จริยธรรมในการวิจัย


ผมเคยเขียนเรื่องจริยธรรมในการวิจัยไว้หลายที่ และในหลายโอกาส   
ขอรวบรวมมาไว้เท่าที่พอค้นได้
        ๑. ในหนังสือที่ผมเขียน “การบริหารงานวิจัย : แนวคิดจากประสบการณ์” ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๓  ตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖   เฉพาะส่วนเรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมของนักวิจัย อ่านได้ที่นี่ และจรรยาบรรณของนักบริหารงานวิจัยอ่านได้ที่นี่  
         ๒. การดำเนินการด้านจริยธรรมในการวิจัย R2R อ่านได้ที่นี่ และที่นี่ ซึ่งเป็นเรื่องของจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์

       ผมได้รับเชิญไปร่วมอภิปรายเรื่อง “จริยธรรมในการวิจัย” ในงาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๑ (Thailand Research Expo ๒๐๐๘) เปิดโลกงานวิจัยสู่สังคม แห่งการเรียนรู้” ในวันที่ ๑๔ ก.ย. ๕๑   โดยอภิปรายร่วมกัน ๔ คน คือ รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์  ผอ. สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้  ม. มหิดล, ศ. พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช., รศ. ดร. วริยา ชินวรรโณ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม. มหิดล 
       ผมตั้งใจว่าจะไปพูดเรื่องเบาๆ หรือกว้างๆ ในแนว “จริยธรรมในการวิจัยภาคปฏิบัติ” ซึ่งหลายฝ่ายจะต้องร่วมกันถือปฏิบัติ ร่วมกันสร้างวัฒนธรรม    โดยเน้นที่การปฏิบัติมากกว่าเน้นที่ทฤษฎี    เรื่องที่สำคัญเรียงตามลำดับ ในความเห็นของผม ได้แก่


๑) การสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นที่จะไม่แอบอ้างลอกเลียนความรู้ของผู้อื่น ว่าเป็นความคิดของตน   ที่เรามักใช้ศัพท์ว่า “โจรกรรมวิชาการ” (plagiarism)   นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในสังคมไทย   หากเราจะสร้างสังคมที่คนในสังคมเป็นผู้มีปัญญา มีความคิด มีวิจารณญาณของตนเอง เราต้องไม่ยอมให้ลูกของเรา หรือลูกศิษย์ของเราทำการบ้านโดยใช้วิธีค้น อินเทอร์เน็ต แล้วตัดปะ    วัฒนธรรมตัดปะคือวัฒนธรรมโจรกรรมวิชาการ    เวลานี้สังคมไทยเรากำลัง “สอนลูกให้เป็นโจร” กันอยู่โดยไม่รู้ตัว

๒) ความรับผิดชอบต่อสังคม   ที่จะไม่ใช้ทรัพยากรของสังคมในการทำงานวิจัยที่ไร้ประโยชน์ หรืองานวิจัยที่คุณภาพต่ำ ไม่น่าเชื่อถือ   ส่วนนี้น่าจะเป็นจริยธรรมของหน่วยงาน  ของวงการวิชาชีพ  ที่จะจัดระบบพัฒนาขีดความสามารถในการตั้งโจทย์วิจัย   พัฒนาวัฒนธรรมที่พิถีพิถันในการตั้งโจทย์วิจัย   คำหลักคือ วิจัยเพื่อสังคม  ไม่ใช่วิจัยเพื่อนักวิจัย   ไม่ใช่วิจัยเพื่อสถาบันวิจัย

๓) ความรับผิดชอบต่อสังคม   ที่จะไม่ใช้ทรัพยากรวิจัยของสังคมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือคอรัปชั่น   ต้องไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากงบประมาณวิจัย   เช่นเอาไปเที่ยวต่างประเทศ   กำหนดในงบวิจัยที่จ้างบุคคลภายนอกดำเนินการให้ต้องซื้อของตอบแทนหน่วยงานหรือบุคคล

๔) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนด
จรรยาบรรณนักวิจัยไว้ดังนี้ จรรยาบรรณนักวิจัย หมายถึง หลักเกณฑ์ควรประพฤติปฏิบัติของนักวิจัยทั่วไป เพื่อให้การดำเนินงานวิจัย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม และหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนประกันมาตรฐาน ของการศึกษาค้นคว้า ให้เป็นไป อย่างสมศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของนักวิจัย

 
๑. ข้อ ๑. นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ   นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติ และอ้างถึงบุคคล หรือแหล่งที่มาของข้อมูล ที่นำมาใช้ในงานวิจัย ต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัย และมีความเป็นธรรม เกี่ยวกับผลประโยชน์ ที่ได้จากการวิจัย

๒. ข้อ ๒.นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณี ในการทำวิจัย ตามข้อตกลงที่ทำไว้ กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย และต่อหน่วยงาน ที่ตนสังกัด นักวิจัยต้องปฎิบัติตามพันธกรณี และข้อตกลงการวิจัย ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน อุทิศเวลาทำงานวิจัย ให้ได้ผลดีที่สุด และเป็นไปตามกำหนดเวลา มีความรับผิดชอบ ไม่ละทิ้งงาน ระหว่างดำเนินการ

๓. ข้อ ๓. นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ และมีความรู้ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์ เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเพื่อป้องกัน ปัญหาการวิเคราะห์ การตีความ หรือ การสรุป ที่ผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ต่องานวิจัย

๔. ข้อ ๔. นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิต นักวิจัยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และเที่ยงตรงในการทำวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึก และมีปณิธานที่จะอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม

๕. ข้อ ๕. นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย นักวิจัยต้องไม่คำนึงถึง ผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลย และขาดความเคารพในศักดิ์ศรี ของเพื่อนมนุษย์ ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการวิจัย แก่บุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยไม่ หลอกลวง หรือบีบบังคับ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

๖. ข้อ ๖. นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า อคติส่วนตนหรือความลำเอียง ทางวิชาการ อาจส่งผลให้มีการ บิดเบือนข้อมูล และข้อค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย

๗.  ข้อ ๗. นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และสังคมไม่ขยายผลข้อค้นพบ จนเกินความเป็นจริง และไม่ใช้ผลงานวิจัย ไปในทางมิชอบ

๘. ข้อ ๘. นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น นักวิจัยพึงมีใจกว้าง พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล และขั้นตอนการวิจัย ยอมรับฟังความคิดเห็น และเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข งานวิจัยของตนให้ถูกต้อง

๙. ข้อ ๙. นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ นักวิจัยพึงมีจิตสำนึก ที่จะอุทิศกำลังสติปัญญาในการทำวิจัย เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อความเจริญ และประโยชน์สุข ของสังคมและมวลมนุษยชาติ


๕) ผมมองว่าจรรยาบรรณนักวิจัย ๙ ข้อของ วช. มีความครบถ้วนเพียงพอสำหรับการนำไปปฏิบัติให้เป็นนักวิจัยที่ดี   ให้วงการวิจัยไทยเป็นวงการที่มีคุณธรรม มีจริยธรรมในการวิจัย   แต่ยังขาดการจัดการเพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาคปฏิบัติ   และยังย่อหย่อนการตรวจสอบเอาจริงเอาจังต่อการประพฤติผิด

๖) มองอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องจริยธรรม จะให้ได้ผลจริงต้องครบองค์ ๓ ของวัฏฏจักรการเรียนรู้  คือ ปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ    ที่จริงผมอยากให้เอา ปฏิบัติขึ้นต้น เพราะสำคัญที่สุด   และต้องเอาผลของการปฏิบัติมาเป็นประเด็นเรียนรู้ต่อเนื่องด้วย   สังคมไทยเราขาดการเน้นปฏิบัติ และขาดเรื่องปฏิเวธ ในเรื่องจริยธรรมของการวิจัย

๗) การวิจัยในมนุษย์ต้องได้รับการระมัดระวังเป็นพิเศษ    ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ค้นได้จากสถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์   โดยมีหลักการสำคัญ ๓ หลัก ตามที่ระบุไว้ใน The Belmont Report คือ หลักความเคารพในบุคคล  หลักผลประโยชน์  และหลักความยุติธรรม    สถาบันวิจัยควรขอเอกสารจากสถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ไปไว้ใช้อ้างอิงในการดำเนินการ   รายงาน เบลมองต์ นี้ สถาบันฯ จัดแปลและพิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้เอาขึ้น เว็บไซต์  

๘) ได้กล่าวแล้วว่า เรื่องจริยธรรม นี้ต้องมีทั้ง  หลักการ (ทฤษฎี) การบังคับใช้ (ปฏิบัติ)  และเห็นผลจากการบังคับใช้ (ปฏิเวธ)    หน่วยงานที่ผู้บันทึกได้รับทราบว่ามีครบทั้งองค์ ๓ ในการดำเนินการเรื่องจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   ผลงานวิจัยในมนุษย์ที่ศิริราชหากไม่ได้รับ COA (Certificate of Approval) จาก EC (Ethics Committee) จะเอาไปตีพิมพ์ไม่ได้ เพราะบรรณาธิการวารสารจะไม่รับตีพิมพ์   จะเอาไปขอตำแหน่งวิชาการก็ไม่ได้    ขอการสนับสนุนไปเสนอผลงานในประเทศหรือต่างประเทศไม่ได้  ฯลฯ    เข้าใจว่าทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลใช้แนวทางนี้   และที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ส.ค. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 204793เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท