สภาคณาจารย์


 

          พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗ ระบุหน้าที่ของสภาคณาจารย์ ดังนี้

“มาตรา ๒๗ สภาคณาจารย์มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้


(๑)  ให้คำปรึกษาแนะนำแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี ในกิจการของมหาวิทยาลัย
(๒)  เสนอแนะข้อคิดเห็น คำแนะนำ และให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี
เกี่ยวกับมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณดังกล่าว ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(๓)  เสนอแนะข้อคิดเห็น คำแนะนำ และให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีเกี่ยวกับ
การพัฒนาคณาจารย์ทางด้านทักษะแห่งวิชาชีพคณาจารย์
(๔)  ติดตามและประเมินผลการพัฒนาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทางด้านทักษะแห่งวิชาชีพ
คณาจารย์
(๕)  เชิดชูและผดุงเกียรติคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย
(๖)  ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย”
 

          วันที่ ๑๘ มิ.ย. ๕๑ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล   เพราะสภามหาวิทยาลัยมีมติให้สภาคณาจารย์เป็นหน่วยงานอิสระ   ไม่ขึ้นต่ออธิการบดี   โดยให้ฝ่ายบริหารจัดเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่สภาคณาจารย์ต่อไป
          ที่จริงในทางปฏิบัติสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอิสระมานานแล้ว    เพียงแต่ว่างานธุรการไปขึ้นต่อกองกลาง    ประธานสภาคณาจารย์จึงเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยขอไปขึ้นต่ออธิการบดีโดยตรง    สภามหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้เป็นอิสระไปเลย
          ที่จริง (อีกแล้ว) ผมไม่เคยเชื่อในความเป็นอิสระจริงๆ ว่ามีอยู่ในโลก   เพราะจริงๆ แล้วเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน   หรือเรียกว่า interdependence   แต่ผมเชื่อใน autonomy ในระดับหนึ่ง    ผมจึงมองว่า สภาคณาจารย์ เป็นองคาพยพหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล    ที่ช่วยกันกับองคาพยพอื่นในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลไปสู่เป้าหมายตามจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ คือการเป็น ๑ ใน ๑๐๐ มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลก   โดยที่กฎหมายระบุหน้าที่ของ สภาคณาจารย์ ไว้ ๖ ข้อชัดเจนมาก
          สภาคณาจารย์จึงน่าจะได้ทำแผนยุทธศาสตร์ว่าในเวลา ๒ ปี จะทำหน้าที่แต่ละข้อ ใน ๕ ข้อแรกอย่างไรบ้าง    จะวัดผลความสำเร็จของการทำหน้าที่สภาคณาจารย์อย่างไร   การทำหน้าที่เหล่านั้นจะมีส่วนผลักดันเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ก.ค. ๕๑

               

 

หมายเลขบันทึก: 197080เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท