สังคม


ชนชาติ

ในประเทศไทย ถือได้ว่า มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ มีทั้ง ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมไปถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู ชาวชวา(แขกแพ) ชาวจาม(แขกจาม) ชาวเวียด ไปจนถึงชาวพม่า และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ชาวลีซอ ชาวอ่าข่า ชาวอีก้อ ชาวม้ง ชาวเย้า รวมไปจนถึงชาวส่วย ชาวกูบ ชาวกวย ชาวจะราย ชาวระแดว์ ชาวข่า ชาวขมุ ซึ่งมีในปัจจุบันก็มีความสำคัญมาก ต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

ประชากรชาวไทย 75% ชาวไทยเชื้อสายจีน 14% และอื่นๆ 11% [9]

 

ศาสนา

พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
ดูเพิ่มที่ พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัย แม้ว่ายังจะไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นประมาณร้อยละ 1

 

การศึกษา

ดูเพิ่มที่ รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

ในทางกฎหมาย รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาให้ขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าเป็นเวลาสิบสองปี แต่การศึกษาขั้นบังคับของประเทศไทยในปัจจุบันคือเก้าปี บุคคลทั่วไปจะเริ่มจากระดับชั้นอนุบาล เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนตามหลักสูตรพื้นฐาน ต่อเนื่องด้วยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้น สามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือเลือกศึกษาต่อสายวิชาชีพ ในวิทยาลัยเทคนิค หรือพาณิชยการ หรือเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักได้แก่ โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน และ มหาวิทยาลัยรัฐบาล และมหาวิทยาลัยเอกชน โดยโรงเรียนรัฐบาลและมหาวิทยาลัยรัฐบาล จะเสียค่าเล่าเรียนน้อยกว่า โรงเรียนเอกชนและมหาวิทยาลัยเอกชน

 

ภาษา

ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ภาษาพูดของคนไทยมีมาแต่เมื่อไรยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานน่าจะมีมากว่า 4,000 ปีแล้ว ส่วนตัวอักษรนั้นเพิ่งมีการประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ส่วนภาษาอื่นที่มีการใช้อยู่บ้างเช่น ภาษาจีนของชาวไทยเชื้อสายจีน ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ และภาษาของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทางภาคเหนือ เป็นต้น

 

ศิลปะและวัฒนธรรม

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ศิลปะไทยมีลักษณะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง โดยมีความกลมกลืนและคล้ายคลึงกับศิลปวัฒนธรรมเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่ด้วยการสืบทอดและการสร้างสรรค์ใหม่ ทำให้ศิลปะไทยมีเอกลักษณ์สูง

  • จิตรกรรม งานจิตรกรรมไทยนับว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง ได้รับการสืบทอดมาช้านาน มักปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนัง ตามวัดวาอาราม รวมทั้งในสมุดข่อยโบราณ งานจิตรกรรมไทยยังเกี่ยวข้องกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น งานลงรักปิดทอง ภาพวาดพระบฏ เป็นต้น
  • ประติมากรรม เดิมนั้นช่างไทยทำงานประติมากรรมเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป โดยมีสกุลช่างต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างสุโขทัย อยุธยา และกระทั่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทองสำริดเป็นวัสดุหลักในงานประติมากรรม เนื่องจากสามารถแกะแบบด้วยขี้ผึ้งและตกแต่งได้ แล้วจึงนำไปหล่อโลหะ เมื่อเทียบกับประติมากรรมศิลาในยุคก่อนนั้น งานสำริดนับว่าอ่อนช้อยงดงามกว่ามาก
  • สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทยมีปรากฏให้เห็นในชั้นหลัง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมได้ง่าย โดยเฉพาะงานไม้ ไม่ปรากฏร่องรอยสมัยโบราณเลย สถาปัตยกรรมไทยมีให้เห็นอยู่ในรูปของบ้านเรือนไทย โบสถ์ วัด และปราสาทราชวัง ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้สอยจริง

 

กีฬา

กีฬาที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทยได้แก่ ฟุตบอล กีฬาอื่นที่นิยมเล่นได้แก่ บาสเกตบอล มวย และแบดมินตัน โดยในประเทศไทยมีการจัดฟุตบอลอาชีพ โดยแบ่งแยกตามทีมประจำจังหวัด สำหรับกีฬาไทย ได้แก่ มวยไทย และ ตะกร้อ แม้จะมีความนิยมไม่เท่ากีฬาทั่วไป แต่ยังมีการเล่นโดยทั่วไปรวมถึงการเปิดสอนในโรงเรียน

ประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับโลกหลายอย่าง เช่น โอลิมปิกฤดูร้อน โอลิมปิกฤดูหนาว เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ซึ่งประเทศไทยเองได้รับสิทธิเป็นตัวแทนจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง และซีเกมส์ ทั้งหมด 6 ครั้ง โดยซีเกมส์จัดครั้งแรกที่ประเทศไทย สำหรับการแข่งขันในระดับโลกเช่นฟุตบอลในประเทศไทย ไทยได้เป็นเจ้าภาพ เอเชียนคัพ และ ฟุตบอลโลกหญิงเยาวชน ด้วย

ส่วนด้านนักกีฬาไทยนั้น นักกีฬาที่ได้รับเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก ได้แก่ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล, ปวีณา ทองสุก, มนัส บุญจำนงค์, วิจารณ์ พลฤทธิ์, สมรักษ์ คำสิงห์ และ อุดมพร พลศักดิ์ นอกจากนี้นักกีฬาไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกได้แก่

  • นักมวย - เขาทราย แกแล็คซี่, สด จิตรลดา, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, สมรักษ์ คำสิงห์
  • นักเทนนิส - ภราดร ศรีชาพันธุ์, แทมมารีน ธนสุกาญจน์, ดนัย อุดมโชค
  • นักว่ายน้ำ - รัฐพงษ์ ศิริสานนท์ (ฉลามนุ้ก), ต่อวัย เสฎฐโสธร, ต่อลาภ เสฎฐโสธร
  • นักฟุตบอล - ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง,ธีรเทพ วีโณทัย
  • นักสนุกเกอร์ - ต๋อง ศิษย์ฉ่อย
  • นักกรีฑา - เรวดี ศรีท้าว
  • นักเทควันโด - เยาวภา บุรพลชัย,บุตรี เผือดผ่อง
  • นักกอล์ฟ - ธงชัย ใจดี,ประหยัด มากแสง,พรหม มีสวัสดิ์

 

วันสำคัญ

วันสำคัญในประเทศไทยจะมีจำนวนมากโดยเฉพาะวันที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ ซึ่งจะตั้งขึ้นหลังจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น โดยวันชาติของประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม เป็น ตามวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ลำดับที่สำคัญ

  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยพระองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐที่มีพระชนมชีพอยู่และทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก
  • กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก (169 ตัวอักษร)
  • ดัชนีเศรษฐกิจของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 71 จาก 155 เขตเศรษฐกิจ ตาม Index of Economic Freedom
  • จังหวัดหนองคายได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Modern Maturity ของสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2544 ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุชาวอเมริกันอันดับที่ 7 ของโลก [10]
  • Growth Competitiveness Index Ranking พ.ศ. 2546 อยู่อันดับที่ 34 จาก 104 [11]
  • ตึกใบหยก 2 เป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย และสูงเป็นอันดับ 38 ของโลก พ.ศ. 2549

 

อ้างอิง

  1. ^ 4th edition "ANKOR an introduction to the temples" Dawn Rooney ISBN: 962-217-683-6
  2. ^ Thailand (Siam) History, CSMngt-Thai.
  3. ^ ในสมัยก่อนนั้น (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรป) ภาษาสากลในการติดต่อระหว่างประเทศ (lingua franca) คือ ภาษาฝรั่งเศส เอกสารระหว่างประเทศจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก รวมถึงหนังสือเดินทางไทยรุ่นแรกๆ ด้วย
  4. ^ ดัชนีเศรษฐกิจประเทศไทย จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
  5. ^ ข้าวไทย ย่างก้าวพัฒนา สร้างไทยเป็นศูนย์กลางข้าวโลก โดย เทคโนโลยีชาวบ้าน มติชน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 408
  6. ^ http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=52868
  7. ^ ผลผลิตของประเทศไทย จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
  8. ^ ข้อมูลการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ข้อมูลเป็นไฟล์เอกเซล)
  9. ^ 9.0 9.1 9.2 รายละเอียดประเทศไทยจากเว็บซีไอเอ
  10. ^ http://207.5.46.81/tat_news/detail.asp?id=963
  11. ^ ข้อมูลจาก Webforum.org พ.ศ. 2546
คำสำคัญ (Tags): #ชนชาติ
หมายเลขบันทึก: 212559เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2008 03:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 06:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ให้ข้อมูลที่ชัดเจนละเอียดดีมาก

ขอชมเชยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท