SELF & SYSTEM TRANSCENDENCE


Self and System Transcendence 

ดร.นพ.สกล สิงหะ

หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์

 

True Success is not in the learning,

but in its application to the benefit of mankind

พระราชหัตถเลขา จารึกในสมุดบันทึกวิชาบัคเตรีวิทยา

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

         ในการทำงานใดๆนั้น มีองค์ประกอบต่างๆหลากหลายมิติเข้ามาประกอบกันเป็นกิจกรรม มีความซับซ้อนอยู่ในความเรียบง่าย มีความละเอียดอยู่ในความธรรมดา มีแรงอยู่เบื้องหลังสถิตย์ จะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยของการเกิด การมี อยู่ทุกขณะจิต ท่านพุทธทาสภิกขุเปรียบเทียบการทำงานประดุจดั่งการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นอุปมาอุปมัยที่ชอบแล้ว เมื่อมนุษย์ผู้ประกอบกิจนั้นตั้งใจจะปฏิบัติธรรม ศักยภาพของปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่ประมาณมิได้ และเมื่อปัจเจกบุคคลมารวมเป็นชุมชน เป็นระบบ เกิดเป็นองค์กร ศักยภาพระดับสมุหะนั้น ก็มิได้เป็นเพียงแค่ผลรวมของศักยภาพแห่งปัจเจก หากแต่เกิดความทวีคูณเพราะความเป็นองค์รวม อันมีรากฐานมาจากเส้นใยที่ถักทอเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งสังคมนั้นๆ

         ที่มาของวิชาชีพแพทย์พยาบาลนั้นน่าสนใจ น่าศึกษา แต่เดิมอันเทวฑูตทั้งสี่ ที่เจ้าชายสิตธัตถะทรงได้มีประสบการณ์พบเห็น เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ค้นหาสัจจธรรม คือ เกิด แก่ เจ็บ และความตายนั้น ก็เป็นสิ่งที่คงอยู่และเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตั้งแต่เริ่มต้นมีชีวิตบนโลก มนุษย์ในสังคมต่างก็เห็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เหมือนกับการมีเช้า กลางวัน กลางคืน ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก แต่จะด้วยสาเหตุบางประการ ทำให้คนที่อยู่ด้วยกัน เมื่อมีสมาชิกของกลุ่ม เกิดความทุกข์มากขึ้นจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เริ่มมีใครบางคน ทนไม่ได้ที่จะนิ่งเฉย ได้อาสา หรือเริ่มต้น "ทำอะไรบางอย่าง" เพื่อให้อาการ เหล่านั้นบรรเทาลง

         งานอาสาสมัครนี้ไม่ง่ายเลยในยุคเริ่มแรก ด้วยความรู้ และทรัพยากรเบื้องต้น การดูแลก็เป็นไปอย่างไร้ความรู้ มีเพียงการสังเกตและสามัญสำนึก เมื่อคนกินได้น้อย ก็พยายามให้กินมากขึ้น กินง่ายขึ้น เมื่อมีบาดแผลสกปรก ก็พยายามทำให้แผลสะอาด เมื่อมีอาการเจ็บปวด ก็พยายามเยียวยาไปตามความสามารถ และความเชื่อ หรือการสังเกต ว่าทำอะไรแล้วน่าจะช่วยได้ จากหนังสือเรื่อง Medicine: The Forgotten Art? ของ Christopher Elliott-Biins ที่เป็น general practitioner อยู่ที่ Northampton ประเทศสหราชอาณาจักร ได้แปลบันทึกของฮิปโปเครติส ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์ของตะวันตก เขียนถึง ความมุ่งมั่น และความพากเพียรพยายาม ของกลุ่มผู้เรียกตนเป็นผู้เยียวยาในยุคนั้น ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ อัตราความล้มเหลว อัตราการตาย แต่ "แพทย์" เหล่านี้ไม่ได้หยุดยั้งการกระทำ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรออกมาให้เห็น ซึ่งต่อมา ผลแห่งการจดบันทึก การสังเกต การลองผิดลองถูก ของบรรพบุรุษแห่งวิชาชีพแพทย์ อันมีเจตจำนงมุ่งมั่นที่จะดูแลช่วยเหลือ ผู้ที่กำลังอยู่ในความทุกข์ทรมานนี่เอง ที่เป็นรากฐานขององค์ความรู้ทางการแพทย์ ค่อยๆสั่งสม และพอกพูนจนกลายเป็นหนึ่งในสาระวิชาที่มีความซับซ้อน มหัศจรรย์ในการทำงานของระบบชีวะ และจนบัดนี้เราก็ยังไม่สามารถไขขานได้หมดทุกสิ้นทุกประการ

งานของแพทย์คืออะไร? แพทย์ได้อะไรตอนไหน? 

         พวกเราเคยได้ยินเรื่องของความงาม ความดี และความจริง มาหลายมุมมอง ในมุมมองแบบหนึ่ง ใช้ "ศูนย์กลางของสาระ" เป็นตัวแบ่งหมวดหมู่ ในที่นี้คือ I/me และ You/We และ It เป็นตัวสะท้อน กล่าวคือ การทำอะไรเพื่อ "ตัวฉัน" นั้น ไม่ว่าจะเป็นทำให้สบายใจ ทำให้สวยงาม ทำให้มีความสุข ทำให้ภาคภูมิใจ ทำให้ปลอดภัย ถ้าเป็นการทำเพื่อตัวฉันเอง สิ่งเหล่านี้คือ "ความงาม" เป็นสิ่งรองรับให้เกิดอารมณ์ และในระดับซับซ้อนยิ่งขึ้นก็คือ สุนทรียภาพ หรือ สุนทรียศาสตร์ ศิลปศาสตร์นั้นเอง ลำดับต่อมา เมื่อไรก็ตามที่การกระทำนั้น เป็นการกระทำเพื่อ "เธอ" หรือเพื่อ "คนอื่น" ที่ไม่ใช่ตัวฉันเอง เมื่อนั้นจึงจะถือว่า "ความดี" เกิดขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกฏกติกามารยาท การเข้าสังคม จริยศาสตร์ จริยธรรม ล้วนมาจากการกระทำ "เพื่่อเธอ" นั่นเอง การทำเพื่อเธอนี้ ที่เป็นจัดเริ่มต้นของการขยายศักยภาพที่แท้แห่งมนุษย์ เมื่อไรก็ตามที่ทำเพื่อเธอ เมื่อนั้น "เธอ" ก็จะเปลี่ยนเป็น "เรา" และจาก "เรา" นี่เอง ที่ครอบครัวกำเนิด ชุมชนบังเกิด ชนเผ่า ชนชาติ ประเทศ เป็นสมุหะแห่งการรวบรวมทรัพยากร ของคนที่หลากหลาย มาอยู่ร่วมกัน ทำอะไรเพื่อกันและกัน และสุดท้ายสำหรับ "ความจริง" ก็คือการเป็นไปของสรรพสิ่ง ที่เราสังเกตได้รอบๆตัวเรา หรือ "It" นั่นเอง สรรพสิ่งที่เราสังเกตนี้กลายเป็นองค์ความรู้ เป็นศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์​ล้วนได้มาจากการสังเกต การบันทึก วิเคราะห์สังเคราะห์สรรพสิ่ง ("It") ว่ามีกฏอะไรในการกำเนิดและเป็นไป

         สำหรับวิชาชีพแพทย์นั้น ก็คือการรักษาสมดุลของความงาม ความดี และความจริง นี้ในระดับสังคมศาสตร์และปัจเจกนั้นเอง

         วิชาชีพแพทย์นั้น ไม่ได้เริ่มจาก "ตัวฉัน" เลย ดังที่ประวัติศาสตร์ บันทึกการทำงาน ของแพทย์ได้มีมาแต่โบราณกาล ในขณะที่ "แรงบันดาลใจ" หรือ motivation เริ่มต้น มาจากความรัก (เมตตา) และความสงสาร (กรุณา) แต่ผู้ที่ทำงานเป็นแพทย์นั้น จะต้องมีเจตจำนง ความมุ่งมั่น สติปัญญา ความสังเกตและละเอียดละออ ไวต่อสรรพสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า ฉะนั้น ความเป็นเอกทัตคะของการเข้าใจอย่างลึกซึ้งของการทำงานของร่างกายมนุษย์ และความสัมพันธ์ของการทำงานดังกล่าวกับการมีความสุข ความทุกข์ทรมาน ของบุคคลและคนรอบข้าง ทำให้แพทย์สามารถทำงานที่ตนเองต้องการกระทำได้อย่างเต็มที่ และเมื่อนั้นเอง ที่ความภาคภูมิใจ การมีความหมายของความคงอยู่ของตนเอง ของแพทย์ จึงบังเกิดขึ้น เป็นความงามภายใน ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการกระทำเพื่อคนอื่นนั้นเอง สอดคล้องกับหลักปรัชญาแห่งวิชาชีพแพทย์ ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประทานให้ว่า

"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์"

(จากลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย ถึงศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง)

         เมื่อเป็นเช่นนี้เอง การค้นหาวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ที่สอดคล้องกับปรัชญาแห่งวิชาชีพ จึงไม่น่าจะยากอะไร ขอเพียงเราไม่ได้เขียนออกมาว่าเรากำลังทำเพื่อตนเอง แต่ประโยชน์อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือผู้รับประโยชน์คือประชาชน ขอเพียงเราวาดฝันว่า ถ้าหากองค์กรของเราจะประสบความสำเร็จ ดังในฝันของแพทย์แต่บรรพบุรุษ ฝันนั้นจะต้องออกเป็นภาพลักษณ์แห่งประชาชน แห่งสังคมที่ถึงพร้อมด้วยสุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis) พ้นจากอบายมุข พ้นจากพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ (พยาธิกำเนิด หรือ Pathogenesis) ซึ่งตรงกับหลักการเขียนวิสัยทัศน์และพันธกิจแบบ Outcome Mapping

WHO ARE YOU? WHY DO YOU NEED TO EXIST?

         คำถามหลักๆสองคำถามนี้ จะช่วยในการทำความเข้าใจงานการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างย่ิง ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ก็ใช้โครงร่างแผนของ Thailand Quality Award ซึ่งถอดมาจาก Malcojm Baldrige National Quality Award ก็จะต้องตอบคำถามนี้ ใน section ของ Organizational Profile หรือฐานที่ศูนย์ ก่อนที่จะไปเริ่มทำงาน กับเจ็ดฐานที่เหลือ

อะไรทำให้การคงอยู่ของเรา (แพทย์) จำเป็น/ มีความหมาย?

         แน่นอนที่สุด เรา (แพทย์) ไม่ได้คงอยู่ในสังคมเพราะประเทศขาดบัณฑิตปริญญาโท ปริญญาเอก เราไม่ได้คงอยู่เพราะประเทศต้องการคนที่มีเงินเดือนสูงๆ รู้คำศัพท์ภาษาลาติน กรีก เยอะๆ ไม่ได้คงอยู่เพราะ "ความงาม" ของเราชาวแพทย์แต่อย่างใด แพทย์ คลินิก โรงพยาบาล นั้นมีอยู่เพราะประเทศต้องการชุมชนที่มีสุขภาพที่ดี และนั้นคือ parameters ที่จะสะท้อนถึง ความจำเป็นในการมีอยู่ของพวกเรา (แพทย์)

         เมื่อมีคนเจ็บป่วย แต่มาหาหมอ ได้รับการรักษา ได้รับคำแนะนำที่ดีจากแพทย์ไป ชัยชนะและความสวยงามไม่ได้อยู่ที่ "หมอทำได้" แต่อย่างใด แต่อยู่ที่คนไข้คนนี้ "ได้รับการดูแลอย่างดี" ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ผลการรักษาจะเกิดขึ้นเสียอีก สิ่งที่แพทย์ได้ "Deliver" ไปหาคนไข้นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ จ่ายยา ผ่าตัด ส่องกล้อง ตรวจพิเศษ เท่านั้น แต่เราได้ Deliver อะไรบางอย่าง ที่สะท้อนถึงความใส่ใจ การเห็นอกเห็นใจ และความอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ แฝงอยู่ในปฏิสัมพันธ์นั้นอยู่ทุกขั้นตอน ทุกระยะ ตั้งแต่ต้นจนจบ

PALLIATIVE CARE: THE ULTIMATE POTENTIAL & ROLE OF PHYSICIAN

         วิชาชีพแพทย์นั้นอยู่คู่กับมนุษย์มานาน อาจจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ บทบาท ความสัมพันธ์ ระหว่างแพทย์ และชุมชนสอดประสานแนบแน่นกับวงจรชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บไข้ได้ป่วย และสุดท้ายเมื่อความตายมาถึง สุขภาวะของคนเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตคน มีความหมาย มีคุณค่าที่จะอยู่ต่อไป มีเรื่องราวที่จะได้เล่าสืบต่อ มีความภาคภูมิใจที่จะกลายเป็น "สิ่งอมตะ" ถ่ายทอดไปตามสายเลือด วงศ์ตระกูล เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และความศรัทธา ในบรรดาอาชีพทั้งหมด มีเพียงแพทย์ ที่ได้ปวารณาตัวมาเป็นกัลยาณมิตรแห่งครอบครัว ขออยู่ช่วยเหลือตามกำลัง ความสามารถ ตั้งแต่ชีวิตก่อกำเนิด จนถึงชีวิตดับสิ้นสลายไป เพราะเราได้ทำงานจนเกิดทักษะ หล่อเลี้ยงเจตนคติ เพราะเราได้พบเห็นความรัก ความเมตตา มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่รักกัน ระหว่างพ่อแม่และลูก ระหว่างสามีภรรยา ในงานประจำของเรา เราได้มีโอกาสเป็นประจักษ์พยาน ของความเสียสละ ของการให้และการรับ ของการขอบคุณ ของการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เราได้เห็นและปฏิบัติวัตรแห่งงาน ซึ่งปราศจากอัตตา เห็นความเศร้าเสียใจรันทดของการพรากจาก ด้วยงานของเรานั้น เทวทูตทั้งสี่ เป็นกัลยาณมิตรที่คุ้นเคยของเรามาโดยตลอด

         ดังนั้น Palliative Care อาจจะนับได้ว่าเป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ ของคำปฏิญานแห่งวิชาชีพ ที่เราจะคงทำหน้าที่ของเรา โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนใดๆ ขอเพียงเราอาจจะมีประโยชน์ต่อคนไข้ ต่อครอบครัว เราจะได้อุทิศกำลังสติปัญญานี้ เพื่อกิจการนี้จนถึงที่สุด

         ในหลักแห่ง Palliative Care เป็นสาระสำคัญ อันมี Thanatology หรือมรณะวิทยา อันว่าด้วยผลกระทบของความตายต่อมิติแห่งจิตสังคมและจิตวิญญาณ และ advanced medical technology โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลบรรเทาอาการในผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่จะดึงศักยภาพอันที่สุด ของสมาชิกทุกจากทีมให้รักษา และตัวคนไข้และครอบครัวญาติมิตร มาแสดงถึงหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ที่อยู่ในนิเวศเดียวกัน ที่ถูกกำหนดให้โคจรมาเจอะเจอกัน เพราะในการใช้ palliative care ดูแลผู้ป่วย จนกระทั่งเราได้เดินทางมาถึงระยะสุดท้ายของชีวิตๆหนึ่งนั้น การเดินทางนี้เป็นการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเดินทางเหมือนบททดสอบ ของชีวิต ที่ไม่เพียงเฉพาะของคนไข้คนเดียวไม่ หากแต่เป็นบททดสอบศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ทดสอบและทบทวนวงจรชีวิตที่กำลังจะครบรอบการกำเนิดและการสิ้นสุด เป็นอีกเหตุการณ์ที่ ตอกย้ำ ยืนยัน ถึงสัจจธรรมแห่งชีวิต และเป็นบทเรียนอันสำคัญสำหรับคนที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิท มิตรสหาย แต่รวมไปถึงทีมรักษาพยาบาล หมอ พยาบาล อาสาสมัคร ทุกๆคนที่มีโอกาสเข้ามาเกียวข้อง

TRANSCENDENT ORGANIZATION "องค์กรแห่งความข้ามพ้น"

         ถ้าหากเรามีสมมติฐานว่า ชีวิตเกิดมาเพื่อค้นหาและเข้าใจ ใน "สัจจธรรม" บริบทแห่งการดำเนินชีวิตนั้นก็จะมีผลอย่างมาก เพราะประสบการณ์ตรงของแต่ละคน ที่จะกำหนดการเข้าใจ การแปลความ ตีความซึ่งข้อมูลและสิ่งที่ต่างๆ กอปรเป็นเวทนาและสัญญา ของทุกๆคน

จะเป็นการเกินเลยไหม ถ้าหากจะวิจารณ์ว่าวิชาชีพแพทย์นี้ ช่างมีบริบทที่ "เอื้อ" ต่อวิถีไปสู่ "ความเข้าใจ" ที่ว่านี้?

ท่ามกลางปัจจัยแห่ง "ความสุข" หลากหลายรูปแบบ ในจำนวนมากนี้ส่วนใหญ่เป็นสุขระยะสั้น ซึ่งเมื่อเสพย์ก็จะหมดไป เกิดความอยาก เกิดความไม่สิ้นสุด และไม่ปล่อยวาง แต่ระบบการทำงานของแพทย์ ที่หากงานคือ "การเป็นกัลยาณมิตรแห่งสุขภาวะของคนถึงที่สุด" นั้น งานของเรา ระบบของเรา กำลังขัดเกลาร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของเรา ไปสู่ทิศทางที่เป็นเอกลักษณ์ กล่อมเกลาให้เราเห็นสัจจธรรมแห่งอนิจจา แห่งความทุกข์ ระบบการทำงานของเรา "ช่างท้าทาย" ให้เราคิดใคร่ครวญ ถึงการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ภาวนาให้เห็นความจริงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยืนยันความจริงที่สุด ให้ปล่อยวาง ปล่อยว่าง สิ่งอันเป็นของเทียม ของชั่วขณะชั่วคราว เพื่อหาความเยือกเย็น สงบ ในใจของเราเองตลอดเวลา

 

คำสำคัญ (Tags): #palliative care#self#system#transcendence
หมายเลขบันทึก: 205617เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท