“ในหลวง” นักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่


“ในหลวง” นักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่

“ในหลวง” นักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่
ภาพแห่งความประทับใจแต่ภาพที่เกิดขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครอบ 60 ปี สร้างความปิติ ยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์ท่านไม่เสื่อมคลาย พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไทยทั้งแผ่นดิน
       
       และถ้าหากพูดถึงการเป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ท่านก็ทรงเป็นแบบอย่างให้นักการศึกษาไทยได้อย่างดี แต่เพราะอะไร? แนวทางบางประการที่เกี่ยวกับการศึกษาของชาติยังไปไม่ถึงไหน หรือทำการปฏิรูปการศึกษาแต่ยังเดินหน้าในหลายเรื่องไม่ได้เป็นเพราะอะไร
       
       บ่อยครั้งทีเดียวที่นักการศึกษาไทย มักหยิบความรู้จากตำรา จากโลกตะวันตกมาเป็นแบบอย่าง ลอกเลียนแบบจนลืมว่า “นี่คือประเทศไทย”
       
       
หลายเรื่องราวจึงเกิดปัญหาตามมา วุ่นวายให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เป็นเพราะนักการศึกษาไทยไม่เข้าใจบริบท สภาพปัญหา วิถีแห่งไทย ความคิดความรู้สึกของคนไทยอย่างแท้จริง อย่าลืมว่าการหยิบความรู้จากในตำรา ออกมาสอนหรือมาสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดที่ไม่ใช่ความจริงจากสภาพบ้านเมืองไทย จะเห็นว่าความรู้เหล่านั้นมิอาจตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาการศึกษาของชาติได้เลย
       
       ขณะที่เมืองไทยมีนักการศึกษา นักวิชาการจำนวนไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในวันที่ 22 มิถุนายน 2524 ความว่า...
       
       ....ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาด สามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไหร่นัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วนไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติ ที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ็งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือ ต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้…
       

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแม้จะทรงมีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความรู้ที่ทันสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์ นั่นก็คือ “เป็นผู้สร้างความรู้”มากกว่าจะเป็นเพียงผู้ใช้ความรู้จากในตำราเพียงอย่างเดียว จะศึกษาเรื่องใดหรือทรงแก้ปัญหาใดๆ พระองค์ท่านจะลงพื้นที่และหาความรู้ด้วยพระองค์เองทุกครั้ง ความรู้ทุกเรื่องราวล้วนแล้วแต่สัมผัสจากการลงพื้นที่ด้วยพระองค์เอง และนี่ล่ะที่เราควรเรียกว่า “การศึกษาที่แท้จริง”

ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 มิถุนายน 2549 09:01 น

หมายเลขบันทึก: 206764เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2008 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนดีจัง

รักในหลวงค่ะ

ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท