รำลึกถึง ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ครูของผม


 

          ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ ก.ค. ๒๕๔๙ เป็นเวลา ๒ ปีเศษมาแล้ว   แต่ความดีงามของท่านยังอยู่ในความทรงจำของผมอย่างแจ่มชัด   ผมจึงดีใจมากที่ได้รับเชิญให้ร่วมเสวนาเรื่อง “ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต นักการศึกษาของไทย” ในวันที่ ๒๖ ก.ค. ๕๑ ร่วมกับ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

         คุณงามความดีของ ศ. ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต มีหลากหลายด้านมาก   เฉพาะด้านการศึกษาก็หลากหลาย ยากที่จะนำมากล่าวอย่างครบถ้วนได้    ด้านที่ผมอยากย้ำคือ การ  capture ศักยภาพของคน และเข้าไปอำนวยโอกาสให้ผู้มีศักยภาพนั้น ได้พัฒนาตนเองขึ้นมาทำคุณประโยชน์แก่สังคม   ศ. ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต ได้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มโครงการศึกษาที่ส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จำนวนมากมายหลายโครงการ    ดังที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “การศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถ และนวัตกรรมการเรียนรู้ในประเทศไทย”   จัดพิมพ์เผยแพร่โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศ. ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต
          สิ่งที่ผมอยากย้ำก็คือ ในสังคมของเรา มี untapped potential ที่อยู่ในคน มากมาย    ที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย หรือสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย   ท่าน ศ.ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต เป็นตัวอย่างของคนที่มีศักยภาพสูงมาก และสังคมไทยโชคดีที่ท่านเกิดมาถูกจังหวะ    ได้รับการพัฒนาศักยภาพ กลายเป็นโอกาส จึงได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศเอนกอนันต์  
          ผมเตรียมไปพูดรายละเอียดเรื่องเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในแนวของการ tap potential ในคน คือ “บทบาทของ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ต่อทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก”   ซึ่งผมคิดว่าเป็นเป้าหมายรายทาง หรือหลักไมล์ที่สำคัญยิ่งเป้าหมายหนึ่งของการศึกษาไทย    คือเกิดความมั่นใจว่าอุดมศึกษาไทยมีความพร้อมที่จะผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับต่างประเทศ
 
          ที่จริง ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ได้สร้างคุณูปการริเริ่มสิ่งต่างๆ ให้แก่สังคมไทยมากมาย   มีรายละเอียดอ่านได้ที่นี่    และผมเคยเขียนบันทึกถึงท่านอ่านได้ที่   และคุณแอนน์ เพื่อนร่วมงานของผม ได้เขียนบันทึกถึงท่านไว้ที่ ๒  

          ผมขอย้ำว่า ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (http://rgj.trf.or.th/thai/thai.asp)   มีส่วนเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในวงการอุดมศึกษาไทย   เปลี่ยนจากเดิมที่เชื่อว่าเรายังไม่พร้อมที่จะผลิตบัณฑิตปริญญาเอกที่มีคุณภาพดีเท่ากับที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ    มาเป็นมั่นใจว่าเราทำได้   เพราะเราได้พิสูจน์แล้วจริงๆ   และศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ในสังคมไทย

          ตอนต้นปี ๒๕๓๙ หลังจาก สกว. ทำงานมาได้เกือบ ๓ ปี    และเริ่มได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ  เริ่มมีผลงานให้สังคมรับรู้    คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่มี ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน ก็มีดำริว่า    หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัย และทำงานวิจัย ยังไม่ได้ทำความรู้จักกัน และยังไม่ได้หาลู่ทางร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น   จึงมอบให้ฝ่ายบริหารของ สกว. ซึ่งตอนนั้นผมเป็นผู้อำนวยการ ชักชวนหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ทั้งในภาครัฐและเอกชน    ไปร่วมประชุมกันที่ชะอำในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เป็นเวลา ๒ วัน   หน่วยงานที่ไปเท่าที่จำได้มี สวทช.,  สวรส.,  ทบวงมหาวิทยาลัย,   วช.,  กระทรวงวิทยาศาสตร์,  ศูนย์วิจัยของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย,  ศูนย์วิจัย ปตท.,  นักวิจัย,  และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง    รวมประมาณ ๓๐ – ๔๐ คน   เป้าหมายของการประชุมก็เพื่อหาทางร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่งานวิจัยของประเทศ
          ข้อมูลที่นำมาแลกเปลี่ยนกันบอกชัดเจนว่า  ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนนักวิจัยอย่างหนัก   การดำเนินการสนับสนุนให้การวิจัยของประเทศมีความเข้มแข็งทำไม่ได้ในสภาพขาดแคลนนักวิจัยเช่นในขณะนั้น    คนที่พูดชัดเจนที่สุดในการประชุมคือ รศ. ดร. ศลักษณ์ ทรรพนันทน์
          ทีม สกว. กลับมาจากที่ประชุมครั้งนั้นด้วยความเข้าใจ ตาสว่างขึ้นว่าที่ทำงานสนับสนุนการวิจัยให้มีผลงานที่มีคุณภาพสูง ทำได้ด้วยความยากลำบากเพราะสภาพขาดแคลนนักวิจัยนี่เอง    ที่จริงก่อนหน้านั้นเราก็ตระหนักในปัญหานี้ แต่เรายังไม่เห็นภาพชัด    หลังการสัมมนาครั้งนั้น ภาพปัญหาขาดแคลนนักวิจัยชัดแจ๋วแหวว  
          เรากลับมีคิดและถกเถียงกันต่อที่ สกว. ว่า สกว. จะทำอย่างไรดี   มีหน่วยงานใดที่ไปร่วมประชุมจะจับหัวใจของการสัมมนากลับมาดำเนินการบ้างไหม   เราไม่เห็นวี่แวว    เราเรียนปรึกษาท่านประธานคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย คือ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ว่า สกว. น่าจะให้ทุนสนับสนุนการทำปริญญาเอก เพื่อสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพสูง   ท่านก็เห็นด้วย
          ในขณะนั้น ประเทศไทยผลิตบัณฑิตปริญญาเอกได้ปีละประมาณ ๑๐๐ คน  ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นสาขาการศึกษา    โดยที่ตอนนั้นยังไม่มีการกำหนดว่าผู้ที่จะจบปริญญาเอกต้องตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติที่มีคุณภาพสูงก่อน
          เราคิดกันว่า ทุนที่จะให้เรียนปริญญาเอกนี้ ที่จริงเป็นทุนทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์    และต้องหาทางดึงดูดเด็กเก่งเข้าเรียนกับอาจารย์ที่เป็นนักวิจัยชั้นยอดอยู่แล้ว   จึงคิดกันว่าต้องให้ทุนการศึกษาในลักษณะ “จ้างเรียน” คือมีเงินเดือนให้ในระดับที่สูงกว่าไปทำงานราชการ    และเมื่อเรียนบแล้วก็ไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องเข้ารับราชการ    และไม่ระบุด้วยว่าต้องทำงานในประเทศไทย โดยหวังว่าการเรียนตลอดเวลา ๕ ปี (จากปริญญาตรีไปเอก) จะทำให้เขามีความคล่องตัวที่จะทำงานวิจัยในสภาพของสังคมไทย    ถ้าจะมีคนไปทำงานต่างประเทศบ้างก็หวังว่าจะน้อยมาก  
          ท่านอาจารย์สิปปนนท์ท่านร่วมฝันกับเราเต็มที่    และปล่อยให้เราคิดนอกกรอบกันตามสบายโดยไม่ห้ามปราม  ทำให้เราคิดกันสนุกสนานมาก    ที่จริงวัฒนธรรมการทำงานแบบฝันแล้วทำนี้เราเริ่มรู้ใจกันแล้วระหว่างท่านประธานฯ, กรรมการนโยบายฯ หลายท่าน,   และพวกเราทีมบริหาร สกว.
          ผมยกร่างตัวเลขแผนโครงการด้วยลายมือในเศษกระดาษ    แล้วเจ้าหน้าที่จัดพิมพ์เป็นเอกสารเอาเข้าที่ประชุม บอร์ด หรือคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ด้วยตัวเลขผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก ๕๐,๐๐๐ คน ใน ๒๕ ปี   คือเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ คน    โดยประมาณการตัวเลขจากความขาดแคลนนักวิจัยในขณะนั้น    และคิดเป็นสัดส่วนง่ายๆ ว่า    ถ้าโครงการนี้ผลิตปริญญาเอกให้ประเทศ ๑/๓ – ๑/๒ ของจำนวนทั้งหมด    ใน ๒๕ ปี จะมีปริญญาเอกเพิ่มขึ้น ๕๐,๐๐๐ คน    คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร ๖๐ ล้านคนก็เพิ่มขึ้นเพียง ๘ คน ต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คนเท่านั้น   ซึ่งนับว่าน้อยมาก
          เมื่อนำเสนอร่างโครงการในที่ประชุม บอร์ด สกว. ก็ถูกติงว่าเป็นการคิดที่ “เว่อร์” ไป    จะผลิตมากจนล้นความต้องการ    เพื่อประนีประนอม เราจึงลดตัวเลขลงครึ่งหนึ่ง เหลือ ๒๕,๐๐๐ คน ใน ๒๕ ปี   โดยแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือช่วงทดลอง ๑๕ ปีแรก ผลิตเฉลี่ยปีละ ๕๐๐ คน    รวม ๕,๐๐๐ คน (ใช้เวลาผลิตคนละ ๕ ปี โดยเน้นจากปริญญาตรีไปเอก)   โดยในภาพรวม ๒๕ ปี เราคาดว่า โครงการนี้จะผลิตบัณฑิตปริญญาเอก ๑๐% ของความต้องการของประเทศ 
          ระหว่างนั้นเราก็จัดประชุมปรึกษาหารือ ขอคำแนะนำจากอาจารย์ นักวิจัย และผู้บริหารในมหาวิทยาลัย    จำได้ว่าเราจัดประชุมครั้งแรกที่จุฬาฯ    เราได้รับคำบอกว่าฝันของเราไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะ “อุดมศึกษาไทยยังไม่พร้อม”   ผมกลับมาที่ สกว. ด้วยความมึน    ว่าถ้ารอความพร้อมเมื่อไรจึงจะได้เริ่ม    ในที่สุดเราก็ได้ข้อสรุปว่าความพร้อมไม่ได้มีไว้รอ แต่ต้องสร้างขึ้น
          เข้าใจว่าต้องเอาร่างโครงการเข้า บอร์ด ถึง ๓ ครั้ง จึงผ่านความเห็นชอบ   เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สกว., สวทช., และทบวงมหาวิทยาลัย   นำเสนอผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ท่านอภิลาศ โอสถานนท์ เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการขอผูกพันงบประมาณ    ท่านอาจารย์สิปปนนท์ ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือคุณบรรหาร ศิลปอาชา    โครงการก็ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ในปลายปี ๒๕๓๙ นั้นเอง   โดยที่เราเสนอขอพระราชทานชื่อว่า “โครงการกาญจนาภิเษก” เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ ๕๐ ปี แห่งการครองราชย์   ชื่อเต็มของโครงการว่า โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก    อ. กำจัดใช้ชื่อย่อว่า คปก.
          ผมเชื่อว่าถ้าในตอนนั้นประธานคณะกรรมการนโยบาย สกว. ไม่ใช่ท่าน อ. สิปปนนท์ โครงการ คปก. จะไม่เกิด   เพราะคนที่เห็นคุณค่าของโครงการนี้อย่างแท้จริงมีน้อย    ถ้าท่าน อ. สิปปนนท์ ไม่ไปพูดกับคุณบรรหารเป็นการส่วนตัว    โครงการ คปก. คงจะผ่าน ครม. ยาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนการถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    โครงการ คปก. จึงได้รับคุณูปการจากท่าน อ. สิปปนนท์ ถึง ๕ ประการเป็นอย่างน้อย
               ๑. ร่วมคิดโครงการ
               ๒. ผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย
               ๓. ผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
               ๔. ผลักดันโครงการให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.
               ๕. เป็นประธานคณะกรรมการนโยบาย คปก.

          คือถ้าไม่ได้สติปัญญาและบารมีของ อ. สิปปนนท์ โครงการ คปก. ไม่มีทางเกิดขึ้น 
          และเราก็โชคดีอีก ที่ตอนนั้น รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล มาอยู่ สกว. ได้ระยะหนึ่งแล้ว    และเราเห็นพ้องว่าคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำงานนี้ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ คปก. คือท่าน อ. กำจัดนี่เอง    และในทางปฏิบัติ กำลังสำคัญที่สุดคือท่าน อ. กำจัดนี่เอง 
 
          บัดนี้ เวลาผ่านไปกว่า ๑๐ ปี   คปก. ได้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จ   โดย ที่ท่านอาจารย์สิปปนนท์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบาย คปก. เรื่อยมาจนท่านหมดวาระการเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ๒ สมัย    ท่านก็ยังทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมการนโยบาย คปก. จนท่านป่วย และถึงแก่กรรม   
          การให้ทุน คปก. เริ่มในปี ๒๕๔๑ มาจนปัจจุบัน (๓๐ เมษายน ๒๕๕๑) ให้ทุนแล้ว ๑๑ รุ่น   จำนวนผู้รับทุน ๒,๒๓๑ คน    จบปริญญาเอกแล้ว ๑,๐๔๖ คน   มีจำนวน publication ๒,๓๘๐ เรื่อง   จำนวนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่ยื่นจดทะเบียน ๓๙ เรื่อง    กว่า ๙๐% ของผู้จบการศึกษาทำงานในประเทศไทย  
          คปก. ได้ช่วยเพิ่มเกียรติภูมิของประเทศไทยในวงการอุดมศึกษาและวิจัยในต่างประเทศเป็นอย่างมาก   เกิดความร่วมมือทางวิชาการที่อยู่บนฐานของความเท่าเทียมกัน   มีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของโครงการจาก ๔๐ ประเทศ   นักศึกษา คปก. ที่ไปทำงานวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมในต่างประเทศได้สร้างความประทับใจในความสามารถให้แก่อาจารย์และสถาบันในต่างประเทศ   ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องอีกมาก  
          เวลานี้ ทุน คปก. กลายเป็น KPI ด้านการวิจัยและบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย   นักศึกษาที่ได้รับทุน คปก. ถือเป็นคนระดับหัวกระทิของประเทศ เป็นที่ภูมิใจของครอบครัวและญาติพี่น้อง    ผู้จบการศึกษาด้วยทุน คปก. จำนวนมากประสบความสำเร็จในชีวิตวิชาการของตนอย่างรวดเร็ว   โดยเฉลี่ยดีกว่าคนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ    เพราะการศึกษาด้วยทุน คปก. ช่วยให้มีแวดวงวิจัยทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ   บัณฑิต คปก. รุ่นแรกๆ ได้กลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก.   บางคนได้รับทุนเมธีวิจัย ของ สกว.    บางคนได้รายได้จากสิทธิบัตรที่จดในต่างประเทศ  
          ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุนัต เป็นนักการศึกษาที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยมากที่สุดคนหนึ่ง    โดยมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาในระดับก้าวกระโดด หรือปฏิรูปในหลากหลายด้าน    ผมยกตัวอย่างเรื่องจริงมาเพียง ๑ เรื่อง    และใคร่ขอวิเคราะห์ว่าโครงการ คปก. ก่อผลดีต่อสังคมไทยอย่างน้อย ๗ ประการคือ
               ๑. เกิดความมั่นใจว่าอุดมศึกษาไทยผลิตปริญญาเอก ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลได้
               ๒. เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับตัวของบัณฑิตศึกษาไทยอย่างก้าวกระโดด
               ๓. เกิดความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศแบบเท่าเทียมกัน
               ๔. วงการวิชาการไทยได้รับความยอมรับนับถือจากต่างประเทศ
               ๕. เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ต่างประเทศรูปแบบหนึ่ง
               ๖. เป็นกลไกสร้างประชาคมวิจัยคุณภาพสูงของประเทศ เชื่อมกับต่างประเทศ
               ๗. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอก เหลือเพียงไม่ถึง ๑/๓ ของค่าใช้จ่ายในการส่งไปต่างประเทศ
          


           วันที่ ๒๒ ก.ค. ๕๑ เป็นวันครบรอบวันเกิดของท่าน อ. สิปปนนท์ (๒๒ ก.ค. ๒๔๗๕) ครอบครัว ศิษย์ และอดีตผู้ร่วมงานของท่าน จึงจัดงานแถลงข่าวรางวัลสิปปนนท์ โดยกองทุน ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต    มี ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมต. วิทยาศาสตร์ เป็นประธาน ที่ห้องประชุมของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ    ผมไปร่วมด้วย
          รางวัลนี้ ให้แก่ผู้ทำคะแนนสอบ O-NET ในสาขาวิทยาศาสตร์สูงสุด ซึ่งมี ๑ คน   และอันดับที่ ๒ จำนวน ๗ รางวัล
          คะแนนสูงสุด ได้แก่ นายสุริยะกุล วงษ์ซื่อ รร. ถาวรานุกูล  ต. แม่กลอง  อ. เมือง  จ. สมุทรสงคราม   อ. บุรี แสงศิลา ผอ. โรงเรียน มากล่าวแสดงความยินดี  ว่าสุริยะกุลเคยได้ทุน AFS ไปโบลิเวีย ๑ ปี    และได้คะแนนสูงสุดไม่ใช่เฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ได้วิชาภาษาไทย  และภาษาต่างประเทศ ด้วย    สุริยะกุลเป็นเด็กเรียนดีโดยที่ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน เวลานี้เป็นนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          รร. เตรียมอุดมศึกษา มีเด็กได้รางวัลที่ ๒ จำนวนถึง ๕ คน   มาร่วมงานแถลงข่าว ๓ คน คือ นายกิตติพันธ์ พงศ์มรกต, นส. สิรภัทร แต่สุวรรณ, นส. ศศิผกา สินธุเสน   มี อ. กันยา เกิดบัวทอง รอง ผอ. กลุ่มบริหารวิชาการ มากล่าวแสดงความยินดี
 
          ผอ. รร. พัทลุง ตื่นเต้นที่ นายพงศธร  สถิรพัฒนกุล สร้างชื่อ ทั้งๆ ที่เครื่องมือไม่พร้อม  และเป็นลูกเกษตรกร   เวลานี้เป็น นศ. คณะเภสัชฯ มอ.   ท่าน ผอ. เล่าว่าที่โรงเรียนเดิมการเรียนวิทยาศาสตร์ไม่มีการทดลอง   ปี ๔๖ ประชุมครู ว่าจะต้องสร้างความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก   โชคดีได้เข้าโครงการ บัณณาสสมโภช ที่จัดโดยจุฬาฯ เป็นเวลา ๓ ปี   โครงการนี้ร่วมกับ สสวท.  มอ.  มทษ.  มวล. นำนักเรียนเข้าค่ายวิทยาศาสตร์  ผอ. กำชับครูผู้สอนว่า ซื้อเครื่องมือแล้วต้องใช้
ต้องการให้เกิดเด็กแบบนี้ในพัทลุง

          โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย อ. ลาวัณย์ กระตุฤกษ์ ครูผู้สอนมาแทน   กล่าวว่าโรงเรียนมีชั้นเรียนที่ใหญ่ถึง ๖๐ คนต่อห้อง เรียนโดยทดลองได้ยาก   นร. ที่ได้รับทุนชื่อ แก้วกฤตยา ตรึกธรรม ทุน พสวท.  แต่สอบติดทุน SIIT มธ.   จึงลาออกจากทุน พสวท. เพื่อรับทุนของ SIIT ไปเรียนต่างประเทศ 

วันที่ ๒๖ ก.ค. ๒๕๕๑
ร่างกำหนดการงานมอบรางวัลกองทุนศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์  เกตุทัต 
และปาฐกถา เรื่อง ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต นักการศึกษาของไทย
วันเสาร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ วังสวนผักกาด พญาไท กรุงเทพ
 
๑๓.๓๐ น.           ลงทะเบียน
 
๑๔.๐๐ น.           ผู้ดำเนินรายการเชิญคุณเอมิลี่ เกตุทัต กล่าวเปิดงาน 
                       ผู้ดำเนินรายการเชิญคุณอานันท์  ปันยารชุน กล่าวสุนทรพจน์ และ
                        มอบรางวัล 
๑. รางวัลผู้ทำคะแนนทดสอบ O-NET ในสาขาวิทยาศาสตร์สูงสุด จำนวน ๑ รางวัล
        (เกียรติบัตร และ เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท)
        ได้แก่ นายสุริยะกุล  วงษ์ซื่อ  โรงเรียนถาวรานุกูล  คะแนน ๙๘.๗๕ คะแนน

๒. รางวัลผู้ทำคะแนนทดสอบ O-NET ในสาขาวิทยาศาสตร์ อันดับที่ ๒ จำนวน ๗ รางวัล
        (เกียรติบัตร และ เงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท)  ได้แก่
   ๑. นายกิตติพันธ์  พงศ์มรกต      โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา    คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
   ๒. นางสาวสิริภัทร  แต่สุวรรณ    โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา    คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
   ๓. นางสาวศศิผกา  สินธุเสน      โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา    คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
   ๔. นายกิตติพงศ์  วันถาวรประเสริฐ  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา   คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
   ๕. นางสาวกุสุมา  ตั้งอมตะกุล        โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
   ๖. นางสาวแก้วกฤตยา  ตรึกธรรม    โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย   คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
   ๗. นายพงศธร  สถิรพัฒนกุล          โรงเรียนพัทลุง                คะแนน ๙๗.๕๐ คะแนน
 
          ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ เล่าเรื่องตอนที่ท่านได้รับทาบทามให้เป็นนายกฯ ครั้งแรก   ได้โทรศัพท์ไปเชิญ อ. สิปปนนท์ร่วมเป็นรัฐมนตรี ซึ่งท่านตอบรับทันที และเข้าใจว่าเชิญให้เป็น รมต. ศึกษาฯ    โดยที่จริงๆ แล้วท่านนายกอานันท์เชิญเป็น รมต. อุตสาหกรรม
          แสดงว่า อ. สิปปนนท์ ท่านมีเรื่องการศึกษาอยู่ในหัวใจของท่าน

๑๔.๓๐ – ๑๕.๓๐ น.   เสวนาเรื่อง “ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต นักการศึกษาของไทย”
   วิทยากรโดย          ศ. นพ. วิจารณ์  พานิช
                            ศ. ดร. ยงยุทธ  ยุทธวงศ์
                            รศ. ดร. วรากรณ์  สามโกเศศ
  ดำเนินรายการโดย  ดร. กฤษณพงศ์  กีรติกร 

           ตกลงกันว่าพูด ๒ รอบ   รอบแรกแต่ละคนเล่าว่าตนรู้จัก อ. สิปปนนนท์ในแง่ไหนโดยให้คนอายุมากที่สุดเป็นผู้เริ่ม    ผมจึงเป็นผู้พูดคนแรก    รอบ ๒ เล่าความประทับใจผลงานเด่นของ อ. สิปปนนท์   ผมมอง อ. สิปปนนท์ว่าเป็นครูที่สอนวิธีคิดกระบวนระบบให้ผม ซึ่งที่จริงท่านไม่เคยสอน แต่ผมลักจำเอาจากตัวอย่างของท่าน    อ. ยงยุทธ มองว่าท่านเป็นฮีโร่ และเป็นผู้เชื่อมโลก   อ. วรากรณ์มองว่าท่านเป็นมนุษย์ คือมีความประเสริฐในฐานะมนุษย์   อ. วรากรณ์เล่าว่าท่านได้เดินทางไปประเทศฟินแลนด์กับ อ. สิปปนนท์และคุณเอมิลี่ เพียงสัปดาห์เดียวก่อนท่านจะล้มป่วย    ไปดูว่าทำไมฟินแลนด์จึงมีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก   แสดงว่าท่านสนใจการศึกษาตลอดชีวิตของท่าน 
รอบ ๒ ผมเล่าเรื่องโครงการ คปก. ตามที่เตรียมไปข้างต้น    อ. ยงยุทธเล่าพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยในช่วง ๕๐ – ๖๐ ปีที่ผ่านมา    ซึ่งมี อ. สิปปนนท์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย   อ. วรากรณ์ กล่าวให้กำลังใจนักศึกษาที่ได้รับรางวัล

          ผมขับรถกลับบ้านด้วยความชุ่มชื่นหัวใจ ที่ได้ระลึกถึง อ. สิปปนนท์    ได้ทำงานชิ้นเล็กๆ รับใช้ท่าน    ได้นำเอาความดี ความยิ่งใหญ่ของท่านมารับใช้บ้านเมืองแม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ ก.ค. ๕๑

รูป ศ.ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต

 

 

หมายเลขบันทึก: 197120เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอคารวะนักการศึกษาของไทย
  • ศ.ดร.สิปปนนท์  เกตุทัต
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท