กลไกทำงานแบบสหวิทยาการ : ๒. TU-RAC


 

          วันที่ ๒๒ ก.ค. ๕๑ ผมได้รับเชิญจาก TU-RAC http://turac.tu.ac.th/   ไปร่วมงานฉลองครบรอบ ๑๐ ปีแห่งการก่อตั้งและประสบความสำเร็จ    โดยผมมีหน้าที่ร่วมอภิปรายเรื่อง ทิศทางการวิจัยของประเทศไทยในอนาคต   ร่วมกับ รศ. นรนิต เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีผู้ก่อตั้ง TU-RAC และ ศ. ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์   โดย ศ. ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ พูดเรื่อง “แนวทางวิจัยและพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกสำหรับประเทศไทย”  ท่านเตรียมเอกสารมาแจกอย่างดี 

  
          ผมเตรียมไปพูดเน้นที่การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตามที่เจ้าภาพกำหนดไว้


          ผมชี้ให้เห็นว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้น มีธรรมชาติหลากหลายและซับซ้อน   และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านอื่นๆ อย่างแยกกันไม่ออก    มองเชิง macro หรือภาพใหญ่ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพมีเป้าหมายหลักๆ อยู่ ๔ ประการ

๑. เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ในการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัดโรค และฟื้นฟูสภาพ   เรื่องนี้ประเทศไทยมีขีดความสามารถหรือ niche อยู่ที่ clinical data ที่เราจะต้องมี data management อย่างดี ได้มาตรฐาน    ตัวอย่างเช่น clinical data ของโรคไข้เลือดออก   สำหรับการวิจัยจีโนมิก หรือ โพสต์จีโนมิก
๒. เพื่อพัฒนาระบบ   เรื่องนี้ประเทศไทยเราค่อนข้างก้าวหน้า    เพราะเรามี สวรส. มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕    และเรามี สสส. มา ๖ ปี    ปีที่แล้วเกิด สช.   ระบบสุขภาพที่เรากำลังขับเคลื่อนเป็นการมองภาพใหญ่ คือระบบสุขภาวะ ไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ    และเราขับเคลื่อนระบบสุขภาวะที่เน้นสร้างนำซ่อม   เน้นทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน เพื่อสุขภาวะ
๓. เพื่อพัฒนางานประจำ  R2R ของศิริราช http://www.si.mahidol.ac.th/r2r   เครือข่ายที่ขับเคลื่อนโดย สวรส. http://www.hsri.or.th/th/whatnews/detail.php?id=19&key=activity    และการขับเคลื่อนผ่าน บล็อก http://gotoknow.org/post/tag/r2r 
๔. เพื่อสร้างความรู้ใหม่ ที่เรียกว่า Basic Research   หรืออาจเรียกว่า Researchers – Initiated Research   ผลลัพธ์นำไปตีพิมพ์ ยิ่งตีพิมพ์ในวารสารที่ Impact Factor สูง ก็ยิ่งแสดงว่าใหม่มาก สำคัญมาก    แต่ก็ไม่เสมอไป

          แต่เมื่อได้ไปร่วมงานจริงๆ ผมเกิดความคิดว่า  TU-RAC คือกลไกเชิงสถาบัน ที่กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการทำงานสหวิทยาการ   คือใช้การตั้งสถาบันที่ทำงานวิจัยเชิงบริการที่ปรึกษาวิชาการ เป็นกลไกรวมคนจากต่างสาขาวิชามาทำงานเป็นทีม   มีการจัดการการรวมทีม การติดต่อประสานงานกับผู้ว่าจ้าง การติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกของทีม ซึ่งอยู่ใน มธ. เป็นส่วนใหญ่ และมีคนนอก มธ. ด้วย   กิจการของ TU-RAC เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ   จนในปี ๒๕๕๐ มีรายรับถึง ๕๐๖ ล้านบาท   และส่งเงินให้แก่ มธ. ถึง ๓๐ ล้านบาท


          ผมได้เสนอในที่ประชุมว่า TU-RAC เป็นกลไกสร้างความรู้หรือเทคโนโลยีด้าน การจัดการงานวิจัยสหวิทยาการ ที่เป็นงานวิจัยเชิงบริการที่ปรึกษา    ถ้ามีการรวบรวม และเขียนเผยแพร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นอันมาก


 
กำหนดการ
การจัดงาน “ครบรอบ ๑๐ ปี TU-RAC”

วันอังคารที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลา ๘.๓๐ น. ถึง ๑๓.๐๐ น.
ณ ห้องหลานหลวง โรงแรม รอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง

 

เวลา ๘.๓๐-๙.๐๐ น.   ลงทะเบียนและรับของที่ระลึก
เวลา ๙.๐๐-๙.๐๕ น.   รศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและ ให้คำปรึกษาฯ กล่าวรายงาน
เวลา ๙.๐๕-๙.๑๕ น.   ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน
เวลา ๙.๑๕– ๙.๓๐ น. ชมวีดีทัศน์  ประวัติความเป็นมา ผลการดำเนินงานและ บทสัมภาษณ์จากผู้บริหารของสถาบันฯทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เวลา ๙.๓๐–๑๐.๓๐ น. ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ มอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่
                              - หน่วยงานผู้ว่าจ้าง
                              - นักวิจัย
                              - อดีตคณะกรรมการอำนวยการสถาบัน
เวลา ๑๐.๓๐–๑๒.๐๐ น. การเสวนาเรื่อง “ทิศทางการวิจัยของประเทศไทยในอนาคต” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
                              - ด้านสังคมศาสตร์
                                รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร  ประธานสภาพัฒนาการเมือง
                              - ด้านวิทยาศาสตร์
                                ศ.ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร
                              - ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
                                ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
                              - รศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
                              เวลา ๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน (โต๊ะจีน)

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ค. ๕๑

                           

หมายเลขบันทึก: 197756เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท