251 นักการทูตไทยในแดนธรรม 3


บุญ บุญ และบุญ

 

 

 

นักการทูตไทยในแดนธรรม
ตอนที่ 3

วันที่ 30 ตุลาคม 2550 เป็นวันแรกที่มีการทัศนศึกษา โดยเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์มหานคร มุ่งตรงไปยังวัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นวัดในอารามหลวงแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยุ่ถึง 6 พรรษา และเป็นที่ที่พระอรหันต์ 1250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายในวันมาฆะบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาปาฏิโมกข์แก่พระอรหันตสาวก และในการเยือนครั้งนี้ คณะพระนวกะ ได้สวดโอวาปาฏิโมกข์และติโรกุฑฑะกัณฑ์สูตรด้วย


แม้จะเป็นวันของการเดินทาง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจของสงฆ์ตามปรกติแต่อย่างใด ในรถบัสทุกคัน ได้จัดให้มีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า ฟังการบรรยายธรรมตลอดเส้นทาง เรียกว่าไม่ปล่อยให้พระนวกะต้องว่าง เหงา ใจลอยหรือพักผ่อนเลยแม้แต่นาทีเดียว พระครูปลัดโกวิท อภิปุญโญหัวหน้าพระวิทยาจารย์บอกว่ารถก็คืออุโบสถเคลื่อนที่ ไปไหนก็สวดมนต์ได้ ทำกิจของสงฆ์ได้ นี่คือเหตุผลที่พระท่านกำชับให้พระนวกะทุกรูปนำหนังสือสวดมนต์เล่มเล็กติดตัวไปด้วยทุกขณะ พระนวกะที่มีอายุมากบางคนก็บ่นนิดหน่อยว่าแม้มีหนังสือสวดมนต์ก็อ่านไม่ค่อยเห็นเพราะตัวหนังสือเล็กจัง อ้อ ลืมไปว่าพระรุ่นนี้ส่วนใหญ่ล้วนสูงวัยแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่พระหนุ่มแน่นหนุ่มน้อยซะเมื่อไหร่จะได้มีสายตาที่ดีและชัดเจน
การบรรยายของพระวิทยากรในรถบัสนั้นต้องบอกว่าดีมาก เพราะได้ความรู้เรื่องพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ท่านก็เก่งแสนจะเก่ง บรรยายได้ทุกเรื่องและตลอดทางไม่มีหยุดเลย มีทั้งสาระ วิชาการ ประสบการณ์และเรื่องตลกในเมืองแขกเสร็จสรรพเรียกว่าครบทุกรสในรถบัสคันเดียว
ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ท่านเล่าในรถบัส ว่าด้วยการเดินทางไปไหนมาไหนในอินเดียนั้น จะต้องมี 5 G ถึงจะปลอดภัยหายห่วงได้แก่ ต้องมีแตรดี คือ Good Horm  ต้องมีสายตาที่ดี Good Eye ต้องมีเบรกที่ดี Good Brake ต้องมีใจดีคือใจถึง Good Heart และสุดท้ายที่สำคัญ ต้องมีโชคดีด้วย Good Luck


ฉันในบาตร


วันนี้เป็นวันแรกที่พระนวกะตระกูลโพธิ์ได้ฉันเพลในบาตรจริงๆ และเป็นการฉันใต้ต้นไม้ ณ สวนเวฬุวัน การได้ฉันเพลใต้ต้นไม้และในสวนประวัติศาสตร์ที่สำคัญนี้เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะเสมือนว่าเราได้ย้อนรอยตามพระบาทพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ทำให้ได้รับรู้ถึงความยากลำบากยิ่งนัก ของพระภิกษุในสมัยพุทธกาล เวลาเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาหรือโปรดศรัทธาที่ใดก็ตาม ก็มิได้มีรถบัสบริการเหมือนเช่นพวกเราได้รับ ต้องเดินด้วยเท้า 2 ข้างนี้ละ ดังนั้นแม้ถนนจะขลุกขลัก นั่งรถแล้วเหมือนอยู่บนโลกพระจันทร์ โยกขึ้นๆ ลงๆ ไปตามหลุมบ่อของถนนก็ขอให้พระนวกะอย่าได้รำคาญหรือท้อใจเพราะยังสบายกว่าสมัยพุทธกาลมากมายนัก

 


พูดถึงเรื่องถนนในอินเดียโดยเฉพาะในรัฐพิหารนี้แล้วก็น่าทึ่งจริงๆ ที่ยังคงสภาพอยู่ได้เหมือนเมื่อหลายพันปีคือไม่มีการพัฒนาเลย ถนนเป็นเหมือนทางเกวียนมากกว่า ดังนั้นพอเอารถยนต์ไปวิ่งก็เลยออกมาในสภาพนี้ละ
พระท่านเล่าว่ารัฐบาลของประเทศที่นับถือพุทธหลายประเทศทนไม่ได้ บอกจะขอสร้างถนนใหม่ให้ ผู้ที่มาแสวงบุญจะได้สะดวกขึ้น ปรากฏว่าอินเดียบอกว่าไม่ต้อง เป็นนโยบายที่จะไม่พัฒนาถนนให้ดีกว่านี้ อย่างรวดเร็วเกินไป เดี๋ยวคนจะตามไม่ทันและทำให้วิถีชีวิตของคนในชนบทถูกกระทบ .......................เออ อย่างนี้ก็มีด้วย เพิ่งจะเคยเห็น


ในตอนเย็นได้มีการนำคณะพระนวกะไปขึ้นเขาคิชกูฏ ชมมูลคันธกุฏีสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปประทับเพื่อปประดิษฐานพุทธศานาจนมั่นคงในแคว้นมคธ และมีกุฏีของพระอานนท์พระอุปฏฐากด้วย ซึ่งรายการนี้ ผมและพระพ่อไม่ได้ขึ้นเขาไปจนถึงยอด คือขึ้นไปเหมือนกันแต่พอถึงจุดพักที่หนึ่ง เห็นว่าพระพ่ออาจจะเดินไม่ไหวจึงนั่งรอพรรคพวก อยู่ ณ ตรงที่พักจุดแรก เป็นรายการเดียวที่ไม่ได้ทำให้ถึงที่สุด แต่ใจหนึ่งก็นึกว่าต้องดูสังขารด้วย ถ้าเห็นไม่ไหวจริงๆ คงต้องทำเท่าที่จะทำได้ เพราะยังเหลือเวลาแสวงบุญอีกหลายวัน เราจึงใช้การส่งใจไปไหว้พระพุทธเจ้า ณ ยอดเขาคิชกูฏแทน

 

 
ค่ำนั้นคณะพระนวกะได้เดินทางกลับถึงวัดไทยพุทธคยาโดยสวัสดิภาพและได้สวดมนต์ทำวัตรเย็นเช่นเคย ก่อนที่จะปล่อยให้ไปจำวัดได้มีการแจ้งให้ทราบว่าคืนนี้จะมีการนำพระนวกะที่สนใจไปนอนค้างที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้วยเป็นคืนที่สอง ดังนั้นหลังจากเสร็จธุระตามกำหนดการแล้ว ผมจึงได้ชวนพระพ่อ ท่านวรโพธิไปนั่งสมาธิและนอนค้างคืนใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้วยเพราะหลังจากคืนนี้แล้ว คณะจะไม่อยู่ที่พุทธคยาแล้ว จึงเป็นโอกาสสุดท้ายของเราที่จะได้สร้างบารมี ซึ่งท่านวรโพธิก็ใจสู้จริงๆ บอกว่า ไปไหนก็ไปด้วยกัน ถ้ามีคนคอยช่วยประคองละก้อ สู้ตายท่าน
หน่วยกล้าธรรม


ดังนั้น ในเย็นนั้น รถบัส 1 คันที่นำคณะพระนวกะไปต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงมีพระสองพ่อลูกจูงมือและประคองกันไปขึ้นรถบัสด้วย เมื่อรถถึงบริเวณทางเข้า พระสองพ่อลูกจึงเดินตามขบวนคณะพระนวกะกล้าตายจำนวนประมาณ 30 กว่ารูป ถือย่ามแบกกลดเดินเข้าไปยังพุทธสถานพุทธคยาซึ่งจะปิดประตูทางเข้าทุกวันเวลาประมาณ 4 ทุ่ม
ยังเป็นภาพที่จำติดตาได้ดีว่า เป็นเหมือนกองทัพธรรมน้อยๆ เดินกันเป็นแถวเรียงสองท่ามกลางบรรยากาศและความมืดที่ปกคลุมบริเวณนั้น ในขณะที่ผู้คนเดินทะยอยสวนทางออกมาจากพุทธสถานเพราะประตูกำลังจะปิด แต่ตรงกันข้ามคณะพระนวกะของไทย 30 กว่ารูปกลับเดินแถวเรียงสองสวนทางเข้าไปอย่างอาจหาญ พร้อมที่จะไปปักกลดค้างคืนในบริเวณพุทธคยา
ด้วยความที่คณะของเราเดินแถวไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย แถมสวดมนต์อิติปิโสฯดังพอประมาณระหว่างที่เดินไปด้วย จึงสร้างความแตกตื่นและเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ที่มาสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้พอสมควร

 


ผมมีความรู้สึกองอาจและอาจหาญในใจเป็นอย่างมาก เสมือนเป็นหน่วยกล้าตายทำนองนั้นแต่เป็นของกองทัพธรรมกระมั้ง  คืนนี้ละ เราจะยอมตายเพื่อธรรม  เป็นไงก็เป็นกัน ขอไปนอนใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แค่นี้ก็คงเป็นบุญแก่ชีวิตอย่างมาก เรียกว่าถ้าตายไปตอนนี้ ก็ไม่เสียดายชีวาเลย
คืนนั้นพระนวกะตระกูลโพธิ์กลุ่มนี้ได้สวดอิติปิโส 108 จบพร้อมทั้งเจริญสมาธิภาวนา ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยใครใคร่นั่งสมาธิก็นั่ง ใครใคร่เดินจงกรมก็เดินและในที่สุดใครใคร่นอนก็นอนสมาธิในกลดกันจนถึงตี 3 ครึ่ง จึงเดินทางกลับวัดไทยพุทธคยา

กองไฟไม่เคยดับที่พาราณสี


วันที่ 30 ตุลาคม 2550 ตื่นตี 4  เช่นเคย หลังจากการบวชมาเป็นวันที่  4 บรรดาพระนวกะก็เริ่มชินกับการเป็นพระ หลายคนมีสง่าราศรีและท่าทางเป็นพระแท้ๆ ที่ดูน่าเลื่อมใส ระดับหลวงพ่อกันทีเดียว พระวรโพธิเป็นหนึ่งในนั้น หลายคนทักท่านว่าหลวงพ่อ ผมเลยเป็นพระลูกหลวงพ่อไปโดยปริยาย
วันนี้เป็นวันแห่งการเดินทาง (ไกล) อีกวันหนึ่ง เพราะจะต้องเดินทางจากวัดไทยพุทธคยาไปเมืองพาราณสีซึ่งมีระยะทางประมาณ 275 กิโลเมตร ถ้าเป็นเมืองไทย การเดินทางระยะทางประมาณนี้จะใช้เวลาประมาณเพียง 3 ชม แต่เป็นที่อินเดีย รัฐพิหาร อะไรก็เกิดขึ้นได้  ระยะทาง ความเร็วรถกับเวลามาตรฐานจึงนำมาใช้ที่นี่ไม่ได้
พาราณสีเป็นเมืองเก่าแก่ ในอดีตเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ลักษณะที่ตั้งของเมืองพาราณสีคือตั้งคุ่ขนานไปกับแม่น้ำคงคา ตัวเมืองใหญ่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน มีชื่อเสียงในเรื่องผ้าไหม ผ้าไหมกาสีมีชื่อเสียงว่าเป็นผ้าชั้นดีที่งดงามมาก ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของพาราณสีก็คือ ผู้คนยังคงวิถีชีวิตแบบดั่งเดิมเอาไว้ เมื่อ 3 พันปีทำอย่างไร ก็ยังทำเช่นนั้นอยู่ในวันนี้ ถนนหนทางอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยดีนัก เป็นหลุ่มเป็นบ่อ ฝุ่นเยอะมาก สองข้างทางที่เป็นเขตเมืองจะเป็นร้านขายของเล็กๆ ตั้งเรียงรายไปตลอดทาง นับเป็นเมืองที่จอแจ และแออัดมากเมืองหนึ่ง คณะเราไปถึงพาราณสีก็ตอนค่ำแล้วได้เข้าพักที่วัดไทยสารนาถ

เข้าทุ่ง ประสบการณ์ที่ทุกคนต้องเจอ
เนื่องจากวันนี้เป็นการเดินทางไกล และตลอดสองข้างทางก็ไม่ค่อยจะมีห้องน้ำ คนในรัฐพิหารไม่นิยมมีห้องน้ำในบ้าน ที่มีก็ไม่มาตรฐาน วันนี้ จึงเป็นวันที่ทุกคนจะได้ประสบการณ์พิเศษของการมาแสวงบุญก็คือการเข้าทุ่ง เหตุที่ต้องเข้าทุ่งก็เพราะไม่มีห้องน้ำให้เข้า
เราได้เรียนรู้สัญญานของการปลดทุกข์นี้ ถ้าคนขับจอดรถแล้วเด็กรถยกมือขึ้นชูนิ้วก้อยนิ้วเดียวละก้อ หมายถึงการปลดทุกข์เบาคือปัสสาวะ แต่ถ้าชูนิ้วโป้งละก้อ นั่นคือปลดทุกข์หนัก แหมเป็นระบบดีแท้
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนขับไม่ได้เป็นเพียงผู้กุมชะตาชีวิตของผู้โดยสารเท่านั้น แต่กุมชะตาในเรื่องการปลดทุกข์ด้วย เพราะคนขับจะรู้ดีว่าบริเวณใดสองข้างทางที่ผ่านไปนั้น ที่ใดเหมาะกับนิ้วก้อยหรือนิ้วโป้ง ต้องใช้ความชำนาญในการเลือกภูมิประเทศนะครับซึ่งต้องดูจำนวนคนที่ไปแต่ละครั้งด้วยว่าผู้หญิงมากหรือผู้ชายมาก นอกจากนั้น ที่ต้องเลือกพื้นที่ก็เพราะพื้นที่สองข้างทางเส้นไปแสวงบุญนั้นส่วนใหญ่เคยเป็นสมรภูมิปลดทุกข์มาแล้วทั้งนั้น คนขับจึงต้องเลือกที่ให้ดีและเหมาะสมด้วย
พูดเรื่องนี้ทีไร ผมก็อดขำไม่ได้เพราะเจอมากับตัวเอง ไม่เฉพาะการเข้าทุ่งแต่การที่ไปเหยียบกับระเบิดที่ใครก็ไม่รู้ทิ้งเอาไว้ ทำให้เกือบต้องสละรองเท้าแตะคู่กายซะแล้ว ดีที่เด็กรถมีน้ำเหลือพอให้ล้างรองเท้าจนแน่ใจว่าไม่มีอะไรติดแล้ว มิฉะนั้นผมอาจจะถูกทิ้งไม่ได้ขึ้นรถบัสไปต่อ
.........................................

(ติดตามตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 213455เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 04:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

บันทึกนี้ มีทั้งความสนุกและเห็นภาพพจน์ในการเดินทางจริงๆค่ะ

และจะมาบอกว่า อยู่อินเดียมา ๔๓ วัน ยังไม่มีโอกาสใช้บริการเข้าทุ่งเลยค่ะ

แต่ไม่แน่ถ้าอยู่ต่อไปอาจมีโอกาสใช้ก็ได้นะคะ

ขออนุญาต แอบไปหัวเราะ พระถูกกับระเบิดก่อนนะเจ้าคะ

โยคีน้อย ตันติราพันธ์

(ย้อนเวลาไป ณ ตอนนั้น) ไม่ใช่อาตมารูปเดียวนะโยม บัสคันอื่นก็มีหลายรูปที่โดนกับระเบิด ถึงกับต้องทิ้งรองเท้าที่ญาติโยมถวาย

เป็นการยืนยันว่าการเกษตรของอินเดียนั้นอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแต่ประการใด

อาตมาเหลือบไปเห็นหนองน้ำไม่ไกลจากทุ่งทิ้งระเบิด เห็นหมูตัวอ้วนหลายตัว น่ารักเชียว จึงเข้าใจว่าทำไมคนอินเดียไม่นิยมทานหมู

อมิตตะพุท

ปล ล่าสุดพระสงฆ์ไทยและคณะแสวงบุญชาวไทยร่วมกันสร้างที่บริการห้องน้ำระหว่างทางไปลุมพินี สะอาดและน่าใช้มาก ฟรีสำหรับผู้แสวงบุญชาวไทย ต่อมากลายเป็นจุดที่ผู้แสวงบุญไทยจะต้องไปแวะ

พี่โยคีคะ

ที่ห้องน้ำชายแดน ระหว่างอินเดีย และเนปาลนั้น

ได้ไปมาแล้ว แวะกินข้าวกลางวันด้วย ก่อนเดินทางเข้าเนปาล

ห้องน้ำสะอาดมาก มีจำนวนมากด้วย

แบ่งเป็นห้องเทพบุตรและเทพธิดา

นี่ก็เป็นความละเอียดอ่อนที่พระธรรมทูตไทย มีเมตตาต่อผู้แสวงบุญทุกคน

รู้สึกมีบุญทุกครั้ง ที่ไปยืนอยู่ในเขตวัดไทย ในอินเดียค่ะ

ก็ได้แต่หวังใจว่า จะได้มีโอกาสไปเยือนอีกค่ะ

ปล.โยมขอกราบขอขมาพระคุณเจ้าด้วย ไม่ได้หัวเราะเพราะจิตอกุศล แต่...

โยมก็ดีใจ ที่ถวายผ้าเช็ดเท้าให้พระนวกะท่านได้ใช้แล้ว บุญโขเลย

สาธุ สาธุ สาธุ

โยมโยคีน้อย

(ย้อนเวลากลับไปหาอดีต)

พระนวกะ เตชะพละโพธิ

-ผ้าที่โยมส่งไปให้ ได้ใช้ตามที่ตั้งใจถวายและในวันสึกวันคืนสุดท้ายได้มอบให้ทางวัดเพื่อใช้ทำบุญกับพระต่อไป เป็นบุญทวีคูณ

สาธุ

พลังงานไม่สูญหายไปไหน ผู้ที่ทำกุศลด้วยจิตที่เป็นกุศลทั้งก่อนทำ ระหว่างทำและหลังทำ จะนำไปในทางที่ประเสริฐ จนถึงที่สุดแห่งทางเดิน

เจริญสุขนะโยม

ผมขอชูนิ้วโป้งด้วยครับครับ แปลว่า เยี่ยมน๊ะครับ ไม่ใช่ปวดหนัก อิอิอิ ^^

คุณ suksom
ต้องหาโอกาสไปแสวงบุญเองครับ จะได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ

  • วันนี้ได้อะไรดีๆที่น่าคิด
  • ปรากฏว่าอินเดียบอกว่าไม่ต้อง เป็นนโยบายที่จะไม่พัฒนาถนนให้ดีกว่านี้ อย่างรวดเร็วเกินไป เดี๋ยวคนจะตามไม่ทันและทำให้วิถีชีวิตของคนในชนบทถูกกระทบ
  • สัญญาณ นิ้วก้อย กับนิ้วโป้ง
  • ประทับใจพระนวกะตระกูลโพธิ์ เป็ยอย่างยิ่งค่ะ

คุณ Lin Hui ครับ

ในอินเดีย บางอย่างอาจเข้าใจยาก แต่ถ้าได้ไปสัมผัสและคิดทบทวนมีสิ่งดีแฝงอยู่เสมอครับ

การรับสิ่งใดเข้ามาที่รวดเร็วเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติแน่นอน ยกตัวอย่างร่างกายคนเรา ต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่เสมอ ทานน้ำเย็นมากเร็วเกินไปก็รู้สึกเย็นไปถึงขั้วหัวใจ พลาดจะไม่สบายเอา

ถนนที่สะดวกทันสมัย ก็นำส่งที่ไม่สามารถคัดได้มาสู่ชุมชนครับ

การที่ได้เกิดความคิด เป็นสิ่งที่ได้จากการไปเที่ยวอินเดียครับ

และยิ่งได้ไปอยู่ที่นั่น อัศจรรย์ทุกวันครับ

กลุ่มพระนวกะตระกูลโพธิ์ซึ่งมีคุณมงคล สิมะโรจน์เป็นประธาน ณ ตอนนี้คาดว่าจะจัดทำโครงการให้ทุนส่งพระไทยไปเรียนต่อที่อินเดียครับ

รายละเอียดจะได้ติดตามมานำเสนอต่อไปครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท