งานส่งเสริมการตลาดแบบเครือข่ายขายตรงของคนรากหญ้า(ตอนที่4)สหกรณ์ผู้บริโภคโยโดกาว่า


เครือข่ายขายตรงของคนรากหญ้า

      งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ต้องการเพื่อดำรงชีวิต กฏระเบียบที่ร่างขึ้นเป็นตัวอักษรเป็นวิธีการควบคุมการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน  แต่การเรียนรู้และการแสวงหาสิ่งที่ดีในการอยู่ร่วมกัน มีมากมายหลายประการนัก ท่านที่แวะเยี่ยมชมบล้อกของ โชติช่วง ณ บ้านในสวน กรุณาแสดงความคิดเห็นกันบ้าง นะครับ 

    

คณะเที่ยวญี่ปุนฟรี จากละแม ใช้เงินจากใหน ในการไปเที่ยวหาคำตอบได้จากสหกรณ์ผู้บริโภคโยโดกาว่า ท่านที่อ่านตอนที่ 1-3 มาแล้ว ก็คงถึงบางอ้อว่าความเป็นมาของเนื้อหาในบล้อคนี้เป็นอย่างไร

     29 พฤษภาคม ช่วงบ่าย  พวกเราได้เดินทางไปสู่สหกรณ์ผู้บริโภคโยโดกาว่า และถึงสำนักงานสหกรณ์เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ทางคณะกรรมการรอต้อนรับอยู่มีคุณลุงคาร์โต้ ข้าราชการเกษียณอายุซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการสหกรณ์ เป็นหัวหน้าทีม หลังจากทักทายกันเสร็จ ก็นำเราขึ้นไปยังชั้นที่ 3 บนดาดฟ้าซึ่งเตรียมไว้เป็นห้องพักต้อนรับคณะจากละแม ไทยแลนด์ เปลี่ยนเสื้อผ้าได้เอนหลังพิงกายกันพอหายเมื่อยขบ คุณชอว์หัวหน้าฝ่ายจัดหาสินค้าของสหกรณ์ก็นำพวกเราไปเดินเที่ยวกันในเมืองรอบๆสหกรณ์ และไปจบลงที่สถานที่อาบน้ำ เราถึงบางอ้อครานั้นเองว่าคำว่าอาบน้ำแบบญี่ปุ่นมีลักษณะอย่างไร รู้สึกว่าผู้ที่ไม่ยอมอาบน้ำเอาเลยก็คือคุณสมาน และคุณโกศล ส่วนผมกับประธานกลุ่มนั้นไม่รอช้า รีบเข้าไปทันทีด้วยความอยากรู้อยากเห็น ห้องอาบน้ำมีอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านสำหรับบริการสตรีเพศ อาศัยที่เคยเป็นทหารมาก่อนจึงไม่สนใจอะไรมาก แต่เจ้าประคุณเอ๋ยภายในห้องมันมากมายไปด้วยผู้คนหลากหลายวัย ตั้งแต่หนุ่มวัย 20 กว่า ถึง 80 กว่าปี สมัยที่เราเป็นทหารตอนเข้าห้องอาบน้ำร่ามกันก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันทั้งนั้น และเป็นหนุ่มฉกรรจ์ เนื้อหนังส่วนใหญ่ก็เต่งตึง จะมีก็เพียงขนาดที่ไม่เท่ากัน ไอ้พวกบ้าจี้ก็เที่ยวไล่จิ้มก้นและกันเล่นเป็นที่สนุกสนาน   ผมปรายตาแบบชำเลืองนิดๆเพราะอดไม่ได้หรอกแปลกที่แปลกถิ่น มีทั้งผมหงอก ผมดำ หัวล้าน อนิจจังมันก็เป็นธรรมดาของการเกิดแก่เจ็บตาย คิดพลางก็อยากเห็นอีกด้านว่าจะเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าเขาติดกระจกฝ้าไว้ตรงกลางก็คงจะดีน่ะ นึกพลางย่างเท้าลงไปในบ่อน้ำร้อนบ่อใหญ่ที่มีคนนอนแช่อยู่ในบ่ออยู่อย่างสบาย  ไอ้ย่ามันก็น้ำร้อนดีๆนี่เองจะรีบถอนเท้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วก็กลัวเสียหน้าจึงต้องทนสุดขีดน้ำตาแทบเล็ด จนกว่าจะเริ่มชิน สมองหยุดคิดเรื่องอื่นทันที คิดถึงความเชยของตนเองเอ้อเวลาเขาใช้ลูกประคบไอน้ำ เขาจะเริ่มๆเอาลูกประคบที่อบไอน้ำจนมีไอพุ่งออกมาจากลูกประคบ แล้วค่อยๆแตะที่ผิวหนังจนกว่าจะชินกับความร้อนจึงประคบได้แต่เรานี่มัวแต่สังเกตุเรื่องอื่นจนลืมความปลอดภัย อุทาหรณ์ในครั้งนั้นคงจดจำไปจนวันตาย 

    เสร็จจากอาบน้ำชำระล้างร่างกายเรียบร้อยก็พากันเดินทางเข้าห้องพักรองานเลี้ยงอาหารเย็นที่สหกรณ์ผู้บริโภคโยโดกาว่า จัดไว้ต้อนรับ ถึงเวลาเปิดงานคณะเราทั้งหมดเดินลงไปที่ชั้นสองของอาคารซึ่งเป็นห้องประชุมมีคณะแม่บ้านรอต้อนรับอยู่ก่อนเราทักทายกันเล็กน้อยที่สำคัญก็คือพูดกันไม่รู้เรื่องแต่ขุนพลอยพยักอย่างพวกเราก็ตีหน้าสนิท ปล่อยให้เขาพูดเสียมากกว่าที่จะพูดเอง และยิ้มสยามก็คือความประทับใจของฝ่ายตรงกันข้ามแต่ที่แท้แน่นอนรู้อยู่แก่ใจตนก็คือเราฟังเขาไม่รู้เรื่องต่างหาก 

   เมื่อแขกเหรื่อเข้ามาเต็มโต้ะ งานเลี้ยงก็เริ่มขึ้น มีหนุ่มสาวที่เป็นลูกหลานสมาชิกสหกรณ์มาโชว์การตีกลอง อย่างสนุกสนาน มีการเปล่งเสียงประกอบจังหวะ เฮ้ เฮ้ เป็นระยะเขายิ่งตียิ่งมันมีการโชว์ลีลาท่าทางต่างๆ  เราก็พลอยใจเต้นตึกๆ ฮึกเหิมไปด้วย พอเสียงกลองเงียบ พิธีกรก็ขึ้นเวทีเชิญประธานสหกรณ์มากล่าวต้อนรับ มีคุณหมู (จุล โคยาม่า) เป็นผู้ถ่ายทอดความหมาย จับใจความได้ว่า ต้องขอขอบคุณกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองที่ละแมเป็นอย่างสูงที่ผลิตอาหารปลอดสารพิษให้เขาได้บริโภคกัน  และนับต่อจากนี้เป็นต้นไป ทั้งญี่ปุ่นและละแมคงจะได้ไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกันตลอด ขอให้คณะที่ไปจากละแมพยายามศึกษาสังคมของคนญี่ปุ่นในเขตชนบท และคนในเขตเมืองก็จะสามารถทำให้เราเข้าใจกันได้เป็นอย่างดีและสุดท้ายเขากล่าวว่า สหกรณ์ได้เก็บรวบรวมเงินจากการขายกล้วยหอมทองไว้ส่วนหนึง ในหมวดการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต เพื่อให้สมาชิกผู้บริโภคได้พบปะกับผู้ผลิต และทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะฉนั้นที่พวกเราได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เป็นเงินหมวดนี้เอง ที่จริงก็เหมือนกับเป็นเงินของเราเองนั่นแหละ คิดได้ดังนี้ก็เลยถึงบางอ้ออีกครั้ง 

   ประธานกล่าวจบกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นที่แต่งตัวรออยู่ก็ออกไปรำต้อนรับบนเวที  หลังจากนั้นก็เซไปเซมาตามโต้ะต่างๆ เป็นนิสัยคนไทยท้องถิ่นที่เมื่อน้ำเหล้าเข้าปาก แล้วปากก็เริ่มทำงาน พูดญี่ปุ่นไม่ได้ก็ปล่อยไก่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งสรุปได้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเขากับเรารู้พอๆกัน ในการสื่อความหมาย เรา ถูกเชิญให้ขึ้นไปแสดงบนเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน เอาล่ะทีนี้ไม่ได้เตี้ยมกันมาก่อน แต่สุดท้ายก็ตกลงกันได้ว่ารำวงลอยกระทงเป็นการแสดงที่สามารถทำได้ทุกคน โดยให้คุณโกศลโกมินทร์ตีกลอง พวกเราอีกสามคนก็ร้องเพลงไปรำไป ฮ่ะผ่านไปได้จนจบกระบวนท่า เสร็จจากงานเลี้ยงเขายังพาพวกเราไปร้องคาราโอเกะกันต่ออีก เขาร้องซูบารุ เราร้องเพลงดาวประดับใจ เราร้องเพลงน้ำพริกปลาทูไทยของคุณมีศักดิ์ นาครัตน์ เขาร้องเพลงสุกียากี้ สนุกสนานกันจนดึกดื่นก็เดินกันกลับห้องพักเสียงญี่ป่นที่เดินมาด้วยกันส่งเสียงอ้วกอ้าก เสร็จแล้วก็โวยวายดังลั่น จุลโคยาม่ากระซิบบอกว่า ตาคนนั้นเวลาเมาเขาแสดงอาการแบบนี้ทุกทีแหละ เออว่ะประเทศใหนก็เหมือนกันแหละน่าเวลาเหล้าเข้าปาก

   รุ่งเช้า 29 พฤษภาคม ถึงเวลานัดหมาย คุณชอร์และคุณคาโต้ ได้นำพวกเราไปยังศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ที่นอกเมือง เราเข้าไปดูการแพคกิ้ง  เขามีกระบวนการรวบรวมสินค้าตามใบสั่งของสมาชิกและแพคกิ้งตามกลุ่มบ้าน เป็นหมวดหมู่ ดังนี้คือ

            ขั้นตอนที่ 1 จัดสินค้าตามใบสั่งของแต่ละคนลงกล่อง

                         2  รวบรวมกล่องตามรายชื่อกลุ่มบ้านมาแพคเป็นหมวดกลุ่มบ้าน

                          3. นำขึ้นรถตามเขตความรับผิดชอบของคนขับรถ  ซึ่งคนขับรถต้องรับผิดชอบดูแลให้ถูกต้องครบถ้วน                      

                          เมื่อนำสินค้าขึ้นรถเรียบร้อยคนขับรถก็นำรถเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายโดยคณะเราเดินทางติดสอยห้อยตามไปติดๆ เมื่อถึงบ้านที่ 1 คนขับรถนำสินค้าลงมอบแก่หัวหน้ากลุ่มบ้าน มีการตรวจเชคสิ่งของตามรายการที่สั่งของแต่ละคน เสร็จแล้วก็มีการลงนามรับสินค้า หลังจากนั้นหัวหน้าแม่บ้านก็นำใบสั่งสินค้างวดต่อไปอีก 5 วันข้างหน้า ที่เก็บรวบรวมจากสมาชิกกลุ่มมอบให้ไว้พร้อมกับใบแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจที่มีต่อ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด คนชับรถก็มอบเอกสารและใบสั่งซื้องวดต่อไปให้แก่หัวหน้ากลุ่มบ้าน ซึ่งเราตามไปดู 3 กลุ่มบ้านเพื่อสอบถามความรู้สึกพึงพอใจที่มีต่อกล้วยละแม  บ้านที่หนึ่งหยุดซื้อเนื่องจากกล้วยขาดรสหวาน และลูเล็ก เราทราบได้ทันทีว่าเปอร์เซนต์กล้วยค่อนข้างอ่อนไป  บ้านที่สองบอกว่าสั่งซื้อทุกครั้งเพราะมั่นใจว่าไม่มีสารพิษ บ้านที่สามตอบว่าผิวเปลือกไม่สวยเนื้อกล้วยค่อนข้างแข็งแต่ขณะนี้ดีขึ้นแล้วเลยสั่งทุกครั้งที่แจ้งมา

                       เราได้ข้อคิดหลายอย่างเมื่อไปพบปะผู้บริโภคถึงครัวเรือน แม่บ้านของเขามีความรับผิดชอบในการจัดการเรื่องอาหารการกิน มีการวางแผนการบริโภคไว้ล่วงหน้า ลูกคนโตต้องกินอะไรบ้าง คุณแม่คุณยายต้องกินอะไรบ้าง แล้วมีการจัดเมนูอาหารได้อย่างสอดคล้องเป็นที่พึงพอใจของทุกคนภายในครอบครัว เขายังกล่าวถึงความจำเป็นในการบริโภคกล้วยของผู้สูงอายุและเด็ก เป็นผลไม้ที่มีให้รับประทานได้ทั้งปี แต่ผลไม้อื่นเป็นผลไม้ ที่หากินได้ตามฤดูกาล  โอไม่แปลกเลยผมคิดในใจ ว่าทำใมค่าเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นจึงมีอายุยืนมากกว่า    หวลคำนึงถึงบ้านเรา ลูกหลานของเราเบ้หน้าเมื่อเห็นกล้วยเห็นมะละกอ ทั้งทั้งที่ข้างบ้านปลูกไว้   แต่ไม่ค่อยส่งเสริมให้ลูกหลานกิน  กับขนมถุงขนมซองละก็ เคี้ยวกันได้ทั้งวัน เช้าสาย บ่าย เย็น  ผู้สูงอายุหลายท่านเคยมาปรึกษาเรื่องอาการไม่สบาย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ท้องผูก ไปหาหมอมาหลายครั้งเป็นๆหายๆ อย่างมากหมอก็ให้ยามารับประทาน ผมถามว่ากินกล้วยกินมะละกอบ้างไหม ส่วนใหญ่บอกว่าไม่ชอบกิน เลยบอกกล่าวไปว่าถ้าอยากจะหายละก็พยายามกินกล้วยน้ำว้าให้ได้วันละ 2 ลูกเป็นอย่างน้อยแล้วกินน้ำตามมากๆโดยเฉพาะก่อนนอน หรือกินมะละกอสลับกันไป ลวกกินบ้าง แกงเลียงแกงจืดกินบ้าง หาซื้อข้าวซ้อมมือมารับประทาน ไปขอยาวิตามินรวมจากสถานีอนามัยมากินเพิ่มเติม  ทุกคนที่ปฏิบัติตามเมื่อเจอกันอีกครั้งถามไถ่ถึงสุขภาพก็จะบอกว่าอาการดีขึ้น  

      เยี่ยมบ้านสมาชิกผู้บริโภคเสร็จ ก็เดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟโอซาก้า เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงโตเกียว ระหว่างรอรถเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงลุงคาโต้ผู้ไปส่งชวนไปเดินเที่ยว ที่พิพิธภัณฑ์ ทางประวัติศาสตร์  ได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของชนชาติญี่ปุ่นมากมาย

      นั่งรถไฟไปถึงโตเกียว มีพนักงานสาวสวยของบริษัทแปซิฟิคเทรดแจแปนชื่อน้อง มิเอโกะ เลขาของคุณยามาโมโต้ ประธานบริษัท ต้อนรับอยู่ที่สำนักงาน  แล้วนำเราไปดูโรงบ่มกล้วย  พาไปดูห้องอบควัน  ซึ่งเมื่อผลไม้ที่นำเข้าไปยังญี่ปุ่นหากตรวจพบแมลงก็จะนำไปเข้าห้องอบเพื่อทำลายไข่ หรือแมลงทันที  ซึ่งเป็นกฏเกณฑ์ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของแมลงที่ทำลายผลไม้  ดูงานกันจนเย็น ก็กลับไปยังโรงแรมวอชิงตัน  อาบน้ำเสร็จก็นั่งดูทีวีในห้องพัก  และนั่งมองความจอแจในกรุงโตเกียว จนกระทั่ง หกโมงเย็น คุณจุลโคยาม่า ก็ไปเคาะประตูห้อง ชวนไปรับประทานอาหารเย็น พวกเราเดินจากโรงแรมข้ามถนนไปยังอาคารมิทซุยที่เห็นเป็นตึกสูงๆอยู่เบื้องหน้า  เมื่อได้เวลา 1 ทุ่ม ก็ขึ้นลิฟท์ไปยังชั้นบนสุดของอาคาร เข้าไปยังห้องอาหาร บนโต้ะยาวมีแขกนั่งรออยู่แล้ว

มร.โจอิ คนแรก  มร.อิเดะใส่สูทสีเทาถัดไป

           พบปะสังสันปราศรัยกันตามประเพณีของนักธุรกิจ จนเสร็จเรียบร้อยอิ่มหมีพีมันกันเต็มที่เพราะอาหารเป็นประเภทบุฟเฟ่ จึงมีมากมายหลายประเภท ห้องโถงใหญ่ของอาคารจัดไว้เพื่อการการพบปะของคนหลายๆกลุ่มหลายอาชีพ มีดนตรีให้ฟังด้วย

           เสร็จภาระจากอาหารเย็น ทีมของบริษัทแปซิฟิคเทรดแจแปนก็ยังใจป้ำพาเราไปเที่ยวย่ำญี่ปุ่นราตรีอีก ที่ อาคารโนโอมิเซน ย่านมูกิโจ พวกเราเดินดูหลายห้อง มีห้องรวมต่างชาติ ห้องเฉพาะญี่ปุ่น เราเข้าไปนั่งที่ห้องเฉพาะญี่ปุ่นก่อนเพราะใหนๆก็มาญี่ปุ่นทั้งที แต่ก็เกรงใจเจ้าภาพไม่กล้าผลีผลาม คุณอีเดะ  กรรมการผู้จัดการ บริษัทเรียกสาวกิโมโนมาให้ 1 นาง สวยพริ้งเพรา พวกเราแย่งกันคุยกับเธอด้วยภาษาอังกฤษแต่ก็คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ดี นั่งแอบมองแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าข้างในกิโมโนนั้น อื้อฮือจะมีอะไรซ่อนอยู่บ้างหนอ เรียกคุณจุลมากระซิบ คุณจุลไปแอบถามเธอ แล้วกลับมากระซิบกระซาบว่าถ้าอยากคลี่กิโมโน ก็หลังเที่ยงคืนไปแล้ว สองหมื่นห้า ถ้าออกไปตอนนี้ก็ซื้อชั่วโมงอีกต่างหาก ไอ้หยา พวกเราต่างกระอึกน้ำลายไปตามๆกัน คุณสมานกระซิบบอกว่าที่กรุงเทพ สองพันบาทเอง อะไรหว่าญี่ป่นถึงราคาสูงนัก ดูเหมือนคุณยามาโมโต้จะรู้ใจพวกเรา พี่แกเลยกระซิบกระซาบ แล้วก็เรียกจ่ายเงิน พาพวกเราไปยังอีกมุมหนึ่งของตึก เป็นห้องรวมต่างชาติ มีทั้งจีน ทั้งเกาหลี ทั้งฟิลิปปินส์  หน้าร้านเขียนภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษไว้ว่าชื่อร้านยูริ เราเข้าไปพบเจ้าของร้านนั่งอยู่ที่เคาเตอร์ เธอทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่น คุณยามาโมโต้บอกว่า เธอเป็นคนไทย เอ้าเราตรงเข้าไปกล่าวคำว่าสวัสดีครับ เธอทำหน้าฉงนแล้วถามว่าเป็นคนไทยมาจากเมืองไทยหรือค่ะผมตอบว่าครับ สีหน้าเธอมีแววดีใจมาก รีบมาพาพวกเราไปนั่งแล้วซักถามเป็นการใหญ่ว่าพวกพี่มาทำอะไรที่ญี่ปุ่นหรือ เธอบอกว่าตอนแรกนึกว่าพวกเราเป็นญี่ปุ่นเพราะคณะญี่ปุ่นที่เดินอยู่ขวักไขว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งนั้น ไม่ค่อยได้เห็นมีคนต่างชาติเข้าไปเที่ยวโดยเฉพาะจากไทย เพราะค่าบริการมันแพงมากๆ เธอบอกว่าเธอชื่อปูเป็นคนทางใต้บ้านเรา ไปตั้งหน้าตั้งตาขุดทองที่ญี่ปุ่นเป็นการเฉพาะ แล้วเธอก็เดินไปเรียกบริกรของเธอมา 2-3 คน เป็นสาวไทยทั้งนั้นมีทั้งเหนือและใต้ เรานั่งคุยกันอย่างสนุกสนานจนกระทั่งได้เวลา กลับไปนอนที่ห้องพักโรงแรม เธอบอกว่าจะไปหาผมที่โรงแรม ผมโกหกไปว่าพักกับเพื่อน  ถ้ามีโอกาสไปญี่ปุ่นอีกค่อยเจอกันอีกครั้ง พูดไปอย่างนั้นเองเพราะไม่อยากอย่างว่ากับคนบ้านเองที่ญี่ปุ่น แต่ก็เฮ้อนึกถึงกิโมโนตัวนั้นแล้วต้องเดินคอตก ขนาดคุณยามาโมโต้ ยังพูดเลยว่า ถ้าเป็นผู้หญิงชาวต่างชาติ ราคาค่าบริการ อยู่ที่ช่วงหนึ่งหมื่นบาท - หนึ่งหมื่นห้าพันบาท  แกบ่นว่าอยากรู้นักทำใมผู้หญิงญี่ปุ่นถึงคิดค่าตัวแพงกว่าชาติอื่นมาก  ทั้งที่อาชีพเดียวกัน และอย่างอื่นมันก็เหมือนๆกันแหละน่า แกบอกว่าเก็บค่าตัวผู้หญิงญี่ปุ่นไว้สามหมื่นบาท นั่งเครื่องบินมาเที่ยวเมืองไทยได้ทำธุรกิจไปด้วย ได้อย่างว่าเต็มที่ด้วย อิ่มหมีพีมันกลับไปทุกที  

         ตื่นเช้าอาบน้ำอาบท่าแต่งตัวเสร็จ  ลงไปรับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารของโรงแรม ซึ่งพลุกพล่านไปด้วยแขกผู้เข้าพัก เราได้รับการแนะนำจากคุณจุลให้รู้จักบุคคลที่นั่งร่วมโต้ะ 2-3 คน รู้แต่ว่าเป็นเจ้าของบริษัทที่ไปทำธุรกิจนอกประเทศเพื่อนำสินค้าเข้าไปขายทั้งนั้น มีรายหนึ่งนั่งข้างๆ เป็นเจ้าของโรงงานทำตะเกียบที่เมืองจีน อีกรายหนึ่งก็เป็นเจ้าของโรงงานเสื้อผ้าไปผลิตที่เมืองจีนเหมือนกัน เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาเราไปดูงานด้านเกษตร ด้านการจัดการเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งเป็นลักษณะชนบท และเมืองต่างจังหวัด แต่เมื่อไปโตเกียว ก็เหมือนกับอยู่ในสังคมเมืองหลวงกรุงเทพฯบ้านเรานั่นเอง  เสร็จจากอาหารเช้า ก็พากันเดินทางไปดูท่าเรือโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าขึ้นลงนั่นเอง เราเดินชมหอบังคับการและดูคลังสินค้า ดูการทำงานที่ท่าเรือ จนเที่ยงวัน ก็เดินทางกลับไปกินอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารไม่ใกลกับท่าเรือมากนักเราลงจากรถแทกซี่ที่เช่าเหมา  มองเข้าไปภายในร้านมีคนนั่งรับประทานอาหาร อยู่มากมาย ผมขอตัวไปเข้าห้องน้ำเพราะปวดปัสสาวะ หลังจากเสร็จภาระกิจก็เดินตรงไป เสียงดังปึงหน้าตัวเองโดนกระจกใสเต็มที่ เฮ้ยเซ่อซ่าจริงกระจกมันใสและปิดสนิทเสียจนมองไม่ออกว่าเป็นประตู และไม่มีการเขียนว่าผลัก หรือดึงไว้ด้วย ถ้าเป็นบ้านเราคงจะหัวเราะกันฮา แต่คุณจุลยิ้มๆ เราก็เขินในความเซ่อซ่าของตัวเองเล็กน้อย

        เสร็จจากอาหารกลางวันก็กลับไปที่บริษัทแปซิฟิคเทรด ซึ่งเป็นห้องสำนักงานที่เช่าเหมาไว้เพื่อทำธุรกิจโดยเฉพาะ มีพนักงานไม่มากนักน่าจะไม่เกิน 10 คน ทุกคนคร่ำเคร่งอยู่กับจอคอมพิวเตอร์  บริษัททำหน้าที่จัดหาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มและอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร เช่นถั่วเหลืองจากพม่ากล้วยหอมทองจากไทย  แล้วไม่ทราบว่ากำลังจะทำอะไรที่เวียตนามต่อ คุณยามาโมโต้บอกว่าแกเหนื่อย ผมถามว่าเหนื่อยอะไรกันนักหนา แกก็บอกว่าเหนื่อยตรงที่ต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหา ในทุกเรื่องเมื่อมีข้อมูลแจ้งความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของสินค้า เช่นกรณีกล้วยหอมทองจัดหาไม่ได้ตามปริมาณที่ผู้บริโภคสั่งไว้ ปัญหาการตรวจพบแมลงในกล้วยเมื่อถึงท่าเรือต้องเสียค่ารมควันทำลายแมลงครั้งละ สามหมื่นบาทและก็จะกลายเป็นกล้วยไม่ปลอดสารพิษทันที  กล้วยสุกก่อนถึงท่าเรือให้นำไปทิ้งทะเลทันทีไม่ให้ขึ้นไปบนฝั่งเพราะกลัวแมลงวันผลไม้    

       สรุปแล้วการส่องออกกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้นประกอบไปด้วยขั้นตอนการสร้าง กับขั้นตอนการสานต่อ ซึ่งจะต้องเตรียมงาน   ดังนี้

 ก. การดำเนินงานขั้นที่หนึ่ง  ขั้นตอนการสร้าง

          1. ศึกษาข้อมูลความต้องการบริโภคผลผลิตกล้วยหอมทอง หรือการวิเคราะห์อุปสงค์

          2. ศึกษาแหล่งผลิต และเลือกเฟ้นจุดที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการผลิตทั้งสภาพดิน และศักยภาพความเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพของผู้ผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

          3. นำตัวแทนของผู้บริโภคมาพบปะกับกลุ่มผู้ผลิตทั้งหมด ร่วมชี้แจงข้อตกลงในการที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

          4. ส่งเสริมกระตุ้น ให้ความรู้ ในการผลิตแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อให้ผลผลิตที่ผลิตออกมา มีคุณภาพปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี สร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงกระบวนการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม 

          5. จัดทำระบบข้อมูลข่าวสารการผลิต ทั้งหมดทุกขั้นตอน เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพทั้งหมดในกระบวนการผลิต และเป็นการสร้างอุปสงค์อุปาทานเพิ่ม 

          6. จัดเตรียมการคัดเกรดกล้วยแก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วย ให้ตัดกล้วยได้ตามเปอร์เซนต์ความแก่ที่ต้องการ  และเตรียมกำลังคนในกระบวนการบรรจุกล่อง

          7. ทดลองส่งออกครั้งที่หนึ่ง เพื่อสรุปข้อบกพร่องผิดพลาด และความพึงพอใจของผู้บริโภค นำผลสรุปทั้งหมดมานำเสนอต่อสมาชิกผู้ปลูกกล้วยทั้งหมด  มติที่ประชุมตกลงที่จะปรับปรุงอย่างไรบ้าง นำเสนอย้อนกลับไปสู่ผู้บริโภค

      ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการสานต่อ

         1. ประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต โดยให้ผู้บริโภคได้พบปะกับผู้ผลิต มีกิจกรรมร่วมกัน มีการพักค้าง เพื่อจะได้รู้จักวัฒนธรรมเข้าใจประเพณีต่อกัน และมีความมั่นใจต่อกัน ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากจะบริโภคผลผลิตจากกลุ่มอย่างจริงใจและมิตรภาพ ผู้ผลิตมั่นใจในการผลิตที่มีผู้บริโภคแน่นอนชัดเจน ทำให้การพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและด้วยความเต็มใจ ซึ่งในการจัดการกิจกรรมเช่นนี้ ต้องกันเงินกำไรส่วนหนึ่งไว้ให้เพียงพอ

        2. การจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆ ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และการจักการให้มีข่าวสารถึงกันอย่างต่อเนื่อง  

        ขั้นตอนการนำกล้วยส่งจนถึงมือผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น

        1. ตัดเครือกล้วยจากต้น นำส่งโรงงานบรรจุกล่อง โดยไม่ให้มีรอยช้ำ

        2. โรงงานบรรจุกล่อง ตัดแต่งและคัดเกรดกล้วยจากเครือออกเป็นหวี ตรวจหาแมลง ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ที่ทำจากพืช เป่าลมให้แห้ง บรรจุลงกล่อง เก็บเข้าตู้รักษาความเย็น

        3. รถบริษัทขนส่งซึ่งต้องทำสัญญารับผิดชอบระหว่างขนส่งไปยังท่าเรือคลองเตย นำกล้วยจากตู้รักษาความเย็นไปยังคลองเตย

        4. ตรวจสอบและนำลงเรือเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่น  เรือถึงท่าเรือที่ญี่ปุ่น ส่งไปยังด่านตรวจสินค้า หากพบแมลงให้ส่งรมควันกำจัดแมลง หากมีกล้วยสุกก็จะให้นำกลับไปทิ้งทะเลทันทีห้ามขึ้นฝั่ง  ช่วงที่รับผิดชอบถึงขั้นตอนนี้เป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ดูแลสินค้านำเข้า     

        3. เมื่อเสร็จเรียบร้อยจากท่าเรือก็จะนำสู่กระบวนการบ่มในโรงบ่มกล้วย เมื่อได้ระยะเวลา ก็จะนำมาตัดแต่งอีกครั้งเพื่อส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าของสหกรณ์ผู้บริโภค

        4. ศูนย์กระจายสินค้าจัดแพคกิ้งสู่ครอบครัวผู้บริโคตามใบสั่ง

       ครับอันนี้คือข้อสรุปกว้างๆเพื่อให้มองเห็นภาพกระบวนการสร้างเครือข่ายขายตรงในระดับรากหญ้าที่เราสามารถประยุกต์เพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราระหว่างสังคมเมืองที่เป็นสังคมเน้นการบริโภคอาหาร กับสังคมชนบทที่เน้นการผลิตอาหาร 

        วันเสร็จสิ้นภาระกิจ 31 พฤษภาคม  พวกเราเดินทางไปพักค้างที่บ้านพักตากอากาศของประธานบริษัทคุณยามาโมโต้ ที่ไกล้ชายทะเล ไม่ไกลจากสนามบินนาริตะ พักค้างคืน รุ่งเช้าเดินทางกลับคืนถิ่นละแมโดยสวัสดิภาพ ไม่อยากเล่าความเชยในการพักค้างที่บ้านพักอีกทั้งเรื่องการใช้ส้วมทันสมัยที่ไม่เคยใช้ ฮาๆ และเข้าครัวทำอาหารกินกันเองแต่ไปหยิบเอาน้ำที่คล้ายน้ำปลามาใส่ไข่เจียว กินแล้วฮากันครืน

       ลิ้งค์เพื่ออ่านตอนต่อไป เครือข่ายผู้บริโภคกับผลิตภัณฑ์คนรากหญ้า(เวอร์ชั่น2)ตอนที่1

                                     อ่านตอนที่แล้วเครือข่ายผู้บริโภคที่เกาะชิโกกุ

      

หมายเลขบันทึก: 201517เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2008 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท