บ้านกร่างวิทยาคม


ใครๆก็คงเหมือนกัน ย่อมรักบ้าน รักถิ่นที่อยู่อาศัยของตนเอง เพราะทำให้เรามีกิน มีอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เคยอยู่มาแล้ว 3 โรงเรียน อยู่โรงเรียนไหนก็คงต้องรักโรงเรียนนั้น

โรงเรียนเราห่างจากตัวจังหวัด 8-10 กิโลเมตรเห็นจะได้ บนถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดพิษณุโลกกับสุโขทัย หากขับรถออกมาจากเมืองพิษณุโลก เลยแยกบายพาสบ้านกร่าง เลยปั๊มคาลเท็กซ์ เลยปั๊ม ปตท.ซึ่งอยู่ติดกัน ซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าโรงเรียน เป็นทางเดียวกับเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก(เกษตรบ้านกร่างเดิม) หลังเข้ามาตามถนนแยก อีกราวสองกิโลเมตร จะเห็นอาคารเรียน 2-3 หลัง ป้ายโรงเรียนไม่ใหญ่นัก แต่เห็นได้ชัดทางขวามือ

บริเวณโรงเรียนประกอบด้วยอาคารหลัก 5-6 หลัง เป็นอาคารเรียน 216 2 หลัง 108 1 หลัง โรงฝึกงาน อาคารพลศึกษา และหอประชุม อีกอย่างละ 1 หลัง เส้นทางหลักที่เข้ามาในโรงเรียน สามารถทะลุผ่านไปในหมู่บ้านด้านหลังโรงเรียนได้ ประชาชนบริเวณใกล้เคียงจึงใช้เส้นทางนี้สัญจรด้วย นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน เพราะเดิมเส้นทางนี้ไม่มี แต่หลังจากมีการขุดปรับแต่ง-ลอกคลองหลังโรงเรียนโดยกรมพัฒนาที่ดิน รั้วโรงเรียนถูกเปิดออก เส้นทางนี้จึงเกิด

ต้นไม้ในโรงเรียนถูกปลูกไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ร่มรื่น ตั้งแต่ครั้งตั้งโรงเรียนแล้ว เริ่มตั้งแต่ข้างป้ายโรงเรียนมีทองหลาง ต้นไม้ประจำกรมสามัญศึกษา(เดิม) แนวถนนเข้าโรงเรียนระหว่างอาคารทั้งสองข้างมีแถวของประดู่กิ่งอ่อนและตะแบก ซึ่งออกดอกเป็นสีชมพูม่วงเหมือนสีประจำโรงเรียน ข้างสนามสามเหลี่ยมด้านหน้า ตามแนวถนนลูกรังตัดไปยังบริเวณหน้าเสาธงและสนามบาส มีเสลาและชมพูพันธุ์ทิพย์ปลูกไว้(ยืนต้นตายไปบ้างแล้ว)ซึ่งดอกก็เป็นสีชมพูม่วงเช่นกัน ดอกจะบานและร่วงลงพื้นสวยงามมากช่วงก่อนปิดเทอมใหญ่ ราวเดือนกุมภา-มีนา โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ ต้นไม้ถูกปลูกเพิ่มขึ้นอีกบริเวณทางเข้า มีทั้งตาเบบูญ่าและปีบ(กาสะลอง)ต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก

นักเรียนโรงเรียนเรามี 600 กว่าคน ตามเกณฑ์จัดเป็นโรงเรียนขนาดกลาง สอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึงชั้น ม.6 รวม 19 ห้อง นักเรียนที่เรารับนอกจากตำบลบ้านกร่างแล้ว ยังมาจากตำบลอื่นๆ และอำเภอใกล้เคียง อาทิ พรหมพิราม บางระกำ ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกร ฐานะไม่ดี นักเรียนที่มีฐานะดี มักไปเรียนที่โรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง เพราะใกล้ เดินทางสะดวก ที่สำคัญมีความพร้อมมากกว่า บางครั้งความใกล้เมืองก็ก่อปัญหาให้กับนักเรียนเรา เนื่องจากต้องปรับตัวให้อยู่ได้ ทั้งในสภาพเมืองและชนบท เดี๋ยวเมืองเดี๋ยวชนบท เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ภูมิคุ้มกันไม่ดี ร่างกายไม่แข็งแรง อาจไม่สบายได้ นักเรียนเราจึงมีเกเรบ้าง ดื้อรั้นบ้าง ตามสภาพกึ่งเมืองกึ่งชนบท ครูบางคนวิเคราะห์

ครูโรงเรียนเรามีร่วม 40 คน แต่ถ้ารวมครูอัตราจ้างก็ 40 กว่า ทุกคนมิใช่ครูใหม่ ไม่ได้บรรจุที่นี่(อายุโรงเรียน 20 กว่าปีต้นๆ)ย้ายมาจากที่อื่น ประสบการณ์การทำงานแต่ละคนจึงมีมาก เมื่อผนวกเข้ากับความมุมานะ ความพยายาม เพราะต่างก็มุ่งหวังจะให้โรงเรียนเป็นที่ยอมรับ ที่ผ่านมาครูโรงเรียนเรา จึงตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากใดๆ ยิ่งในยุคสร้างโรงเรียนใหม่ด้วยแล้ว(ฟังครูเก่าเล่า) ความเป็นที่ยอมรับของโรงเรียนยืนยันได้ แต่วันนี้..โรงเรียนเราไม่ผ่านการประเมินรับรองคุณภาพจาก สมศ. แม้จะเห็นว่าการประเมินมีความไม่น่าเชื่อถืออยู่หลายประการ แต่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า โรงเรียนเราไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว

เมื่อพิจารณาความพร้อมต่างๆของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ บริเวณโรงเรียน ขนาดโรงเรียน จำนวนนักเรียนและครู ขนาดที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป จำนวนที่ไม่มากไม่น้อย การขยับปรับเปลี่ยน เพื่อจะทำอะไรสักอย่างน่าจะง่าย ไม่เหมือนโรงเรียนใหญ่ๆขยับยาก หลายความคิด และก็ไม่เหมือนโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งมักขาดความพร้อม ศักยภาพอันเต็มเปี่ยมของครูแต่ละคนอีก ยืนยันได้จากผลงานที่ปรากฏ บางคนได้รับการยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ความพร้อมของโรงเรียนเราที่มีอยู่ น่าจะเป็นโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้อีกมาก แต่วันนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น

ใครๆก็คงเหมือนกัน ย่อมรักบ้าน รักถิ่นที่อยู่อาศัยของตนเอง เพราะทำให้เรามีกิน มีอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เคยอยู่มาแล้ว 3 โรงเรียน อยู่โรงเรียนไหนก็ต้องรักโรงเรียนนั้น

วันนี้ผมอยู่บ้านกร่างวิทยาคม

หมายเลขบันทึก: 208480เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2008 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

 

สวัสดีครับ...ครูธนิตย์

ผมอ่านบทความของครูแล้ว ทำให้คิดขึ้นมาในใจและอยากจะบอกว่า ครูธนิตย์ที่รู้จักเป็นคนพูดน้อยแต่ช่างคิด ช่างเขียนไม่เบาเลย มีเหตุมีผล มีสุนทรียภาพ และพลังในตัวเองอย่างมาก ผมต้องขอชื่นชมที่ครูได้นำภาพลักษณ์ของโรงเรียน(บ้านของเรา)ออกมาเผยแพร่ในให้สาธารณชนได้รู้จัก และเข้าถึงความงามตามธรรมชาติของความเป็นโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคมที่ทุกคนมีส่วนช่วยสร้างสรรค์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ขอชื่นชมจริง ๆ ว่า ครูธนิตย์หามุมมองโรงเรียนได้ดี และคงถ่ายภาพในเวลาที่เหมาะสมจึงได้ภาพที่สวยงาม ประทับใจขนาดนี้ ทำให้รู้สึกรักโรงเรียนมากๆ ขึ้น (รักมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่)

จึงเป็นความจริงได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างหากได้จัดทำในเวลาที่เหมาะสมก็จะเกิดผลดีอย่างยิ่ง ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นอย่างงดงาม ครูธนิตย์บอกว่าโรงเรียนของเราขณะนี้เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นความจริงอีกว่าทุกอย่างย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นของธรรมดาของโลก นี่คือธรรมชาติ...นี่คือชีวิต...นี่คือธรรมะ ฉนั้นธรรมชาติเป็นธรรมะ ในโอกาสที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม หากนำพลังและศักยภาพที่มีออกมาใช้ โรงเรียน (บ้านของเรา)ก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ตามที่เราหวังจะให้เป็น...จริงหรือไม่ครับ.

พี่สมคิดครับ.

หากช่วยกันคิดและทำ(KM)อย่างจริงจัง ทุกคนคงเข้าใจได้คล้ายกันว่า ความพร้อมของโรงเรียนเราที่มีอยู่นั้น น่าจะเพียงพอที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง หรืออาจจะเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นได้อีกหลายเรื่องด้วยซ้ำ

การประเมินของ สมศ.จะว่าสำคัญก็ไม่เชิง จะว่าไม่สำคัญก็ไม่ใช่(ดร.สมหวัง บอกการประเมินรอบสองเป็นการซ้อมใหญ่)แต่ที่แน่ๆทำให้ทุกคนตระหนัก ฉุกคิด เพราะเราน่าจะรู้สึกแปล๊บๆในใจเหมือนๆกัน..หากใครพูดว่าโรงเรียนเราไม่ผ่านการประเมิน

เราติด เราสะดุดอะไรสักอย่างใช่มั๊ย หากเราตอบคำถามตัวเองได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราจะก้าวข้าม ผ่านไปได้ ผมคิดอย่างนั้น เพราะความพร้อมของพวกเรามี

สำหรับภาพถ่ายนั้น เป็นภาพซึ่งถ่ายเก็บไว้ในหลายๆช่วงเวลา

ขอบคุณในข้อคิดเห็นครับ

ดีใจที่ได้อ่านข้อความที่อยากจะบอกแก่พวกเราทุกๆคน เราจะมีที่มาจากที่ไหนๆก็ตาม แต่ในปัจจุบันเราคือ เลือดเนื้อเชื้อไขของบ้านกร่างวิทยาคมตั้งแต่แรกเริ่ม

ขอบคุณมากๆที่คุณได้เป็นตัวแทนกล่าวแทนพวกเราคนเก่าแก่ ที่อย่ที่นี่ รักที่นี่มีความผุกพันจนเหมือนบ้าน ไม่ได้พูดคุยกัน แต่เราก็รักและผูกพันกันเสมอ

ขอบคุณจริงๆจ้ะ

รักโรงเรียนบ้านกร่างและอาจารย์ทุกคน

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ชอบสำเนียงพูดเหน่อ ๆ ของคนบ้านกร๋าง(ออกเสียงประมาณนี้เลย)

น่าอ่านมากเลยคะ

ผ่านไปเป็น10ปี อาจารย์คนอื่นๆ ดูมีอายุกันมากขึ้นนะค่ะ

แต่ว่าอาจารย์ ธนิตย์ก็ยังหล่อเหมือนเดิมเลยนะค่ะ

หนูดีใจมากเลยนะ ที่เพื่อนๆบอกว่าโรงเรียนของเรามีเวปแล้ว

โรงเรียนของหนูยังเหมือนเดิมเลยนะค่ะ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้

เดี๋ยวต่อไปอาจารย์ก็คงจะได้สอนลูกๆของรุ่นพวกหนูกัน

...ขอให้อาจารย์ทุกๆคนมีสุขภาพที่แข็งแรงนะค่ะ...

สวัสดีค่ะอาจาย์ ธนิตย์

ก้อยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านกร่างค่ะ และบ้านก้อยก็อยู่ที่บ้านกร่างด้วย แต่ตอนนี้มาทำงานที่กรุงเทพ

เวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ก้อยจบม.3 ปี2543 ค่ะ อาจาย์ที่นั่นใจดี ยิ่งอาจารย์ สมคิดเป็นฝ่ายปกครองแล้วน่ากลัวค่ะ

+555 โรงเรียนมีการพัฒนาไปเยอะมากเลย ตอนนี้น้องสาวแท้ๆของก้อยเรียนที่นั่นอยู่ ม.2 ค่ะ

ปล. เมื่อก่อนก้อยเคยเจอ อาจารย์ ชุติมา แผนกคหกรรม ก้อยเลยเข้าไปสวัสดี

ก้อยเรียนแผนก บัญชี กับอาจาย์ นันทิยาค่ะ ก้อยชอบอาจารย์นันทิยามากๆ สอนก้อยถึงเก่งมาจนทุกวันนี้ ไปทำงานที่ไหนไม่ต้องกลัวเลยค่ะ ระลึกถึงอาจาย์ทุกคนค่ะ

อาจารย์อย่าลืมแวะมาคุยกับก้อยที่ Maillนี้น่ะค่ะ [email protected]

สวัสดีค่ะ อาจารย์ธนิตย์ อาจารย์ถ่ายรูปสวยมาก ๆ เลย ค่ะ แล้วทำให้โรงเรียนของเราน่าอยู่มาก ๆเลย ค่ะ

อรัญญา พุ่มพวง กิตติศักดิ์ คล้ายจินดา

สวัสดีค่ะ อาจารย์ธนิตย์ จำหนูได้ไหมค่ะ อาจารย์ถ่ายรูปสวยมาก รร.สวยมากเลย หนูอยากกลับไป รร.จัง คิดถึง อาจารย์ทุกท่านสบายดีใช่ไหมค่ะ

  • สวัสดีครับ อาจารย์ธนิตย์  สุวรรณเจริญ
  • โรงเรียนน่าอยู่มากครับ บรรยากาศดี
  • ขอบคุณครับ

ผมตอนนี้อายุ13ปีอยู่ชั้น1/2 ปีพ.ศ.2553 ผมว่าครูธนิตเป็นครูเจ้าระเบียบแต่ครูก็ได้สอนนักเรียนทุกคนทุกระดับชั้นมัธยมทั้งหมด โดยเฉพาะวิชาลูกเสื่อ เนตนารี ครูเป็นครูที่ดีมาก (ขอบคุณที่อ่านครับ สวัดดีครับ........)

LoVe บ้านกร่างวิทยาคมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท