NOC : Workshop การออกแบบระบบสุขภาพชุมชน


อาจารย์ของเราเป็นคนสู้งาน

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เราจัด workshop เรื่องการออกแบบเครื่องมือในการดูแลสุขภาพชุมชน สำหรับอาจารย์พยาบาล สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ Yeorer’s Beach Resort ซึ่งอยู่ริมทะเล ห่างจากมหาวิทยาลัยประมาณ ๒๐ กว่า กม.

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ซึ่ง ดิฉัน ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล และ ผศ.ดร.เกียรติกำจร กุศล ได้เข้าประชุมพร้อมทีมจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่กรุงเทพมาแล้ว เราต้องเอาประสบการณ์ที่ได้มาจัดการประชุมสำหรับอาจารย์ และต่อไปจะต้องจัดให้แก่ทีม อปท., รพช. ด้วย

ที่ต้องจัดการประชุมในวันอาทิตย์ ซึ่งควรจะเป็นเวลาสำหรับครอบครัว ก็เพราะในวันทำการอาจารย์หลายท่านมีภารกิจการสอนในคลินิก อาจารย์ทุกคนเสียสละเวลาส่วนตัวมาประชุมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เราเตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้ใช้เวลาในการประชุมอย่างกระชับ โดยชี้แจงวัตถุประสงค์ แจกโจทย์ ๕ ข้อและหนังสืออ่านประกอบตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑

คณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักวิชาออกเดินทางจากที่พักกันแต่เช้า ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในเมืองออกเดินทางตั้งแต่ ๐๗ น. ส่วนผู้ที่พักอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยและบริเวณใกล้เคียง ก็ออกเดินทางประมาณ ๐๗.๓๐ น. ทุกคนไปถึงรีสอร์ทพร้อมๆ กันในเวลาเกือบ ๐๘ น. เรารับประทานอาหารเช้ากันก่อน เป็นข้าวต้มปลากะพง ไข่ต้ม (จริงๆ ทางร้านจะทำไข่ลวก แต่เผลอไปหน่อย) ขนมปังปิ้ง ทาเนยหรือแยม กาแฟ

รับประทานอาหารเช้าเสร็จ ยังไม่ถึง ๐๙ น. เราก็เริ่มกิจกรรมกันเลย แบ่งอาจารย์ออกเป็น ๒ กลุ่ม แยกมุมกันทำงานที่ห้องอาหารนั่นแหละ ทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเตรียมแต่กระดาษสำหรับ Flipchart ไป แต่ไม่ได้เอาขาตั้งไปด้วย พี่กัลยาเจ้าของร้านแนะนำให้ใช้โต๊ะอาหารแทน  เราตะแคงโต๊ะแล้วยกขึ้นวางบนโต๊ะอีกตัว ได้ Flipchart อย่างที่เห็นในรูป

 

Flipchart แบบเก๋ไก๋

โจทย์ในการทำงานกลุ่มมี ๕ ข้อดังนี้
- ปฏิบัติการ ๑ กระบวนการหาและใช้ทุนทางสังคมในชุมชน
- ปฏิบัติการ ๒ การศึกษาชุมชน
- ปฏิบัติการ ๓ การออกแบบบริการสุขภาพ
- ปฏิบัติการ ๔ การพัฒนานโยบายสุขภาพในระดับพื้นที่
- ปฏิบัติการ ๕ การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพชุมชนสำหรับประชากรเป้าหมายแต่ละกลุ่ม

ดิฉันอยู่กลุ่ม ๑ กลุ่มเดียวกับอาจารย์เกียรติกำจร อาจารย์ในกลุ่มประกอบด้วย ผศ.รวมพร คงกำเนิด ดร.จิราภรณ์ สรรพวีรวงศ์ อาจารย์อรเพ็ญ สุขขะวัลลิ อาจารย์ชิดชนก มยูรภักดิ์ อาจารย์จรวย สุวรรณบำรุง อาจารย์เรวดี เพชรศิราสัณห์ อาจารย์นิดารัตน์ ชูวิเชียร และอาจารย์อุไร จเรประพาฬ


กลุ่ม ๒ นำโดยอาจารย์นัยนา ผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร ผศ.ดร.จอม สุวรรณโณ ผศ.ดร.ทัศน์ศรี เสมียนเพชร อาจารย์ลัดดา เถียมวงศ์ อาจารย์กนกวรรณ ตันตระเสนีย์รัตน์ และอาจารย์อภิรยา พานทอง

รูปแบบการทำงานในกลุ่ม ไม่ได้กำหนดว่าใครเป็นประธาน ใครเป็นเลขาฯ แต่ให้มีคนคอยเขียน Flipchart ดิฉันสังเกตว่าการทำงานในกลุ่มเป็นไปด้วยดี ทุกคนช่วยกันคิดและแสดงความเห็นกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเมื่อใกล้หมดเวลา กลุ่มที่ดิฉันอยู่นั้นลุกขึ้นมายืนอยู่หน้า Flipchart เกือบทั้งหมด แยกกลุ่มย่อยช่วยกันเขียน เนื่องจากอีกกลุ่มส่งเสียงเฮว่าทำงานเสร็จแล้ว

 

บรรยากาศการทำงานของกลุ่ม ๑ <p style="TEXT-ALIGN: center"></p> <table border="0"><tbody><tr>

</tr></tbody></table> กลุ่ม ๒ ดูสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด

ช่วงเช้าเราทำงานปฏิบัติการ ๑-๓ ได้เวลา ๑๑.๐๐ น. ก็ผลัดกันนำเสนอผลงาน ถึงจะได้โจทย์เหมือนๆ กัน แต่การหาคำตอบของแต่ละกลุ่มก็มีวิธีคิดที่แตกต่างกัน ทุนทางสังคมในชุมชนที่ช่วยกันค้นหามีมากมายจริงๆ ถ้าเราคิดกันเพียงคนสองคน อาจจะไม่ได้หลากหลายอย่างนี้ เมื่อการนำเสนอแล้วเสร็จ อาจารย์นัยนาซึ่งมีประสบการณ์สูงด้านงานชุมชนก็ให้ความเห็นและข้อแนะนำเพิ่มเติม

ระหว่างที่กำลังนำเสนอผลงานกลุ่มอยู่นั้น พี่กัลยาเจ้าของร้านเอาปลากะพงเป็นๆ ขนาดประมาณ ๕ กก.มาโชว์ว่าเพิ่งมีคนตกได้แล้วเอามาขาย อาจารย์ทัศน์ศรีอยากจะซื้อเอาไปปล่อยกลับทะเล แต่พี่กัลยาบอกว่าถึงเอาไปปล่อยเดี๋ยวก็ถูกจับมาอีกเหมือนเดิม (ปล่อยไปก็ไม่รอด)

 

บรรยากาศการนำเสนอผลงานกลุ่ม ขวา ปลากะพงขาวตัวใหญ่

อาหารกลางวันเป็นสเต็กปลากะพง (คนละตัวกับที่เพิ่งได้มา) สลัดผัก+ไข่ต้ม และผลไม้

 

ทิวทัศน์ริมทะเล

อิ่มแล้ว เวลา ๑๒.๔๐ น. เริ่มทำงานต่ออีก ๒ ข้อ ไม่น่าเชื่อใช้เวลาเพียง ๑ ชม.ก็เรียบร้อย การเตรียมการล่วงหน้าของเราน่าจะมีส่วนช่วยให้การประชุมเดินไปได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับพวกเราเองก็มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนมาพอสมควร

ในการออกแบบระบบบริการสุขภาพ กลุ่ม ๑ ใช้กรอบ input, process, output ส่วนกลุ่ม ๒ ใช้ PDCA อาจารย์นัยนาให้ข้อคิดว่าการทำนโยบายนั้น ประเด็นต้องชัด นโยบายจะออกได้ ภาคีจะต้องมาคุยกัน ที่เราทำในวันนี้เราคิดแทนหลายฝ่าย เช่น รพช. อปท.ฯลฯ ถ้าทำงานกับพื้นที่ ต้องให้เขาคิดเอง และควรจะถามว่าอะไรที่เขามีอยู่แล้วบ้าง รูปแบบจะต้องไม่ complicate มาก

ต่อจากนั้นเราหารือเรื่องกิจกรรมเสริมหลักสูตรสำหรับนักศึกษาในโครงการ NOC ว่าแต่ละปีควรให้นักศึกษาทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้เขารู้จักชุมชนของตน มีความผูกพันกับชุมชนมากขึ้น เมื่อจบแล้วสามารถกลับไปทำงานในชุมชนของตนได้

อาหารว่างภาคบ่ายเป็นลอดช่องน้ำกะทิใส่ชามที่เราใช้รับประทานข้าวต้มมื้อเช้า และยังมีผลไม้เป็นมะม่วงและสับปะรด

จบงานอาจารย์บางส่วนขอกลับก่อน ส่วนที่เหลืออยู่ชื่นชมบรรยากาศชายทะเล ไม่มีใครเปลี่ยนเสื้อผ้าลงเล่นน้ำ อาจารย์ชิดชนกและอาจารย์เรวดีพับขากางเกงลงเล่นคลื่นเบาๆ แถวริมฝั่ง อาจารย์เกียรติกำจรเปลี่ยนกางเกงขายาวเป็นกางเกงสีสวยขาสั้นแค่เข่า เราเดินเล่นที่หาดทราย ไปเจอดงต้นสนทะเลต้นเล็กๆ จึงถอนมาส่วนหนึ่ง กะจะเอาไปปลูกที่บ้าน ได้เวลา ๑๖ น. เราทั้งหมดออกเดินทางกลับที่พัก

บรรยากาศการประชุมในวันนี้ดูสบายๆ ทุกคนผ่อนคลาย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันดี มีเสียงหัวเราะ เสียงหยอกล้อกันให้ได้ยินเป็นระยะๆ

ดิฉันรู้สึกชื่นชมอาจารย์ทุกคนที่ทำงานกันอย่างจริงจัง เรามีอาจารย์ทั้งสำนักวิชาเพียง ๑๙ คน อาจารย์แต่ละคนมีภาระงานสอนมาก แต่ก็ยังมีผลงานวิจัยและงานบริการวิชาการไม่น้อยหน้าสถาบันการศึกษาพยาบาลอื่นๆ ที่มีจำนวนอาจารย์มากกว่าของเรามากมาย ดิฉันสังเกตพบว่าอาจารย์ของเราเป็นคนสู้งาน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 197677เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมมาร่วมเรียนรู้กับอาจารย์ครับ

 

 

นี่คือการทำหน้าที่ผู้นำที่ควรถือเป็นตัวอย่างครับ

วิจารณ์

ขอบพระคุณอาจารย์วิจารณ์ค่ะ

วัลลา

ได้ร่วมเรียนรู้และชื่นชมอาจารย์เป็นอย่างยิ่งค่ะ

ขอเรียนถามอาจารย์ว่า โครงการนี้ทุกภาควิชาทุกคนมีส่วนร่วมใช่ไหมค่ะ

ที่อุบล จะเสนอให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเช่นกันค่ะเพราะมองว่าทุกคนจะได้ร่วมเรียนรู้ไม่ควรมองว่าเป็นงานของกลุ่มวิชาอนามัยชุมชนเท่านั้น

แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นเลยค่ะ เพียงแต่เสนอแนวคิดให้อาจารย์บางส่วนและผู้บริหารรับทราบ

สุรีย์ ศิษย์โทรุ่น 9 รามาค่ะ

สวัสดีค่ะคุณสุรีย์

การรับนักศึกษาเข้ามาเรียนเป็นเรื่องของคนทั้งคณะ/สำนักวิชา ดังนั้นอาจารย์ทุกคนจึงมีส่วนร่วม ไม่ใช่โครงการเฉพาะกลุ่มวิชาอนามัยชุมชนค่ะ ถือเป็นโอกาสที่อาจารย์ในกลุ่มวิชาต่างๆ จะได้เรียนรู้เรื่องชุมชนไปด้วย

วัลลา

แวะมาเยี่ยม ร่วมเรียนรู้ งานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท