Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ : รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชายขอบอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ? : ขอบเขตรายงาน


ในขอบเขตของรายงานด้านช่วงเวลาศึกษา (temporal scope) ด้วยประเทศไทยมี HRC มี Concluding Observations ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ คณะที่ปรึกษาและกระทรวงยุติธรรมจึงเห็นควรนำเสนอรายงานจากข้อเท็จจริงในช่วง พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้นมา จนถึงระยะเวลาที่คาดว่า รายงานควรจะปิดเล่มเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นั่นก็คือ ราว พ.ศ.๒๕๕๑ นั่นเอง

ในขอบเขตของรายงานด้านบุคคลศึกษา (personal scope) คณะที่ปรึกษาเห็นควรจำแนกเรื่องราวของ “คนชายขอบ” ตามความห่วงใยของ HRC โดยจะมีการจัดกลุ่มในลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) คนไร้รัฐ (๒) คนไร้สัญชาติ (๓) ผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย (๔) เหยื่อแห่งการค้ามนุษย์ (๕) แรงงานอพยพ และ (๖) ผู้ประสบภัยพิบัติ

ในขอบเขตของรายงานด้านพื้นที่ศึกษา (spatial scope)  คณะที่ปรึกษาเห็นควรศึกษาทั้งกรณีของมนุษย์ที่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทย และมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ กล่าวคือ คนสัญชาติไทยหรือคนที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย แต่ไปปรากฏตัวในดินแดนของรัฐต่างประเทศ

ในขอบเขตของรายงานด้านเนื้อหา (material scope)  คณะที่ปรึกษาเห็นควรศึกษาสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง โดยจำแนกและเรียบเรียงประเภทแห่งสิทธิดังกล่าวตามสถานการณ์เด่นที่เกิดจริงแก่มนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวจริงกับประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๑ ไม่ว่าพวกเขานั้นจะอยู่ ณ ที่ใดของโลก

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่เราค้นพบ เราอาจจำแนกสถานการณ์เด่นด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบออกได้เป็น ๑๔ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) ปัญหาสิทธิในชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (๒) ปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย  (๓) ปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมาย (๔) ปัญหาสิทธิในสัญชาติ (๕) ปัญหาสิทธิในชื่อบุคคล (๖) ปัญหาสิทธิในบริการการศึกษา (๗) ปัญหาสิทธิในบริการสาธารณสุข (๘) ปัญหาสิทธิในการประกอบอาชีพ (๙) ปัญหาสิทธิในการคุ้มครองแรงงาน (๑๐) ปัญหาสิทธิในการเคลื่อนไหว (๑๑) ปัญหาสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน (๑๒) ปัญหาสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมาย (๑๓) ปัญหาสิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง และ (๑๔) ปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนั้น ในการกล่าวถึงแต่ละสิทธิของคนชายขอบ ผู้เขียนจะกล่าวถึง (๑) ข้อบทแห่ง ICCPR ที่เกี่ยวข้อง (๒) ภาพรวมของสถานการณ์ด้านสิทธิ (๓) การจำแนกประเภทของคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงหรือถูกละเมิดสิทธินี้ (๔) กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (๕) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา และ (๖) บทสรุป

 

ดังนั้น เราน่าจะต้องมาทบทวนความคืบหน้าหรือความถอยหลังของรัฐไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของคนชายขอบในประเทศไทย โดยไม่อาจละเลยประเด็นที่ถูกระบุใน Concluding Observations ดังกล่าวข้างต้น

 

จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ มีความเปลี่ยนแปลงในสัมพันธภาพด้านสิทธิทางพลเมือง (แพ่ง) และทางการเมืองระหว่างรัฐไทยและคนชายขอบในความห่วงใยของ HRC  หรือไม่ ?  อย่างไร ?

คำสำคัญ (Tags): #iccpr#คนชายขอบ
หมายเลขบันทึก: 204264เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 02:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เข้ามาทักทายยามรัตติกาล
  • ยอมรับอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง
  • อาจเพราะไม่ได้อยู่วงการนี้
  • แต่ขอชื่นชมความคิดค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท