ชีวิตที่พอเพียง : ๕๗๒. คิดคำนึงถึงประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๗๐


 

          ถ้าได้อยู่ดูสภาพเมืองไทยในอีก ๑๙ ปีข้างหน้า    ผมก็จะได้เห็นในฐานะคนอายุ ๘๕ ปี    แต่เดาว่าคงจะไม่ได้เห็น เพราะผมไม่หวังจะอายุยืนขนาดนั้น    และผมก็ไม่ชอบชีวิตที่เป็นภาระแก่คนอื่น แม้จะเป็นลูกหลานก็ตาม

   
          ถ้าอยู่ถึงตอนนั้นลูกๆ ผมก็จะใกล้เป็นผู้สูงอายุ คือคนโตอายุ ๕๗ ลดหลั่นลงมาจนคนเล็กอายุ ๔๗   หลานคนโตอายุ ๑๙   อ้อ! ผมมีหลานคนแรกแล้วนะครับ   เป็นหลานสาว   ดูรูปได้ที่ http://vichak.blogspot.com


          วันนี้ (๑๕ ส.ค. ๕๑) ผมไปฟังการบรรยายและอภิปรายในงาน “วิสัยทัศน์ประเทศไทย สู่ปี ๒๕๗๐” จัดโดยสภาพัฒน์ฯ    เป็นการพยายามทำความเข้าใจภาพใหญ่ของโลกและของประเทศไทย   ฟังแล้วบอกตัวเองว่าอนาคตมันจะยิ่งไม่แน่นอนมากขึ้นๆ    จะทำนายยากขึ้น   สังคมจะเข้าสู่สภาพที่ไม่คาดคิดมากยิ่งขึ้น   เศรษฐกิจไทยจะเติบโตหรือมั่นคงโดยอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูกไม่ได้อีกต่อไป    ต้องเน้นที่คุณภาพคน   การสร้างคุณภาพคนจึงเป็นหัวใจของอนาคต   

 
          ผมเสียดายที่สภาพัฒน์ฯ ไม่กล้าแทงหวย    ได้แต่บอกภาพกว้างๆ ตาม PowerPoint ของท่านเลขาธิการอำพน ซึ่งดีมาก   ผมคิดว่าถ้าสภาพัฒน์ฯ กล้าวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการลงทุนด้านการศึกษา/การเรียนรู้    ก็จะเป็นการปูทางสู่อนาคตของชาติที่ถูกต้อง    เดาว่าสภาพัฒน์คงไม่กล้า หรือไม่อยากทำเช่นที่ผมอยากให้ทำ    เพราะจะเป็นการฉีกหน้าผู้บริหารระบบการศึกษาของชาติมากเกินไป  


          ผมฟังการอภิปรายช่วงเช้าแล้วคิดว่ายังคิดกันแบบเดิมๆ มากไป   แต่ก็ได้ภาพใหญ่นะครับ    คือต้องเข้าใจว่าอนาคตไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้   รวมทั้งเราต้องอยู่กับโลกาภิวัตน์อย่างฉลาด    ร่วมมือกับมันและควบคุมมันให้ได้   และต้องไม่หวังพัฒนาประเทศโดยเน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศแบบที่ผมเรียกว่าเป็นลูกมือยักษ์ใหญ่ต่างชาติ  


          โชคดี ได้พบ รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ. สวทช. ซึ่งเป็นกรรมการสภาพัฒน์ด้วย    ผมจึงฝากช่วยหาทางทำให้การลงทุนใน megaproject ของ physical infrastructure เป็นการลงทุนสร้างปัญญาไปในตัว    คือสร้างคนและ capacity building ด้าน technology development ไปในตัว    เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ศ. ดร. สิปปนนท์ พยายามทำ เกิดมติที่สภาพัฒน์ แต่ไม่มีกลไกให้ลงมือทำ    มีมติ แต่ไม่มี action   ผมให้ความเห็นว่า ที่ทำไม่สำเร็จเพราะสภาพัฒน์ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเชื่อมโยงการ implement แผน megaproject ไปสู่การสร้างปัญญา


          อย่างไรก็ตาม ผมชอบภาพอนาคตสังคมไทย ปี ๒๕๗๐ ที่วาดโดย ดร. อำพน เลขาธิการ สศช. ว่า “คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”


          ผมฝันว่า ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าระบบสร้างปัญญาของประเทศไทยจะเข้มแข็งขึ้น   ทำงานร่วมมือผนึกกำลังกันดีกว่าในปัจจุบัน   แต่สงสัยว่าจะสร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อการนี้ในระดับประเทศอย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ส.ค. ๕๑


 

หมายเลขบันทึก: 203270เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะอาจารย์ที่ได้หลานคนแรกและเป็นหลานสาว ภาพอนาคตสังคมไทยจะเป็นอย่างที่ท่านดร. อำพน เลขาธิการ สศช. กล่าวได้คนในยุคนี้ต้องช่วยกันสร้างปัญญาในสังคมกันให้เข้มแข็งเพื่อลูกหลานจริงๆนะคะ อาจารย์รักษาสุขภาพดี ออกกำลังอยู่สม่ำเสมอ นุชว่าอาจารย์ต้องอยู่ได้ทันเห็นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท