จดหมายน้อยจากผอ.สพช.ภาคใต้


คุณหมอสุภัทร ขอทักทายชาวเครือข่ายปฐมภูมิภาคใต้ผ่านจดหมายน้อยคะ

ใต้ตึกสีส้ม  มอ.หาดใหญ่

30 กันยายน 2551

สวัสดีพี่เลี้ยงเครือข่าย สพช.ทุกท่านครับ

                ผมขอรายงานตัวกับเครือข่ายแกนนำ สพช.คนสำคัญทุกท่านครับ  ผม นายแพทย์สุภัทร   ฮาสุวรรณกิจ  จากโรงพยาบาลจะนะ  จังหวัดสงขลา  หน้าเก่าแต่มาอยู่ใหม่อย่างเป็นทางการ  คือว่าผมได้รับการทาบทามจากคุณหมอสุพัตรา ศรีวณิชชากร ให้มารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพชุมชนภาคใต้ ( สพช.ใต้ ) ครับ  แต่ด้วยความที่ห่างเหินอยู่มาก  ก็ได้กำลังหลักจากทีมโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นทีมงาน  ที่สำคัญก็ได้แก่ 3 ทหารเสือของเวชกรรมโรงพยาบาลหาดใหญ่คือ พี่แพรวพรรณ ตันสกุล ( พี่แพรวที่เป็นร่มใบใหญ่ให้ทุกคน ) พี่สิริวรรณ เดียวสุรินทร์  ( พี่ติ๋ม ผู้มีจิตสาธารณะกับการทำเครือข่ายไม่เสื่อมคลาย)         และพี่อมรรัตน์   ลิ่มเฮง ( พี่แมว เลขานุการตัวจริงเสียงจริงที่ขยันอย่างที่สุด ) อีกทั้งคุณวันดี แสงเจริญ จาก สปสช.หาดใหญ่ มาเป็นทีมงานสำคัญ

                ระบบสุขภาพชุมชน  กำลังจะเป็นกระแสธารที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มเข้าใจและเข้าถึงมากขึ้นแล้ว  แม้ว่าในวันนี้จะมีหลายองค์กรที่เล่นเรื่องนี้อยู่  กระทรวงสาธารณสุข และสปสช.ก็ผลักดันผ่านระบบบังคับบัญชาด้วยกลไกการรับรองมาตรฐาน PCU เป็นต้น  คุณหมอโกมาตร 

จึงเสถียรทรัพย์ ก็เน้นการให้กรอบคิดการฝึกคนเตรียมคนในการทำงานในชุมชนโดยผ่านเครื่องมือ 7 ชิ้น  คุณหมอสุพัตรา หรือหมอช้างของเรา ก็มุ่งมั่นวางแผนระยะยาวในการทำงานเรื่องระบบสุขภาพชุมชน  การกำเนิดอย่างเป็นทางการของ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพชุมชนภาคใต้           ( สพช.ใต้ ) ก็เป็นอีกรูปธรรมสำคัญที่คุณหมอช้างจะผลักดันให้มีในทุกภาค  ให้แต่ละภาคมีการขับเคลื่อนแนวราบกันเองโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง

จากการขับเคลื่อน PCU ในฝัน  นำมาสู่การตั้ง สพช.เพื่อขับเคลื่อน primary care ต่อไป  ซึ่งเน้นการพัฒนาคน  คนคือหัวใจของ primary care  คุณหมอช้างและพวกเราทุกคนคงเห็นตรงกันว่าอยากให้ สพช.ใต้ เป็นกลไกขับเคลื่อน primary care และระบบสุขภาพชุมชนในภาคใต้  เป้าหมายสุดท้ายคือ การไปให้ถึงระบบสุขภาพชุมชนก็ต้องเริ่มที่ primary care  วิธีคิดสำคัญคือ ขยับจาก disease based มาเป็น community based  ระบบสุขภาพชุมชนในที่สุดจะเป็น  3 ขาคือ ภาคสาธารณสุข  ภาคท้องถิ่น และภาคชุมชนหรือประชาสังคม   โดยใช้กลไกแนวราบปรับฐานคิดจากงานบริการ สู่วัฒนธรรมการทำงานเป็นเครือข่าย  ให้เจ้าหน้าที่เข้าใจกระบวนทัศน์ความสำคัญของระบบสุขภาพชุมชน  จนนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการด้วยตนเอง

                โจทย์ใหญ่ของ สพช.ใต้ในวันนี้ก็คือ  เราจะทำอะไรกันต่อไป  เราจะเชื่อมต่อทุนเดิมที่มีอยู่ที่คุณหมอช้าง ที่คุณอนุชา หนูนุ่น ซึ่งไปดีเป็นอาจารย์ที่ราชภัฏสงขลาไปแล้ว  รวมทั้งที่แกนนำเครือข่ายแต่ละจังหวัดมีอยู่ให้เดินหน้าต่อไปเป็นขบวนได้อย่างไร  อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าคิดครับ  และคงเป็นภาระของทุกท่านที่ต้องมาร่วมคิดร่วมทำ

                ในเบื้องต้น  ทางคณะทำงาน สพช.ซึ่งมีกัน 5 คนก่อนที่สงขลา เพราะสะดวกในการทำงานและการพบเจอกัน   ได้วางโครงในการดำเนินงานไว้บ้างแล้ว  จึงอยากบอกเพื่อให้รับรู้ในเบื้องต้นครับ

1.       Board สพช.ใต้  เพื่อกำกับดูแล ให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของคณะทำงาน

                              รายชื่อ บอร์ดเพื่อพิจารณาเบื้องต้น  แม้ว่ายังไม่ลงตัว 100 %  ได้แก่  อาจารย์ธาดา  ยิบอินซอย  ผู้อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  , คุณสุรศักดิ์  อธิคมานนท์ หรือคุณแซม                ผู้ประสานจาก สพช.กลาง ,  คุณหมออมร  รอดคล้าย                    จาก สปสช.สงขลา  ,  ภก.พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ จาก สวรส.ใต้และ ผู้ประสาน สช.ใต้   นอกจากนี้อาจมีคนหลักของ เครือข่ายแพทย์ เวชศาสตร์ครอบครัวภาคใต้ ( Fam – med )  เครือข่ายปฐมภูมิเดิม ซึ่งก็น่าเป็นกลุ่มพี่เลี้ยงจังหวัด   ตัวแทนจากเครือข่ายหมออนามัย   ตัวแทนจากเครือข่ายพยาบาล NP    และปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคชุมชน ประมาณนี้ครับ 

2.       คณะทำงานเบื้องต้นก็ประกอบด้วยบุคลากร 6 คนคือ

1. นพ.สุภัทร  ฮาสุวรรณกิจ             ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ  จังหวัดสงขลา

2. คุณแพรวพรรณ  ตันสกุล             หัวหน้างานรักษาพยาบาลชุมชน เวชกรรมสังคมรพ.หาดใหญ่    3. คุณสิริวรรณ  เดียวสุรินทร์                พยาบาลวิชาชีพ เวชกรรมสังคมโรงพยาบาลหาดใหญ่                

4. คุณวันดี   แสงเจริญ                    สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่สงขลา    5. คุณอมรรัตน์  ลิ่มเฮง                           พยาบาลวิชาชีพ  เวชกรรมสังคมโรงพยาบาลหาดใหญ่

6. เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 1  คน

งานนี้ใครจะอาสาเข้ามาเป็นคณะทำงานเพิ่มเติมก็ยินดีมากครับ  อีก 5 คน 10 คนก็ยังไหว  เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนประจำ  มีแต่ค่ารถนิดหน่อย  ยกเว้นน้องเจ้าหน้าที่ที่ได้เงินเดือนเพียงคนเดียว   จิตอาสานำชัยให้ถึงฝันครับ

3.       คณะกรรมการประสานงานเครือข่าย 14 จังหวัด  ( พี่เลี้ยงจังหวัด )

ซึ่งทีมงานนี้สำคัญมากครับ  เพราะเป็นกลไกขับเคลื่อนในระดับจังหวัด  ต้องเชื่อมทั้งแนวราบคือโรงพยาบาล สถานีอนามัยและชุมชนในจังหวัดตนเอง  อีกทั้งต้องเชื่อมแนวดิ่งคือ ทำให้ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอเข้าใจและเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนแนวราบดังกล่าว  ที่ผ่านมาเรารบแบบกองโจรเสียมาก  ไม่ค่อยมีความเป็นทางการ  ทำงานมากแต่เจ้านายไม่ค่อยได้รับการต่อข้อมูล 

เช่นกันครับ  ทีมพี่เลี้ยงจังหวัดนี้ก็จะมีค่ารถค่าเรือเบี้ยประชุมเวลามาพบกันให้บ้าง  จิตอาสานำชัยให้ถึงฝันอีกแล้ว

4.       เครือข่ายที่เป็นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่และเป็นกลุ่มเป้าหมายในการปฏิบัติงาน 

ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 เครือข่ายวิชาชีพครับ

                                          1. เครือข่าย แพทย์ FM   มีสมาชิก 22 คน  จุดเด่นคือวิชาการดี แต่เวลาน้อย  มีงบประมาณในการดำเนินงานเครือข่ายของตนเองจาก สพช. กลาง  น่าจะเป็นกลไกทางวิชาการที่ช่วยทีมอื่นๆได้ดี 

                                          2. เครือข่าย พยาบาล NP  อันนี้เป็นความหวังที่จะตั้งขึ้นมาให้ได้  เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  มีการผลิตฝึกอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป ( NP ) ทั้งจากวิทยาลัยพยาบาลและมหาวิทยาลัยหลายรุ่นมาก  ขณะนี้มีทะเบียนรายชื่อแล้ว  หากตั้งเป็นชมรมพยาบาล NP ได้  ก็จะทำให้เป็นอีกกลไกขับเคลื่อนแนวราบที่สำคัญต่อไปครับ  เป้าหมายในปีนี้คือ ตั้งองค์กรและหางบมาให้องค์กรขับเคลื่อนของเขาต่อไป

                                          3. เครือข่ายปฐมภูมิ  อันนี้มีตัวตนของสมาชิกเครือข่ายที่มีความรู้สึกร่วมมีความผูกพันกันอยู่แล้ว  เดิมมีโครงการ PCU ในฝัน โครงการนวัตกรรม PCU เป็นตัวขับเคลื่อน  ต่อมาก็ห่างๆกันไปบ้าง  แต่เครือข่ายที่มีก็ยังเป็นต้นทุนอันไพศาลที่มีไฟที่มีพลังรอการหลอมรวมต่อไป  ซึ่งอันนี้ครับที่จะเป็นภารกิจสำคัญของพี่เลี้ยงจังหวัด

                                          4. เครือข่าย ชุมชนที่เข้มแข็ง ที่มีทาง สพช.กลาง คุณอนุชา หนูนุ่น และทีมแกนจังวัดเคยต่อไว้  ไม่ว่าที่ลำสินธุ์ พัทลุง  ที่ท่าข้าม หาดใหญ่  ที่ไม้ขาว ภูเก็ต ที่ทรายขาว ปัตตานี และอีกหลายที่ที่ผมยังต้องทำการบ้านรู้ให้มากกว่านี้  อันนี้ก็ต้องรักษาความเป็นเครือข่ายไว้  อาจต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอนาคต 

 

เขียนมายืดยาว  ในเบื้องต้นก็ขอเชิญทุกท่านกลับเข้าร่วมขบวนการสุขภาพชุมชนภาคใต้ที่กำลังจะฟื้นตัวตั้งลำอีกครั้ง  หลังจากเงียบไปพักหนึ่งเพราะทุกคนล้วนถูกถาโถมจากงานประจำในช่วงปลายปีงบประมาณ  และพี่แมวจะนัดประชุมแกนนำ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อหารือแบบมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการในการขับเคลื่อนงาน สพช.ใต้ต่อไปเร็วๆนี้ครับ

 

                                                                                ศรัทธาและเชื่อมั่น

 

                                                                นายแพทย์สุภัทร  ฮาสุวรรณกิจ

                                                สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพชุมชนภาคใต้ ( สพช.ใต้ )

หมายเลขบันทึก: 213004เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เครือข่าย ปฐมภูมิเดิม

ยินดีด้วยกับตำแหน่งใหม่

พี่ในฐานะคนคุ้นๆกันกับคุณหมอมาตลอดตั้งแต่ โครงการประกันสุขภาพเข้ามาในชีวิตข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขระดับรากหญ้า ตั้งแต่ ปี 2545 เกือบทุกเวทีระดับเขต สตูล สงขลา ยิ่งเวที PCU ในฝัน นวัตกรรมปฐมภูมิ ทั้งวิทยากรระดับต่างๆ (ตอนนี้พี่กำลังขยายเครือข่าย ในเขต อ. เมืองสตูล ได้แนะนำให้องค์กรต่างๆส่งโครงการเข้าร่วม แลกเปลี่ยนกับโครงการของ สวรส.ภาคใต้(อ.พงค์เทพ ฯ) ไปหลายโครการไมทราบจะผ่านระดับจังหวัด สักกี่มากน้อย ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ผ่านเข้าไปได้บ้างเพื่อสร้างเครือข่ายปฐมภูมิในองค์กรอื่นเพิ่ม พวกเราทีมสุขภาพอาชีพ จะได้เหนื่อยน้อยลงบ้าง

พี่คนนี้ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง

เครือข่ายพี่เลี้ยงพัทลุง

พี่ในฐานะที่เข้ามาเป็นเครือข่ายใหม่ รู้สึกดีที่มีโอกาสได้พบกับผอ.ที่น่ารักและเป็นกันเองกับทีมงานทุกคน คิดว่าถ้าผอ.มีอัธยาศัยดีแบบนี้และทีมพี่ติ๋ม พี่แพรว น้องแมว น้องเม้าและอีกคนจำไม่ได้คงจะทำให้งานสพช.ใต้เดินไปอย่างราบรื่นแน่นอน พี่ยินดีร่วมงานและจะช่วยตามกำลังและความสามารถที่จะช่วยได้นะคะ ขอเป็นำลังใจสพช.ใต้คะ

ส่งรายชื่อที่Updateใหม่ไปให้ได้รับกันถ้วนหน้าหรือยังคะ ถ้าใครไม่ถึง ไม่ได้รับกริ้งเข้ามาบอกได้เลยคะจะได้แก้ไขให้ ของพี่ละม้าย พัทลุงแก้เสร็จแล้วนะคะรอบหลังได้รับพร้อมเพื่อนๆแล้วยังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท