การพัฒนาหลักสูตร


การพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร*

            การพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร (Integrated Curriculum Development) หมายถึงระบบการร่างหลักสูตร ระบบการนำหลักสูตรไปใช้ และระบบการประเมินหลักสูตร ทั้งสามระบบนี้จะสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดภาพรวมที่เป็นเอกภาพของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร โดยการพัฒนาหลักสูตรมีรายละเอียดในแต่ละระบบดังนี้

           

            ระบบร่างหลักสูตร

            การร่างหลักสูตรมีอยู่ 4 ขั้น ได้แก่ สิ่งกำหนดหลักสูตร รูปแบบหลักสูตร การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร และการปรับแก้หลักสูตรก่อนนำไปใช้

 

            1. สิ่งกำหนดหลักสูตร คือ การเตรียมการศึกษาข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตร จุดเริ่มการพัฒนาหลักสูตรอาจเริ่มจากคณะกรรมการชุดหนึ่งทำการศึกษาหรือวิจัย เพื่อทราบข้อเท็จจิรงหลายๆ อย่างเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เช่น ต้องทราบสภาพการศึกษาในปัจจุบัน แนวโน้มของสังคมและความต้องการทางการศึกษาในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ควรจะได้มาด้วยวิธีการวิจัยมากกว่าอาศัยประสบการณ์คณะกรรมการหลักสูตร การศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการกำหนดหลักสูตรอาจแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ

            1)  สิ่งกำหนดทางวิชาการ

            2)  สิ่งกำหนดทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

            3)  สิ่งกำหนดทางการเมือง

 

            2. รูปแบบหลักสูตร เมื่อคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรได้ศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากสิ่งกำหนดแล้ว ประการต่อมาคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบหลักสูตร เช่น หลักสูตรแบบรายวิชา หลักสูตรแบบบูรณาการ หลักสูตรแบบแกนวิชา และหลักสูตรระบุเกณฑ์ความสามารถพื้นฐาน เป็นต้น รูปแบบหลักสูตรโดยส่วนรวมจะประกอบด้วยโครงสร้าง และองค์ประกอบหลักสูตรซึ่งจะสะท้อนให้เห็นภาพรวมและมาตรฐานการศึกษาของแต่ละหลักสูตร มาตรฐานการศึกษาอาจจะดูได้จากโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

            1)  โครงสร้างแบบรายปี คือ การวางรูปแบบหลักสูตร โดยการแบ่งเนื้อหาวิชาตามลำดับก่อนหลัง และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เพิ่มพูนสัมพันธ์กัน สำหรับรายวิชาที่จัดในโครงสร้างแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรายวิชาบังคับเนื่องจากวิชาหนึ่งจะเป็นพื้นฐานของวิชาถัดไป ผู้เรียนจะเรียนวิชาถัดไปไม่ได้ ถ้าไม่เรียนวิชาบังคับมาก่อน การประเมินผลจะมีการสอบปลายปีเพื่อเลื่อนชั้น ถ้าผู้ใดสอบตกวิชาใดจะต้องเรียนซ้ำชั้นอีก ผลการเรียนจะแจ้งเป็นเปอร์เซ็นต์ รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้มีข้อจำกัด เช่น ถ้าผู้เรียนสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งจะต้องเรียนซ้ำชั้น และเรียนซ้ำวิชาที่สอบผ่านมาแล้วด้วย ซึ่งทำให้ผู้เรียนจบการศึกษาช้าไปเป็นปี ผู้เรียนไม่สามารถเลือกเรียนรายวิชาตามที่ตนเองมีความถนัดได้

                        2) โครงสร้างแบบหน่วยกิต คือ การจัดเนื้อหาวิชา และประสบการณ์การเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด โครงสร้างหลักสูตรแบบนี้เริ่มขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมูลนิธิคาร์เนกีได้ให้ทุนสถาบันการศึกษาต่างๆ และต้องการความมั่นใจว่า สถาบันการศึกษาที่ได้รับเงินไปแล้วนั้นมีมาตรฐานดีพอสมควร เกณฑ์การพิจารณาคือ รายวิชาที่เปิดสอน คุณสมบัติของอาจารย์และลักษณะปริญญาที่ให้กับนิสิต เกี่ยวกับรายวิชาที่เปิดสอนได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการสอนเรียกว่า Carnegie unit of instruction หมายความว่า หนึ่งหน่วยกิตมีค่าเท่ากับการสอนหนึ่งชั่วโมงในชั้นเรียน โครงสร้างแบบหน่วยกิตจะมีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ ดังนี้คือ

            1. ภาคการศึกษา

                        2. การแบ่งหมวดวิชา

                        3. การแบ่งลักษณะวิชา

                        4. จำนวนหน่วยกิต

                        5. ประมวลวิชา

* จาก รายงานการวิจัย เรื่อง การสังเคราะห์งานวิจัยทางด้านหลักสูตรโดย อาจารย์ ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.. 2543

 

                        6. การประเมินผล

            3. การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร  เมื่อคณะกรรมการร่างหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำหลักสูตรไปใช้จะต้องตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขบางส่วนก่อนนำไปใช้จริง  การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรทำได้หลายวิธี เช่น ใช้วิธีการประชุมสัมมนา โดยให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นตรวจสอบ นอกจากวิธีตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรโดยใช้เทคนิค เดลฟาย (Delphi technique)  การทดลองใช้หลักสูตรนำร่อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของหลักสูตร รวมทั้งมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทดลองใช้หลักสูตรแต่ละระยะอย่างมีระบบ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาสังเคราะห์ สำหรับการปรับแก้ก่อนจะนำไปใช้ต่อไป

 

            4. การปรับแก้หลักสูตรก่อนนำไปใช้ การปรับแก้หลักสูตรจะต้องจัดทำระบบข้อมูลที่ชัดเจนจะทำให้การปรับแก้ไขหลักสูตรเป็นอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ การสังเคราะห์ข้อมูล ควรทบทวนพิจารณาให้รอบคอบว่าข้อมูลนี้จะนำไปใช้ปรับแก้ไนส่วนใดของหลักสูตรและเมื่อปรับแก้แล้วไปกระทบหลักการและโครงสร้างของหลักสูตรมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการชี้ทางปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้นหรือไม่

 

            ระบบการใช้หลักสูตร

            การใช้หลักสูตรมีอยู่ 3 ขั้น ได้แก่ การขออนุมัติหลักสูตร การวางแผนการใช้หลักสูตรและการดำเนินการใช้หลักสูตร

            1. การขออนุมัติหลักสูตร เมื่อได้ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรและปรับแก้หลักสูตรเรียบร้อยก่อนที่จะนำหลักสูตรไปใช้จะต้องนำหลักสูตรเสนอหน่วยงาน เพื่อให้ความเห็นชอบหลักสูตร ได้แก่ กระทรวง หรือทบวงที่มีสถานศึกษานั้นสังกัด เมื่อได้รับอนุมัติหลักสูตรแล้วหน่วยงานนั้นๆ จะต้องนำหลักสูตรเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อการกำหนดเงินเดือน

            2. การวางแผนการใช้หลักสูตร ขณะรอการการอนุมัติใช้หลักสูตร ผู้รับผิดชอบหลักสูตรจะต้องดำเนินการวางแผนการใช้หลักสูตรควบคู่กันไป และเมื่อหลักสูตรได้รับการอนุมัติเรียบร้อยจะได้ดำเนินการใช้หลักสูตรทันที การวางแผนการใช้หลักสูตรต้องคำนึงถึงสิ่งจำเป็นดังต่อไปนี้คือ

                        1) การประชาสัมพันธ์หลักสูตร

                        2) การเตรียมงบประมาณ

                        3) การเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร

                        4) วัสดุหลักสูตร

                        5) บริการสนับสนุนและอาคารสถานที่

                        6) ระบบบริหารของสถาบันการศึกษา

                        7) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

                        8) การประเมินผลและติดตามการใช้หลักสูตร

            3. ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตรหรือการบริหารหลักสูตร  เมื่อวางแผนการใช้หลักสูตรเรียบร้อยแล้ว การนำหลักสูตรมาใช้จริงและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ที่ว่าเป็นศาสตร์นั้น หมายถึง การวางแผนใช้อย่างเป็นระบบ และใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามาช่วยเสริมส่วนที่ว่าเป็นศิลปะนั้น หมายถึง ผู้ใช้ในที่นี้รวมทั้งผู้บริหารและอาจารย์ผู้สอน จะมีบทบาทมากในการที่จะทำให้หลักสูตรบรรลุความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ดังมีคำกล่าวว่า หลักสูตรแม้จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใด ถ้าผู้สอนไม่สนใจไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนการสอน หลักสูตรใหม่นั้นก็จะไม่มีความหมาย และได้ผลตามสิ่งที่หลักสูตรคาดหวัง

 

การดำเนินการตามแผน

            การดำเนินการตามแผนการใช้หลักสูตรที่จำเป็นจะต้องกระทำก่อนเป็นอันดับแรก ได้แก่การประชาสัมพันธ์หลักสูตรในคณาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องอื่น เช่น ผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้ปกครอง และหน่วยงานอื่นๆ จะต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายต่างๆ ระยะเวลาที่จะนำเสนอ ซึ่งสมารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การประชุม การสัมมนา การใช้สื่อมวลชน วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ การออกแบบเอกสาร แผ่นพิมพ์ เป็นต้น การเลือกวิธีการประชาสัมพันธ์หลักสูตรจะใช้แบบใดจำนวนครั้งที่จะใช้ขั้นอยู่กับลักษณะกลุ่มเป้าหมาย และงบประมาณที่ใช้

            การเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมทางการสอนคณาจารย์ต่อหลักสูตรใหม่ จะต้องทำการสำรวจให้ชัดเจนว่าคณาจารย์มีความพร้อม ในการสอนหลักสูตรใหม่มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ส่วนที่ไม่พร้อมจะจัดการฝึกอบรมอย่างไร การศึกษาความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Need) การวิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดการฝึกอบรมให้ตรงตามความต้องการของอาจารย์ผู้สอน การฝึกอบรมการใช้หลักสูตรให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่ได้ผลนั้น สำหรับผู้สอนแล้วจะต้องใช้วิธีประชุมปฏิบัติการ ส่วนผู้เกี่ยวข้องอาจจะใช้วิธีการประชุม และการสัมมนาชี้แจงเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรก็เพียงพอ

            งบประมาณ เป็นตัวบ่งชี้ที่จะทำให้การใช้หลักสูตรประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะงบประมาณจะช่วยสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุหลักสูตร คู่มือ เอกสารอ่านเสริม อุปกรณ์การสอน วิทยากร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือบริการสนับสนุนที่ส่งผลให้การเรียนการอสนมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้ว อาคารสถานที่จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขั้นการนำหลักสูตรไปใช้ หรือการบริหารหลักสูตรนั้น จะต้องศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับผู้สอนในด้านความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร และความสามารถในการสอน ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับหลักสูตร ได้แก่ ความซับซ้อนของหลักสูตร การช่วยเหลือสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร และประสบการณ์การฝึกอบรมปฏิบัติการของผู้สอนอย่างกว้างและลึก เกี่ยวกับการใช้หลักสูตร และการสอน ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ ผู้เรียน ได้แก่ จำนวนของผู้เรียน ความรู้ความสามารถ และรวมทั้งความสนใจต่อวิชาที่เรียน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะส่งผลเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรให้ประสบผลสำเร็จมากหรือน้อยด้วย

            การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการพัฒนาหลักสูตรหลักสูตรที่จัดทำไว้เปรียบเสมือนพิมพ์เขียว หรือเข็มทิศนำทางในการจัดกิจกรรม และประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และการวางแผนการสอนของผู้สอนอย่างมีระบบและสามารถปฏิบัติได้

            การจัดตารางสอน คณะกรรมการจัดตารางสอนจะต้องศึกษาองค์ประกอบในการจัดตารางสอน 5 ประการคือ

            1. รายวิชาในหลักสูตร

            2. ห้องเรียน

            3. เวลา

            4. ผู้สอน

            5. ผู้เรียน

            การศึกษาข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้จัดตารางสอนได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการเรียน การลงทะเบียนเรียน และการกำหนดอาจารย์ผู้สอน เช่น หลักสูตรที่มีโครงสร้างแบบหน่วยกิต จะประกาศว่าในภาคเรียนต้นปีการศึกษานี้ จะเปิดสอนรายวิชาอะไร

 

            ระบบการประเมินหลักสูตร

            ระบบการประเมินหลักสูตร คือ ขั้นสุดท้ายของการพัฒนาหลักสูตร การประเมินหลักสูตร คือ กระบวนการเปรียบเทียบระหว่างผลการใช้หลักสูตรที่วัดได้กับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรว่าการปฏิบัติจริงนั้น ผลได้ใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ จุดประสงค์ของการประเมินหลักสูตร คือ

            1. เพื่อดูว่าหลักสูตร เมื่อนำไปปฏิบัติจริงได้ผลเพียงใด บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่

            2. เพื่อหาทางปรับปรุงหลักสูตร ถ้าพบสิ่งบกพร่อง

            3. เพื่อหาข้อดีข้อเสียในวิธีการจัดประสบการณ์การเรียน

            4. เพื่อช่วยการจัดสินใจของฝ่ายบริหารว่าควรจะใช้หลักสูตรนี้ต่อไปหรือไม่

 

            การประเมินหลักสูตรอาจแบ่งเป็นระบบการประเมินย่อยได้ดังนี้ คือ การประเมินเอกสารหลักสูตร การประเมินระบบหลักสูตร การประเมินระบบการบริหารหลักสูตร การประเมินผลสัมฤทธิ์ ผู้เรียน การประเมินการสอนของผู้สอนและการประเมินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา

            1. การประเมินเอกสารหลักสูตร คือ การตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างหลักการ โครงสร้าง วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ การจัดประสบการณ์การเรียนและการประเมินผลว่ามีมากน้อยเพียงใด ภาษาที่ใช้สามารถสื่อสารได้ตรงกันหรือไม่ ข้อกำหนดใช้หลักสูตรมีความชัดเจนไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติใช่หรือไม่

            2. การประเมินระบบหลักสูตร คือ การตรวจสอบดูว่า หลักสูตรได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ วัตถุประสงค์ของหลักสูตรมีความเที่ยงตรงหรือไม่ หลักสูตรที่วางไว้เหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ วิธีการสอนเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เหมาะสมหรือไม่ อุปกรณ์การสอนหรือเอกสารประกอบการสอนเหมาะสมหรือไม่

            3. การประเมินระบบการบริหารหลักสูตร คือ การประเมินระบบการบริหารที่จะมีอิทธิพลและส่งผลต่อการใช้หลักสูตร ปัจจัยการบริหารที่ควรพิจารณาประเมิน คือ โครงสร้างและระบบของสถาบัน อาคารสถานที่ บรรยากาศทางสังคม สถาบัน การติดต่อสื่อสาร ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถาบัน เวลา คุณสมบัติของผู้สอนและผู้เรียน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้

            4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน คือ การประเมินคุณภาพ และปริมาณความรู้ ทักษะและเจตนคติของผู้เรียนตามเกณฑ์ และมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในหลักสูตร

            5. การประเมินการสอนของผู้สอน คือ การศึกษาเกี่ยวกับวิธีการสอนว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนการสอนหรือไม่ องค์ประกอบที่ควรศึกษา ได้แก่ แผนการสอนจุดประสงค์ เนื้อหาวิชา สื่อการเรียน การประเมินผล รวมทั้งบุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ ความสัมพันธ์กับผู้เรียน และการสร้างบรรยากาศในการเรียน

            6. การประเมินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา การศึกษาสถานภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้ความสามารถ ทักษะและเจตคติต่อวิชาชีพ ความสามารถปฏิบัติงานได้จริงตามสภาพงานที่ปรากฏในปัจจุบัน ความสามารถในการแก้ปัญหา และการปรับตัวสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ มีความสนใจที่จะศึกษาต่อและมีความคาดหวังที่จะแสวงหาความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างไร

            ในการประเมินหลักสูตร ถ้ามีการวางแผนการประเมินไว้ตั่งแต่เริ่มร่างหลักสูตร จะเป็นข้อบ่งชี้ให้ทราบถึงประสิทธิภาพของหลักสูตรที่จัดได้ว่า มีส่วนใดดีที่ควรคงไว้ ส่วนใดไม่เหมาะสมและควรพิจารณาปรับปรุง หรืออาจจะยกเลิกไป ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาปรับปรุง ให้เป็นปัจจุบันสอดคล้องกับสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

            การปรับแก้หลักสูตร สามารถกระทำได้ระหว่างการใช้หลักสูตร หรืออาจจะรวบรวมข้อมูลที่สำคัญและปรับแก้ เมื่อการใช้หลักสูตรได้ครบวงจรของการศึกษาแล้วก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารหลักสูตรจะตัดสินใจกำหนด

            ดังได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาหลักสูตรและการสอนแบบครบวงจรสามารถจำแนกได้ 3 ประการ คือ ระบบการร่างหลักสูตร ระบบการนำหลักสูตรไปใช้ และระบบประเมินหลักสูตร และระบบเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน และมีความสำคัญเท่าเทียมกัน การพัฒนาหลักสูตรจะไปมุ่งเน้นที่ระบบใดระบบหนึ่งไม่ได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้หลักสูตรไม่มีประสิทธิภาพ จะไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรและการสอนควรจะได้กระทำให้ครบวงจรของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการสอน

            การพัฒนาหลักสูตรเป็นหน้าที่ของอาจารย์ทุกท่าน ไม่ว่าจะมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการสอน หรือการบริหารระดับต่างๆ ของสถาบัน เมื่อเป็นเช่นนี้คณาจารย์ทุกท่านจะต้องตระหนักรู้และเตรียมการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความคาดหวังของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ วงจรการพัฒนาหลักสูตรไม่มีการจบสิ้น เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ดังแผนภูมิต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร

ระบบการร่างหลักสูตร                              ระบบการใช้หลักสูตร                               ระบบการประเมินหลักสูตร

 


สิ่งกำหนดหลักสูตร                                1. การอนุมัติหลักสูตรหน่วยงาน                       1. วางแผนการประเมิน

วิธีการ                                                    กระทรวง  ทบวง                                           ประเมินย่อย

สังคมเศรษฐกิจ                                     2. วางแผนการใช้หลักสูตร

การเมือง                                                 ประชาสัมพันธ์หลักสูตร

รูปแบบหลักสูตร                                       เตรียมความพร้อมของบุคลากร

หลักการ                                                 งบประมาณ

โครงสร้าง                                                วัสดุหลักสูตร

องค์ประกอบหลักสูตร                                อาคารสถานที่

วัตถุประสงค์                                            ระบบบริหาร                                                ประเมินรวบยอด

เนื้อหา                                                   การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ                              ระบบหลักสูตร

ประสบการณ์การเรียน                                การติดตามผลการใช้หลักสูตร                           เอกสาร

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนการสอน
หมายเลขบันทึก: 201505เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2008 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท