เมื่อพานักศึกษาจำนวนมากทำ PAR …! (1)


 

ในเทอมสุดท้ายที่ได้มีโอกาสพานักศึกษาลงไปทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนนั้น...

ในเทอมดังกล่าวเราเองสอนนักศึกษาอยู่ 2 section จำนวนรวมประมาณ 90 คน ซึ่งให้เลือกโดยความสมัครใจ โดยให้เลือกระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณแบบเดิม โดยให้ทำวิจัยทางธุรกิจ 1 เรื่อง โดยแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 5 คน ให้ใช้เวลาทำประมาณ 3 เดือนครึ่ง กับการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นแบบ PAR (Participatory Action Research) ซึ่งทำเรื่องเดียวคือ นักศึกษาที่ไม่ได้เลือกทำวิจัยเชิงปริมาณก็ให้มารวมกลุ่มทำ PAR กันทั้งหมด ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน”

และเมื่อถามความสมัครใจของนักศึกษาแล้ว ไม่มีนักศึกษาคนใดเลือกทำวิจัยเชิงปริมาณเลย พวกเราทั้งหมดประมาณ 90 คนจึงต้อง “พากันทำ PAR”

ในส่วนแรกคือการเรียน การสอน การทำความเข้าใจเนื้อหา แนวทาง ทฤษฎี ในส่วนนี้ไม่มีปัญหาสำหรับปริมาณนักศึกษาที่มากถึงแม้ว่าจะเรียนกันคนละครั้ง ซึ่งดีอีกต่างหากที่สามารถยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ข้อสงสัย ข้อคำถามที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งสงสัย แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สงสัย เพราะนักศึกษาทั้งสองกลุ่มนั้นเรียนคนละโปรแกรมวิชากัน คือ ธุรกิจบริการ กับคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และประกอบกับมีพื้นฐานการศึกษาต่างกัน คือ กลุ่มหนี่งจะเป็นนักศึกษาที่มาเรียนต่อในสองปีหลัง คือ จบ ปวส. หรืออนุปริญญามาแล้ว กับนักศึกษาที่เรียนปริญญาตรีสี่ปี จึงทำให้ในระหว่างเรียนได้รับข้อคำถามที่แตกต่างกัน และสามารถนำคำถามมาอธิบายเพิ่มเติมระหว่าง Section ได้

ส่วนที่สอง คือ การทบทวน แนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Review Literature) ส่วนนี้สบายมาก คนเยอะ ได้เอกสารเยอะ เพียบเลย ตอนแรกก็ลำบากคนอ่านหน่อย แต่ก็ดีที่นักศึกษาแต่ละคนได้ค้นคว้าหาเอกสารมาค่อนข้างมาก เราใช้เวลาแยกแยะ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุป แล้วแจกจ่ายกันไปพิมพ์ไม่กี่วันก็เสร็จเรียบร้อย

ส่วนที่สาม การสร้างเครื่องมือ ส่วนนี้ยังอยู่ในชั้นเรียน ซึ่งเราเองได้นำเครื่องมือที่เคยใช้ทั้งในการทำงานกับมหาวิทยาลัย และในส่วนขององค์กรอิสระมาประยุกต์ใช้ และให้นักศึกษา Discuss กัน ส่วนนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ส่วนที่สี่ การเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ก่อนลงพื้นที่นั้น เราเองได้เตรียม ซักซ้อม ทดสอบ ฝึกหัด “นักวิจัยหน้าใหม่” ซึ่งจะลงไป “ร่วม” ทำงานกับพี่น้องในชุมชน ในส่วนนี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแนวคิด (Concept) คือ นักศึกษาส่วนใหญ่จะนึก จะคิดเสมอว่า “จะลงไปเก็บข้อมูล” อันนี้ต้องพูด ต้องอธิบาย ต้องให้เวลากับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะการทำ PAR ถ้าผู้วิจัยคิดว่าจะลงไปเก็บข้อมูลละก็เสร็จเลย PAR ก็จะกลายเป็นแค่การวิจัยโดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วม (Participatory Rural Appraisal : PRA) ไป แต่การสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษาทีละหลายคนกลับกลายเป็นจุดแข็ง เพราะนักศึกษาบางคนไม่กล้าถาม ไม่กล้าซัก พอมีคนสงสัยคนหนึ่ง นักศึกษาทั้งหมดก็เลยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

ส่วนที่ห้า การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล อันนี้สบายมากถึงมากที่สุด นักศึกษาเยอะ จำนวนครอบครัวในบ้านท่าสักประมาณ 150 ครัวเรือน กับจำนวนนักศึกษา 90 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มละ 5 คน ได้ 18 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่ม รับผิดชอบกันประมาณ 8 ครัวเรือน โดยมีเวลาให้ประมาณ 3 ชั่วโมงนั้นทำให้การ “ร่วม” กันสนทนาเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนซึ่งมีเวลาเฉลี่ยครอบครัวละ 20-30 นาทีนั้นสามารถทำให้เสร็จครบกระบวนการ คือ เริ่มตั้งแต่ Small Talk การคุยเรื่องต่าง ๆ สัพเพเหระ เรื่องดินฟ้าอากาศ ให้พี่ ๆ น้อง ๆ ป้า ๆ น้า ๆ อา ๆ ที่เราเข้าไปหา “หายตกใจ” และสร้างความเป็นกันเอง
การให้นักศึกษาเข้าไปเก็บข้อมูลนี้มีข้อดีมาก ๆ อยู่หนึ่งเรื่องคือ  นักศึกษาที่เข้าไปส่วนใหญ่จะไปรุ่นราวคราวเดียวกันกับลูก ๆ ของป้า ๆ น้า ๆ อา ๆ ที่อยู่บ้าน อยู่ในชุมชน จึงได้รับความเมตตา ความเอื้ออาทรจากทุกคนในชุมชนอย่างดียิ่ง การสนทนาจึงเป็นไปด้วยความกันเอง “สบาย ๆ”

เรื่องที่หก การวิเคราะห์ข้อมูล อันนี้เริ่มมีปัญหาเพราะงานเริ่มน้อยกว่าคน แต่ละกลุ่มนั้นจะได้แบบสำรวจกลับมากลุ่มละประมาณ 8 ชุด ชุดหนึ่งมี 5 คน โดยเราให้แต่ละกลุ่มไปคีย์ข้อมูลในลงโปรแกรม SPSS ซึ่งบรรยายให้โดยใช้เวลาประมาณ 6 คาบ (1 คาบ = 50 นาที)


การบรรยายถึงแม้ว่าจะใช้เวลาร้อยคาบ พันคาบก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับการทำงานจริงเพียงแค่นาทีเดียว


ดังนั้นแบบสอบถามที่ได้กลับมานั้นน้อยมากเมื่อเฉลี่ยโดยคนแล้ว


เมื่อแบ่งกลับไปให้นึกษาทำ ในแต่ละกลุ่มทั้ง 5 คนนั้น ก็ไม่ได้ทำกันทุกคน เพราะมีแค่ 8 ชุด ดังนั้นจึงมีการเกี่ยงกันบ้าง หรือมอบหมายให้เพื่อนที่บ้านมีคอมพิวเตอร์เป็นผู้ทำเพียงแค่ 1-2 คน จึงทำให้นักศึกษากว่าครึ่งไม่สามารถได้รับประสบการณ์ในการคีย์ข้อมูล ซึ่งถ้าเป็นการวิจัยเชิงปริมาณธุรกิจแบบเทอมก่อน การสุ่มตัวอย่างหากใช้ตารางของเครซี่และมอร์แกน อย่างน้อยก็ต้องได้กลุ่มตัวอย่างไม่น้อยกว่า 360 ตัวอย่าง ดังนั้นเมื่อหารเฉลี่ยจำนวนนักศึกษากลุ่มละ 5 คน แต่ละละคนจะได้ไปคีย์กันคนละประมาณ 60 ชุด


 

ข้อดีและข้อผิดพลาดของการพานักศึกษาทำวิจัยแบบ PAR นั้นมีอีกมาก ซึ่งขอโอกาสนำเสนอในบันทึกถัดไป...

หมายเลขบันทึก: 213011เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตนะคะ  ดิฉันมีความสนใจเกี่ยวกับการวิจัย PAR มาก เพราะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ชุมชนมีค่อนข้างมีความเป็นพลวัตรสูง  ต้องการให้เขามีบทบาทและเข้าใจหน้าที่ต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนที่ต้งอยู่ในชุมชน

เคยร่วมมือกับนักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม  ทำครั้งหนึ่ง แต่ไม่ต่อเนื่องค่ะ ไม่ไปออกภาคสนามอย่างจริงจัง

จะพยายามมาติดตามอ่านและเรียนรู้อีกนะคะ  ขอขอบคุณมากค่ะ

สารบัญ "ท่าสักไดอารี่..."  คือ ย่างก้าว ความเป็นมา เสียงหัวใจและแววตาของนักศึกษาทุก ๆ คน...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท