การเรียนกับสมาธิ


สมาธิ คือ สภาพของจิต ซึ่งจดจ่อความสนใจ ไปในสิ่งเดียวหรือเรื่องเดียว ไม่วอกแวกสนใจเรื่องอื่น

ประโยชน์ของสมาธิ
           สมาธิในทางพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งและมีประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่จะนำไปใช้ในการเรียนเท่านั้นสมาธิเป็นเครื่องมือที่จะทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น ทำให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี มองตนเอง มองผู้อื่นและสภาพการณ์ต่าง ๆ  ตามที่เป็นจริง สามารถแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการนำสมาธิไปใช้ในการเรียนเท่านั้น ซึ่งป็นกุญแจสำคัญไปสู่ความสำเร็จในการเรียน ช่วยให้สามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างรวดเร็ว
อุปสรรคของสมาธิ
              สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อสภาพจิตที่จดจ่อความสนใจในเรื่องราวที่กำลังศึกษา คือ สิ่งรบกวนภายนอกและสิ่งรบกวนภายใน
     สิ่งรบกวนภายนอก คือ องค์ประกอบภายนอก เช่น เสียง แสง สภาพแวดล้อม ที่รบกวนสมาธิ
     สิ่งรบกวนภายใน คือ องค์ประกอบภายในตนเอง เช่น ความหิว ความอ่อนเพลีย ความวิตกกังวล การขาดแรงจูงใจในการเรียน ซึ่งรบกวนจิตใจและส่งผลต่อสมาธิ                         
 การสร้างสมาธิในการเรียน
      การสร้างสมาธิในการเรียนทำได้ดังนี้ คือ
     หาสถานที่สงบปราศจากเสียงรบกวนในการศึกษาหาความรู้ 
                 เสียง    เป็นสิ่งรบกวนสมาธิ ขณะที่เรากำลังจดจ่อความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เสียงอาจเป็นตัวทำลายสมาธิได้ เช่น เวลาทบทวน บทเรียน มีเสียงจากวิทยุ หรือโทรศัพท์ หรือคนกำลังพูดคุยกัน สิ่งรบกวน จะทำให้จิตใจเราวอกแวกไปจากความสนใจในตำหรับตำรานั้น
ฉะนั้นเวลาทำงานหรือทบทวนบทเรียน จงหาสถานที่สงบปราศจากเสียงรบกวนสมาธิ                 มีแสงสว่างกำลังพอเหมาะสม่ำเสมอ
      แสงสว่างเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รบกวนสมาธิของคุณ จงหลีกเลี่ยงแสงสว่างที่เจิดจ้าแยงตา หรือแสงที่ริบหรี่ ขณะกำลังอ่านหนังสือ แสงที่สว่างกำลังดีและสม่ำเสมอจะช่วยสมาธิ ถ้าใช้โคมไฟ ควรให้โคมไฟอยู่ด้านซ้ายมือ และมีความสว่างพอเพียง 
       สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการศึกษาเล่าเรียน
           ควรอ่านหนังสือหรือทำรายงานในสภาพ แวดล้อมที่เหมาะสม ควรนั่งทำงานมากกว่านอนพังพาบหรือฟุบตัวอ่านหนังสือหรือเขียนหนังสือมีวัสดุอุปกรณ์พร้อมที่จะหยิบจับมาใช้ได้ทันที เช่น มีกระดาษ ดินสอ ปากกายางลบ กบเหลาดินสอ พจนานุกรม จัดวางไว้ให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่ลุกเดินไปหยิบกบเหลาดินสอ หรือไปหยิบพจนานุกรมจากที่อื่นมาใช้เป็นการทำลายสมาธิ ควรนั่งทำงานหรือทบทวนบทเรียนให้เป็นที่เป็นทางอย่างสม่ำเสมอ
        รับประทานอาหารอย่างพอเพียง
            ความหิว เป็นตัวทำลายสมาธิ ทำให้รู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวาย กระสับกระส่าย จะเป็นอุปสรรคทำลายสภาพจิตใจไม่ให้จดจ่อในการเรียนการรับประทานอาหารอย่างพอเพียง จะช่วยไม่ให้เกิดอาการหิวระหว่างดูหนังสือ หรือทำการบ้านแต่อย่ารับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดความอึดอัดและง่วงเหงาหาวนอน
        รักษาร่างกายให้แข็งแรง
           จิตใจที่เข้มแข็ง แน่วแน่ ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงร่างกายที่อ่อนเพลียเป็นอุปสรรคต่อสมาธิ ฉะนั้นควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ โดยนอนหลับพักผ่อนวันละ 7-8 ชั่วโมง เป็นนิสัย จะช่วยให้สมาธิดีขึ้น ทำให้การศึกษาหาความรู้มีประสิทธิภาพ ดูหนังสือในช่วงที่ร่างกายยังกระปรี้กระเปร่า คือช่วงเช้ามืดของแต่ละวัน ช่วงเช้าตรู่จะเป็นช่วงเวลาที่คนนั่งสมาธิได้ดีที่สุด มีงานวิจัยที่แสดง   ให้เห็นว่า การศึกษาหาความรู้ในช่วงเช้า 1 ชั่วโมง เท่ากับการศึกษาหาความรู้ในช่วงกลางคืน 1 ชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากในช่วงเช้าสมองปลอดโปร่ง สดชื่น หลังจากได้นอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนมาเพียงพอแล้ว
              รักษาสภาพจิตให้ปราศจากความวิตกกังวล
        ความวิตกกังวลเป็นอุปสรรคต่อสมาธิ วิธีลดความวิตกกังวล ก็คือ พูดคุยปรึกษาหารือ กับผู้ที่คุณไว้วางใจ ถ้าเป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิชาใดวิชาหนึ่ง การพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรืออาจารย์เจ้าของวิชา ถ้ามีปัญหาส่วนตัวใด ๆ ควรเผชิญปัญหาและรีบแก้ปัญหาอย่าลดความวิตกกังวลด้วยการหนีปัญหา เพราะจะไม่ทำให้ความวิตกกังวลลดลง แต่กลับทำให้ปัญหาพอกพูนขึ้น
          มีแรงจูงใจในการเรียน
            การขาดแรงจูงใจในการเรียน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ไม่สนใจเรียน ไม่มีสมาธิในการดูหนังสือ วิธีที่จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการเรียน   คือ พยายามประยุกต์วิชาต่าง ๆ ที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือในการทำงาน วางวัตถุประสงค์ระยะยาวเพื่อให้เน้นว่าวิชาต่าง ๆมีประโยชน์อย่างไรในชีวิต
           สรุป 
              การที่จะมีสมาธิได้ดีนั้น ต้องขจัดอุปสรรคทั้งสิ่งที่รบกวนภายนอกและภายในให้หมดไป ตั้งใจมั่นกับสิ่งที่กำลังศึกษาหาความรู้อยู่เท่านั้น และควรหา สถานที่ศึกษาให้เป็นที่เป็นทางด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ ฝึกเป็นคนมีสมาธิที่ดีจะช่วยได้ดีมาก ทั้งด้านการเรียนและชีวิต ทำงาน

หมายเลขบันทึก: 207062เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท