พัฒนากลุ่มออมทรัพย์..ยั่งยืนมั่นคง ตอนที่ 3


ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์
       ตอนที่ 3   ความเดิมตอนที่แล้ว  ได้นำเสนอว่า  คณะทำงานในการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ควรมี  14  คณะ  แต่ละคณะทำงานจะมีหน้าที่ที่รับผิดชอบที่ชัดเจน  นำเสนอมาถึงคณะที่ 7  หมดหน้าบันทึกเลยติดค้างที่จะมาเขียนบันทึกเพิ่มเติมในวันนี้  เดิมคิดว่าเขียนบันทึก  3  ตอนน่าจะจบ  คงต้องขออภัยที่ต้องเขียน  4  ตอนจบ  ตอนที่  3  จะนำเสนอการสร้างความรู้ให้กับคณะทำงานชุดที่ 8 ถึง 14  เชิญติดตามด้วยความระทึกใจพลัน         

                   8.คณะทำงานควบคุมการใช้ประโยชน์จากเงินทุนและทรัพยากร  การควบคุมการใช้ประโยชน์จากเงินทุนบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง  คือ คณะกรรมการอำนวยการ  กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ได้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ  สมาชิก  และคณะกรรมการอำนวยการเอง  การตรวจสอบบัญชีไม่ใช่การจับผิด  แต่การตรวจสอบบัญชีเป็นการยืนยันความถูกต้อง  ความโปร่งในการบริหารจัดการของคณะกรรมการอำนวยการ  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จ  ระบบการตรวจสอบของกลุ่มจะมีความเข้มแข็งมาก  เอกสารหลักฐานในการตรวจสอบ  คือ ระบบบัญชี  ซึ่งเหรัญญิกกลุ่มออมทรัพย์ฯจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ  ระบบบัญชีของกลุ่มออมทรัพย์ฯ จะมี  2  ระดับ  คือ

ระดับที่ 1  สามารถจัดทำบัญชีขั้นพื้นฐานถูกต้อง ครบถ้วน  ได้แก่  บัญชีคุมเงินสัจจะ  บัญชีคุมลูกหนี้เงินกู้  ทะเบียนสมาชิก    บันทึกการประชุม  ระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม  และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ระดับที่ 2  กลุ่มออมทรัพย์สามารถจัดทำบัญชีแยกประเภทได้  ซึ่งมีระบบบัญชีอยู่  3  บัญชี  ได้แก่  บัญชีเงินสดและบัญชีเงินฝากธนาคาร (ส.)   บัญชีรายได้และหนี้สิน  (ร)  บัญชีรายจ่ายและทรัพย์สิน  (จ)

                     การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ ให้ดีขึ้น ควรให้ความสำคัญกับเอกสารเป็นอย่างยิ่ง  สิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนการกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่ม  คือ งบดุลของกลุ่ม  ซึ่งต้องมีการจัดทำทุกสิ้นปีทางการบัญชี  กลุ่มออมทรัพย์ใดก็ตามที่ไม่มีการจัดทำงบดุลประจำปี  แสดงว่าระบบการตรวจสอบไม่มี  คณะทำงานควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)    มีการจัดทำหลักฐานทางการเงินถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

2.)    มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการ

3.)    สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารเงินทุนและตรวจสอบ

4.)    มีการใช้เงินทุนตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่มฯ

5.)    มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินของกลุ่มทุกเดือน หรือทุกปี  เช่น  งบกำไรขาดทุน  งบดุล  เป็นต้น

                 9. คณะทำงานพัฒนาการเรียนรู้  กลุ่มออมทรัพย์ฯมีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับสมาชิกและคณะกรรมการ  ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม  เรื่องการบริหารจัดการและเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นความต้องการของสมาชิกและคณะกรรมการ  กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณสมบัติที่ดีให้แก่สมาชิก  ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  นอกจากนี้กลุ่มออมทรัพย์เองยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการบริหารจัดการเงินทุนเป็นอย่างดี  เรียกว่า  เรียนรู้ด้วยการกระทำจริง

                  การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้นนั้น  จะต้องดูที่การจัดกิจกรรมของกลุ่มในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของคณะกรรมการและสมาชิก  และบทบาทของกลุ่มในการเก็บรวบรวมความรู้ในการบริหารจัดการของกลุ่ม  ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ของกลุ่ม  คณะทำงานควรพิจารณา ดังนี้ 

1.)    จำนวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่ม

2.)    จำนวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มองค์กรอื่น

3.)    การจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกกลุ่ม

4.)    จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มในการพัฒนาขีดความสามารถ

5.)    มีการเก็บรวบรวมความรู้/ถอดบทเรียนการดำเนินงานของกลุ่มไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

6.)    มีการส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่

7.)    จำนวนผู้แทนของกลุ่มได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการให้ความรู้เพิ่มขึ้น

                  10. คณะทำงานพัฒนาทุนทางสังคม  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการส่งเสริมและพัฒนาทุนทางสังคมให้เกิดประโยชน์กับกลุ่ม  และชุมชน  แสดงถึงความก้าวหน้าของกลุ่ม  ทุนทางสังคมให้พิจารณาจากบุคคลหรือทรัพยากร  ประเพณี  วัฒนธรรมที่อยู่ในชุมชน  และเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการส่งเสริมแล้วเกิดประโยชน์กับสมาชิก  กลุ่ม และชุมชนของตนเอง  ถ้าสามารถพัฒนาทุนทางสังคมให้เกิดรายได้กับกลุ่มและชุมชน  และสามารถดำรงรักษาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์  ประเพณี  วัฒนธรรมของชุมชนได้ก็จะเป็นการดียิ่ง

           การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้น  คระทำงานควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)    จำนวนกิจกรรมที่มีการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดำเนินงาน

2.)    จำนวนทุนทางปัญญาของกลุ่ม ฯ ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

3.)    มีการจัดกิจกรรมเพื่อยกย่องบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ของกลุ่ม

4.)    มีการจัดกิจกรรมเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น

5.)    มีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น

                 11. คณะทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรอื่น  ความสามารถ  ศักยภาพและปัญหาของกลุ่มแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน    องค์ความรู้ เทคนิค  วิธีการ  ที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจะมีความแตกต่างกัน  มีความหลากหลายขององค์ความรู้  ที่สามารถอ้างอิง  เลียนแบบ หรือนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มของตนเองได้  การศึกษาเรียนรู้กับกลุ่มองค์กรอื่น  เป็นการสร้างประสบการณ์จริงในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคคล  หรือที่เรียกกันว่า  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

           การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มให้ดีขึ้น  คณะทำงานควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)    จำนวนการจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มองค์กรอื่น

2.)    จำนวนกิจกรรมที่ให้การสนับสนุนกับกลุ่มองค์กรอื่น

3.)    จำนวนครั้งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มองค์กรอื่น

4.)    การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการและสมาชิกในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร/เครือข่าย

                   12. คณะทำงานแก้ไขปัญหาของสมาชิก  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตโดยคณะกรรมการบริหารกลุ่ม  จะต้องมีหน้าที่ในการติดตามผล  รับฟังปัญหาของสมาชิก    สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสมาชิก  ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่หลักของคณะกรรมการส่งเสริม  และคณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ทุกคน   การรับฟังปัญหาแล้วนำปัญหาของสมาชิกมาแสวงหาแนวทางแก้ไข  เป็นการสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างคณะกรรมการและสมาชิก  สร้างความรักความผูกพันธ์กับกลุ่ม  และเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มมากยิ่งขึ้น

                    การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มฯ ให้ดีขึ้น  ในเรื่องการแก้ปัญหาของสมาชิก  คณะทำงาน   ควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)       กลุ่มมีการสำรวจปัญหาของสมาชิกในเรื่องต่างๆ และมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

2.)       คณะกรรมการกลุ่มมีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิก

3.)       จำนวนสมาชิกที่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากกลุ่ม

4.)       จำนวนแผนงานโครงการ/กิจกรรมที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกกลุ่ม

5.)       จำนวนกิจกรรม/โครงการ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของสมาชิก

6.)       จำนวนปัญหาของสมาชิกได้รับการแก้ไข

                  13. คณะทำงานแบ่งปันผลประโยชน์ต่อสมาชิก  การแบ่งปันผลประโยชน์ต่อสมาชิกของกลุ่ม  ออมทรัพย์เพื่อการผลิต  จะต้องมีปรากฏในระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม  ในเรื่องของการจัดสรรผลกำไรของกลุ่ม  ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน   เช่น

            ระเบียบข้อที่ 20  การจัดสรรผลกำไรของกลุ่ม  เมื่อกลุ่มมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานของกลุ่ม  เมื่อสิ้นที่ทางการบัญชี (31  ธันวาคม  ของทุกปี) ให้จัดสรรผลกำไร ดังนี้

                                 1.งบบริหารกลุ่ม   ร้อยละ  10

                                 2. ค่าตอบแทนกรรมการ  ร้อยละ 10

                                 3. สมทบกองทุนเพื่อสวัสดิการ  ร้อยละ 10

                                 4. เงินสาธารณะประโยชน์    ร้อยละ 5

                                 5. เงินเฉลี่ยคืนให้สมาชิก  ร้อยละ 5

                                 6.เงินปันผลให้สมาชิกตามสัดส่วนการถือหุ้น  ร้อยละ 60

                       การกำหนดการจัดสรรผลกำไรดังกล่าว  แต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน  ตามความเห็นชอบของสมาชิก  แต่อย่างน้อยควรมีเรื่องหลัก  6  เรื่องตามตัวอย่างการกำหนดระเบียบในการจัดสรรผลกำไร  สัดส่วนการจัดสรรแต่ละเรื่องมากน้อยแตกต่างกันได้  แต่สัดส่วนที่ควรกำหนดไว้ไม่น้อยกว่านี้คือ  งบบริหารกลุ่ม  ควรกำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 10  ของผลกำไรสุทธิ

                       การกำหนดเรื่องการจัดสรรผลกำไรของกลุ่มไว้ในระเบียบข้อบังคับ  คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ ใช้ระเบียบดังกล่าวในการบริหารจัดการ  แก้ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส  มีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ

                        การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มอมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ดีขึ้น  ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อสมาชิก  คณะทำงานควรพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.)    กลุ่มได้กำหนดเรื่องการจัดสรรผลกำไรไว้ในระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม

2.)    สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์  และมีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

3.)    มีการสำรวจความพึงพอใจของสมาชิกในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์

4.)    คณะกรรมการบริหารจัดการการแบ่งปันผลประโยชน์ตามข้อบังคับ/ข้อตกลง

5.)    มีกิจกรรมของกลุ่มเพื่อแสดงหาผลประโยชน์ให้กับสมาชิก

                  14. คณะทำงานจัดสวัสดิการต่อสมาชิกและชุมชน  การจัดสวัสดิการต่อสมาชิกและชุมชน  ตามศักยภาพและวัตถุประสงค์ของกลุ่ม  กลุ่มออมทรัพย์ฯจะสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชนได้  จะต้องมีการสะสมเงินจากการจัดสรรผลกำไรของกลุ่มไว้เพียงพอที่จะนำมาใช้  หรือจัดสวัสดิการในลักษณะการระดมทุนใหม่

การจัดสวัสดิการจะมี  2  ประเภท คือ

             1.การจัดสวัสดิการเพื่อสมาชิก  ส่วนจะเน้นที่การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  และดำเนินการเพื่อให้การสงเคราะห์สมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาในภาพรวม  เช่น  การประกันชีวิต  ฌาปณกิจสงเคราะห์  ค่ารักษาพยาบาล  ซื้อรถยนต์  รถจักยานยนต์   ทุนการศึกษา  เป็นต้น

                   2.การจัดสวัสดิการเพื่อชุมชน  ส่วนมากจะให้ในลักษณะเงินสาธารณะประโยชน์  ในการจัดกิจกรรมของชุมชน   การสมทบทุนก่อสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ของชุมชน  การให้การสงเคราะห์  เด็ก  สตรี  คนชรา  จึงเป็นการให้สวัสดิการกับชุมชนในภาพรวมที่ชุมชนนั้นสังกัดอยู่  เป็นการประชาสัมพันธ์กลุ่มที่ดีที่สุด  สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก  และบุคคลอื่นที่สนใจในกิจกรรมของกลุ่ม

                   การกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ดีขึ้น  ในเรื่องการจัดสวัสดิการ  คณะทำงานควรพิจารณา ดังนี้

                       1. มีการจัดสรรผลกำไรไว้เพื่อจัดสวัสดิการและเงินเพื่อสาธารณะประโยชน์

                           ไว้ในระเบียบข้อบังคับกลุ่ม

                       2.  สมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการกับสมาชิกและชุมชน

                       3. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการเรื่องสวัสดิการของกลุ่ม

                      4. จำนวนสวัสดิการที่จัดให้กับสมาชิกและชุมชน

                      5. มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการระบบสวัสดิการของกลุ่มให้ดีขึ้นทุกปี

          ในเวทีที่ 2  เป็นการสร้างความเข้าใจกับคณะทำงานแต่ละคณะว่า  ต้องรับผิดชอบคิดเรื่องอะไร  คิดอย่างไร   เมื่อคิดแล้วก็จดบันทึกไว้กันลืม  ทำไมต้องจด ที่ต้องจดไว้เพื่อทบทวนกระบวนการคิดร่วมกันให้รอบคอบในโอกาสต่อไป  ไม่ต้องคิดใหม่  ทำกันใหม่  เพราะได้จดไว้แล้วว่าครั้งก่อนคิดไว้อย่างไร    ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของเวทีนี้คือ  คิด และจด  อาจใช้แบบฟอร์มช่วยก็ได้  ตัวอย่างที่มีไว้ให้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ  ไม่ต้องทำตามตัวอย่าง  เป็นเพียงแนวทางในการคิดเท่านั้น   ข้อเท็จจริงในปัจจุบันของกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ  จุดอ่อน  ศักยภาพ  และโอกาสของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน  ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในกระบวนการคิด

                   ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ดี ๆ เพื่อปรับปรุงบันทึกให้ดียิ่งขึ้น....  ครับ

หมายเลขบันทึก: 213476เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท