ฟองสบู่โลกกำลังแตก "มะเร็งร้าย"ของทุนนิยม


ทุนนิยมกำลังทำลายฝันของผู้คนทั่วโลก
ทุกเรื่องจากเมืองคอน
ทุกเรื่องที่รับรู้ บันทึกเรื่องราว บทความ บทกวี และไดอารี่ชีวิต-การงาน หรือ"สวนสมรม" ตามแบบฉบับของปักษ์ใต้
Permalink : http://www.oknation.net/blog/thanyasak
วันอังคาร ที่ 16 กันยายน 2551
ฟองสบู่ ทุนนิยมโลก กำลังแตกหนัก พอเพียงเท่านั้นคือคำตอบ
Posted by ทนายแต๊ก , ผู้อ่าน : 30 , 18:27:57 น.  
พิมพ์หน้านี้


เกาะติดสถานการณ์ 24 ชั่วโมง หลังยักษ์การเงินโลก"เลห์แมน บราเธอร์ส"ล้มละลาย! อลัน กรีนสแปน อดีตปธ.เฟดฟันธงยังมีสถาบันการเงินอื่นล้มละลายตามมาอีกเป็นโดมิโน

 

 

 

ส่งผลให้ตลอด 24 ชั่วโมงในสหรัฐ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอย่างมากมาย รวมถึงบทวิเคราะห์ ข่าวลือ กระแสคาดการณ์ ทั้งด้านบวก และด้านลบ ดังสลับไปมาตลอด แม้แต่คำถามที่ว่า สถาบันการเงินรายใดจะเป็นยักษ์ล้มรายต่อไป และวาณิชธนกิจที่ยังยืนหยัดอยู่รอดในขณะนี้จะต้านมรสุมการเงินครั้งใหญ่ที่สุดไปได้นานแค่ไหน

ต่อไปนี้คือลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินสหรัฐ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

* การเจรจาระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), กระทรวงการคลังสหรัฐ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ กับสถาบันการเงินชั้นนำ ทั้งจากสหรัฐและจากต่างประเทศ ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ ถือเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือ "เลห์แมน บราเธอร์ส" ให้อยู่รอดได้เป็นวันที่ 3

อย่างไรก็ตาม การเจรจาประสบความล้มเหลวในเวลาต่อมา หลังจากธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษ ซึ่งถือเป็นตัวเก็งสถาบันการเงินที่จะเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ให้กับวาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐ ประกาศถอนตัว โดยปฏิเสธจะเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงใดๆ ที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ

* อนาคตที่กำลังริบหรี่ลงเรื่อยๆ ของเลห์แมน บราเธอร์ส ปรากฏเป็นสัญญาณอันตรายในตลาดล่วงหน้า โดยแรงกดดันที่มีต่อสัญญาล่วงหน้าอ้างอิงดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงกว่า 300 จุด ในการซื้อขายที่ตลาดเอเชีย

* ความล้มเหลวของการเจรจา บวกกับแรงกดดันที่ปรากฏในตลาดการเงินระหว่างประเทศ กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ และคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ รวมถึงผู้เล่นรายสำคัญในอุตสาหกรรมธนาคาร ต่างทำงานแข่งเวลาเพื่อหามาตรการป้องกันผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากเลห์แมน บราเธอร์ส ตัดสินใจทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง รวมถึงการยื่นพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลายสหรัฐ มาตรา 11

@ กองทุน 10 ยักษ์ธนาคาร
รูปธรรมแรกของแผนสกัดวิกฤต เกิดขึ้นในรูปของกองทุนสภาพคล่อง มูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากการลงขันกันในหมู่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินใหญ่สุดของโลก 10 ราย อันได้แก่ แบงก์ ออฟ อเมริกา บาร์เคลย์ส ซิตี้กรุ๊ป เครดิต สวิส ดอยช์ แบงก์ โกลด์แมน แซกส์ เจ.พี. มอร์แกน เชส เมอร์ริล ลินช์ รวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ และยูบีเอส โดยสมทบเงินสถาบันละ 7 พันล้านดอลลาร์

โดยหากสถาบันใดสถาบันหนึ่งใน 10 รายนี้ เกิดปัญหาสภาพคล่องขั้นรุนแรง จะสามารถใช้เงินในกองทุนนี้ได้สูงสุด 1 ใน 3 ของเงินกองทุน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 10 ธนาคารยืนยันว่า เงินในกองทุนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นได้อีก พร้อมทั้งเปิดทางให้ธนาคารรายอื่นๆ สามารถเข้าร่วมในกองทุนนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทั่วโลก และลดความผันผวน ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ผิดปกติของระบบการเงินโลก

ยิ่งกว่านั้น ทั้ง 10 ธนาคาร ยังให้คำมั่นด้วยว่า จะผนึกกำลังเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ระหว่างเลห์แมน บราเธอร์ส และคู่สัญญากลุ่มต่างๆ 

@ ธนาคารกลางสหรัฐออกมาตรการชุดใหญ่
ในฟากของรัฐบาลสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบออกมารองรับด้วยหลายมาตรการด้วยกัน ครอบคลุมตั้งแต่การผ่อนปรนเกณฑ์ในการปล่อยกู้ และขยายวงเงินสินเชื่อผ่านกลไกเงินกู้ต่างๆ และจัดตั้งกลไกใหม่ เพื่อรองรับผลกระทบต่อลูกค้าของเลห์แมน บราเธอร์ส

การผ่อนปรนเกณฑ์การเข้าถึงเงินกู้ ภายใต้กลไกสินเชื่อสำหรับดีลเลอร์ชั้นดี (primary dealer credit facility) มีเป้าหมายเพื่อให้สถาบันการเงินในกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวาณิชธนกิจ และบริษัทหลักทรัพย์สามารถนำสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในการถือครอง อาทิ หุ้น เงินกู้ทั้งหมด และตราสารหนี้ที่จัดอยู่ในเกรดต่ำ มาค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารกลางสหรัฐได้

ไม่เพียงเท่านี้ ธนาคารกลางสหรัฐยังผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ยืมในลักษณะเดียวกัน กับกลไกที่เรียกว่า กลไกการให้ยืมพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งภายใต้เงื่อนไขใหม่ สถาบันการเงิน และวาณิชธนกิจที่มีปัญหาสภาพคล่อง สามารถนำสินทรัพย์หลากประเภท รวมถึงตราสารหนี้ทุกเกรดมาแลกเป็นพันธบัตรรัฐบาล พร้อมกับเพิ่มขนาดของมูลค่ากู้ยืมภายใต้กลไกนี้ จาก 1.75 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 2 แสนล้านดอลลาร์ และเพิ่มระยะเวลาของการประมูลพันธบัตรภายใต้กลไกนี้ให้บ่อยครั้งขึ้นด้วย

ธนาคารกลางสหรัฐยังระบุด้วยว่า เตรียมระงับการบังคับใช้บางเกณฑ์เป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะคำสั่งห้ามธนาคารนำเงินฝากมาสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจในเครือ โดยจะอนุญาตให้สถาบันการเงินนำเงินฝากมาเป็นทุนสนับสนุนกิจกรรมเดิมที่กำหนดให้ต้องใช้เงินทุนเฉพาะที่กู้ยืมผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตรเป็นการชั่วคราว จนถึง 30 มกราคม 2552
เบน เบอร์นันเก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ยืนยันว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยง และภาวะชะงักงันในตลาดการเงินอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ของเลห์แมน บราเธอร์ส

@ วิกฤตการเงินเลวร้ายสุดใน 100 ปี
ในจังหวะที่เลห์แมน บราเธอร์ส ยังไม่รู้ชะตากรรมที่ชัดเจนของตัวเอง โดยเฉพาะหลังจากธนาคารบาร์เคลย์ส ของอังกฤษ ถอนตัวอย่างกะทันหันจากการเจรจาเมื่อสุดสัปดาห์ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ให้มุมมองของเขาต่อสถานการณ์ในปัจจุบันว่า สหรัฐกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาของวิกฤตการณ์ที่ "100 ปีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง" ซึ่งส่งผลกระทบได้รุนแรงมากกว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

ระหว่างให้สัมภาษณ์รายการของเอบีซี กรีนสแปนคาดการณ์ว่า จะมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่อีกหลายแห่งที่จะเผชิญกับภาวะล้มละลาย

ในแง่ของโอกาสที่สหรัฐจะรอดพ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยกว่า 50%

กรีนสแปนยังเสนอแนะด้วยว่า ทางการสหรัฐไม่ควรจะเข้าไปปกป้องสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยให้มองสถานการณ์ในขณะนี้ว่า "เป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินที่จะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ"

@ เมอร์ริล ลินช์ ในมือแบงก์ออฟอเมริกา
แบงก์ออฟอเมริกา กลายเป็นอัศวินขี่ม้าขาว ซึ่งเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของเมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจอันดับ 3 ของสหรัฐ ให้รอดพ้นจากการล้มละลาย โดยแบงก์ออฟอเมริกา ธนาคารพาณิชย์ใหญ่สุดของประเทศ ได้ตกลงใจซื้อกิจการของเมอร์ริล ลินช์ ในวงเงินเสนอประมาณมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์

ภายใต้ข้อตกลงระหว่างแบงก์ออฟอเมริกา และเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า แบงก์ออฟอเมริกาตกลงจะซื้อหุ้นเป็นมูลค่าหุ้นละ 29 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือคิดเป็น 70% ของราคาหุ้นของเมอร์ริลฯ ที่ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ซึ่งอยู่ที่ระดับ 17.05 ดอลลาร์

โดยข้อตกลงจะอยู่ในรูปของข้อตกลงแลกหุ้น ในสัดส่วน 0.8595 หุ้นแบงก์ออฟอเมริกา ต่อ 1 หุ้นเมอร์ริล ลินช์

@ เลห์แมน บราเธอร์ส ยื่นล้มละลาย มาตรา 11
ด้วยทางเลือกอื่นๆ ถูกปิดตายหมด เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจขนาดใหญ่สุด อันดับ 4 ของสหรัฐ จึงตัดใจยื่นพิทักษ์ทรัพย์สิน ภายใต้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐ มาตรา 11 เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14 ก.ย.) ปิดฉากตำนานธุรกิจอันยาวนาน นับ 158 ปี นับจากก่อตั้งเมื่อปี 2393

ภายใต้แผนพิทักษ์ การยื่นขอคุ้มครองภาวะล้มละลายจะกระทำโดยเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ บริษัทแม่ของเลห์แมน บราเธอร์ส หลังจากนั้นจึงมีการนำสินทรัพย์ของเลห์แมนฯออกขายตามขั้นตอนต่างๆ อย่างไรก็ตาม การยื่นล้มละลายของเลห์แมนฯจะไม่กระทบต่อโบรกเกอร์หรือธุรกิจในเครือรายใด และสามารถดำเนินกิจการไปตามปกติ

นับถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ เลห์แมน บราเธอร์ส มีพนักงานทั้งสิ้น 25,935 คน จากสำนักงานต่างๆ 61 แห่งทั่วโลก มีสินทรัพย์ในงบดุลบัญชี 7.86 แสนล้านดอลลาร์ นับถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่เมอร์ริล ลินช์ มีพนักงานทั้งสิ้น 60,000 คนทั่วโลก

@ ยักษ์วอลล์สตรีท จาก 5 เหลือ 2  
ชะตากรรมระหว่างเมอร์ริล ลินช์ และเลห์แมน บราเธอร์ส แม้จะมีจุดที่แตกต่างกัน แต่บทสรุปสุดท้าย คือ ทำให้โฉมหน้าของวาณิชธนกิจแห่งย่านวอลล์สตรีท ที่เคยประกอบด้วยผู้เล่นรายใหญ่สุด 5 ราย โด่งดัง และเป็นตำนาน

เหลือผู้เล่นที่ยังยืนหยัดต้านมรสุมแค่เพียง 2 รายเท่านั้นในเวลานี้ ได้แก่ โกลด์แมน แซกส์ อดีตต้นสังกัดของเฮนรี่อลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐคนปัจจุบัน และมอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจอันดับ 2

ในอนาคตอันใกล้ ทั้งสองจะต้องเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ด้วยตัวเลขที่อาจไม่สดสวยนัก แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ทั้งสองจะผ่านมรสุมลูกใหญ่นี้ไปได้ และมีผลกำไรให้เห็นบ้างในปี 2551

หมายเลขบันทึก: 209250เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท