การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion - FGD)


การสนทนากลุ่มแนวทางการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion – FGD) แนวทางการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม

                การสนทนากลุ่มย่อย (Focus group discussion – FGD) เป็นเทคนิคและวิธีการหนึ่งของการดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาใดๆ ของภาครัฐและเอกชน ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต้องการให้ประชา ชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบจากโครงการ ดังปรากฏชัดเจนในมาตรา 59 ที่บัญญัติไว้ดังนี้ บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่ง แวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่นและมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎ หมายบัญญัติ  

ในที่นี้จะพูดถึงการนำเทคนิคการสนทนากลุ่มย่อยมาประยุกต์ใช้ในการนำไปสู่การพัฒนาองค์กร (Organization Development – OD) และการพัฒนาบุคลากร (Human Development -HD)

การสนทนากลุ่มย่อย (Focus group discussion – FGD) ในทางปฏิบัติจะรวมไปถึงการปรึกษาหารือด้วย (Public consultation) กับกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นเทคนิคและวิธีการที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งของการทำกิจกรรม การมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากผู้เข้าร่วมการสนทนาทุกคนจะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกันเองที่สุด

            นอกจากนั้น การสนทนากลุ่มย่อยยังถือเป็นการศึกษาเพื่อนร่วมงานและพนักงานในองค์กรและสามารถทำให้ผู้ที่เข้าร่วมสนทนาเปิดเผยความในใจของตนเองออกมามากที่สุด หากผู้ดำเนินการมีประสบ การณ์และมีเทคนิคที่ดี นอกจากนั้นการสนทนากลุ่มย่อยยังเป็นวิธีหนึ่งที่ประหยัดเงินและเวลา แต่ต้องมีการวางแผนเตรียมการอย่างเหมาะสม  ระหว่างการสนทนาผู้ดำเนินการจะเป็นผู้คอยจุดประเด็นการสนทนาตามที่ได้เตรียมการไว้แล้วเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ร่วมสนทนาได้แสดงความคิดเห็นด้วยตลอดเวลา และจะต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองด้วยก่อนการเริ่มสนทนาทุกครั้ง

 

ประโยชน์ของการสนทนากลุ่มย่อย

1. เพื่อให้ผู้ที่เข้าสนทนามีส่วนร่วมและสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้อย่างแท้จริงและเปิดเผย

2. เพื่อศึกษาและเรียนรู้ความคิดเห็นตลอดจนความต้องการในเชิงบวกของผู้ที่ร่วมสนทนา

3. เพื่อวัดความรู้ ความเข้าในและความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของพนักงานที่มีต่อองค์กร

4.   เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์กับพนักงาน ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ มากขึ้น

5.  เพื่อสร้างความเป็นกันเองระหว่างพนักงานด้วยกันและระหว่างพนักงานกับผู้บังคับบัญชาของตนเอง

6.  เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะตลอดจนคำแนะนำที่อาจมีประโยชน์ต่อองค์กรทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม 

7. เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้จากการสนทนากลุ่มย่อยไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงงานและใช้เป็นข้อมูลใน การพัฒนาบุคลากรขององค์กรต่อไป

 

หลักและวิธีการดำเนินการในการทำ สนทนากลุ่มย่อย

1. มีผู้ดำเนินการหนึ่งคน และผู้ช่วยผู้ดำเนินการ(ผู้คอยจดบันทึก - สรุปผล) อีกหนึ่งคน รวมสองคน

2. มีผู้ร่วมสนทนากลุ่มละประมาณ 10 - 12 คน  โดยนั่งล้อมรอบผู้ดำเนินการและผู้ช่วยผู้ดำเนินการ

3. ผู้ดำเนินการควรจดประเด็นการพูดคุยไว้ เพื่อกันการลืมระหว่างการสนทนา

4.  ควรสร้างบรรยากาศก่อนการสนทนาให้เกิดความเป็นกันเองให้มากที่สุด โดยอาจเริ่มการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการไปก่อน

5. ผู้ดำเนินการจะต้องจำชื่อผู้ที่ร่วมสนทนาให้ได้ทุกคน ถ้าเกรงว่าจะจำไม่ได้ให้ใช้วิธีจดชื่อไว้ในสมุดบันทึกตามตำแหน่งที่คนๆ   นั้นนั่งอยู่

6. เริ่มการสนทนาโดยพูดเรื่องที่ใกล้ตัวของผู้ร่วมสนทนาก่อน เช่น คุยเรื่องงานในหน้าที่ ณ ปัจจุบัน

7. พยายามให้ผู้ร่วมสนทนาทุกคนได้มีส่วนในการออกความคิดเห็นและได้ร่วมพูดมากที่สุดและอย่างทั่วถึง  

     (เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของผู้ดำเนินการที่ต้องมีประสบการณ์การทำสนทนากลุ่มย่อยมาก่อน)

8. ระยะเวลาการสนทนา ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ (ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป ผู้ร่วมสนทนาจะเบื่อหน่ายได้)

9. สถานที่สนทนาไม่ควรมีเสียงรบกวนมากนัก อาจใช้ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขกหรือถ้ามีสนามหญ้าหรือร่มใต้ ต้นไม้นอกอาคารก็ได้แล้วนั่งล้อมวง

10. เวลาในการสนทนา ควรเป็นเวลาที่ผู้ร่วมสนทนาว่างจริง ๆ เพื่อทุกคนจะได้อยู่ร่วมสนทนาจนจบ ไม่ลุกออกไปก่อนการสนทนาจะเสร็จสิ้น

11. ผู้ช่วยสามารถช่วยซักถามหรือร่วมสนทนาด้วยได้ โดยเฉพาะบางประเด็นที่ผู้ดำเนินการอาจตกหล่นบ้าง

12. หลังการสนทนาเสร็จในแต่ละกลุ่มแล้ว ผู้ดำเนินการและผู้ช่วยควรมาสรุปผลสั้นๆ และวิเคราะห์ร่วมกัน

 

หมายเหตุ   ผู้ที่จะเป็น ผู้ดำเนินการ ( Moderator) จำเป็นต้องได้รับการฝึกปฏิบัติโดยการเป็นผู้ช่วย (Assistant) มาก่อน

                                                   

ผลลัพธ์โดยรวมที่จะได้จากการสนทนากลุ่มย่อย

 

การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินโครงการที่ต้องการความโปร่งใส (Transparency) ความร่วมแรง ร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากคนในองค์กรเดียวกัน ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) โดยตรง ซึ่งจะสามารถลดความขัดแย้งลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้รับทราบความต้องการที่แท้จริงของพนักงานในส่วนต่างๆ ขององค์กรด้วย

การสนทนากลุ่มย่อย (Focus group discussion) เป็นวิธีการที่ดีและดูจะเหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทยวิธีหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะของการแลก เปลี่ยนความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เสรีของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการสื่อสารสองทาง (Two - way communication)

 

การสนทนากลุ่มย่อยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ผู้เขียนได้ประยุกต์มาหลายครั้งจนคิดว่าเข้ากับลักษณะนิสัยของคนไทยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงเสมือนการสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมือนการประชุม แต่เป็นการสนทนาอย่างเป็นกันเองในลักษณะ การจับเข่าคุยกัน ซึ่งผู้ดำเนินการ (Moderator) จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบ การณ์ในการนำการสนทนากลุ่มย่อยมามากพอสมควร รวมทั้งมีเทคนิคและวิธีการที่จะทำให้การสนทนาได้ รับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ได้รับข้อเสนอแนะการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้ร่วมสนทนา เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับจากการสนทนากลุ่มย่อยในแต่ละครั้ง

หมายเลขบันทึก: 198852เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท