@_@..จริยธรรมในวรรณกรรม..@_@



วันนี้ขอนำข้อเขียนนี้มาฝากเป็นบทความในหนังสือ"จริยธรรมในวรรณกรรม"เขียนโดย อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง มีใจความดังต่อไปนี้

"พ่อเลี้ยง" ตัวละครที่ไม่เคยปรากฏตัวให้ผู้อ่านได้เห็นหน้า มีธุรกิจหลายอย่าง มีกิจการตัดไม้ในป่า ล่องซุง แกะสลักสัตว์จากไม้โดยเฉพาะแกะสลักช้าง มีร้านรับทำสัตว์สตัฟฟ์ และอื่นๆอีก แต่ละกิจการล้วนทำรายได้งามให้แก่เขาทั้งนั้น และแน่นอนที่ว่าพ่อเลี้ยงก็ป็นคนหนึ่งซึ่งพอใจ"การเอาให้ได้"ยิ่งกว่าการแบ่งปันเผื่อแผ่แม้เล็กน้อย


นักล่าสัตว์ที่ล่าสัตว์มาได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็ก เมื่อนำมาส่งให้ที่ร้านสตัฟฟ์ของพ่อเลี้ยง ก็จะสั่งเหมือนๆกันทุกคนว่า"ทำให้เหมือนกับมีชีวิตเลยนะ"
คำงาย..ลูกจ้างของพ่อเลี้ยง อดรำพึงกับตัวเองไม่ได้ว่า "สัตว์สตัฟฟ์พวกนี้เคยมีชีวิตมาแล้วทั้งนั้น..มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ คนยิงมันตาย แล้วก็จะเอาซากมันมาทำให้ดูคล้ายกับมีชีวิต..คนเรานี่แปลก ฆ่าสัตว์ให้ตายควักไส้พุงมันออก ปลิดหัวใจมันทิ้ง แล้วมามองหาชีวิตจากซากของมัน"


เราในเขา เขาในเรา
คำงายจึงมีคำถามขึ้นในใจว่า "เราจะฆ่าชีวิตเพื่อสร้างชีวิตได้อย่างไร?"
นี่เป็นคำถามที่มนุษย์น่าจะต้องชวนกันพิเคราะห์อย่างยิ่งมิใช่หรือ?
เหมือนกับการแกะสลักช้างไม้นั้นอย่างทะนุถนอม ด้วยความประณีตบรรจง
เพื่อทำ"ซาก"ไม้นั้นให้ดูงดงาม ให้ดูมีชีวิต
แต่กับช้างจริงที่มีชีวิต มีลมหายใจ เขากลับกระทำต่อมันอย่างทารุณ สับขอลงที่หัวมันอย่างไม่ปราณี
เอาเหล็กแหลมแทงมัน เพื่อให้มันออกแรงลากท่อนซุงมหึมาเพื่อเอามาแกะสลักช้างไม้ แล้วก็พิรี้พิไรแกะซากไม้นั้นอย่างจะให้มันมีชีวิตขึ้นมาให้ได้
แต่ช้างที่มีชีวิตเลือดเนื้อกลับถูกทำร้ายอย่างทารุณ จนทำให้ความมีชีวิตชีวาของมันต้องหดหาย
กลายเป็นเพียง" ซากชีวิต" น่าพินิจดูว่าชีวิตคนทุกวันนี้อยู่กับ"ซาก"หรืออยู่กับ"สิ่งจริง"
คนทุกวันนี้พอใจอยู่กับ"สัตว์สตัฟฟ์"หรืออยู่กับ"สัตว์มีชีวิต"


"คำงาย" แม้เป็นเพียงชาวบ้านจนๆ เป็นลูกจ้างของ "พ่อเลี้ยง"ผู้ร่ำรวย แต่คำงายไม่เคยยอมทิ้งคำถามที่ถามตัวเองว่า "เราจะฆ่าชีวิตเพื่อสร้างชีวิตได้อย่างไร?"
แล้วเขาก็คิดต่อไปอีกว่า "ทำไมจึงเก็บชีวิตไว้ไม่ได้นะ มันคงจะเก็บไว้ได้ เพียงแต่เราทำไม่ถูกวิธี..อยากรู้ว่า ถ้าจะสตัฟฟ์ชีวิต จะต้องทำอย่างไร?จะเริ่มต้นตรงไหนนะ"
หลังคร่ำครวญคิด คำงายก็ได้คำตอบว่า "ก็เริ่มต้นตรงที่ว่า อย่าฆ่ามันนะซิ !" เขาบอกตัวเองว่า"ง่ายนิดเดียวจริงๆ ถ้าอยากเก็บชีวิตไว้ ก็ต้องเลี้ยงมัน รักมันถนอมมันแบบนี้ ง่ายกว่าทำสตัฟฟ์ซากตั้งเยอะ !"
คำงายศึกษาชีวิตจากสิ่งมีชีวิต
จากปลาในน้ำ จากนกบนฟ้า จาก"พลายสุด" ช้างมีชีวิตที่เขารักมันอย่างเต็มหัวใจจนรู้สึกว่า เขาและพลายสุดเป็นชีวิตเดียวกัน ไม่มีความเหินห่างไม่มีความแตกต่าง มันเป็นส่วนหนึ่งของเขาและเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน
เพราะ"เราเพียงแต่มาพบกัน มารู้จักกัน เราไม่ได้มาเพื่อจะเอาจากกัน แต่มาเพื่อให้แก่กัน"
ทุกชีวิตบนพื้นพิภพ ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมชีวิตเดียวกัน ร่วมเผชิญสุข ร่วมเผชิญทุกข์ ร่วมเผชิญปัญหา ร่วมเผชิญความได้ความเสีย แม้จะต่างกรรม ต่างวาระกันบ้าง แต่ทุกชีวิตก็เผชิญสิ่งเดียวกันจึง "มีเราอยู่ในเขา มีเขาอยู่ในเรา" เหมือนอย่างที่คำงายรำพึงกับตนเอง..
จิตใจตกเป็นทาสวัตถุนิยม จิตนั้นย่อมมองไม่เห็น"เราในเขา"หรือ"เขาในเรา"
แต่หากจิตใจกลมกลืนกับธรรมชาติ จิตนั้นย่อมประจักษ์ใจว่า ทุกชีวิต"มีเราในเขา"และมี"เขาในเรา" อย่างแจ่มชัด
ชีวิตเช่นนี้จึงเป็นชีวิตที่หลุดจากการเป็นทาสของ"สิ่งมายา"เป็นชีวิตอิสระที่อยู่เหนือการผูกพันอยู่กับ"ซาก"
เป็นชีวิตที่สามารถยืนผงาดได้อย่างองอาจสง่างามอยู่กับ"สิ่งจริง"อันเป็นสัจจธรรมที่คุ้มครองรักษาชีวิตมนุษย์ ให้มีแต่ความสุขสวัสดี อยู่เป็นนิจกาล

 

 

ขอความสุขที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนจงมีแด่มวลมนุษยชาติ
พุทโธ ธรรมโม สังโฆ

 

             

 

หมายเลขบันทึก: 208876เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2008 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

เคยได้มีโอกาสไปฟังธรรมะบรรยาย โดยคุณแม่รัญจวน อินทรกำแหง ท่านบรรยายธรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องนึก ไม่ต้องเรียบเรียง เสมือนหนึ่งเป็นโจทย์ที่ท่านไขออกหมดแล้ว  ทุกวันนี้ยังเก็บซีดีบรรยายธรรม ของท่านไปเปิดฟังเพื่อความระลึกรู้อยู่เสมอ ๆ เลยค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับเรื่องดี ๆ มีคุณค่าเจ้าค่ะ

 

P

  • ธรรมสวัสดีนะโยมครูปู
  • สาธุที่ครูมาเยียมและบอกเรื่องดีๆ
  • สบายดีมีสุขอยู่ใช่ไหมคุณครู
  • โยมน้องสาวคงงานยุ่ง
  • เห็นเงียบไป
  • อนุโมทนาสาธุกับคุณครู
  • บุญรักษานะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  • มาอ่านเรื่องราวดีดี และภาพสวยๆ  ธรรมชาติงดงาม 
  • กลุ่มคำที่ทำให้คิด...เราในเขา  เขาในเรา

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

P

  • ธรรมสวัสดีนะโยมคุณครู
  • เราในเขา-เขาในเรา
  • ไม่แตกต่างกันในเรื่องชีวิตจิตใจ
  • อนุโมทนาสาธุ
  • บุญรักษา

เรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณธรรม

เหมาะที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการอบรมเด็ก ๆ

ตอนสั้น ๆ ง่าย ๆแก่การเข้าใจ

อย่างเรื่องเหล่านี้

P

  • ธรรมสวัสดีนะโยมอ.มนต์สัณธ์
  • อนุโมทนาสาธุ
  • อาตมาก็เห็นด้วยกับโยม
  • บุญรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท