ถั่วงอก


อาหารที่หาง่าย

ถั่วงอก

ถั่วงอก เป็นอาหารคู่ครัวคนไทยมาช้านาน อาชีพการเพาะถั่วงอกจึงได้รับความสนใจทั้งๆ ที่มีการเพาะเพื่อบริโภคเองในครัวเรือนและเพาะเป็นอาชีพในเชิงพาณิชย์ ความจริงแล้ววิธีการเพาะถั่วงอกทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนกับอาชีพเกษตรอื่นๆ มีหลากหลายวิธีการเพาะ จะใช้หม้อดิน ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระถางดินเผา วงปูน ฯลฯ แต่ถั่วงอกที่ได้จากการเพาะดังกล่าวจะมีรากของถั่วงอกติดมา เมื่อผู้บริโภคซื้อถั่วงอกมารับประทานจะต้องเสียเวลาในการเด็ดรากทิ้ง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะถั่วงอก

เริ่มจาก ตะกร้าพลาสติกทรงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 11 นิ้ว มีรูตาข้างรอบตะกร้า และมีรูที่ก้นเพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำ เมล็ดถั่วเขียว ที่มีวางขายในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำ ถั่วทั้ง 2 ชนิด เมื่อนำมาเพาะเป็นถั่วงอกจะมีความแตกต่างกัน ถั่วเขียวผิวมันเพาะได้ถั่วงอกที่มีขนาดต้นโต สีขาวอมเหลือง แต่จะมีการเปลี่ยนสีค่อนข้างไว เมื่อโดนลมและแสง แต่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเอาถั่วงอกใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้โดนลมจะคงความขาวได้นาน แต่ถ้าจะเก็บไว้บริโภคหลายๆ วัน ควรจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 7 วัน เมล็ดถั่วเขียวอัตรา 1 กิโลกรัม เพาะถั่วงอกได้ 6-7 กิโลกรัม

เทคนิคในการแช่เมล็ดถั่วเขียว

ในการแช่เมล็ดถั่วเขียวเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เมื่อคัดเมล็ดที่แตก เมล็ดลีบหรือเมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลายออกด้วยมือแล้ว นำมาล้างน้ำสะอาด 2-3 น้ำ ถ้าพบเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำขึ้นมาให้รินทิ้งไปพร้อมกับน้ำได้เลย เพราะเป็นเมล็ดเสียที่ไม่งอก ต่อมาให้เตรียมน้ำอุ่นสำหรับแช่เมล็ดถั่วเขียว ในการเตรียมน้ำอุ่นให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็นธรรมดา 3 ส่วน นำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่ในถังพลาสติกให้น้ำอุ่นท่วมเมล็ดสูงขึ้นมาสัก 1-2 นิ้ว แช่เมล็ดถั่วเขียวนาน 8 ชั่วโมง ประโยชน์ของการแช่เมล็ดในน้ำอุ่นจะช่วยในการกระตุ้นการงอกของเมล็ดถั่วได้เร็วขึ้น

เมื่อแช่ครบ 8 ชั่วโมงแล้ว จะสังเกตเห็นเมล็ดถั่วเขียวพองตัวใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 เท่า สังเกตเห็นเปลือกหุ้มเมล็ดปริแตกออก มีตุ่มรากงอกออกมาให้เห็น รินน้ำที่แช่เมล็ดถั่วเขียวออก ล้างเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาดอีก 3 น้ำ เพื่อมั่นใจในความสะอาดและมีส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วก็จะหลุดออกไปบางส่วน

ขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษ

ขั้นตอนในการเพาะ เริ่มต้นนำตะแกรงพลาสติกที่ใช้เป็นฐานรองก้นตะกร้าใส่ลงไปในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ วางด้านที่เป็นสายยางอยู่ด้านล่าง นำแผ่นกระสอบป่านวางทับลงไปบนฐานรองก้นตะกร้า วางตะแกรงเกล็ดปลาทับลงบนแผ่นกระสอบป่าน โรยเมล็ดถั่วเขียวให้ทั่วตะแกรงเกล็ดปลา โรยเมล็ดให้มีความสูงประมาณ 1 เซนติเมตร หมดขั้นตอนนี้ถือว่าเสร็จชั้นที่ 1 หลังจากนั้นให้นำแผ่นกระสอบป่านทับและทำตามขั้นตอนจนครบ 4 ชั้น สำหรับชั้นสุดท้ายคือชั้นที่ 4 จะต้องปิดด้วยกระสอบป่านเช่นกัน แต่จะใช้กระสอบป่านจำนวน 2 ผืน เพื่อเพิ่มการรักษาความชื้นให้กับเมล็ดถั่วเขียว เมื่อเรียงเมล็ดถั่วเขียวจนครบทั้ง 4 ชั้น ปิดทับด้วยกระสอบป่าน 2 ผืนแล้ว รดน้ำให้ชุ่มทั่วทั้งตะกร้า ยกตะกร้าเพาะถั่วงอกมาใส่ในถุงดำที่ตัดมุม 2 ข้าง เพื่อการระบายน้ำ พับปากถุงดำไม่ให้มีแสงเข้าได้ นำไปตั้งไว้ในที่ร่มหรือในห้องที่ทึบแสง


เทคนิคการดูแลตะกร้าเพาะถั่วงอก

ต้องรดน้ำให้กับตะกร้าเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษ วันละ 3 เวลา (เช้า-กลางวัน-เย็น) หรืออาจจะเพิ่มเป็น 5 ครั้ง ต่อวัน ถ้าช่วงนั้นมีสภาพอากาศร้อนจัด สังเกตได้จากการเอามือจับดูที่ตะกร้าว่าร้อนหรือไม่ วิธีการรดน้ำให้เปิดปากถุงดำออกแล้วใช้สายยางเปิดรดน้ำโดยตรง รดให้ตะกร้าเพาะชุ่มที่สุด ในการรดน้ำแต่ละครั้งไม่จำเป็นจะต้องยกตะกร้าออกจากถุงดำ น้ำที่รดลงไปจะระบายออกที่ปลายมุมถุงดำที่ตัดไว้ทั้ง 2 ข้าง ควรมีกะละมังไว้รองน้ำที่รดลงไป เพื่อที่จะนำน้ำไปรดต้นไม้ต่อเพื่อการประหยัดน้ำ (การเพาะถั่วงอกจะใช้น้ำมาก ควรใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด) ที่สำคัญหลังจากรดน้ำเสร็จทุกครั้งควรรีบปิดถุงดำให้มิดชิดและนำไปวางไว้ในที่ร่มตามเดิม

การรดน้ำให้ตะกร้าเพาะถั่วงอกนั้น จะรดน้ำ 3 ครั้ง ต่อเนื่อง จนครบ 3 คืน เช้าวันที่ 4 นำถั่วงอกออกมาจำหน่ายได้


ที่มา :
http://www.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=0502150548&srcday=2005/05/15&search=no

หมายเลขบันทึก: 214683เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2008 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ก็มีประไยชน์ดีค่ะ

ขอขอบคุณนะคะ กับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จะนำไปให้นักเรียนทดลองปลูกถั่วงอกแบบคุณดู ง่ายดีค่ะ คิดขึ้นมาได้ว่าคนเราทำอะไรแปลกๆ ดิ้นรนออกจากบ้านไปทำงานรับจ้างเขาเพื่อนำเงินมาซื้ออาหาร ซึ่ง อาหารส่วนใหญ่เราสามารถผลิตได้เองเช่นการปลูกถั่วงอก ปลูกผักต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร แบบสมัยก่อน  ฮิฮิ..เราก็เป็นเช่นนั้น (นึกขึ้นได้ก็สายเสียแล้วค่ะ)

ขอบคูณสำหรับเว็บนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท