เทคโนโลยีทางการศึกษา


เทคโนโลยีทางการศึกษา


เทคโนโลยี   พจนานุกรม
Meriam-Webster (www.m-w.com/cgi-bin/dictionary) ได้ให้รากศัพท์ของคำว่า "technology" ไว่าว่า technology มาจากคำภาษากรีก tekhnologia หมายถึง การกระทำอย่างเป็นระบบของศิลปะ(systematic treatment of an art ) โดยมาจากคำ tekhne (art,skill) + -o- + -logia (logy) และได้ให้ความหมายไว้ 3 ประเด็น คือ
- a: การประยุกต์ใช้ความรู้ในเชิงปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาเฉพาะ (เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์);
b: สมรรถนะที่เอื้อประโยชน์โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ในเชิงปฏิบัติ (เช่น เทคโนโลยีเพื่อช่วยประหยัดน้ำมันของรถยนต์)
- การกระทำเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการใช้กระบวนการวิธีการ หรือความรู้ด้านเทคนิค (เช่น เทคโนโลยีใหม่ในการจัดเก็บข้อมูล)
- ลักษณะพิเศษของขอบเขตสาขาวิชาเฉพาะ (เช่น เทคโนโลยีการศึกษา) สมาคมการศึกษาเทคโนโลยีระหว่างประเทศ (International Technology  Education Association : ITEA) ได้ให้ความหมายของ technology ไว้ 2 ประเด็น(www.emsc.nysed.gov/technology/nclb/definition.html) ได้แก่
- นวัตกรรมของมนุษย์ในการกระทำซึ่งรวมถึงการก่อเกิดความรู้และกระบวนการในการพัฒนาระบบเพื่อการแก้ปัญหาและขยายขีดความสามารถของมนุษย์
- นวัตกรรม ความเปลี่ยนแปลง หรือการดัดแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อสนองความจำเป็นและความต้องการของมนุษย์
     นอกจากนี้ หากจะดูจากพัฒนาการของประดิษฐกรรมและการใช้เทคโนโลยีระยะต่าง ๆ ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน(2542: 538) ได้ว่า เทคโนโลยี "วิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม"
ดังนั้น จากความหมายที่กล่าวมาแล้วจึงสรุปได้ดังนี้
              เทคโนโลยีเป็นการนำแนวคิด หลักการ เทคนิค ความรู้ระเบียบวิธี กระบวนการ ตลอดจนผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ทั้งในด้านสิ่งประดิษฐ์และวิธีการปฏิบัติมาประยุกต์ใช้เพื่อขยายขีดความสามารถของมนุษย์ ช่วยให้การทำงานดีขึ้น และเพื่อเพื่อประสิทธิ์ภาพและประสิทธิผลของงานนั้นให้มีมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีในวงการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีในวงการศึกษาสามารถใช้ได้ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการภายใน สถาบันการศึกษาและในการเรียนการสอน ดังนี้
 - การบริหารจัดการ สถาบันการศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เช่น การจัดทำงบประมาณ สร้างฐานข้อมูลผู้สอนและผู้เรียน สร้างเว็บไซต์ของสถาบัน สร้างฐานข้อมูลห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
     - ผู้สอน/ผู้ทบทวน การใช้เทคโนโลยีในฐานะผู้สอน/ผู้ทบทวน จะใช้ในลักษณะ เหมือนการบรรยายโดยครูผู้สอนในการให้ข้อมูลสารสนเทศใช้ในการสาธิตตามกระบวนการขั้นตอน และใช้ในการปฏิบัติเพื่อให้ผู้เรียนแก้ปัญหา ตอบคำถาม หรือ กระทำตามกระบวนการ
      - การสำรวจ ผู้เรียนสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการสำรวจข้อมูลสารสนเทศใช้เพื่อการเรียนรู้แบบค้นพบ เรียนรู้ข้อเท็จจริง หลักแนวคิด กระบวนการและกลยุทธ์ต่าง ๆ
      - อุปกรณ์เครื่องมือ เทคโนโลยีในลักษณะของอุปกรณ์เครื่องมือจะไม่เหมือนกับ การใช้เป็นผู้สอนหรือการสำรวจ แต่จะเป็นการใช้เพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอนและ สร้างชิ้นงาน เช่น ใช้ซอฟต์แวร์ประมวลคำเพื่อพิมพ์รายงาน ใช้กล้องดิจิทัลเพื่อถ่ายภาพประกอบเนื้อหาบทเรียน ใช้เครื่องวิชวลไลเชอร์นำเสนอภาพจากคอมพิวเตอร์ฯลฯ
      - การสื่อสาร ใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในระหว่างสถาบันกับผู้สอนและผู้เรียนเพื่อ ลดความสิ้นเปลืองกระดาษ สื่อสารภายนอกกับผู้ปกครองนักเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
 เทคโนโลยีกับการเรียนรู้

       ด้วยการใช้งานในลักษณะดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องมีการเรียนรู้กับเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปแล้วจะมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใน 3 ลักษณะ ได้แก่
     - การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (learning about technology) เป็นการเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ เรียนรู้ว่าคอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการประมวลผล เก็บบันทึก
ค้นคืนสารสนเทศได้อย่างไร เครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึกมีการทำงานอย่างไร เทคโนโลยีการสื่อสารมีรูปแบบใดบ้าง ช่องทางสื่อสารมีลักษณะเป็นอย่างไรและประกอบด้วยอุปกรณ์ใดบ้างฯลฯ วิชาเพื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีมีหลายวิชา เช่น วิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น วิชาเครือข่ายดิจิทัล หรืออาจเรียนรู้จากเว็บไซต์ เช่น www.intel.com ที่นำเสนอในเรื่องต่่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองในลักษณะมัลติมีเดีย
     - การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี (learning by technology) เป็นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผล การใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในการสร้างบทเรียน การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นคว้า การใช้เวิลด์ไวด์เว็บเป็นสื่อในลักษณะการสอบบนเว็บ การเรียนการสอนในลักษณะอีเลิร์นนิงและการทัศนศึกษาเสมือนด้วยแหล่งการเรียนรู้เสมือนจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นต้น
     - การเรียนรู้ไปกับเทคโนโลยี (learning with technology) เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้ของเทคโนโลยี ได้แก่ การเรียนรู้ว่าขณะนี้เทคโนโลยีมีความก้าวไกลไปในลักษณะและรูปแบบใดบ้างทั้งทางด้านวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการเช่น ซอฟต์แวร์โปรแกรมใหม่ ๆ เครื่อง tablet PC ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ไร้สายที่ผู้ใช้สามารถเขียนลงบนจอภาพได้ กล้องดิจิทัลเพื่อถ่ายภาพและเว็บแค็ม (webcam)เพื่อใช้ส่งภาพขณะสนทนาบนอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เมื่อเรียนรู้ถึงความใหม่ทันสมัยเทคโนโลยีแล้วจะนำมาประยุกต์ใช้ในวงการต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง เช่น การใช้กล้องวีดิทัศน์ถ่ายภาพการสอนส่งไปบนอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เรียนในสถานบันการศึกษาอื่นเห็นภาพและได้ยินเสียงการสอน การใช้เครือข่ายไร้สายด้วยเทคโนโลยี Wi-fi ทั้งในและนอกห้องเรียนแพทย์สามารถใช้ tablet PC เพื่อเขียนสั่งยาคนไข้และส่งไปยังห้อง ยาได้ทันที หรือใช้ในการค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตขณะปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพเหล่านี้เป็นต้น

[ข้อมูลจาก : เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา : รศ.ดร.กิดานันท์ มลิทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]

ความหมายของ "เทคโนโลยีการศึกษา" (education technology)           
          ได้มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ดังนี้
. วิจิตร ศรีสะอ้าน (2517 : 120-121)
            เป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน
. คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V.Good ,1973)
           เป็นการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการออกแบบ และส่งเสริมระบบการเรียนการสอนโดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่าในลักษณะของสื่อประสมและ การศึกษาด้วยตนเอง
 กิดานันท์ (2543)
          เป็นการประยุกต์เอา เทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา
        จากการที่นักการศึกษาและนักวิชาการท่านต่าง ๆ ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาไว้มากมาย หลายแง่มุมเพื่ออธิบายภาพลักษณ์ของเทคโนโลยีการศึกษา เป็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ความหมายของคำนี้ได้มีพัฒนการ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามการพัฒนาเทคโนโลยีนับตั้งแต่ปี
พ.ศ.2506 เป็นต้น  มาจนถึงความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันตามที่สมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (Association for Educational Communications and Technology: AECT) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความหมาย ไว้เมื่อปี พ.ศ.2537ว่า (Seels&Richey, 1994:9)
                  "เทคโนโลยีการศึกษาเป็นทฤษฎีและการปฏิบัติของการออกแบบ การพัฒนา การใช้ การจัดการ และการประเมินของกระบวนการและทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้"

[ข้อมูลจาก : เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา : รศ.ดร.กิดานันท์ มลิทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]

 

 

หมายเลขบันทึก: 199773เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2008 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ของอาจารย์กิดานันท์ มลิทอง .. ปกเหลือง ๆ ใช่ไหมครับ คุณครูอภิชัย :)

แวะมาเยี่ยมเยียนบันทึก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท