วันสำคัญในพระพุทธศาสนา


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

                 

 

          วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หมายถึง วันที่มีเหตุการณ์สำคัญบางอย่างเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าซึ่งจะกำหนดเอาวันที่มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์เป็นหลัก

          การศึกษาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากจะได้ความรู้ ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแล้วยังช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความซาบซึ้ง และเกิดแนวความคิดในการปฏิบัติ และการเข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่อไป

 

 วันมาฆบูชา

            มาฆบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓

          วันนี้ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจาก เป็นวันที่มีการประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ หรือที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" เกิดขึ้นที่วัดเวฬุวันใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

          การประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

          ๑) พระสงฆ์สาวกล้วนเป็นพระอรหันต์

          ๒) พระสงฆ์สาวกล้วนเป็นเอหิภิกขุ  พระพุทธเจ้าบวชให้เอง

          ๓) พระสงฆ์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

          ๔) พระพุทธเจ้าเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

 

 

วันวิสาขบูชา

     วิสาขบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖

          วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรงซึ่งทั้ง ๓ เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ แต่เกิดต่างปีกันในช่วงเวลา ๘๐ ปี ได้แก่

          ๑) วันประสูติ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ ป่าสาละ สวนลุมพินีวัน

          ๒) วันตรัสรู้ เกิดขึ้นใน ๓๕ ปีต่อมา ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ณ โคนต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ

          ๓) วันปรินิพพาน เกิดขึ้นในปีที่ ๘๐ แห่งพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ณ แท่นบรรทม ระหว่างต้นสาละ เมืองกุสินารา

 

วันอัฏฐมีบูชา

          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานจึงมีการตั้งพระบรมศพของพระพุทธองค์พร้อมจัดเครื่องสักการบูชาเป็นเวลา ๗ วัน ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินาราและในวันที่ ๘ ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เหล่ามัลลกษัตริย์และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราชาวพุทธเรียกวันนี้ว่า "วันอัฏฐมีบูชา"

 

 

 วันอาสาฬหบูชา

      อาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘

      วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนี้

          ๑) เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

          ๒) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก โดยการแสดงปฐมเทศนา เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีใจความสำคัญ คือ อริยสัจ ๔ เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

          ๓) เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นครั้งแรก คือ โกณฑัญญะ

          ๔) เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกบริบูรณ์

 

เกร็ดพุทธศาสน์

 

          วันอาสาฬหบูชา เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่มหาเถรสมาคมได้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง

 

 วันธรรมสวนะ

          วันธรรมสวนะ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันพระ" ซึ่งแปลว่า เป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา

          วันพระ ๑ เดือนจะมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำและวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด

 

วิธีปฏิบัติตนและเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

          วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดนี้ มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ในปัจจุบันนิยมปฏิบัติคล้ายคลึงกัน คือ

            ๑) การทำบุญตักบาตรที่บ้านหรือที่วัดในตอนเช้า

            ๒) การไปนมัสการ ไหว้พระ สวดมนต์ และทำบุญตามวัดต่าง ๆ

            ๓) การฟังพระธรรมเทศนา และปฏิบัติสมาธิภาวนา

            ๔) การสนทนาธรรมกับพระภิกษุหรือผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา

            ๕) การรักษาศีล ๕

            ๖) การไปเวียนเทียนที่วัด (นิยมเวียนเทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา)

                                                     

 

 

 

 

พระธรรม

หลักธรรมทางศาสนา

หลักคำสอนนั้นมีใจความสำคัญ ๓ ประการ ดังนี้

          ๑. การไม่ทำชั่วทั้งปวง

          ๒. การทำความดีให้ถึงพร้อม

          ๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส

พระรัตนตรัย

          พระรัตนตรัย แปลว่า แก้วอันประเสริฐหรือสิ่งล้ำค่า สิ่งที่เคารพบูชาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

          พระพุทธ หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาและเป็นผู้ค้นพบพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหลายด้วยพระองค์เอง

          พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

          พระสงฆ์ หมายถึง พระอริยสงฆ์และชายที่บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม

 

ศรัทธา ๔

          ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ และ ปสาทะ หมายถึง ความเลื่อมใสในคุณงามความดีหรือความสามารถของผู้อื่น เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเองอย่างมีเหตุผล โดยไม่มีใครมาบังคับขู่เข็ญให้เกิดศรัทธาเชื่อถือ

          ศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใสในคุณของพระพุทธ ในคุณของพระธรรม และในคุณของพระสงฆ์

          ศรัทธา ในทางพระพุทธศาสนานั้น จะต้องประกอบด้วย

          ๑. ปัญญาคิดหาเหตุผล

          ๒. ไม่ควรเชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผล

          ๓. ไม่ให้เชื่อในอำนาจสิ่งศักดิ์ภายนอก เช่น การดูหมอ การผูกดวงชะตา การสะเดาะเคราะห์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดลบันดาลให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ได้จริง

 

พระพุทธศาสนาสอนให้มีศรัทธาใน ๔ เรื่องดังนี้

          ๑. เชื่อกรรม  คือ เชื่อว่ากรรมที่กระทำทุกอย่างย่อมให้ผลตามเหตุปัจจัยแน่นอน กล่าวคือ ถ้านักเรียนมีความขยันหมั่นเพียรตั้งใจเรียนหนังสือ ก็จะได้รับผลดีตอบสนอง คือ เรียนสำเร็จ สามารถมีอนาคตที่ดี ชีวิตประสบแต่ความสุข  แต่ในทางกลับกัน ถ้านักเรียนเกียจคร้าน ไม่สนใจเรียนหนังสือ ห่วงแต่การเที่ยวเตร่สนุกสนาน นักเรียนก็จะเรียนไม่จบ หางานทำลำบาก และประสบกับความทุกข์

          ๒. เชื่อผลแห่งกรรม คือ เชื่อว่าทำกรรมเช่นใด ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผลที่เกิดขึ้นต้องสืบเนื่องมาจากการกระทำที่เป็นเหตุ เช่น เมื่อนักเรียนทำความดี ทำในสิ่งที่ดี ย่อมจะได้รับผลแห่งความดี คือ ความสุข  แต่ถ้านักเรียนทำในสิ่งที่ไม่ดี ย่อมได้รับผลจากการทำสิ่งไม่ดีของตนเอง คือ ความทุกข์

 

          ๓. เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน คือ เชื่อว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกย่อมมีความแตกต่างกัน เพราะอำนาจของกรรมที่กระทำไว้ เช่น

          ผู้ที่เกิดมาสวย ผิวพรรณงาม เพราะเป็นคนจิตใจดี ไม่โกรธ ไม่พยาบาท มีความเมตตากรุณา มีความอ่อนโยน ส่วนผู้ที่เกิดมาไม่สวย รูปร่างไม่งดงาม ผิวพรรณไม่งาม เพราะเป็นคนมักโกรธ มีความพยาบาท จิตใจหยาบกระด้างมักโกรธโดยไม่มีเหตุผล หรือคนที่เกิดมาซึ่งมีอายุยืน เพราะเป็นผู้มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ โดยละเว้นจากการฆ่าสัตว์และทารุณสัตว์ทั้งปวง ส่วนคนที่เกิดมาอายุสั้น เพราะเป็นผู้มีนิสัยโหดร้าย ชอบฆ่าสัตว์ ทารุณสัตว์

 

          ๔. เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นความจริง   ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ด้วยพระองค์เองนั้น พระองค์ได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งเป็นอาจารย์ของสำนักที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น และเมื่อทรงตระหนักว่า สิ่งที่อาจารย์สอนไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ได้ พระองค์จึงทรงจากมา และได้หันมาใช้วิธีบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งเป็นการทรมานพระองค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่พบหนทางแหงความดับทุกข์ จึงทรงหันกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายมีกำลัง พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยการนั่งสมาธิให้จิตใจสงบ จนกระทั่งได้ค้นพบความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์ ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

 

          นับได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณอย่างใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนให้บรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาได้พ้นความทุกข์และสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

          ดังนั้นผู้นับถือพระพุทธศาสนาต้องมีความศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าเรามีความศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะทำให้เรามีศรัทธาในคำสอนของพระองค์ด้วย

                                        

 

หมายเลขบันทึก: 213760เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า  เจ้าค่ะ

วันนี้เด้ก ๆ กำลังทำงาน  เพราะจะปิดภาคเรียนแล้ว

ให้ช่วยกันพัฒนา  และจะแนะนำให้มาเรียนรู้เกี่ยวกับวันสำคัญ

ในตอนบ่ายเจ้าค่ะ

P

  • ธรรมสวัสดีนะโยมคุณครู
  • อนุโมทนาสาธุ..บุญรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท