เส้นทางเวลาความเข้าใจเรื่องแสงของมนุษย์


 

 

แสงเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของพวกเราตั้งแต่เมื่อไหร่ ลองมาดูประวัติการใช้แสงและการคิดค้นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับแสงตามเส้นทางของเวลาที่สรุปได้ดังต่อไปนี้

 

1.4 ล้านปีก่อนคริสต์ศักราช

ปรากฏหลักฐานการนำไฟมาใช้ของมนุษย์

12,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ปรากฏหลักฐานการใช้คบไฟ (Oil Burning Lamps)

3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

คนในเอเชียและตะวันออกกลางเริ่มศึกษาเรื่องแสง เงา และ การนำไปใช้ในการเฉลิมฉลองต่างๆ คนในเอเชียยังได้เริ่มสร้างและใช้กระจกเงาด้วย

900-600 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ได้มีการสร้างเลนส์นูนที่มีกำลังขยายต่ำขึ้นโดยชาวบาบิโลเนียน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องประดับ

400-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช

Plato เสนอว่าวิญญาณเป็นจุดกำเนิดของการมองเห็นของเรา และแสงมีจุดกำเนิดมาจากดวงตา

Democritus ได้นำความรู้ในเรื่องของขนาด รูปร่าง และความหยาบของอะตอมมาอธิบายถึงการมองเห็นและสีของวัตถุ

Euclid ได้เผยแพร่ผลงาน Optica ซึ่งอธิบายถึงกฎการสะท้อนของแสง และการเดินทางเป็นเส้นตรงของแสง

Aristotle ได้คาดเดาเกี่ยวกับการมองเห็น และได้ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่าแสงมีจุดกำเนิดมาจากดวงตา

280 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ประภาคารได้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกโดยชาวอียิปต์

250 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ถึง 100 หลังคริสต์ศักราช

ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่เริ่มใช้เลนส์ โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาสายตา

นักมายากล Shao Ong ได้ประดิษฐ์หนังตะลุงที่มีการฉายเงาของหุ่นต่างๆ ไปบนจอ

นักปรัชญาชาวโรมันชื่อ Seneca ได้อธิบายถึงกำลังขยายของภาพของวัตถุเมื่อมองผ่านทรงกลมที่มีน้ำบรรจุอยู่

ผู้ครองจักรวรรดิโรม Nero Claudius Caesar ได้นำมรกตที่เจียรไนแล้วมาช่วยแก้ปัญหาสายตาที่สั้นเพื่อให้เห็นการประลองสู้รบกันในสนามได้ชัดขึ้น

Hero (Alexandria) ได้ตีพิมพ์ผลงานที่มีชื่อ Catoptrica ซึ่งมีความหมายว่า การสะท้อน และได้สาธิตให้เห็นว่า มุมสะท้อนของแสงมีค่าเท่ากับมุมที่แสงตกกระทบ

100-950 ปีหลังคริสต์ศักราช

Claudius Ptolemy เป็นบุคคลแรกที่ได้รวบรวมและตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองทางด้านแสง ทั้งยังเป็นบุคคลที่ให้การสนับสนุนหลักการที่ว่าแสงก่อกำเนิดมาจากดวงตา และ ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน Ting Huan ได้ค้นพบภาพเคลื่อนไหวที่มองผ่านกระแสของไอร้อน

นักฟิสิกส์ชาวกรีก Galen ได้ศึกษากล้องสองตา

นักคณิตศาสตร์ชาวโรมัน Anicus Boethius ได้พยายามที่จะวัดความเร็วของแสง

Yu Shao Lung ได้สร้างเจดีย์ขนาดเล็กเพื่อใช้ศึกษาภาพ และ การเดินทางของแสง จากกล้องรูเข็ม

Gerber นักเล่นแร่แปรธาตุชาวอาหรับ พบว่าเมื่อ Silver Nitrate ถูกแสงสว่างจะเปลี่ยนเป็นสีดำ การค้นพบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของฟิล์มที่ใช้ถ่ายรูป

999 ปีหลังคริสต์ศักราช

Alhazen ได้ใช้กระจกทรงกลม และ ทรงพาราโบลอยด์ ในการศึกษาการบิดเบี้ยวของภาพ ทั้งเป็นบุคคลแรกที่เสนอว่าดวงตาไม่ได้เป็นจุดกำเนิดของแสงแต่ทำหน้าที่รับแสง นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาถึงกำลังของภาพของวัตถุที่เกิดจากการหักเหของแสงผ่านชั้นบรรยากาศ ได้ศึกษาเกี่ยวกับกายวิภาคของดวงตา และการเกิดภาพบนเรตินาของดวงตา และได้อธิบายถึงความเพิ่มความคมชัดของภาพที่เกิดจากกล้องรูเข็มด้วยการลดขนาดของรูที่แสงผ่าน

 

ค.ศ. 1000-1199

นักปรัชญาและนักฟิสิกส์ชาวอิหร่าน Ibn Sina ได้เสนอทฤษฎีที่ว่าแสงมีความเร็วจำกัดที่ค่าๆ หนึ่ง

นักปรัชญาชาวจีน Shen Kua ได้อธิบายการเกิดภาพที่เกิดจากกระจกโค้งนูน และเป็นคนที่ประดิษฐ์นาฬิกาแดดจากทองสัมฤทธิ์

 

ค.ศ. 1268-1272

Roger Bacon เป็นบุคคลแรกที่เสนอทฤษฎีที่เกี่ยวกับการนำเลนส์มาใช้ในการแก้ปัญหาสายตา และเป็นบุคคลแรกที่ได้นำเรขาคณิตมาใช้ในการศึกษาเรื่องแสง ทั้งยังได้ตั้งสมมุติฐานว่าสีของรุ้งเกิดจากการสะท้อนและการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านหยดน้ำ แต่เขาไม่ได้พิสูจน์สมมุติฐานนี้

ค.ศ. 1275

Albertus Magnus ได้ศึกษาสีของรุ้ง และได้ตั้งสมมุติฐานว่าแสงมีความเร็วสูงมาก และมีค่าจำกัดที่ค่าๆ หนึ่ง

 

ค.ศ. 1303

Bernard ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกถึงการใช้แว่นตาในการแก้ปัญหาสายตายาว

ค.ศ. 1304

Theodoric ชาวเยอรมัน ได้สาธิตการเกิดรุ้ง และอธิบายว่าเกิดจากการหักเหและสะท้อนของแสงภายในหยดน้ำ สอดคล้องกับทฤษฎีของ Roger Bacon ที่ได้เสนอไว้เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว

 

ค.ศ. 1480

Leonardo da Vinci ได้ศึกษาเรื่องการสะท้อนของแสง และได้เปรียบเทียบกับการสะท้อนของคลื่นเสียง

 

ค.ศ. 1520

Franciscus Maurolycus ได้อธิบายวิธีการสร้างกล้องไมโครสโคป และได้อธิบายถึงตำแหน่งของภาพในกล้องรูเข็มที่เปลี่ยนไปเมื่อวัตถุเปลี่ยนตำแหน่ง

ค.ศ. 1556

George Fabricius ได้พบว่าเมื่อมีการเพิ่มสารละลายของเกลือและ Silver Nitrate ในธาตุโลหะบางชนิด โลหะนั้นจะเปลี่ยนจากสีขาวไปเป็นสีดำถูกแสงอาทิตย์

ค.ศ. 1558

Giovanni Battista Della Porta ได้เปรียบเทียบการมองเห็นของคนกับภาพที่ได้จากกล้อง โดยอาศัยความรู้ในเรื่องการหักเหของแสง ปริซึม และเลนส์

ค.ศ. 1568

Daniel Barbaro ได้อธิบายวิธีการใช้เลนส์นูนเพื่อเพิ่มความชัดของภาพ และได้ชี้ให้เห็นว่าภาพที่คมชัดขึ้นสามารถนำมาใช้ร่างบนกระดาษด้วยดินสอ

ค.ศ. 1585

Giovanni Bennedetti นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลี ได้อธิบายถึงการใช้กระจกเว้าร่วมกับเลนส์นูนในการแก้ปัญหาภาพที่บิดเบี้ยวไป

ค.ศ. 1590

Zacharias Janssen ช่างทำเลนส์ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกับพ่อของเขาในการประดิษฐ์กล้องไมโครสโคปที่เกิดจากการใช้ชุดของเลนส์ที่ประกอบไปด้วยเลนส์วัตถุที่เป็นเลนส์นูนและเลนส์ตาที่เป็นเลนส์เว้า ได้อธิบายวิธีการสร้างกล้องไมโครสโคป และได้อธิบายถึงตำแหน่งของภาพในกล้องรูเข็มที่เปลี่ยนไปเมื่อวัตถุเปลี่ยนตำแหน่ง

 

ค.ศ. 1604

Johannes Kepler ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มแสงกับระยะห่างจากแหล่งกำเนิดแสงว่าความเข้มแสงจะแปรผกผันกับระยะห่างยกกำลังสอง นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงภาพบนเรตินาที่เกิดจากเลนส์ในดวงตา ทั้งยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาสั้นและยาว

ค.ศ. 1608

Hans Lippershey ช่างทำเลนส์ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้สร้างกล้องดูดาวขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยเลนส์วัตถุที่ทำหน้าที่รวมแสงกับเลนส์ตาที่ทำหน้าที่กระจายแสง และภายหลังต่อมา Galileo Galilei ได้นำมาใช้เพื่อศึกษาทางด้านดาราศาสตร์

ค.ศ. 1611

Johannes Kepler ได้เสนอแบบของกล้องดูดาวชนิดใหม่ที่ประกอบไปด้วยเลนส์นูนสองชิ้น ซึ่งโครงสร้างใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบกล้องดูดาวหลากหลายชนิดในเวลาต่อมา

ค.ศ. 1616

Nicolas Zucchi ได้สร้างกล้องดูดาวที่มีการใช้กระจกเว้าเข้ามาช่วยในการขยายภาพร่วมกับการใช้เลนส์

ค.ศ. 1619

Cornelius Drebbel ได้สร้างเครื่องฝนเลนส์เป็นครั้งแรก

ค.ศ. 1621

Willebrord Snell ได้ค้นพบกฎการหักเหของแสง และได้พิสูจน์ว่าองค์ประกอบของวัตถุที่ให้แสงเคลื่อนที่ผ่านมีผลต่อค่าดัชนีหักเหของแสง ซึ่งการค้นพบนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกมาโดย Christiaan Huygens ในปี ค.ศ. 1703

ค.ศ. 1637

René Descartes ได้อธิบายถึงการเกิดรุ้ง และได้เผยแพร่ผลงานเรื่องการค้นพบกฎการสะท้อนของแสง และกฎการหักเหของแสง

ค.ศ. 1647

Bonaventura Cavalieri สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างรัศมีของเลนส์บางกับความยาวโฟกัสของมัน

ค.ศ. 1658

Pierre de Fermat ได้ให้คำจำกัดความของ “เวลาที่น้อยที่สุด (least time) ซึ่งบ่งบอกให้รู้ว่าลำแสงจะเคลื่อนที่ตามเส้นทาง ที่ใช้เวลาที่น้อยที่สุด หลักการนี้สอดคล้องกับพื้นฐานที่สำคัญของกฎการหักเหของแสง และ กฎการสะท้อนของแสง

ค.ศ. 1663

James Gregory ได้อธิบายกล้องดูดาวแบบสะท้อน

ค.ศ. 1664

Robert Hooke เป็นคนแรกที่สร้างกล้องดูดาวแบบสะท้อนตามวิธีการที่ James Gregory ได้อธิบายไว้

ค.ศ. 1664

หนังสือของ Francisco Maria Grimaldi ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่หลังจากเขาได้ลาผ่านโลกนี้ไปเป็นเวลา 2 ปี ได้กล่าวถึงการเลี้ยวเบนของแสงขาว และได้มีการกล่าวถึงว่าแสงมีพฤติกรรมเป็นคลื่นได้ด้วย

ค.ศ. 1666

Isaac Newton พบว่าแสงขาวสามารถถูกแยกออกเป็นหลากหลายสีเมื่อเคลื่อนที่ผ่านปริซึม

ค.ศ. 1668

Isaac Newton ได้ประดิษฐ์กล้องดูดาวแบบสะท้อนเพื่อลดการบิดเบือนของภาพที่ได้ โดยอาศัยหลักการของกล้องดูดาวที่ James Gregory ได้อธิบายไว้ก่อนหน้า

ค.ศ. 1669

Erasmus Bartholin ค้นพบการหักเหแบบสองครั้ง (Double Refraction) เมื่อมองผ่านคริสตอลชนิดหนึ่ง

ค.ศ. 1672

Isaac Newton ได้สรุปว่าแสงขาวสามารถถูกแยกออกเป็นหลากหลายสีเมื่อเคลื่อนที่ผ่านปริซึม และแสงแต่ละสีก็มีมุมหักเหที่แตกต่างกันไป

ค.ศ. 1676

Ole Roemer สามารถสรุปได้ว่าแสงมีความเร็วจำกัดที่ 225,000 กิโลเมตรต่อวินาที

ค.ศ. 1678

Christiaan Huygens ได้นำเสนอทฤษฎีคลื่นของแสง

 

ค.ศ. 1800

William Herschel ได้ค้นพบแสงในย่านอินฟาเรด

ค.ศ. 1801

Thomas Young ได้ค้นพบการแทรกสอดกันของแสง ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าแสงมีพฤติกรรมเป็นคลื่นด้วย

Johann Wilhelm Ritter ได้ค้นพบแสงในย่านอุลตราไวโอเล็ต

ค.ศ. 1802

William Hyde Wollaston ได้ค้นพบว่าสเปกตรัมของแสงอาทิตย์มีความไม่ต่อเนื่องเกิดขึ้น โดยมีแถบดำขั้นอยู่

ค.ศ. 1808

Étienne-Louis Malus ได้ค้นพบว่าแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากวัตถุมีความเป็นโพลาไรซ์ (สามารถบอกทิศทางการสั่นของสนามไฟฟ้าของคลื่นได้)

ค.ศ. 1811

Augustin-Jean Fresnel และ François Arago พบว่าแสงสองลำที่มีลักษณะของโพลาไรเซชันของแสงตั้งฉากกันไม่สามารถแทรกสอดกันได้

ค.ศ. 1812-1814

Joseph von Fraunhofer ได้ทำการวัดสเปกตรัมเส้นที่ 324 และ 500 ซึ่งพบครั้งแรกโดย Wollaston การวัดครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของพื้นฐานทางด้านสเปกโตรสโคปี (Spectroscopy)

ค.ศ. 1815

David Brewster สามารถหาความสัมพันธ์ทางคณิตศาสต์อย่างง่ายระหว่างมุมตกกระทบของแสงบนวัตถุที่จะทำให้แสงที่สะท้อนมีความเป็นโพลาไรซ์

ค.ศ. 1816

Augustin-Jean Fresnel สามารถอธิบายถึงการเลี้ยวเบนและการแทรกสอดกันของแสงด้วยคณิตศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์มาก

ค.ศ. 1817

Thomas Young ได้เสนอว่าแสงเป็นคลื่นตามขวาง (มีการสั่นของคลื่นในทิศทางที่ตั้งฉากกันกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น)

ค.ศ. 1821

Joseph von Fraunhofer ได้สร้างเกรตติ้งเป็นครั้งแรก ซึ่งมี 260 เส้น

Augustin-Jean Fresnel ได้เสนอสมการที่ใช้คำนวณหาปริมาณของแสงหักเหและสะท้อน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “สัมประสิทธิ์การสะท้อนและการหักเห”

ค.ศ. 1828

William Nicol ได้ประดิษฐ์ปริซึม “Nicol Prism” จาก Calcite สองชิ้น เพื่อใช้แยกแสงออกเป็นโพลาไรเซชันเชิงเส้นที่มีทิศทางตั้งฉากกัน

ค.ศ. 1833

Camille Sébastien Nachet ได้ประดิษฐ์กล้องไมโครสโคปสำหรับใช้ดูความเป็นไบริฟรินเจน (Birefrigence) ของวัสดุ

ค.ศ. 1839

William Tabot ได้ค้นพบกระบวนการอัดรูปลงบนกระดาษที่เคลือบสารไวแสงไว้ เขายังได้บังเอิญพบว่าสารซิลเวอร์ฮาไรด์ก็มีความไวแสงและช่วยลดเวลาการฉายแสงจากเดิมใช้ 1 ชั่วโมง ลงเหลือประมาณ 1-3 นาที เท่านั้น

ค.ศ. 1840

Giovanni Battista Amici ได้เสนอหลักการ “oil immersion” เพื่อลดความบิดเบือนของภาพที่ดูจากกล้องไมโครสโคป

ค.ศ. 1842

Alexandre Edmund Becquerel สามารถถ่ายภาพสเปกตรัมของแสงจากดวงอาทิตย์ได้

ค.ศ. 1845

Michael Faraday ค้นพบปรากฎการณ์ “Faraday Effect” ที่สนามแม่เหล็กสามารถนำไปใช้หมุนลักษณะโพลาไรเซชันของแสงได้

ค.ศ. 1846

Michael Faraday ได้ตั้งสมมุติฐานที่ว่าแสงสามารถพิจารณาว่าเป็นแรงชนิดหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากเขาได้ค้นพบก่อนหน้านี้ว่าสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กสามารถทำให้เกิดแรงขึ้นได้ และแสงเองก็มีทั้งสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก

ค.ศ. 1849

Armand-Hippolyte-Louis Fizeau เป็นบุคคลแรกที่สามารถหาค่าความเร็วของแสงได้ละเอียดที่สุด

Henry Clifton Sorby เป็นบุคคลแรกที่ใช้หลักการของโพลาไรเซชันมาตรวจร่องรอยต่างๆ บนหิน

David Brewster ได้นำหลักการของโพลาไรเซชันมาช่วยสร้างภาพเคลื่อนไหว

ค.ศ. 1850

Jean-Bernard-Leon Foucault สามารถวัดความเร็วของแสงได้ 298,000 กิโลเมตรต่อวินาที และพบว่าความเร็วของแสงในน้ำมีค่าแตกต่างกับในอากาศ

ค.ศ. 1861

James Clerk Maxwell สามารถบันทึกภาพสีได้เป็นครั้งแรก โดยใช้ตัวกรองแสงสีแดง เหลือง และน้ำเงิน

Robert Wilhelm Bunsen และ Gustav Kirchoff ได้สรุปว่าแถบสเปกตรัมของแสงอาทิตย์เป็นผลมาจากการดูดซับแสงของอะตอมในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์

ค.ศ. 1865

James Clerk Maxwell พิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ด้วยสมการที่เรารู้จักกันว่า Maxell Equation ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีความเร็วเท่ากับความเร็วแสง และ ได้สรุปว่าแสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ค.ศ. 1871

John William Strut (Lord Rayleigh) ได้เสนอสมการคณิตศาสตร์ที่ใช้อธิบายการกระเจิงของแสงที่ทำให้เราเห็นสีฟ้าของท้องฟ้า

ค.ศ. 1872

บริษัท Bausch & Lomb เริ่มผลิตกล้องไมโครสโคป

Henry Draper เป็นคนแรกที่สามารถถ่ายภาพสเปกตรัมของดวงดาวได้

ค.ศ. 1873

Ernst Abbe ได้เสนอสมการคณิตศาสตร์อย่างละเอียดที่ใช้อธิบายถึงการนำแสงไปใช้ในการประมวลผลภาพ และได้พบความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของรูที่ให้แสงผ่าน ความยาวคลื่นแสง และ รายละเอียดของภาพที่มองผ่านกล้องไมโครสโคป

ค.ศ. 1875

John Kerr ค้นพบว่าสนามไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติเชิงแสงของวัตถุได้ ซึ่งคือปรากฏการณ์อิเล็กโตรออปติกส์อันดับสอง (Quadratic Electro-Optics)

ค.ศ. 1878

Ernst Abbe และ Carl Zeiss ได้ปรับปรุงเลนส์วัตถุแบบ oil-immersion

ค.ศ. 1879

Thomas Alva Edison ได้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า

ค.ศ. 1880

Alexander Graham Bell ได้ประดิษฐ์โทรศัพท์แสง โดยใช้หลักการสะท้อนของแสงแทนการใช้สายส่งสัญญาณไฟฟ้า

ค.ศ. 1881

William Wheeler ได้จดสิทธิบัตรท่อนำแสงที่อาศัยการสะท้อนของแสงกลับไปกลับมาภายในท่อ

Marey ได้ประดิษฐ์ “Photographic Gun” ซึ่งใช้บันทึกภาพเคลื่อนไหว อันเป็นจุดกำเนิดของกล้องถ่ายภาพวีดีโอ

Frederick Ives ได้ประดิษฐ์วิธีการพิมพ์แบบ Half Tone

Albert Abraham Michelson ได้ประดิษฐ์เครื่องแทรกสอดกันของแสงเพื่อนำมาใช้วัดความเร็วของโลก

ค.ศ. 1885

Henry Rowland ได้ประดิษฐ์เครื่องสลักที่สามารถสร้างลายเส้นจำนวน 20,000 เส้นตลอดความยาวหนึ่งนิ้วได้ สำหรับใช้ทำเกรตติ้ง

Johann Jakob Balmer ได้เสนออนุมกรมคณิตศาสตร์ที่สามารถคำนวณหาแถบสเปกตรัมของก๊าซไฮโดรเจน และเป็นที่รู้จักกันว่า Balmer Series

George Eastman เริ่มทำตลาดฟิล์มถ่ายรูป ซึ่งเรารู้จักกันในยี่ห้อ Kodak

ค.ศ. 1887

Albert Michelson และ Edward Morley ได้พิสูจน์ว่าไม่มี Ether ในจักรวาล (เดิมทีทุกคนเชื่อว่ามีตัวกลางชนิดนี้อยู่)

Heinrich Hertz บังเอิญค้นพบปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (Photoelectric Effect) ขณะทำการทดลองเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ค.ศ. 1888

Heinrich Hertz ได้ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ Maxell Equation

ค.ศ. 1820-1893

John Tyndall เป็นบุคคลแรกที่แสดงให้เห็นปรากฏการณ์การสะท้อนกลับหมดของแสงซึ่งเป็นพื้นฐานของการส่งแสงผ่านท่อนำแสง (Waveguide) และ เส้นใยแก้วยำแสง (Optical fiber)

ค.ศ. 1893

Friedrich Pockels ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์อิเล็กโตรออปติกส์เชิงเส้น (Linear Electro-Optics)

ค.ศ. 1895

Wilhelm Wien ศึกษาการแผ่รังสีของวัตถุดำ (Blackbody) และสามารถหาสมการคณิตศาสตร์ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของวัตถุและรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมา นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสีของดวงดาวกับอุณหภูมิของดวงดาวนั้น

ค.ศ. 1862-1942

William Henry Bragg  ผู้พ่อ และ William Lawrence Bragg ผู้เป็นลูกได้ศึกษาการหักเหของแสงอันเนื่องมาจากโครงสร้างพีรีโอดิด (Periodic Structure) ของวัสดุที่เกิดจากเสียงหรืออุลตร้าซาวด์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาทางด้านการควบคุมแสงด้วยเสียง (Acousto-Optics)

 

ค.ศ. 1900

Max Planck ได้เสนอทฤษฎีการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าว่าเป็นแบบไม่ต่อเนื่อง (Discrete) และเรียกระดับพลังงานว่า ควอนตา (Quanta)

ค.ศ. 1902

Phillipp E. A. Lenard ทำการทดลองเกี่ยวกับ Photoelectric Effect และพบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างน้อยแสงที่ใช้ต้องมีความถี่ที่เหมาะสม

ค.ศ. 1905

Albert Einstein นำเสนอผลงานตีพิมพ์เกี่ยวกับ Photoelectric Effect โดยอาศัยความไม่ต่อเนื่องของระดับพลังงานมาใช้ในการอธิบาย

ค.ศ. 1906

Charles Barkla พบว่ารังสี X เป็นคลื่นตามขวางเช่นเดียวกันกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และ แสง

ค.ศ. 1913

Neils Bohr ได้เสนอโครงสร้างของอะตอม โดยอธิบายด้วยว่าการดูดซับแสงและการปลดปล่อยแสงของอะตอมเกิดขึ้นเมื่ออิเล็กตรอนมีการเคลื่อนที่จากระดับพลังงานหนึ่งไปยังอีกระดับพลังงานหนึ่ง แสงที่ถูกดูดซับหรือปลดปล่อยออกมาจะมีระดับพลังงานเป็นแบบ Quanta ซึ่งมีค่าเท่ากับพลังงานที่อิเล็กตรอนดูดไปหรือสูญเสีย

ค.ศ. 1924-1925

Louis de Broglie พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับคลื่นของอิเล็กตรอน และสรุปว่าอนุภาคมีพฤติกรรมแบบคลื่นได้เช่นกันขึ้นอยู่กับสภาวะขณะนั้น

Satyendra Nath Bose ได้เสนอสมการคณิตศาสตร์ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นกับอนุภาค ซึ่งภายหลังต่อมาเมื่อได้ร่วมงานกับ Albert Einstein เกิดเป็นทฤษฎีทางสถิติที่รู้จักกันว่า Bose-Einstein Statistics รวมไปถึงการควบแน่นของสสารที่เรียกว่า Bose-Einstein Condensation

ค.ศ. 1926

Albert Michelson ใช้เครื่องแทรกสอดของแสงวัดความเร็วของแสงที่มีความถูกต้องมากขึ้นกว่าที่เคยมีมา

ค.ศ. 1928

Chandrasekhara Raman สังเกตเห็นว่าเมื่อแสงเคลื่อนที่ผ่านวัตถุโปร่งใส แสงบางส่วนจะเบี่ยงเบนไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนความยาวคลื่นของแสง ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันว่า Raman Effect หรือการกระเจิงของแสงแบบ Raman (Raman Scattering)

ค.ศ. 1930

Bernhard Schmit ประดิษฐ์กล้องดูดาว Schmit โดยใช้กระจกทรงทรงแทนกระจกทรงพาราโบลอยด์และมีแผ่นชดเชยความบิดเบี้ยวของภาพด้วย

Frits Zernike ค้นพบหลักการของ Phase Contrast ซึ่งช่วยให้เห็นโครงสร้างภายในของวัตถุโปร่งใสได้

ค.ศ. 1932

Edwin H. Land พัฒนาแผ่นกรองโพลาไรเซชันของแสงได้ และเป็นที่รู้จักกันว่า แผ่น Polaroid

ค.ศ. 1936

Torbjörn Oskar Caspersson ใช้กล้องไมโครสโคปร่วมกับแสงอุลตราไวโอเล็ตศึกษาจีนของเซล

ค.ศ. 1938

Frits Zernike สร้างกล้องไมโครสโคปที่ใช้หลักการ Phase Contrast

ค.ศ. 1947

Edwin H. Land ประดิษฐ์กล้องโพลารอยด์ที่ได้รูปบนกระดาษออกมาในเวลาไม่กี่วินาที

ค.ศ. 1948

Denis Gabor ค้นพบหลักการฮอโลกราฟี (Holography) ที่สามารถนำมาสร้างภาพสามมิติ และ ฮอโลแกรม

ค.ศ. 1951

Charles Townes ได้จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการขยายสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นพื้นฐานของเลเซอร์ นักวิทยาศาสตร์ที่ได้คิดค้นหลักการของเลเซอร์รวมไปถึง Nikolai G. Basov, Aleksandr M. Prokhorov, และ Arthur L. Schawlaw

ค.ศ. 1954

Abraham van Heel และ Harold H. Hopkins ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับภาพที่ได้จากชุดของท่อนำแสง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเส้นใยแก้วนำแสง

ค.ศ. 1955

Marvin Minsky ประดิษฐ์ Confocal Scanning Microscope

ค.ศ. 1960

Theodore Mailman สร้างเลเซอร์จากทับทิมสำเร็จเป็นคนแรก

ค.ศ. 1962

ทีมวิจัยที MIT, GE และ IBM สร้างเลเซอร์จากสารกึ่งตัวนำสำเร็จ

ค.ศ. 1961

Ali Javan, William Bennet, และ Donald Herriott สร้างเลเซอร์จากก๊าซ He-Ne เป็นครั้งแรก

ค.ศ. 1964

Chandra K. N. Patel ประดิษฐ์เลเซอร์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำเร็จ

ค.ศ. 1964

Emmett Leith และ Juris Upatnieks สร้างภาพฮอโลแกรมสำเร็จเป็นครั้งแรก

ค.ศ. 1966

Peter P. Sorokin และ J. R. Lankard สร้างเลเซอร์จากสารอินทรีย์ได้เป็นครั้งแรก

Alain Werts เสนอการลักษณะของเส้นใยแก้วนำแสงเหมือนกับของ Kao แต่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเนื่องจากขาดเงินทุน

Charles Kao และ George Hockham ได้เสนอและออกแบบเส้นใยแก้วนำแสงสำหรับใช้ในการสื่อสาร

ค.ศ. 1969

Paul Davidovits และ Dabid Egger ตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับ Confocal Laser Scanning Microscope ซึ่งสามารถสร้างภาพสามมิติของเซล ชิ้นส่วนของสารกึ่งตัวนำ และเนื้อเยื่อขนาดเล็กได้

Willard S. Boyle และ George E. Smith ได้ประดิษฐ์ตัวรับภาพที่เป็นพื้นฐานของตัวรับภาพที่ใช้ในกล้องดิจิทัล และ กล้องในโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน

ค.ศ. 1970

Robert Maurer, Donald Keck และ Peter Schultz จาก Corning สามารถผลิตเส้นใยแก้วนำแสงคุณภาพสูงสำหรับใช้ในการสื่อสารได้สำเร็จ

Arthur Ashkin ได้แสดงให้เห็นว่าแสงมีแรงและสามารถนำไปใช้ในการจับอนุภาคระดับไมโครเมตร-นาโนเมตร รวมถึงการประยุกต์ใช้ในการทำให้อะตอมเย็นลง

ค.ศ. 1972

E. A. Ash และ G. Nicholls สาธิต Scanning Microscope จากการใช้รูที่ให้แสงผ่านที่มีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่นทำให้ได้ความละเอียดของภาพจากสนามไฟฟ้าระยะใกล้ดีขึ้น

ค.ศ. 1975

Wineland, Dehmelt, Theodor W. Hänsch และ Arthur Leonard Schawlow เสนอแนวคิดที่นำแสงมาทำให้อะตอมเย็นลง

ค.ศ. 1980

Philips Electronics N. V. และ Sony Corporation ได้ผลิตแผ่น CD สำหรับใช้บันทึกเสียง

ค.ศ. 1981

Arthur Leonard Schawlow และ Nicolaas Bloembergen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เกี่ยวกับการนำเลเซอร์มาใช้กับหลักการทางด้านสเปกโตรสโคปี

ค.ศ. 1990

กล้องดูดาว Hubble Space Telescope ได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก

ค.ศ. 1995

Eric Cornell and Carl Wieman สามารถพิสูจน์การควบแน่นแบบ Bose-Einstein Condensation ได้สำเร็จ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 2001

ค.ศ. 1997

Steven Chu, Claude Cohen-Tannoudji และ William D. Phillips ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ที่สามารถนำเลเซอร์มาทำให้อะตอมเย็นลงได้

ค.ศ. 1999

Ahmed Zewail ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการนำ Femtosecond Laser มาใช้ศึกษาปฏิกิริยาทางเคมี

 

ค.ศ. 2002

นักวิจัยที่ Harvard University สามารถชลอและหยุดแสงด้วยไอของก๊าซได้ Peter P. Sorokin และ J. R. Lankard สร้างเลเซอร์จากสารอินทรีย์ได้เป็นครั้งแรก

ค.ศ. 2005

Theodor W. Hänsch, John L. Hall และ Roy J. Glauber ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการพัฒนา Laser-based Precision Spectroscopy และ เทคนิค Optical Frequency Comb ที่จะไปแทนนาฬิกาอะตอม

ค.ศ. 2009

Charles Kao ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการสาธิตการส่งข้อมูลแสงผ่านเส้นใยแก้วนำแสง Willard S. Boyle และ George E. Smith ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการประดิษฐ์ตัวรับภาพ

 

(รายละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมได้จาก http://micro.magnet.fsu.edu, หนังสือ Principles of Optics ของ Emil Wolf)

หมายเลขบันทึก: 208796เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2008 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • โอโหได้ข้อมูลเต็มเลย
  • สรุปว่ารู้จักกับพี่ชิวไหมครับ
  • http://gotoknow.org/profile/chiew-buncha
  • ถ้ามีผู้สนใจ
  • ขออนุญาตนำ link ไปแนะนำนะครับ
  • ขอบคุณครับ
ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร

- รู้จักพี่ชิวครับ...ทำงานอยู่ใน สวทช ด้วยกัน แต่คนละอาคารครับ

- ขอบคุณครับที่จะช่วยแนะนำ link นี้ให้คนที่รู้จัก จะได้ช่วยกันสร้างความตระหนักในเรื่องของแสงให้กับสังคมไทยในอีกทางหนึ่ง

ขอขอบคุณมากค่ะ สำหรับความรู้ในเรื่องนี้ ตอนนี้กำลังหาข้อมูลการศึกษาแสงมาทำรายงานค่ะ หาเว็บไหนก็ไม่มี จะหาภาษาอังกฤษก้อไม่เก่งอังกฤษซะงั้น ยังไงก็ต้องขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท