ประวัติศาสตร์ไทย


 

พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

“.....ประเทศไทยบรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดายตอนนี้ ท่านนายกฯ เขาไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ฉันก็ไม่เข้าใจ เพราะตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิตฯแต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ม่รู้ว่าใครมาจากไหน เป็นความคิดที่แปลกประหลาด....พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่ทรงห่วงใยการเรียนการสอน “ประวัติศาสตร์ไทย” วิชาที่บ่มเพาะลูกหลานไทยได้รู้รัก เข้าใจ และภาคภูมิใจถึงรากเหง้า และความยากลำบากของบรรพบุรุษที่เสียเลือดเสียเนื้อสร้างชาติสร้างแผ่นดินกว่าจะมาเป็นชาติไทย

และนำมาซึ่งการสนองพระราชเสาวนีย์ โดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ที่มีการหารือกับ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อยกเครื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในสถานศึกษาเป็นกรณีเร่งด่วน

ทีมการศึกษา ขอทำหน้าที่ย้อนรอยการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย จากอดีตเพื่อให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงกันอย่างชัดเจน เดิมทีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ แยกการเรียนการสอนเป็นรายวิชาต่างหาก จนกระทั่งมีการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 จึงมีการแบ่งการเรียนการสอนเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา

วิชาประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

แม้จะยังคงมุ่งให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจ ในความเป็นมาของความเป็นชาติไทย มีการจัดทำหนังสือและสื่อการเรียนการสอนแยกเฉพาะออกมาต่างหาก ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พร้อมทั้งมีการจัดทำเป็นวิชาเลือกเสรีให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ตามความต้องการ

แต่กลับไม่สามารถปลูกฝังให้เด็กไทยเกิดความ “รู้-รัก”และภาคภูมิใจในความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย

เสียงทักท้วง ทวงถาม และติติง จากหลายๆภาคส่วนของสังคม ซึ่งห่วงใย ลูกหลานไทยในปัจจุบัน และอนาคต ที่นับวันจะกลายเป็นคนไร้ราก ไม่รู้กระทั่งที่มาที่ไปของบรรพบุรุษ ความเป็นมาของชนชาติ และชาติไทย

จนกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมที่ออกมาตำหนิกระทรวงศึกษาธิการหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ให้เด็กท่องจำเป็น “นกแก้ว นกขุนทอง” เพียงเพื่อจุดประสงค์ในการสอบ เด็กจึงเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน

ปัญหาครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เรียนจบด้านประวัติศาสตร์โดยตรง แต่เป็นครูสายสังคมศาสตร์ ที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านประวัติศาสตร์ จึงสอนได้แค่ผิวเผิน แต่ขาดซึ่งจิตวิญญาณ และความรู้สึกร่วมที่เข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ไม่สามารถปลูกฝังความรู้-รักชาติให้ซึมลึกเข้าไปในหัวใจและความรู้สึกของเยาวชนไทยได้

 

 

 

 

น่าหนักใจที่สุดคือ ทั้งครูและนักเรียนมองว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่สำคัญจึงหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มสาระวิชาหลักที่ใช้ในการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษามากกว่า วิชาประวัติศาสตร์จึงไม่ต่างจากตัวสำรองที่ส่วนใหญ่เรียนกันแบบขอไปที เพียงเพื่อให้ได้คะแนนพอที่จะผ่านๆไปได้ เท่านั้นเอง

 

อ้างถึง   หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

คำสำคัญ (Tags): #นกแก้วนกขุนทอง
หมายเลขบันทึก: 209246เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2008 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จัก

มาติดตามอ่านและมาเป็นกำลังใจให้ค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเรียนประวัติศาสตร์ เด็กปัจจุบันท้องถิ่นหรือชุมชนของตัวเองก็ไม่รู้จักว่าเป็นมาอย่างไร

ว่าง ๆ เชิญรองขวัญเยี่ยมบ้านของครูบ้านนอกบ้างนะคะ

http://www.krukimpbmind.com

ยินดีคุ่ะแล้วจะแวะไปในโอกาสต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท