ก่อเกิด "อาชีวะบนดอย


ก่อเกิด "อาชีวะบนดอย

ก่อเกิด "อาชีวะบนดอย" [26 ส.ค. 51 - 17:34]

พระมหากรุณาธิคุณ "สมเด็จพระเทพฯ" ส่งเสริมการศึกษาพื้นที่สูง

ประเทศไทยมี ชาวเขา 923,257 คน

ข้อมูลจากทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง 20 จังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2545 ที่สำรวจโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ด้วยจำนวนประชากรชาวเขาที่มากขนาดนี้ ประกอบกับชาวเขาส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของไทย ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนของไทยอย่างยิ่ง ทำให้หลายหน่วยงานต้องเข้าไปดูแลในด้านต่างๆ

หัวใจหลัก คือ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยภูเขาทุกคนรู้สึกถึงความ เป็นคนไทย

มีการออกเลขประจำตัว 13 หลักให้พี่น้องชาวไทยภูเขาเพื่อสิทธิ ประโยชน์ต่างๆในฐานะคนไทย สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อเปิดทำการเรียนการสอนตามแนวชายแดน ส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน และที่สำคัญจะได้รู้จักการประกอบอาชีพที่ถูกต้อง ไม่ต้องหันไปปลูกฝิ่นเหมือนอดีตที่ผ่านมา

บ้านนาโต่ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ทั้งหมู่บ้าน ในอดีตคนในหมู่บ้านจะนิยมลงจากเขาเพื่อไปหางานทำในเมือง และไม่กลับขึ้นไปในถิ่นฐานดั้งเดิมของตัวเองอีก

และช่วงต้นปี 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยี่ยม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 4 รอบ 2 เมษายน 2546 ที่เปิดทำการเรียนการสอนให้กับชาวบ้านนาโต่

ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระราชกระแสให้มีการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้กับผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ

ด้วยทรงเล็งเห็นว่า นักเรียนส่วนใหญ่ที่เรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฯ เป็นชาวเขา จึงควรมีการส่งเสริมอาชีพให้ได้อยู่ในท้องถิ่นตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งจะนำไปสู่ความมั่นคงตามแนวชายแดน

และช่วงเดือน ก.ค. ปีเดียวกัน ก็มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพื่อสนองพระราชกระแสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดตั้ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ ขึ้น

วันที่ 20 พ.ค.2550 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ ก็สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้

นับเป็นวิทยาลัยอาชีวะแห่งแรกที่มีสาขาเปิดสอนบนดอย

นายสมเดช วงศ์ชัยพาณิชย์ หัวหน้าคณะอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ จะช่วยรองรับนักเรียนจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ และอีก 9 โรงเรียนในบริเวณใกล้เคียง ส่วนการเรียนการสอนนั้นจะเน้นให้นักศึกษาเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยปี 1 จะให้เรียนในวิชาพื้นฐาน ส่วนปี 2 ถึงปี 3 จะให้นักศึกษาหาอาชีพทางการเกษตรที่ต้องการจะทำ และให้ทำงานอยู่บ้าน 5 วัน และมาเรียนอีก 2 วัน ซึ่งจะมีอาจารย์คอยออกนิเทศนักศึกษาตามบ้าน เพื่อประเมินผลการทำงานของนักศึกษาและนำมาเทียบเป็นเกรด

นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่นี้ มีการคิดค้นรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนสำหรับที่นี่โดยเฉพาะโดยใช้ชื่อว่า “นาโต่โมเดล” ซึ่งจะยึดความต้องการของชาวบ้านนาโต่เป็นที่ตั้ง โดยจะสำรวจว่าชาวบ้านมีความต้องการอะไร และจะจัดการเรียนการสอนอาชีพต่างๆ ตามความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งจะเริ่มจากให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำความรู้ขยายไปสู่ชาวบ้าน

“การที่เด็กต้องคิดโครงการเองว่าจะประกอบอาชีพอะไรที่บ้าน จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นของของตัวเอง และสิ่งที่เกิดตามมาคือ ความรู้ด้านการเกษตรได้ขยายไปสู่ชาวบ้าน ก่อให้เกิดเป็นเศรษฐกิจชุมชน แนวทางต่อไปคือการเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมทั้งสอนในอาชีพด้านอื่น เช่น ช่างเสริมสวย ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงต้องการให้ชาวเขาอยู่กับถิ่นฐานของตัวเอง” นางศรีวิการ์กล่าว

นับเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ ทีมการศึกษา มอง ว่าเป็นการเดินงานด้านการให้การศึกษาที่ตรงจุดและถูกทาง

เพราะจำนวนชาวเขาที่มีอยู่ไม่ใช่จำนวนน้อย ทั้งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีอย่างแน่นอน การเข้าไปส่งเสริมให้ได้เรียนรู้อาชีพ ได้รับการศึกษา จะทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกถึงความเป็นคนไทย รักผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเท่ากับสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนของไทย

แต่สิ่งที่เรายังอดห่วงไม่ได้และคงต้องฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลคือเรื่องงบประมาณสนับสนุน ปัจจุบันวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย สาขาบ้านนาโต่ ยังไม่มีงบประมาณด้านอื่นสนับสนุน จะมีก็เพียงเงินอุดหนุนรายหัว กับงบประมาณช่วยเหลือจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เท่านั้น ซึ่งย่อมไม่เพียงพออย่างแน่นอน

หากขาดงบประมาณ คงยากที่ “อาชีวะบนดอย” จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง และยั่งยืน!.

ทีมข่าวสาธารณสุข


แหล่งที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 59 ฉบับที่ 18489 วันพฤหัสบดี ที่ 4 กันยายน 2551
คำสำคัญ (Tags): #good
หมายเลขบันทึก: 205813เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท