มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

แล้วใครจะดูแลผู้ที่ดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้าน (ตอนที่ 1)


ผู้เขียนมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่เคารพมาก 2 ท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ อ. JoAnn Perry เป็นพยาบาล  อ. Deborah P'Connor เป็นนักสังคมสงเคราะห์ แล้วตอนสอบ doctoral oral defense นั่น คณะกรรมการคุมสอบที่มาจากนอกคณะก็เป็นอาจารย์นักสังคมสงเคราะห์อีกท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ อ. Ann Martin-Matthews ท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุของทั้งประเทศแคนาดาด้วยค่ะ

ทั้งสามท่านนี้ได้ทำให้ผู้เขียนรู้จักกับคำถามที่สำคัญมากคือ

who help the helper? หรือ who care for the caregiver?

Family caregivers หรือ Informal caregivers (อาจไม่ใช่ญาติแต่เป็นเพื่อนหรือคนสนิท) หมายถึง ผู้ที่ดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้านที่ไม่ใช่ผู้ดูแลรับจ้าง

เรื่องที่อยากบันทึกไว้วันนี้คือการเกริ่นๆเพื่อไม่ให้ลืมว่า

พวกเขาเหล่านี้ก็มีความเหนื่อยล้าและความเครียด เป็นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มที่บุคคลากรทางสายสุขภาพไม่อาจลืมได้ เรามักจะพุ่งความสนใจไปที่ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุจนอาจลืมไปได้ว่า ผู้ดูแลก็ป่วยได้เหมือนกัน (โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า)

หลายๆท่านยังมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ บางท่านเป็นรุ่นแซนวิช คือต้องดูแลพ่อแม่สูงวัยด้วย ต้องดูแลลูกหลานด้วย หลายท่านก็เหนื่อยกายเหนื่อยใจจากความยากในเนื้องานการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

ทุกคนทราบว่าควรกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา หรือ ญาติผู้ใหญ่ แต่ว่าแต่ละครอบครัวก็มีประวัติต่างกัน บางคนเต็มใจที่จะดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ บางคนยังไม่พร้อมแต่สถานการณ์บังคับ

หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ที่ดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้านต้องสู้กับใจตัวเอง มีทั้งความสงสัย (ในความยุติธรรมในชีวิต) ความโกรธ ความรู้สึกผิด ความเศร้าหมอง ความเหน็ดเหนื่อย นอนน้อย อาหารไม่ย่อย ไม่ได้ออกกำลังกาย เครียด สลับเคล้ากันไปกับความสุข ความภูมิใจ และ การรู้สึกได้ถึงคุณค่าในชีวิต

ทั้งผู้ที่ดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้านเองและคนรอบข้างต้องช่วยกันดู ถ้าเห็นท่าไม่ดีควรรับหาทางผ่อนคลายหาสมดุลในชีวิต หาคนที่เข้าใจในความหนักของงานคุยด้วย ให้เวลาตัวเองบ้าง  ดูแลตัวเองด้วย

เริ่มตรงไหน.....

ลองคิดดูว่าที่เราไม่ดูแลตัวเองนั้น คุ้มมั้ย ถ้าเราไม่สบายไปแล้วเราจะดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้เต็มที่เหรอ

แล้วที่เราไม่ดูแลตัวเองนี่เพราะอะไร

  • เพราะคิดว่าเราต้องพิสูจน์อะไรให้ใครเห็นเหรอ
  • เพราะคิดว่ามันเห็นแก่ตัวถ้าไม่ให้ 100% ไม่ดูแลผู้ป่วย 100% เหรอ
  • เราคิดเรื่องตัวเองแล้วมันกลัวยังไงไม่รู้...คิดให้ดีว่าเกรงกลัวอะไร
  • หรือเพราะไม่รู้จะให้คนช่วยอย่างไร ไม่รู้จะหาใคร ถามใครให้ช่วย

ให้ถามตัวเองหนักๆ พิจารณาให้ถี่ถ้วน

หลายๆครั้งผู้ดูแลมีความคิดฝังใจที่ไม่ใช่ว่าจะถูกเสมอเช่น

  • ฉันเป็นคนที่รับผิดชอบอาการเจ็บป่วยของคนที่ฉันดูแลอยู่ (ถึงเราจะดูแลได้ perfect สมบูรณ์แบบก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่เราหวัง)
  • ถ้าฉันไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ (ให้ลองคิดดูดีๆมองดูให้ทั่วว่า จริงๆเราแบกความรับผิดชอบไว้คนเดียวไปเองรึเปล่า จริงๆมีคนอยากช่วยแค่เราไม่อยากให้เค้าช่วยเองรึเปล่า)

หลายๆครั้งผู้ดูแลพูดหรือคิดแต่สิ่งลบๆเช่น

  • โอ๊ย ชั้นไม่มีเวลาไปออกกำลังกายหรอก หรือ
  • โอ๊ย ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ ทำไม่ได้เหมือนพยายาลทำหรอก

ให้ลองพูดแบบบวกดูบ้าง เช่น

  • จริงๆชั้นออกกำลังกายวันละ 15 นาทีก็ได้นี่นา หรือ
  • จริงๆฉันก็เก่งเรื่องอาบน้ำให้แม่นะ ฉันทำคล่องเลย

(ให้มองหาจุดแข็งของตนเอง)

เพราะว่าพฤติกรรมของเรามันมาจากสิ่งที่เราคิดในหัวหรือความรู้สึกในใจ ถ้าเราเริ่มจากการคิดดี มีทัศนคติที่ดี พฤติกรรมเราก็จะดีตามด้วย


อ้างอิง

  • http://www.familycaregiving101.org/assist/signs.cfm
  • http://www.caregiver.org/caregiver/jsp/content_node.jsp?nodeid=847
  • http://www.nfcacares.org/caregiving_resources/tips_and_tools.cfm
  • http://www.caregiver.org/caregiver/jsp/content_node.jsp?nodeid=786

 


อ่านตอนที่ 2 ได้ที่นี่ค่ะ (คลิก)

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 200761เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 02:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • น่าเห็นใจทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยนะคะ
  • และที่สำคัญผู้ดูแลผู้ป่วยก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ป่วยไปด้วย

ขอบคุณค่ะคุณnaree suwan

ใช่เลยคะ  นอนก็ไม่พอ ปวดท้องเป็นโรคกระเพาะเพราะเครียดเอาง่ายๆ จะป่วยทางใจได้ง่ายๆด้วยค่ะ burn out ง่ายมาก ถ้าเจอสถานการณ์ยากๆแถมจัดการกับจิตตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ทันอกุศลจิตตัวเอง แย่ๆก็เป็นโรคซึมเศร้าไปเลยไม่รู้ตัว

อยากเห็นในเมืองไทยมี support group ให้เค้าได้มาคุยปรับทุกข์ แบ่งปันเทคนิกวิธีการดูแลกันมากเลยค่ะ ถ้าไม่มีเป็นทางการ ก็อยากให้แต่ละคนหาเพื่อนที่เห็นใจกัน คุยกันได้ สลับกันระบาย ก็น่าจะช่วยได้ค่ะ

สำคัญคือที่จิตใจนี่แหละค่ะ ว่าเห็นว่ามันเป็นปัญหาสมกับขนาดปัญหามั้ย ถ้าเป็นคนมองหาปัญหาอยู่แล้วก็ยิ่งเครียด ถ้าเป็นคนมองเห็นภาพรวม ลำบากแต่กายแต่ใจเบาก็สบายไป แล้วแต่บารมีของแต่ละคนจริงๆค่ะ

อย่างคุณตาและคุณยายของมัท มีลูกดูแล 4 คน เป็นหมอ พยาบาล หมอฟัน ครู 3 คนอยู่ที่ระยองด้วยถาวร ส่วนแม่มัทก็ไปหาทุกเสาร์อาทิตย์ น้าที่เป็นพยาบาลก็ early retire ออกมาดูแลเลย โชคดีมากๆเลยค่ะ แถมคุณยายเองก็เป็นคนไม่ทุกข์ ท่านเป็นอัมพฤตแต่ก็บอกว่า ไม่ทุกข์เพราะไม่เจ็บ เพื่อนที่เป็นโรคอื่นเค้าเจ็บ ยายแย่ขยับตัวไม่ได้ ยายบอกว่าตอนก่อน stroke ที่ปวดหัวบ่อยๆทรมานกว่า สุดยอดเลยค่ะ ก็ให้คนอุ้มขึ้นอุ้มลงไม่มีปัญหา ยิ้มทั้งวัน

มัทนึกได้แต่ว่า เรื่องพวกนี้ไม่มีใครรู้อนาคต ทุกคนอาจมีวันที่ลำบากแบบที่นึกไม่ถึง เราทุกข์เพราะเราไม่พร้อม ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ การฝึกใจให้แข็งแรงนี่สำคัญที่สุดเลยค่ะ ว่ามั้ยค่ะ

 

สวัสดีค่ะน้องหมอมัท

ตามมาอ่านจากอนุทินค่ะ.. พออ่านไปก็นั่งนึกไปว่าจะหาแหล่ง support ที่ไหนในไทยที่พอเป็นไปได้ในการช่วยญาติผู้ป่วยบ้าง..ยังนึกไม่ออกเลยค่ะ..น่าจะเป็นแถวโรงพยาบาล

ที่ผ่านมา..เคยเห็นที่ฮาวาย...พี่เคยไปช่วยเพื่อนเป็นอาสาสมัครช่วยสอนการนวดแบบง่ายๆ อย่างถูกวิธีให้กับญาติผู้ดูแลผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยและตัวเองด้วย..เพื่อให้ผ่อนคลายไม่เครียดด้วยกันทั้วสองฝ่าย กลุ่มที่รวมตัวกันตรงนั้นน่าจะมาจากโรงพยาบาลและญาติรวมตัวกัน..จัดกิจกรรมดีๆ มีประโยชน์มานัดเจอกัน มีของว่างเล็กๆน้อยๆ ในช่วงเย็นๆที่ห้องตามโรงพยาบาล

เห็นด้วยมากๆเลยค่ะ เรื่องจิตใจของผู้ดูแลเอง เพราะพี่มีน้าสาวที่ทำหน้าที่ดูแลคุณยายตอนที่ท่านยังไม่เสีย..โดยคุณน้าจะเกษียณก่อนเพื่อดูแลคุณยาย..คล้ายๆคุณน้าน้องมัทค่ะ..คุณน้าจะเข้าใจชีวิตมีความสุขที่ได้ดูแลใกล้ๆคุณยายซึ่งเดินไม่ได้..จนกลายเป็นคุณยายเป็นห่วงน้าแทนเพราะไม่ได้แต่งงาน..กลัวว่าถ้าคุณยายไม่อยู่..ใครจะดูแลคุณน้า..กลายเป็นงั้นไป..คุณน้าเองเป็นคนที่ดูแลตัวเอง ชอบออกกำลังกาย ไม่ปล่อยตัว มีเพื่อนเยอะ ชวนไปโน่นนี่ ทำบุญบ้าง มีพี่สาวคอยโทรมาคุยให้หายเหงาเป็นระยะๆ.. ช่วยเหลือกันเรื่องกำลังทรัพย์บ้าง..ดูแลอย่างดีจนนาทีสุดท้ายของชีวิตคุณยายอายุ 93.. ทำให้รู้ว่าตัวผู้ดูแลเองสำคัญที่สุดที่ต้องรู้ใจตัวเอง..ปรับตัว..คอยเอาใจใส่ตัวเองด้วย..ต่อมาคือญาติๆ พี่น้องกันเอง..คอยร่วมด้วยช่วยกันให้กำลังใจ ไปมาหาสู่ทำให้ไม่เหงา โดดเดี่ยว..จากครอบครัวไปสู่กลุ่มที่จะช่วยเหลือกันและกันในเรื่องต่างๆ

เมืองไทยอาจจะโชคดีกว่าอเมริกาที่เราเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องเยอะใกล้ชิดกันมาแต่เล็กๆ เลยทำให้ช่วยกันดูแลกันเองในเครือญาติพี่น้อง..(ความเห็นส่วนตัว)..แต่คนที่เป็นครอบครัวเดี่ยวก็มี..ยังไงก็ขอเอาใจช่วยน้องมัทอีกคนนะคะ ถ้านึกออกหรือเช็คข้อมูลใหม่ๆที่เมืองไทยได้จะมาคุยต่อนะคะ

who care for the caregiver?เรื่องนี้เรื่องเดียวแตกยอดอ่อนได้อีกหลายกิ่งก้าน สาขา
จากประสบการณ์ตรงที่คลินิก คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่นับ(criterior)ได้(เกือบครบ)ว่าเข้าข่าย..ป่วย anxiety disorder,anxiety neurosis or depressive disorder พบบ่อยสุด

จากประสบการณ์ตรงในครอบครัวเราเอง ก็ ประสบปัญหานี้เช่นกัน
จึงต้องมี the first  ,the second ,the third caregiver

คล้าย ๆ มี the helper of the caregiver ;P

แล้วครอบครัวเดี่ยว ๆ ครอบครัวสมัยใหม่ที่มีจำนวนสมาชิกน้อย ๆ เล่า(เช่นพี่,คุณพ่อขายาวและเจ้าเด็กภู..ในอนาคต)

เดี๋ยวมาคุยอีกรอบค่ะ

ถ้าน้องมัท นำและทำ สนใจ เรื่องนี้จริง ๆ กุศลเกิด มีคนอยากช่วยแน่ ๆ(อย่างน้อยก็หนึ่งคนแล้วค่ะ)

 

ปัญหานี้ทำให้คิดว่า...
นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรทำ คือการดูแลตัวเองให้ดี ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ค่ะ
ส่วนใหญ่ คนเราไม่ค่อยดูแลตัวเองเท่าที่ควร พอเจ็บป่วย จึงมีปัญหา แก่ตัวเองและผู้อื่นมาก

เคยเห็น คนที่ต้องดูแลคนป่วยเรื้อรังหลายๆคน เขาก็เครียดกัน มากบ้าง น้อยบ้าง
บางคนเอาความรักเข้าข่ม และโชคดีมีลูกสาว ลูกเขยมาช่วย อยู่ในบ้านเดียวกัน ก็พอทำใจได้ แต่เขาก็เคยบ่นว่า เครียด
บางคน ไปเรียนธรรมะ ทำให้ทำใจได้ บางคน เป็นคนใจดี ใจเย็นอยู่แล้ว เลยปรับตัวได้...
ดังนั้น ถ้าเราจะเตรียมตัวเราไว้ ก็คงจะแก้ปัญหาไปได้มาก

พี่อุ๊จ๋า (a l i n_x a n a =)) มัทคิดเหมือนพี่เลย เมืองไทยยังไม่มีกลุ่ม support ทางการ มีแต่เค้าไปคุยกันเองในกลุ่มเพื่อน

อาจจะมีนักจิต หรือ พยาบาล ที่รพ. ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายให้เราค้นหาได้ทาง internet หน่ะค่ะ

มัทเห็นด้วยว่าครอบครัวใหญ่มีปัญหาน้อยกว่าค่ะ ถ้ามีพี่น้องแต่ 2 คนนี่ จะทะเลาะกันได้ง่ายๆค่ะ สมัยนี้มีลูกน้อย บ้านเดี่ยวหลายบ้านต้องเตรียมไว้ด้วย

ถ้าพี่อุ๊เจอข้อมูลอะไรมีประโยชน์ก็บอกมัทด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

พี่หมอเล็ก (จริยา)

ดีใจที่มีหมอมาเล่าประสบการณ์ตรงค่ะ : ) เห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นมากับตาแล้วเหมือนกันค่ะ เรื่องนี้อยู่ที่บารมีทุนเดิมแต่ละคนเลยว่า ทันสภาพจิตใจตัวเองมั้ย แล้ว ที่บ้านมี helper of the helper มั้ย

บางอย่างเราเปลี่ยนไม่ได้...แต่เราเปลี่ยนใจตัวเองได้...มัทว่าทางแก้นี้เหมือนจะยากแต่กลับกลายเป็นง่ายที่สุด?

ไว้รอพี่หมอมาคุยอีกรอบนะคะ

ใช่เลยค่ะคุณSasinand

พระพุทธสอนให้เตรียมพร้อม ไม่ประมาท สั้นๆง่ายๆเท่านี้เอง อะไรก็เกิดขึ้นได้

ขอบคุณคุณศศิมากค่ะที่ร่วมลปรร.

สวัสดีค่ะ อาจารย์มัท

ดีจังได้อ่านบทความดีๆ และขอบคุณที่จุดประเด็นสำหรับเรื่องที่น่าสนใจอย่างนี้ค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องของความสำคัญของผู้ดูแลและการดูแลทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลค่ะ

อาจารย์สบายดีหรือเปล่าคะ ช่วงนี้งานหนักไหมคะ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

พอดีมีโอกาสเห็นสิ่งดีๆ ในการดูแลทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลด้วยกันในคลินิกผู้สูงอายุที่รามาธิบดีค่ะ (อาจารย์สิรินทร ฉันศิริกาญจน และทีมงานค่ะ)เยี่ยมทั้งในเรื่องการฟังผู้ป่วยและผู้ดูแลค่ะ รวมทั้งมีคำแนะนำดีๆ สำหรับคนไข้ที่เข้ามาหาค่ะ

เอ แต่เท่าที่ทราบแพทย์เฉพาะทางผู้สูงอายุจะดูแลทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลน่ะคะ ก็เห็นในบางคลินิกที่เค้าใส่ใจผู้ดูแลเช่นเดียวกันค่ะ

ส่วนเรื่องกลุ่มสนับสนุนผู้ดูแล สำหรับผู้สูงอายุทั่วๆไป ยังไม่เห็นจริงๆค่ะ แต่อาจจะมีอยู่ในที่ที่เรายังไม่ทราบก็ได้ แต่ไม่มีข้อมูล

แต่เรื่องกลุ่มสนับสนุนผู้ดูแลสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม มีอยู่ค่ะ จัดโดยสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม โดยจะมีกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือนค่ะ ในเว็บไซด์ของสมาคมเค้าจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่มีการบรรยายและส่วนของกลุ่มสนับสนุนผู้ดูแลไว้ค่ะ เข้าไปดูได้ที่ www.azthai.org ค่ะ แต่คงไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมของกลุ่มสนับสนุนไว้ค่ะ เพราะต้องระวังเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมประชุมน่ะค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งนะคะ

คุณศิริกุลคะ

มัทได้ไปเป็นวิทยากรให้กรมอนามัยวันเดียวกับอ.อ้อยและอ.พีช ท่านน่ารักมากทั้ง 2 คนจริงๆค่ะ : )

มัท

น่าเห็นใจคนดูแลคนป่วยค่ะ แล้วก็เห็นใจคนป่วยด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์มัท

ดีใจจังค่ะ อาจารย์มัทกลับมาเมืองไทยแล้ว จริงๆแล้วก็มีอาจารย์หลายๆท่านที่ทำงานด้านนี้กันอยู่ค่ะ ยิ่งเรามีคนมาร่วมกันทำงานมากเท่าไหร่ ก็น่าจะมีข่าวดีสำหรับการดูแลผู้สูงอายุบ้านเรานะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

คิดถึงค่ะ ช่วงนี้อาจารย์มัทต้องทำงานหนักแน่ๆเลยค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท