สายธารแห่งธรรรม...เถรวาท...มหายาน...วัชรยาน ( เรื่องเล่า 2)


ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ท่านดาไล  ลามะแห่งธิเบต  แต่เราทั้งหลายรู้จักท่านในนามของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มากกว่าเรื่องราวอย่างอื่น  ข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือของท่าน หลักคำสอนของท่าน ง่ายต่อการเข้าใจ และนำมาใช้ได้ในวิถีชีวิตของคนยุคใหม่  ท่านเป็นพระลามะในสายพุทธแบบธิเบต หรือที่เรียกว่า สายพุทธวัชรยาน  

ข้าพเจ้าไม่มีความรู้มากมายนักในพุทธสายใดๆ  แม้กระทั่งพุทธทางเถรวาทซึ่งเป็นต้นธารทางธรรมที่เก่าแก่และมีเรื่องเล่ามากมาย  หลายปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าเป็นเพียงแต่ชาวพุทธตามใบทะเบียนบ้านเท่านั้น   พอมีคนกล่าวถึงเรื่องราวของพุทธสายเถรวาท  พูดถึงมหานิกาย และธรรมยุต   ข้าพเจ้าเข้าใจว่า มหานิกาย คือมหายาน  ซึ่งเป็นคนละเรื่องละราวกันเลย  ท่านผู้รู้ก็บอกย้ำว่า  เถรวาทนั้นแบ่งเป็นนิกายใหญ่ๆสองสายคือ มหานิกาย และ ธรรมยุต  ส่วนพุทธมหายาน ก็คือสายมหายาน ซึ่งแยกออกจากหินยาน (เถรวาท)หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว  สาเหตุการแยกออกไปนั้นก็มีคำกล่าวอ้างมากมาย แถมเป็นคำกล่าวที่ไม่ค่อยสร้างสรรสักเท่าไหร่   เพราะฟังดูแล้วจะเป็นเหตุของความแตกแยกและสร้างภาพลักษณ์ว่า  พุทธสายหนึ่งดูดีกว่าสายอีกหนึ่งอยู่เสมอ 

ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวเหล่านี้น้อยมาก  เพราะขนาดพุทธเถรววาทข้าพเจ้ายังไม่รู้เลยว่ามีดีมากมายอย่างไร ขนาดไหน  สายอื่นๆไม่ต้องพูดถึง  ยิ่งรู้น้อยเข้าไปอีก  ข้าพเจ้าจึงไม่มีข้อคิดเห็นใดๆ และไม่อาจรู้ได้ลึกซึ้งในเรื่องนี้  และไม่ได้คิดมากมายไปว่าสายไหนเป็นอย่างไร ดีแค่ไหน  หากสนใจเพียงว่า  แต่ละสายท่านสอนเรื่องอะไร และมีจุดมุ่งหมายใด  เพราะถ้าต่างยึดหลักคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว  จุดหมายหรือแนวทางน่าจะไปในทิศทางเดียวกัน  อันนี้ข้าพเจ้าคิดเห็นในใจเช่นนั้น

เรื่องของวัชรยานยิ่งไกลตัวมาก  แต่ข้าพเจ้าชอบหลักคำสอนของท่านดาไล ลามะ   ทว่าในวิถีแห่งการปฎิบัตินั้นเป็นเรื่องไกลตัวนัก และข้าพเจ้าไม่ค่อยรู้สักเท่าไหร่ว่า  การปฎิบัติตามหลักสมาธิภาวนาของทางวัชรยานนั้นเป็นอย่างไรบ้าง  และไม่คิดว่าตนเองจะมีโอกาสได้เข้าสู่วิถีแห่งการปฎิบัติของสายนี้ เพราะในแนวทางเถรวาท ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ก้าวหน้าหรือรู้เรื่องมากมายอะไร  ยังต้องเพียรศึกษาและเพียรปฎิบัติอีกมาก  การไปสนใจเรื่องวัชรยานจึงไกลตัวไปหน่อย  

แล้วก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกิดขึ้น......

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา  ข้าพเจ้าและกัลยาณมิตรได้มีโอกาสไปเที่ยวสิกขิม  ในวันแรกที่เราไปถึงเมืองกังต๊อก  อากาศที่นั่นหนาวเย็นทีเดียว  ไกด์ได้พาพวกเราไปทานมื้อค่ำกันที่ร้านอาหารธิเบตร้านหนึ่ง  ในร้านนั้นมีรูปภาพสวยๆติดที่ผนังหลายรูป เป็นรูปพระราชวังโปตาลา  รูปของท่านดาไล ลามะ  และมีภาพเขียนภาพหนึ่งที่น่าสนใจ  ข้าพเจ้าจึงถามไกด์ว่า  นี่คือภาพเขียนของใคร  ไกด์บอกว่า  นี่คือ กูรู รินโปเช  ข้าพเจ้าก็ถามว่า หมายถึงพระพุทธเจ้าหรือ ?  ไกด์ส่ายหน้าแล้วบอกว่า  นี่คือ ท่านกูรู รินโปเช 

ข้าพเจ้าจึงถามกัลยาณมิตรที่ไปด้วยกันว่า  กูรู รินโปเช เป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไร  กัลยาณมิตรบอกว่า  กูรู รินโปเช คือผู้ที่นำพาพุทธวัชรยาน เข้ามายังธิเบต  และตลอดช่วงเวลาที่อยู่สิกขิม  ในวัดพุทธแบบธิเบตที่เราเข้าไปเยี่ยมชมนั้น  จะมีรูปปั้นของกูรู รินโปเช  นั่งอยู่ ถัดไปจากรูปปั้นของพระพุทธเจ้า  นั่นคือในวัดดังกล่าวจะมีพระพุทธรูปคือพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง  ด้านใดด้านหนึ่งจะมีรูปปั้นของท่านกูรู รินโปเช   และบางทีจะมีรูปปั้นปางต่างๆ ของท่านกูรู รินโปเช อยู่ด้วย ( เห็นว่ามีทั้งหมด แปดปางด้วยกัน)    ทางพุทธวัชรยานนั้นนับถือท่าน เสมือนเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สองเลยทีเดียว  อันนี้ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามึนงงไปยิ่งขึ้น เพราะในทางเถรวาทนั้น พระพุทธเจ้าที่ผ่านมามีเพียงสี่พระองค์  และองค์ต่อไปคือพระศรีอาริยเมตตรัย  ทางวัชรยานและทางมหายานต่างก็กล่าวถึงพระศรีอาริยเมตตรัยเช่นกัน โดยกล่าวว่าในอนาคตอีกหลายพันปีข้างหน้านี้  หลังจากที่พุทธศานาสิ้นไปจากโลกช่วงหนึ่ง  จะมีพระพุทธเจ้าอีกพระองค์คือ พระศรีอาริยเมตตตรัย กลับมาสั่งสอนพระธรรมอีกครั้ง 

               กูรู รินโปเช                                         พระพุทธเจ้า                 พระศรีอาริยเมตตรัย

 ศาสนาพุทธในปัจจุบันที่มีอยู่ ที่เรารู้จักอยู่นี้ จะดำรงอยู่ได้ถึง 5000 ปี เท่านั้น และนี่ก็ผ่านไปได้ 2500 ปีกว่าๆแล้ว ศาสนาพุทธกำลังเสื่อมถอยไปตามลำดับ ???  ท่านกล่าวว่าอย่างนั้น

เมื่อกลับมาเมืองไทย  ข้าพเจ้าก็ยังสนใจเรื่องราวของท่านกูรู รินโปเช มีคำบอกเล่าในหนังสือ  ใน Internet ว่า   ท่านมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเช่นกัน  เพราะประวัติเรื่องราวของท่านเริ่มต้นขึ้นหลังการสิ้นของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ที่พวกเรารู้จัก  โดยเรื่องเล่านี้ได้เริ่มต้นว่า

กาลครั้งนั้น  ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า  หลังการสิ้นไปแห่งเรา ต่อจากนี้ไปอีก 8 ปี  ขอให้พระอานนท์จงรับบุรุษหนึ่งจากแคว้นอุททยานะ มาเป็นศิษย์  และบุรษผู้นี้จะเป็นผู้นำพาคำสอนแห่งเรา อยู่สืบต่อไปอีกในช่วงเวลา 2500 ปี สุดท้าย  นี่คือเรื่องเล่านั้น   โดยสรุปก็คือ ท่านกูรู รินโปเช   เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์  แน่นอนเรื่องราวนี้ ไม่มีกล่าวไว้ในทางเถรวาท

ทว่าไม่มีใครที่เป็นชาวพุทธ จะไม่รู้จักพระอานนท์ เพราะท่านคือผู้ที่รู้เรื่องราวพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มากที่สุด และท่านคือผู้ที่ได้บอกเล่าถึงพระธรรมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์ในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก   ครั้งที่พระมหากัสสปะเป็นประธานนั่นเอง   ชาวพุทธทุกสายกล่าวตรงกันว่า ในขณะนั้นพระอานนท์ยังบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์   ท่านต้องเร่งความเพียรอย่างหนักจนบรรลุธรรมในคืนก่อนที่จะถึงวันที่จะมีการปฐมสังคายนาครั้งนั้น

มีเรื่องที่น่าสนในก็คือ พอข้าพเจ้าเล่าว่าพระอานนท์ เป็นพระอาจารย์ของท่านกูรู รินโปเช  บรรดาชาวเถรวาท หลายท่านต่างอุทานว่า พระอานนท์เนี่ยนะ...???

 ในพุทธประวัตินั้น พระอานนท์เป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากทีเดียว  และดูเหมือนว่าจะเป็นพระสาวกรูปเดียวที่พระพุทธองค์พูดคุยด้วยมากที่สุดแถมท่านเป็นผู้เดียวที่มีโอกาสมากที่สุดในการซักถามข้อสงสัยในพระธรรมคำสอนจากพระพุทธเจ้าโดยตรง  แต่การยอมรับนับถือท่านนั้นดูจะน้อยกว่าพระสาวกรูปอื่น    เมื่อเทียบกับพระสารีบุตร หรือพระโมคคัลลานะ

ในสายตาของชาวพุทธบางส่วน ต่างคิดว่า พระอานนท์บรรลุธรรมหลังสุด  บรรลุธรรมภายหลังกว่าใครๆ  ทั้งๆที่อยู่ใกล้ชิดพระพุทธองค์อย่างมาก    ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจว่า การย่อมรับนับถือของเราต่อใครก็ตามที่เป็นศิษย์ของพระพุทธองค์นั้น   ก็ยังมีการแบ่งแยกแตกต่าง และมองว่าใครบรรลุธรรมก่อนหลัง  อยู่นั่นเอง

เรื่องราวของกูรู รินโปเช คงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านมากมาย และมากไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหาริย์  เป็นที่น่าสงสัยว่า  ท่านมีชีวิตยืนยาวมาตั้งแต่หลังพุทธกาล จนมาถึงสมัยเริ่มต้นของธิเบตได้อย่างไร อันนี้ก็คงต้องสืบค้นกันต่อไป  แต่แคว้นอุททยานะนั้น มีอยู่จริง และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถานในปัจจุบัน   และแม้กระทั่งรอยพระพุทธบาทก็มีอยู่ที่นั่นด้วย

 (รอยพระพุทธบาทที่ปากีสถาน )

เรื่องราวที่มา ของสายธารธรรมพุทธวัชรยาน  น่าสนใจทีเดียว และก่อนที่เราจะแบ่งแยก  มองหาความแตกต่าง  แล้วถกเถียงกันว่า สายเถรวาท มหายาน วัชรยาน สายไหนดีกว่าใคร  เราอาจต้องมาพิจารณาก่อนว่า  แต่ละสายนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร  เพราะทุกสายนั้นต่างเป็นสายธารธรรมจากศิษย์ของพระสาวกคนสำคัญ (ในพระพุทธองค์แทบทั้งสิ้น )   และสายธารธรรมที่ว่านั้นก็ส่งผ่านต่อเนื่องมาจนถึงยุคสมัยเรา

คำสำคัญ (Tags): #พุทธวัชรยาน
หมายเลขบันทึก: 210651เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • วันนี้สนใจเรื่องของธิเบต ค้นหามาเจอบันทึกของอาจารย์ อ่านแล้วเพลิน ได้ความรู้ได้ความเข้าใจมากขึ้น
  • มีเวลาค่อนข้างจำกัดเลยไม่ได้อ่านทั้งหมดทุกตอน แล้วจะเข้ามาอ่านอีกครั้ง
  • ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท