเป็นความทรงจำมิรู้ลืมที่เล่าสืบขานต่อกันมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานว่า

วิถีชีวิตชาวนาในชุมชนบางพลี จะใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบเรียบง่ายเป็นสังคมชนบท มีความเอื้ออาทรต่อกันมาก  เพราะมีกิจกรรมและวิถีการผลิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องรวมกลุ่มกัน ชาวนาต้อง ลงแขก ไม่ว่าการปักดำหรือการเก็บเกี่ยว ถ้าไม่รวมกลุ่มกัน กล้าก็แห้งหรือเน่าหมด  จึงต้องมีการลงแขกช่วยเหลือกันเพื่อให้ทันเวลา

กระท่อม   เรือนหลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ หลังเล็กสำหรับครอบครัวแรกเริ่มที่มีรูปแบบเรียบง่ายสามารถสร้างให้เสร็จได้ภายในหนึ่งวัน โดยใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและแรงงานจากชาวบ้านให้ความร่วมมือ   ยกเรือนขึ้นสูงพอควร เพื่อเก็บอุปกรณ์ทำมาหากินและทำกิจกรรมใต้ถุนบ้าน การแบ่งส่วนเรือนแสดงให้เห็นถึงการขยายขนาดของครอบครัว และมีสมาชิกเป็นเด็กอ่อน

ยุ้งข้าว  เป็นสถานที่สำหรับเก็บข้าวเปลือกหลังจากที่ได้ผ่านการนวดเรียบร้อยแล้ว โดยข้าวส่วนหนึ่งจะเก็บเป็นพันธุ์ข้าวเปลือกในปีต่อไป และข้าวสำหรับใช้สีกินระหว่างปี
              ส่วนเรือนสามช่วงเสาสองหลัง เชื่อมด้วยชานมีครัวไฟแยกต่างหากหลังคามุงจากและกระเบื้องสำหรับครอบครัวผู้มีฐานะ ในบริเวณเรือนมียุ้งเก็บ ข้าวเปลือกและอุปกรณ์การทำนาเช่น  คราด  แอก ไถ  ครกกระเดื่อง  เป็นต้น

เมื่อเริ่ม หว่านข้าว  ดำนา จะพบปลาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในนาข้าว ดังนั้น ต้นกล้าและปลาจะเติบโตไปพร้อมๆกัน โดยธรรมชาติในที่เดียวกัน เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว น้ำลด ปลาจะว่ายลงมาอยู่ที่บ่อนา ชาวนาจะนำเฝือกมาปิดปากบ่อ น้ำในลำคลองลดระดับลง ชาวนาจะนำดินมาปิดปากบ่อ ตั้งรหัสวิดน้ำในบ่อนา และจับปลานานาชนิดที่รวมอยู่ในบ่อ สำหรับปลาช่อนจะนำมาทำปลาเค็มที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาริ้ว  ส่วนปลาสลาดจะนำมาย่างและนำไปตากแดดให้แห้ง  แล้วนำปลามาทั้งหมดมาผนึกแห้งบรรจุใส่โอ่งปิดฝาผนึกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำมาบริโภคในฤดูแล้งและฤดูทำนาในปีถัดไป  ส่วนปลาชนิดอื่นๆที่ตายจะอัดใส่ไหทำปลาร้า นี่เป็นวิถีชีวิตของชาวนาในบางพลีที่ถนอมอาหารไว้รับประทานบริโภคกันในครัวเรือน

คอกสัตว์และพืชผักสวนครัว  พื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ของชาวนา เพื่อไว้ใช้แรงงานและเป็นอาหาร เช่น ไก่ หมู ควาย และพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวไว้ประกอบอาหาร โดยส่วนที่เหลือนำจำหน่ายได้

โดยส่วนใหญ่แล้วชาวนาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบเงียบในชนบท  คนไทยให้ความสำคัญกับชาวนาเปรียบประหนึ่งว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

เหลียวหลังแลบางพลีวิถีไทย

ทุ่งรวงทองอร่ามใสงามสดศรี

อีกทั้งพืชพรรณดาษดื่นชื่นฤดี         

ปฐพีและธารน้ำอันอุดม

มองท้องนาคราฉ่ำฝนล้นปลาบปลื้ม
ใจด่ำดื่มข้าวเขียวสดดูเหมาะสม
สีอ่อนแก่แลริ้วริ้วพริ้วพร่างพรม
งามวิไลน่าชมเกษตรกรรม

                                งานหว่านดำหลังสู้ฟ้าน่าพันผูก

             นามกระดูกสันหลังชาติช่างคมขำ

              อยู่กันอย่างเรียบง่ายควรจดจำ

             ขอแนะนำสังคมเก่าชาวบางพลี...

               

               

หมายเลขบันทึก: 214696เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2008 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณที่ให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท