ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกียวโต: มิติใหม่ในการจัดการศึกษา


มหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษากับจิระศาสตร์วิทยา

ดร.ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ

 

โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับทางมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษามาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ ได้มีการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบ         ทีวีคอนเฟอร์เรนซ์ TV. Conference  ต่อมาปี ๒๕๔๘  ได้มีคณะนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา  Kyoto Education University เดินทางมาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้การศึกษาและศิลปวัฒนธรรมร่วมกับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา นำโดย Mr.Sazaki Naomasa (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา)     ต่อจากนั้นได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทางไกลร่วมกันระหว่างนักเรียนญี่ปุ่นกับนักเรียนโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาอีกครั้งหนึ่ง ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผ่านระบบ TV. Conference ณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ประสานงานอำนวยความสะดวกจากท่านผู้อำนวยการจิระศักดิ์ ชุมวรานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ Mr.Sazaki ได้บินมาเจรจาทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา ร่วมกับท่านโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา โดยท่านผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้มอบหมายให้ ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน   เป็นผู้แทนเจรจา        ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าทางมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา และมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น จะนำนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาศึกษาศาสตร์  มาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  ณ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  ซึ่งนักศึกษาดังกล่าวจำนวน ๑๒ คน และอาจารย์ผู้ควบคุม จำนวน ๔ คน ได้มาฝึกประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านการจัดการเรียนการสอน ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

            ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ มกราคม ๒๕๕๑ Mr. Naomasa  Sazaki  จากมหาวิทยาลัยเกียวโต พร้อมด้วย Miss. Miyamoto Natsue อาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนประถม Sugaharahigasi  ซึ่งเป็นครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ดีเด่น ระดับชาติ       ได้เดินทางมาสอนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา โดยมีอาจารย์ไพจิตรา อุ้มบุญ ทำหน้าที่เป็นผู้สอนร่วมกันและเด็กชายคเณศ  ทาคากิ หรือมีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า โคตะ ทาคากิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ทำหน้าที่เป็นล่าม

  

            จากความร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา กับมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาสู่สากล ส่งผลต่อความภาคภูมิใจของนักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ดังเช่น เด็กชายเขตตะวัน  เกตุวงศ์ หัวหน้าชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕/๒ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ร่วมกับเพื่อนๆนักเรียนและครูชาวญี่ปุ่น อยากให้โรงเรียนจัดกิจกรรมร่วมกับประเทศญี่ปุ่นเช่นนี้อีกและเด็กหญิงปริญญาภรณ์  ไวยวิญญา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕/๒ กล่าวว่า การเรียนร่วมกับครูชาวญี่ปุ่นครั้งนี้นอกจากจะได้ทำการทดลองวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย และในอนาคตหากมีโอกาสอยากไปศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น  

สำหรับการจัดกิจกรรมร่วมกับประเทศญี่ปุ่นยังมีโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ดังคำกล่าวของผู้ช่วยศาสตราจารย์ซาซากิ ที่ว่า โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาเป็นพันธิมตร เครือข่ายที่สำคัญทางการศึกษา  เราจะร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศทั้งสอง ให้วัฒนาสถาพรสืบไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 199352เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2008 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท