13. การบริหารการศึกษา


การบริหารการศึกษา

   การบริหารการศึกษาปัจจุบันมีกระทรวง ทบวง กรม รับผิดชอบหลากหลายหน่วยงาน ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งยังมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการจัดทั้งโดย ราชการบริหารส่วนกลาง ดังได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เป็นหน่วยกำหนดนโยบาย บริหาร และจัดการสนับสนุน ส่งเสริม และติดตามประเมินผล โดยมีการจัดตั้งหน่วยงาน สถานศึกษา เป็นหน่วยบริหารรองลงไป และมีหน่วยปฏิบัติในภูมิภาค ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  ได้แก่

ส่วนราชการในจังหวัด โดยรวมเอาแนวนโยบายจากส่วนกลางนำไปสู่การปฏิบัติอำนาจการคิดและตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ และ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยา ซึ่งแม้จะเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งมีผู้แทนประชาชนเป็นคณะบริหารหน่วยงานด้วยก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติการจัดการของหน่วยงานก็ยังไม่มีอิสระเท่าที่ควร เนื่องจากการกำหนดหลักสูตร แผนงานการบริหารบุคลากร และการบริหารงบประมาณ ยังคงถูกกำหนดจากส่วนกลาง คือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทยขณะเดียวกัน

กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่มีหน้าที่จัดการศึกษาตามกฎหมาย มีหน่วยงาน สถานศึกษาจัดการศึกษาที่หลากหลาย กระจายไปทั่วพื้นที่ทั้งประเทศมากที่สุด ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ยังพบว่ามีจุดอ่อนของการจัดโครงสร้างทางการบริหารการศึกษาที่อุ้ยอ้าย ซ้ำซ้อน กระจัดกระจาย และลักลั่น รวมทั้งขาดเอกภาพทั้งในด้านนโยบายและแผน และการจัดการอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ

การแบ่งส่วนราชการลักลั่น กรมทุกกรมแบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง แม้จะมีภารกิจส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคก็ตาม ยกเว้น สำนักงานปลัด-กระทรวงศึกษาธิการ ที่แบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค คือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ และกิ่งอำเภอ ซึ่งสำนักงานดังกล่าวต้องมีบทบาทเป็นผู้แทนกระทรวง ทำหน้าทีประสานงาน เร่งรัด ติดตาม และประเมินผล และการควบคุมมาตรฐานคุณภาพ ของหน่วยงานสถานศึกษา ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานสถานศึกษาสังกัดส่วนกลาง กรมบางกรมมีความซ้ำซ้อนในการจัดการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการประถมศึกษา ได้มีการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา กรมสามัญศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา กลับทำหน้าที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาในโรงเรียนศึกษาพิเศษ กรมการศาสนา ซึ่งมีหน้าที่ด้านการศาสนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร นักบวช และบุคลากรทางการศาสนา กลับเพิ่มภารกิจการจัดอบรมศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ซึ่งบางวัดมีโรงเรียนประถมศึกษาหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกรมการพัฒนาชุมชนตั้งอยู่ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งเด็กเข้าเรียน และปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งเกิดจากความไม่สันทัดในการจัดการศึกษาต่างระดับขาดเอกภาพด้านนโยบาย แผน และงบประมาณ

 

 

หมายเลขบันทึก: 196891เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท