หินแร่ภูเขาและประโยชน์ในการที่จะนำไปใช้ในการเกษตร ตอนที่ 2


หินแร่ภูเขาไฟ ซีโอไลท์

 

 

การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของสารดังกล่าวในกลุ่มนี้มีดังนี้.
 1.ใช้ฉีดพ่นเพื่อทำให้พืชแข็งแรง ใช้ภูไมท์ผง, สเม็คไทต์, ไคลน็อพติโลไลท์ประมาณ 200-300 กรัมละลายในน้ำ 20 ลิตร กวนให้ละลายหมด ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วกรองแยกตะกอนไปใส่ต้นไม้ เอาแต่น้ำมาฉีดพ่นพืชให้เปียกทั่วถึงทุกส่วน
                    หรือจะใช้ซิลิสิค แอซิด  (ซึ่งเป็นซิลิคอน (H4Sio4) ที่สกัดออกมากจากกลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟแล้วเพียวเรียบร้อยแล้ว) ประมาณ  5-10 กรัมละลายกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้เปียกชุ่มโชกทุก 5 – 7 วัน  ถ้าพบว่าพืชชนิดนั้น ๆ มีอาการแพ้และเกิดใบไหม้ก็ให้เปลี่ยนมาใช้ ภูไมท์, สเม็คไทต์และ ไคลน็อพติโลไลท์ 200-300 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรแทน
                     การทำดังนี้ทำให้ซิลิก้าในรูปที่ละลายน้ำได้ (หรือซิลิซิค แอซิด,หรือ โมโนซิลิค แอซิด,หรือโซลูเบิ้ล ซิลิก้า) ซึมเข้าในเซลล์พืชที่มีชีวิต แล้วตกผลึกเปลี่ยนรูปเป็นซิลิก้าและซิลิเกตที่ละลายน้ำไม่ได้  ทำให้เซลล์ผิวพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งผนังเซลล์แข็งแกร่ง จนเพลี้ย หนอน ไร รา เข้าทำอันตรายได้ยาก  โดยเฉพาะหนอนวัยหนึ่ง วัยสอง ที่กัดกินแทะเล็มพืชแล้วฟันจะสึก หรอ จนกินพืชไม่ได้ เพลี้ยและไรจะใช้ปากแทงพืชไม่เข้า ส่วนราจะเจริญได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพืชเจริญต่อไปคือมียอดและใบอ่อนหรือส่วนอื่นเจริญออกมาอีก ส่วนนี้จะขาดซิลิก้าที่ช่วยคุ้มครอง เพราะไม่มีการเคลื่อนย้ายซิลิก้าจากที่ฉีดพ่นไปคราวก่อน เนื่องจากแปรรูปไปแล้ว ถ้ายังใช้วิธีเดิมก็จะต้องฉีดพ่นทุกสัปดาห์ แม้จะเป็นผลดี แต่ก็สิ้นเปลืองแรงงานที่มาฉีดพ่นนี้ การใส่สารปลดปล่อยซิลิก้าลงทางดินจะประหยัดแรงงานได้มากกว่า ส่วนวิธีฉีดพ่นนั้นถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า. เนื่องจากพอฉีดพ่นเสร็จไม่กี่นาทีก็ป้องกันเพลี้ย หนอน ไร รา ได้ทันที แต่ป้องกันใบที่แตกใหม่ภายหลังไม่ได้.

 2.ใช้หว่านลงดินก่อนปลูก เพื่อให้พืชที่จะปลูกบนดินได้รับซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ทันทีตั้งแต่เริ่มดูดน้ำหรือเริ่มการเจริญ หรือเริ่มงอก ใช้ภูไมท์, สเม็คไทต์ หรือไคลน็อพติโลไลท์ หว่านลงผิวดินแล้วพรวนกลบ  หรือจะหว่านลงในแปลงนาทำการลูบหรือคราดให้จมแล้วจึงหว่านเมล็ด หรือใส่รองก้นหลุม เคล้ากับดิน หินฟอสเฟต ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วจึงปลูกพืชหรือหยอดเมล็ด.

 3.ใส่หลังปลูก ใช้วิธีโรยเป็นแถวข้าง ๆ ต้น เช่นข้าวโพด หรือหว่านบริเวณใต้ทรงพุ่มต้นของพืช พืชผักต้นเล็กปลูกติดกันแน่นให้หว่านด้วยชนิดเม็ด เช่น ภูไมท์เม็ดหรือ สเม็คไทต์เม็ด หรือไคลน็อพติโลไลท์ชนิดเม็ดเป็นต้น.

 4.ใช้คลุกผสมใส่ลงไปพร้อมกับปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยเคมี 5 ส่วนพรมน้ำพอชื้น แล้วเอาภูไมท์ผง, สเม็คไทต์ผง  1 ส่วน คลุกผสมให้ผงติดเม็ดปุ๋ยทุกเม็ด จะช่วยทำให้ปุ๋ยกลายเป็นปุ๋ยละลายช้า. ถ้าใส่ปุ๋ยด้วยเครื่องหยอดปุ๋ยให้ใช้ ภูไมท์เม็ด, สเม็คไทต์เม็ด หรือไคลน็อพติโลไลท์เม็ดคลุกผสมปุ๋ยแล้วใส่ในเครื่องหยอด ซึ่งจะหยอดไปพร้อมกับปุ๋ย ใช้ 1 ส่วนต่อปุ๋ย 5 ส่วน

 5. กลไกทำให้พืชแข็งแกร่ง ภูไมท์, สเม็คไทต์, และไคลน็อพติโลไลท์ เมื่อลงดิน เปียกน้ำจะปลดปล่อยซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ออกมา ถูกพืชดูดไปพร้อมกับน้ำ น้ำระเหยออกทางเซลล์ผิวแต่ซิลิก้าไม่ระเหย สะสมมากขึ้นทุกทีจนตกผลึกเป็นโอปอล,ควอร์ทซ์ อยู่ตามผนังเซลล์, และผิวเซล์ แม้จะเป็นอนุภาคเล็กมากจนจะเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์อีเล็กตรอน, แต่ก็นับว่าเพียงพอที่จะทำให้ปากเพลี้ย และไร เจาะผิวพืชไม่สะดวก, หนอนวัยหนึ่งกัดพืชแล้วฟันจะสึกจนกัดพืชไม่ได้ ไส้เดือนฝอยเข้าพืชไม่ได้ ราเจริญไม่สะดวก. การดูดน้ำขึ้นทางรากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใบอ่อนมีการสะสมซิลิกาที่ผิวได้อย่างรวดเร็ว.

  6.ลดการสูญเสียปุ๋ย ปรกติปุ๋ยเคมีที่ขายในไทยถูกกำหนดให้ละลายทันทีทั้ง 100 % ดังนั้นถ้าฝนตกมาก รดน้ำมาก ปุ๋ยละลายออกมาหมด  เมื่อน้ำไหลไปที่อื่นก็พาปุ๋ยไปด้วย ประมาณว่าปุ๋ยอาจถูกชะพาไปถึง 90 % พืชได้ใช้จริง ๆ เพียง 10 % แต่เมื่อใส่สารกลุ่มนี้ลงไป สารจะมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (แค็ทไออ้อนเอ๊กซ์เช้นจ์คาพาซิตี้ C.E.C.) ที่สูงมาก จะจับปุ๋ยประจุบวกไว้ทั้งแอมโมเนียม และโปแตสเซียมให้กลายเป็นปุ๋ยละลายช้า จึงทำให้ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ถึง 90% และถูกชะพาไปกับน้ำสูญเปล่าเพียง 10 %

 7.ทำลายสารพิษในดินและในน้ำ สารพิษตกค้างที่มีผลในการลดการเจริญของพืชมักเป็นสารกำจัดวัชพืช เมื่อใส่ภูไมท์หรือสารในกลุ่มหินแร่ภูเขาไฟนี้แล้วสารพิษจะถูกทำลายหรือถูกจับตรึงจนออกฤทธิ์ไม่ได้ แม้สารชะลอการเติบโตชองพืช เช่น สารพาโคลบิวทราโซลที่ตกค้างในดินก็ถูกทำลายเช่นกันจึงทำให้พืชโตดีเป็นปรกติ

 8. ช่วยปรับ C:N ratio ให้พืช ดินที่มีไนโตรเจนตกค้างมาก ละลายน้ำง่าย พืชดูดง่าย ทำให้เจริญทางใบมาก หรือเผือใบ เป็นโรคง่าย ออกดอกยาก ผลแก่ช้า รสฝาด หรืออมเปรี้ยว ถ้าหว่านภูไมท์หรือไคลน็อพติโลไลท์หรือสารในกลุ่มนี้จะจับไนโตรเจนไว้กลายเป็นปุ๋ยละลายช้า พืชดูดไนโตรเจนได้น้อยลง ทำให้ซีเอ็น เรโช กว้างขึ้น พืชมีสัดส่วนคาร์โบฮัยเดรทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ออกดอกง่ายและผลผลิตคุณภาพดีขึ้นลดอาการเผือใบได้มาก

มนตรี   บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 205448เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้มากมาย มีประโยชน์ต่อผู้ไฝ่หาความรู้ ขอบคุณอย่างยิ่ง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท