Nan & Ball Chongbunwatana
นายและนาง คมกฤชและประณยา จองบุญวัฒนา

36: การเดินทางไปถวายจีวรที่ Rajbhana Vihara, Rangamati, Chittagong 23 ก.ย.51:ตอนที่ 2


เล่าบรรยากาศการถวายจีวรI ณ เมืองจิตตะกอง

ตอนที่ 2

หลังจากฟังการบรรยายสรุปจากทาง UNDP คณะก็ลงเรือเร็วจำนวน 2 ลำ เพื่อเดินทางไปดูพื้นที่ดำเนินงานซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ภายใต้โครงการของ UNDP ต้องนั่งเรืออยู่นานพอสมควรกว่าจะไปถึง อีกทั้งตามทางก็เต็มไปด้วยผักตบชวามากมาย ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะผักตบชวาจะเข้าไปเกี่ยวกับใบพัดเรือซึ่งทำให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน ต้องหยุดเรือและดึงใบพัดท้ายเรือขึ้นมาหยิบเอาผักตบชวาออกเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ก็ถือได้ว่า เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่สนุกและทำให้ผมได้รู้จักบังกลาเทศมากขึ้น ได้เห็นธรรมชาติและชีวิตโดยรอบทะเลสาบ มีชาวบ้านพายเรือออกมาเหวี่ยงแหหาปลา มีเรือขนส่งสินค้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ผ่านมาให้เห็นบ้างนานๆ ครั้ง ใจก็นึกว่า ดีแล้วที่ภรรยาพักอยู่ที่เมืองไทยในช่วงตั้งครรภ์ ไม่อย่างนั้น แณณ ภรรยาผม ที่ตั้งใจอยากจะเดินทางมาถวายจีวรด้วยตนเองมาก เพราะเป็นคนริเริ่มคิด เริ่มทำ โครงการนี้กับพี่พลเดช และพี่บุญรุ่ง มาตั้งแต่ต้นได้มาด้วยก็คงจะมีอาการคลื่นเหียน เวียนหัว จากการนั่งเรือและการเดินทางที่ยาวนานเป็นแน่ อีกทั้งครรภ์นี้เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกของแณณ หากจะมาจริงๆ ผมคงจะต้องห้ามไว้แน่นอน

 

เมื่อคณะนั่งเรือไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง ก็เห็นชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนประมาณ 40-50 คน ซึ่งหน้าตาออกมาทางพม่า แต่ผิวไม่ถึงกับขาวนัก ผู้ชายใส่เสื้อยืดบ้าง เสื้อเชิ้ตบ้าง แต่นุ่งโสร่ง ผู้หญิงแต่งตัวคล้ายๆ ชาวบังกลาเทศทั่วไปคือ นุ่งผ้าถุงและมีผ้าพันพาดบ่าซึ่งล้วนมีสีสด แต่เนื้อผ้าค่อนข้างเก่า ยืนรอต้อนรับคณะของเราอยู่แล้ว เมื่อเดินขึ้นจากฝั่งไปที่ตัวหมู่บ้านซึ่งอยู่สูงขึ้นไป จะเจอกับลานดินเล็กๆ ซึ่งทางหมู่บ้านได้นำโต๊ะ เก้าอี้มาวางเรียงไว้ต้อนรับคณะ ด้านหนึ่งของลานดินดังกล่าว จะเห็นตัวบ้านซึ่งก่อสร้างด้วยดินและหลังคามุงด้วยใบไม้แห้ง บริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็ม ชาวบ้านทุกคนรู้สึกตื่นเต้นยินดี ที่มีคณะจากไทยเดินทางมาเยี่ยมเยียนและได้ให้การต้อนรับคณะอย่างอบอุ่น โดยนำอาหารว่างมาให้คณะรับประทาน เท่าที่ผมเห็นก็มีข้าวเหนียวห่อด้วยใบใม้อะไรสักอย่างแล้วนำมานึ่ง และอีกอย่างที่มองดูแล้วคล้ายๆ หมูก้อนทอดของบ้านเรา ที่ภรรยาผมชอบทาน ผมเองดื่มแต่น้ำมะพร้าวที่เค้าเอามาให้ รสชาติออกไปทางเปรี้ยว ไม่หวานหอมเหมือนมะพร้าวบ้านเรา แต่ก็ดื่มจนหมดแก้ว มีการบรรยายสรุปกิจกรรมของหมู่บ้านให้ฟัง โดยสรุปคือ แต่ละหมู่บ้านในบริเวณนี้ จะมีกองทุนหมู่บ้าน (ฟังดูชื่อคุ้นๆ ไหมครับ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNDP ให้ชาวบ้านกู้ยืมไปประกอบกิจการเล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัว เช่น เลี้ยงแพะ จับปลา และทำงานหัตถกรรมเพื่อขาย รวมทั้งมีกิจการที่ทั้งหมู่บ้านร่วมกันทำ (คงจะคล้ายกับแนวคิดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย) และผลกำไรที่ได้มาก็นำมาแบ่งเท่าๆ กัน ที่ผ่านมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี กองทุนยังคงมีการหมุนเวียนอยู่ ไม่มีหนี้เสีย ตลอดสามปีที่ผ่านมา มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ก่อนกลับ คณะได้เรี่ยไรเงินกันได้จำนวน 21,300 ตากา และ 20 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณหมื่นกว่าๆ และได้มอบให้หัวหน้าหมู่บ้านเพื่อเป็นเงินสมทบกองทุนดังกล่าวด้วย นั่งสนทนากับชาวบ้านสักพัก คณะก็ร่ำลาและลงเรือเดินทางจากมา โดยมีชาวบ้านมายืนส่งที่บริเวณที่เทียบเรือ (ไม่ได้มีการสร้างท่าเรืออะไรเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราว มีแต่เพียงทางเดินดินแคบๆ จากตัวหมู่บ้านลงมาที่ริมฝั่งน้ำด้านล่าง) และโบกมืออำลากันจนลับตา

 

คณะนั่งเรือเดินทางต่อไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ UNDP ที่ร้านอาหารริมทะเลสาบร้านหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นร้านอาหารเพียงร้านเดียวในรังกามาติ มีลักษณะเป็นเพิงและสร้างง่ายๆ ด้วยไม้ไผ่ อาหารที่ทาง UNDP เตรียมไว้รับรองก็เป็นปลาทอด ซึ่งเป็นปลาที่จับได้ในทะเลสาบ คนในคณะบอกว่า หน้าตาคล้ายๆ ปลาทอดขมิ้นบ้านเรา ตัวไม่ใหญ่มาก ก้างเยอะ แต่รสชาติดี อาหารอีกสองอย่างคือ หน่อไม้ทั้งหน่อสอดไส้ด้วยเนื้อไก่แล้วนำไปชุบแป้งทอด และอีกอย่างเป็นเนื้อไก่ ไม่รู้ทำด้วยวิธีอะไรและใส่อะไรบ้างแต่หน้าตาและรสชาติคล้ายแกงเขียวหวานไก่แบบขลุกขลิกใส่มาในกระบอกไม้ไผ่ผ่าซีก อาหารทั้งหมดเป็นอาหารท้องถิ่นของที่นี่ ซึ่งผมว่า น่าจะถูกปากคนไทย เพราะแตกต่างจากอาหารบังกลาเทศแท้ๆ ซึ่งผมเองไม่สันทัดนัก เวลาต้องไปทานตามงานเลี้ยง ก็จะทานเพียงแค่คำสองคำ และกลับมาทานอาหารที่ภรรยาทำต่อที่บ้านทุกครั้ง

 

รับประทานอาหารกลางวันเสร็จ พวกเราทุกคนก็ลงเรืออีกครั้ง เพื่อมุ่งตรงไปยังวัดราชพนา ซึ่งรถบรรทุกจีวรและรถคันอื่นๆ ที่คณะนั่งมาได้ล่วงหน้าไปรอที่วัดเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาไม่นานพวกเราก็เดินทางมาถึงวัดตอนประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง ก้าวแรกที่เข้าไปในบริเวณวัด ก็รู้สึกได้ถึงความสงบร่มเย็น อย่างที่เราคุ้นเคยกันตามบรรยากาศวัดในเมืองไทย มองตรงไปเห็นบริเวณกว้างใหญ่ ดูสะอาดตา มีสิ่งปลูกสร้างอยู่เป็นระยะไล่ขึ้นไปตามความชันของพื้นที่ และเห็นกลุ่มอาคารตั้งขวางอยู่ตรงหน้า บริเวณด้านหน้ากลุ่มอาคารดังกล่าวมีพระสงฆ์และชาวบ้านแถวนั้นยืนรอให้การต้อนรับคณะอยู่

 

เมื่อเข้าสู่ตัวอาคารด้านหน้าก็พบกับบันไดเพื่อขึ้นไปสู่ชั้นบน ที่ชั้นบนเราพบกับทางออกที่เปิดไปสู่ลานโล่งอีกครั้ง ตรงจุดนี้ พวกเราทุกคนต้องถอดรองเท้า เพื่อเดินออกไปสู่ลานโล่งดังกล่าว ซึ่งมีอาคารล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน สิ่งที่สะดุดตาในขณะที่เดินไปตามทางคือสิ่งปลูกสร้างด้านซ้ายมือที่มีลักษณะคล้ายอุโบสถ มีช่อฟ้าใบระกา รูปร่างหน้าตาออกไปทางพม่า ทำด้วยไม้และทาสีเอา มองไกลๆ ก็สวย พอมองใกล้ๆ ก็จะเห็นงานฝีมือที่ไม่ประณีตนัก แต่แน่นอนว่าเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความศรัทธา ที่สุดปลายทาง เป็นอาคารซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นศาลาการเปรียญ เพราะเป็นอาคารที่เราใช้ในการถวายจีวรให้แก่วัด เมื่อเดินขึ้นไปบนชั้นสองของอาคารดังกล่าวซึ่งเปิดโล่ง เราก็เห็นพระอาจารย์สธนนันทา มหาเถระ (Most Venerable Sadhanananda Mahathera) หรือที่ชาวพุทธในบังกลาเทศเรียกติดปากว่า พนาภันเต (Bana Bhante) ซึ่งมีความหมายว่า พระป่า เพราะท่านธุดงค์อยู่ในป่านานถึง 12 ปี ท่านนั่งอยู่ด้านหน้า นิ่งจนแทบจะไม่ขยับตัวเลย และคอท่านก็พับไปด้านหนึ่งจนหน้าท่านแทบจะติดกับบ่า (เข้าใจว่า คอท่านน่าจะเอียงลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น เพราะเห็นภาพท่านซึ่งเป็นภาพตอนที่ยังอายุน้อยกว่านี้ คอเอียงอยู่เหมือนกันแต่ยังไม่พับมากขนาดนี้) และมีพระสงฆ์ประมาณ 30-40 รูป นั่งเรียงกันอยู่ด้านขวามือ จีวรที่ขนมาล่วงหน้าทั้ง 13 กล่องวางอยู่ตรงหน้า โดยมีการแกะเอาจีวรบางส่วนออกเอามาวางเรียงไว้ด้านบนกล่อง

 

- มีต่อครับ - 

หมายเลขบันทึก: 212900เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท