ข้อคิดกับความโกรธ


เมื่อความอยากเดินสวนทางกับความเป็นจริง มีหรือที่เธอจะไม่ทุกข์

มีเพื่อนส่งเมล์มาให้อ่าน ก็ตามอ่านไปเรื่อย เจอเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ

จึงอยากจะเก็บไว้อ่านคราวต่อไป 

สลัดตัวโกรธจากชีวิตและเตียงนอน 

วันวานมีลูกศิษย์ของครูคนหนึ่งโทรศัพท์ทางไกลมาหาครู 
เท่าที่ฟังจากปลายสาย ครูรู้ว่าเขากำลังทุกข์มาก 
ประโยคแรกที่เขาขอร้องกับครูก็คือเขาขอให้ครูช่วยทำให้
หายโกรธด้วย 

เธอเชื่อไหมว่า คนที่เป็นนายคน
ไม่น้อยกว่าห้าสิบคนในบริษัทแห่งหนึ่ง
สำเร็จการศึกษามาจากเมืองนอก บริหารธุรกิจนับร้อยล้าน

แต่ไม่สามารถบริหาร “อารมณ์โกรธ” ของตนเองได้   คนอย่างนี้ควรจะเรียกว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวดี 

อย่างไรก็ตาม ครูได้เตือนให้เขาสงบจิตใจและฟังครู 
เขาทำตามอย่างว่าง่าย เพราะคบหากับครูมานานแล้ว 
ครูบอกให้เขาชูมือของตัวเองขึ้นมาแล้วลองพินิจดูว่า 

นิ้วแต่ละนิ้วนั้นสั้นยาวเท่ากันหรือเปล่า
ครูบอกเขาว่าถ้าเธออยากให้นิ้วโป้งยาวกว่านิ้วกลาง
อยากให้นิ้วนางยาวเท่านิ้วชี้ เธอก็จะทุกข์ทันที 

เขาถามว่าทำไม
ครูตอบว่า
เพราะความอยากที่สวนทางกับธรรมชาติของความเป็นจริงเช่นนั้น    ไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้เลย 

เมื่อความอยากเดินสวนทางกับความเป็นจริง มีหรือที่เธอจะไม่ทุกข์

เธอคงเริ่มสงสัยว่า แล้วนิ้วทั้งห้าเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้
ครูจะขยายความให้ทราบอยู่เดี๋ยวนี้แหละ
เพราะต้นตอแห่งความ
โกรธของลูกศิษย์ของครูคนนั้น
มาจากการที่ลูกน้องของเขาคนหนึ่งทำงานชิ้นสำคัญ
ไม่เสร็จตรงตามเวลาที่เขากำหนดเอาไว้
เมื่อลูกน้องมารายงานให้ทราบว่างานไม่เสร็จตามเป้าหมาย
จึงเกิดการ “เทศน์นอกธรรมาสน์” กันขึ้น
 

เมื่อต่างฝ่ายต่างก็แรงเข้าหากัน
เพราะถือว่าต่างก็มีดีด้วยกันทั้งคู่ (อหังการ/ฉันแน่)
สุดท้ายลูกน้องคนนั้นซึ่งเป็นคนสำคัญของบริษัท
เป็นฝ่ายหมดความอดทนก่อน เขาจึงประกาศขอลาออก
และให้สัตย์สาบานว่าจะไม่มาเหยียบที่บริษัทนั้นอีก
ซ้ำยังท้าทายด้วยว่า ถ้าขาดเขาเสียคนหนึ่ง บริษัทจะไปไม่รอด


เพียงเท่านี้แหละเธอเอ๋ย
ลูกศิษย์ของครูซึ่งเป็นผู้บริหาร  โกรธ  จนตัวสั่นที่ถูกท้าทาย
แต่พอลูกน้องเดินลับสายตาออกไปแล้ว
ความเสียใจอย่างลึกซึ้งก็เคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ความโกรธ  ....

คราวนี้ไม่โกรธลูกน้องแล้วแต่เป็นการโกรธตัวเอง

ที่ไม่รู้จักหักห้ามใจตนจนทำให้คนของตัวเองซึ่งคบหาพึ่งพากันมานาน
ต้องมาเลิกร้างห่างเหินกันไปอย่างไม่ไยดี

เธอลองคิดดูสิว่า หากเธอเป็นนายคนแล้วเสียลูกน้องมือดี
ไปแบบกู่ไม่กลับอีกแล้ว เธอจะโกรธตัวเองไหม จะเสียใจไหม
หากเป็นครู ครูก็คงเสียใจไม่น้อย

แต่ที่ครูเสียใจไม่ใช่เพราะเสียดายเขา
แต่เสียใจที่ครูปล่อยให้เขากับครูเกิดความบาดหมางระหว่างกันขึ้นมาจนได้

ครูถือคติว่า เกิดมาเป็นคนกับเขาชาติหนึ่ง ไม่ควรโกรธหรือเป็นศัตรูกับใคร
และไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้ใครต้องมาเป็นศัตรูกับเรา
คนจีนเขาสอนลูกหลานกันมานานหลายชั่วคนแล้วว่า
“มีมิตร ๕๐๐ คนยังน้อยไป มีศัตรู ๑ คนก็นับว่ามาเกินพอ”

คนเรากว่าจะคบกัน เรียนรู้กัน เชื่อใจกัน และร่วมมือร่วมใจกัน
ลงหลักปักฐานทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งจนเติบโตมาด้วยกัน
ทั้งความสัมพันธ์และความสำเร็จทางธุรกิจ ต้องใช้เวลาเรียนรู้กันนานเหลือเกิน
แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดีก็กลับมาแตกคอกันเอง
กลายเป็นน้ำแยกสายไผ่แยกกอ
เพียงเพราะตกเป็นทาสของความ
โกรธชั่ววูบเดียว


เรื่องอย่างนี้เป็นใครก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา
ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปเราได้ค้นพบว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด
ความเสียใจซึ่งมันควรจะจบไปแล้วในอดีต
ก็จะวกกลับมาทำร้ายเราซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้งกี่หน
เพราะเหตุนี้เอง ครูถึงได้บอกว่า
เกิดมาเป็นคนกับเขาชาติหนึ่งแล้ว อย่าได้เป็นศัตรูกับใครเขาเลย

เพราะไม่เพียงแต่เราจะเจ็บปวดจากการทำร้ายของศัตรูเท่านั้น
หากเราเองยังจะต้องเจ็บปวดเพราะการทำร้ายตัวเองด้วย “ความทรงจำอันเลวร้าย”

ที่แทรกตัวอยู่ในจิตใจสำนึกของเราเองอีกต่างหาก


ครูบอกเขาว่า นิ้วทั้งห้าของคนเรานั้นสั้นยาวไม่เท่ากันฉันใด
คนทุกคนต่างก็มีศักยภาพทางสติปัญญาไม่เท่ากันฉันนั้น
ก่อนที่เราจะดุใครหรือโกรธใคร ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เพื่อน คนรัก
หรือลูกศิษย์ของเราก็ตาม จึงควรถามตัวเองก่อนว่า
เราใช้เขาให้สอดคล้องกับศักยภาพอันแท้จริงของเขาหรือไม่ เพียงไร
(Put the right man on the right job)

หากเราคิดเช่นนี้ทุกครั้งก่อนที่จะดุหรือตำหนิคนอื่น
เราจะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว คนที่ควรตำหนิมากที่สุดก็คือตัวของเรานั่นเอง
เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้ครูนึกถึงกวีนิพนธ์บทหนึ่งว่า

เมื่อพูดไปเขาไม่รู้กลับขู่เขา ว่าโง่เง่างมเงอะเซอะนักหนา
ตัวของตัวทำไมไม่โกรธา ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้าใจ


เมื่อครูพูดมาถึงตอนนี้ ครูสังเกตเห็นว่าเสียงของคู่สนทนาค่อยแจ่มใสขึ้น
และสุดท้ายเขาก็สามารถหัวเราะเยาะ ความโง่เขลาของตัวเองได้อย่างอาจหาญ
เขาสัญญากับครูว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
และครูเองก็ดีใจ ที่วันรุ่งขึ้นเขาโทรศัพท์มาบอกครูว่า
เขา “เคลียร์” ทุกอย่างให้จบลงด้วยดีแล้ว

ครูถามเขาว่าทำได้อย่างไร

“ขอโทษครับ ผมผิดเอง”

คือคำตอบที่เขาใช้กับลูกน้องคนสำคัญของตัวเอง
และด้วยถ้อยคำง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำนี้เอง  ฟ้าหลังฝนก็กลับมาสดใสเหมือนเดิม

คำว่า “ขอโทษครับ ผมผิดเอง”   มีปาฏิหาริย์มากถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ตามหลักทางจิตวิทยาเธอก็คงรู้ดีว่า
มนุษย์ทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นมองเห็นตนว่าเป็นคนสำคัญ
และต่างก็มี “ปม” ด้วยกันทั้งนั้น
มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ภูมิหลังของใครของมัน
คนบางคนก็มีปมอยากเด่น บางคนก็มีปมด้อยที่อยากปกปิด
บางคนก็มีปมที่อยากชดเชยให้กับตัวเอง
แต่ปมทั้งหมดนั้น พระพุทธเจ้าของเราทรงใช้คำสั้น ๆ
เรียกมันว่า “ตัวกู”    และเรื่อง “ของกู” เท่านั้นเอง

โดยเฉพาะเรื่อง “ตัวกู” นั้นสำคัญยิ่งกว่า “ของกู” อีกหลายเท่าตัวทีเดียว
เพราะถ้าไม่มี “ตัวกู” ความรู้สึกว่า “ของกู” ก็ไม่เกิดตามมา


ที่ลูกน้องระดับ “มืออาชีพ” ของเขารีบหายโกรธเจ้านายทันที
หลังจากที่ได้ยินคำว่า “ขอโทษครับ ผมผิดเอง” นั้น
ก็เป็นเพราะเขาซึ่งเป็นผู้ฟังอยู่รู้สึกว่า “ตัวกู” ของเขาไม่ผิด ตัวกูของเจ้านายต่างหากที่ผิด
เมื่อผลักความรู้สึกผิดออกไปจากอกของตัวเองเสียได้
และมีคนมารับช่วงเป็นเจ้าของความผิดแทนตัวกูของเขา   ก็เป็นไทและพ้นจากความผิด
ส่วนการที่เจ้านายขอให้เขากลับมาร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่งนั้น
ก็เป็นเพราะ   ผู้ฟังรู้สึกว่าตัวกูของเขา ได้รับการเชิดชูให้ลอยเด่นขึ้นมา
โดยผู้ที่ยกให้ลอยนั้นเป็นเจ้านายของเขาเสียด้วย เขาจึงยอม

เรื่องนี้ฟังดูก็เหมือนง่าย แต่ความจริงมันยากมากทีเดียว
ที่จะทำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพราะคงจะมีคนที่เป็นนายคนไม่กี่คนเท่านั้น
ที่ยอมลด “ตัวกู” ของตัวเอง
ให้อยู่ต่ำกว่า “ตัวกู” ของลูกน้อง

ตรงนี้แหละที่ครูถือว่าเป็นเคล็ดลับของการบริหารตัวกูละ

ถ้าเธอเข้าใจเรื่อง “ตัวกู” ทั้งของตนและของคนอื่น
เธอก็ควรจะรู้ว่าถ้าเธออยากอยู่กับคนทั้งโลกอย่างมีความสุข

ถ้าเธออยากอยู่กับคนทั้งโลกอย่างมีความสุข
ก็จงถือคติ 
๑. อย่าดูหมิ่นตัวกูของใคร 
๒. อย่าอวดตัวกูข่มใคร เพราะจะทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างตัวกู 
๓. อย่าขโมยตัวกูของใครมาเป็นตัวกูของตัวเอง (อันเดียวกับขโมยลิขสิทธิ์นั่นเอง) 
๔. อย่ามีตัวกูแทรกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

คนเราทุกคนรักตัวกูยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
ที่โกรธ เกลียด ชิงชัง ทำลายล้างกันอย่างมโหฬารอยู่ทุกวันนี้
ล้วนมีที่มาจากเจ้า
“ตัวกู” นี้ทั้งนั้น
เจ้าตัวกูนี้ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะกำจัดมัน
บางมีมันก็ขยายตัวจนกลายเป็นตัวกูระดับประเทศหรือระดับโลก ....

ตัวกู  จึงเป็นรากฐานที่ตั้งที่เกิดของความโกรธทุกระดับชั้น
ตั้งแต่ความโกรธของปัจเจกชนไปจนถึงความโกรธของคนทั้งประเทศและของโลก
ถ้าเราหมดตัวกูได้เมื่อไร ก็หมดความโกรธ หมดปัญหา และหมดทุกข์
เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ผู้หมดตัวกูแล้ว
ท่านถึงไม่เคยต่อล้อต่อเถียงหรือโกรธกับใครเขาทั้งโลกเลยยังไงล่ะ 

 

บางส่วนจาก สลัดตัวโกรธจากชีวิตและเตียงนอน  ธรรมะติดปีก ของ ว.วชิรเมธี

 

 

หมายเลขบันทึก: 206543เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2008 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถูกต้อง ใช่เลยทุกประการค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ
เพราะถูกกระทบที่ตัวกู ของกู เราจึงทุกข์ แต่ก็ยังยึดอยู่ เหมือนพระท่านว่า "เรื่องนี้ฟังดูก็เหมือนง่าย แต่มันยากมากทีเดียว ที่จะทำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท