จะดีใจหรือเสียใจดี


กว่าจะพัฒนามาเป็นป่าในสภาพปัจจุบันได้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี แต่ถูกทำลายหมดในเวลาไม่กี่วัน

     วันนี้ได้เห็นนิสิตกลุ่มหนึ่งของ มมส. มาจัดพิธีอย่างหนึ่งที่บริเวณถนนหน้าคอนโดที่พัก ตรงกับบริเวณที่กำลังมีการก่อสร้างตึกใหม่เพื่อขยายงานของ ศูนย์นวตกรรมแห่งหนึ่งของ มมส. แต่เลือกที่จะสร้างตึกในบริเวณที่เดิมเป็นป่า โดยทำการตัดต้นไม้ออกทั้งหมด บริเวณนี้เป็นสิ่งที่ผมเคยคุยกับอาจารย์ผู้ใหญ่ภาควิชาชีววิทยาท่านหนึ่ง ในปีแรก (ปลายปี 2548) ที่ผมมาช่วยงานที่ มมส. ว่าเป็นป่าเต็งรังหรือป่าเบ็ญจพรรณที่เหลืออยู่ในเขตของ มมส. น่าจะอนุรักษ์ไว้เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิต โดยไม่ต้องออกไปไกล ก็ได้รับทราบว่าทางภาควิชาชีววิทยาก็ใช้ป่าบริเวณนี้เป็นที่ให้นิสิตได้มาใช้ศึกษาประกอบรายวิชานิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพอยู่เป็นประจำ รวมทั้งงานวิจัยหรือโครงงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตต่าง ๆ ด้วย ผมก็เลยเบาใจว่าป่าบริเวณนี้คงจะอยู่คู่ มมส. ไปอีกนาน  ผ่านมาเพียง 3 ปี ผมก็ได้เห็นป่าแห่งนี้ถูกทำลาย โดยการไถทิ้งเพื่อก่อสร้างตึกใหม่อย่างน่าเสียดายในต้นเดือนที่ผ่านมา ผ่านมาหนึ่งเดือนหลังจากป่าบริเวณนี้หายไปมากกว่าครึ่งแล้วก็ได้เห็นนิสิตกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหว  ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของการทำพิธีเพื่อการอนุรักษ์ป่าหรือลดการตัดต้นไม้ทำลายป่าบริเวณนี้ที่เหลืออยู่ เพราะเห็นนิสิตเดินเข้าไปทำพิธีบริเวณป่าที่เหลืออยู่ รวมทั้งได้ยินเสียง (ร้องตะโกน) ว่า ไม่สมควรตัดต้นไม้ทำลายป่า  การตัดต้นไม้เป็นสิ่งไม่ดี อีกทั้งพบว่ามีป้ายมาตั้งไว้บริเวณนั้นที่มีข้อความว่า โลกยิ่งร้อน ยิ่งตัดต้นไม้โดย เครือข่ายนิสิตพิทักษ์ป่า เพื่อต่อต้านการกระทำที่เกิดขึ้น

 

      เหตุการณ์ที่เล่ามาจึงเป็นที่มาของหัวเรื่องที่ว่าผม จะดีใจหรือเสียใจดี  เพราะแม้ว่าตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบ เขียนหนังสือและเตรียมสื่อในการจัดการเรียนการสอนในบทแรกของวิชา วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ และบอกนิสิตว่า สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และต้องดับ(สิ้น)ไป เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เมื่อคิดถึงว่า ป่าบริเวณนี้กว่าจะพัฒนามาเป็นป่าในสภาพปัจจุบันได้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี  แต่ถูกทำลายหมดในเวลาไม่กี่วัน ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีทางให้เลือกที่จะไม่ต้องทำลายป่าได้ อย่างไรก็ตามการที่ได้เห็นว่า ยังมีนิสิตกลุ่มหนึ่งมีจิตสำนึกในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์ พิทักษ์ป่า ออกมาเคลื่อนไหว แม้ว่ามันจะไม่สามารถทำให้ป่าที่ถูกทำลายไปแล้วกลับคืนมา อย่างน้อยก็คงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้คิด และมีจิตสำนึกในการที่จะไม่ทำลายป่าในครั้งต่อ ๆ ไปมากขึ้น  ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง  ผมก็น่าจะดีใจที่อย่างน้อยยังมีนิสิตกลุ่มหนึ่ง ที่มีจิตสำนึกตามสิ่งที่ผมพยายามสื่อให้นิสิตได้ทราบในวิชาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้มีการแสดงออกในเรื่องของการช่วยกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย   

หมายเลขบันทึก: 206439เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • หลายครั้งที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กับความเจริญงอกงามตามธรรมชาติมักจะสวนทางกัน

 

  • จะสำนึกได้ก็ต่อเมื่อว่าสูญเสีย 
  •  เหมือนกับการตัดต้นไม้  ตอนนี้ผลกระทบยังไม่เห็นชัดแจ้ง  ก็ไม่มีใครมองเห็น 
  • หรือจะรอให้โลกร้อนระอุ
  • น้ำท่วมโลก
  • จิตสำนึกจึงจะมี
  • ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่นำเสนอเรื่องราวที่ดี  อย่างน้อยก็ได้ช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้กับผู้รับผิดชอบได้เห็นและได้อ่าน
  • สวัสดีครับน้อง 1. พิชชา เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอครับ เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าใส่ใจมากขึ้น ก็จะลดผลจากหนักให้เบาลงได้ครับ
  • คุณ 2. danthai ครับ บังเอิญตัวอย่างเรื่องนี้ เกี่ยวโยงกับเนื้อหาที่ผมสอนในวิชา วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน จึงนำมาเป็นตัวอย่างสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นจริง ให้นิสิตอื่น ๆ ได้เห็นว่า เรื่องที่เราพูดถึงในชั้นเรียน เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งในบริเวณมหาวิทยาลัยเอง ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลาย ๆ คนคิด ครับ

สวัสดีครับอาจารย์์..

ธรรมชาติอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์จะอยู่ไม่ได้หากไม่มีธรรมชาติ ครับ

ความงามของวัตถุยังไงก็ไม่สู้ความงามของธรรมชาติครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท