การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น


เป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

         เอกสารประกอบการศึกษา วิชา 430542 การเมืองกับการศึกษา (Politics & Education)

สาขาวิชา การบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา **************************************************************

เป้าหมายและยุทธศาสตร์ การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดประชุมสัมมนา เรื่อง เป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายความคิดการศึกษาท้องถิ่นและระดมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปพิจารณาประกอบกับผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป ในงานดังกล่าวศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษเรื่องเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีสาระที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของท้องถิ่นและของประเทศชาติ โดยสรุปดังนี้ 1.เป้าหมายหรือประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาในท้องถิ่น การศึกษาจะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับประชาชน ครอบครัวและระดับ ชุมชนหากลงทุนการศึกษา 1 บาท ประโยชน์จะเกิดกับประชาชนและชุมชนหลายบาท งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหากไปลงอย่างอื่นก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่คุณค่าหรือประโยชน์จะไม่เท่ากับการศึกษา ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชน อย่างน้อย 5 ประการ คือ 1. สนับสนุนให้ประชาชนมีสัมมาอาชีวะและทำให้เศรษฐกิจชุมชนมั่นคง ช่วยแก้หรือขจัดความยากจน โดยเฉพาะการศึกษาที่รวมสามัญกับอาชีวศึกษาเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อทุกครัวเรือนในชุมชนมีสัมมาอาชีวะ มีความมั่นคงในอาชีพ เศรษฐกิจชุมชนก็มั่นคง เก็บภาษีได้มากขึ้น รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นมาด้วย เป็นวงจรที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน 2. ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีและประชาธิปไตยในชุมชน เพราะการศึกษาให้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนสำนึกในสิทธิและหน้าที่ จึงเสริมพลังภราดรภาพบนฐานของเสรีภาพและความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย 3 หลักการ คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป้าหมายของการออกแบบประชาธิปไตย เพื่อความเป็นพี่น้องกันหรือภราดรภาพนั้นเอง ส่วนเสรีภาพต้องเป็นเสรีภาพที่เอื้อให้สมาชิกทุกคนในชุมชนได้รับการพัฒนาผ่านการอบรมและการศึกษาอย่างเต็มที่ และเมื่อเขาช่วยตัวเองได้ ก็จะไม่เป็นภาระของชุมชนอีกต่อไป สุดท้ายความเสมอภาค คือท้องถิ่นจะต้องจัดให้ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย ศีลธรรม และจารีตประเพณีเท่าเทียมกัน ไม่ใช่สองมาตรฐาน สามมาตรฐาน 3. ส่งเสริมสุขภาพและสร้างสุขภาวะในชุมชนการศึกษาจะให้พื้นฐานของการดูแลสุขภาพด้วย จึงทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวได้ดีขึ้น เป็นการสร้างสุขภาวะในชุมชน เพื่อให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข คำว่าสุขภาวะในชุมชน หมายถึง ให้หลักในการดูแลตนเองและครอบครัว 4 ด้าน คือ ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค รักษาโรคอย่างถูกวิธี และฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับเป็นปกติ 4. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในครอบครัวและนิเวศวิทยาในชุมชน การศึกษาสอนให้ประชาชนรู้จักส่งเสริมสภาพแวดล้อมในครอบครัว รู้จักส่งเสริมระบบนิเวศวิทยาในชุมชน เร่งเร้าให้ประชาชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนและอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกระบวนการการเรียนรู้และการศึกษา 5. ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งสำหรับสมาชิก ครอบครัวและชุมชน การศึกษาให้สติในการจัดการกับอบายมุขทั้งปวง การศึกษาพัฒนาสติปัญญาให้มั่นคงในศาสนธรรมไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม การจัดการศึกษาต้องเป็นยุทธศาสตร์ถาวรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากคิดว่ายังทำไม่พอหรือว่ายังไม่ได้ทำ ควรลงมือทำทันที เพราะการศึกษาให้ประโยชน์เหลือคณานับ เป็นการลงทุนระยะยาว แต่ผลตอบแทนมากที่สุดหลายเท่าตัวของการลงทุน 2.ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 41 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น หลักของกฎหมายเปิดโอกาสไว้ชัดเจนว่าจะจัดการศึกษาระดับใดหรือประเภทใดก็ได้ จัดอาชีวศึกษาก็ได้ จัดอุดมศึกษาก็ได้ แต่ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาไม่มากนัก ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่มีระบบการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจนั้น ในระดับประเทศ รัฐบาลกลางจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นเรื่องของการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีหน้าที่ดูแลในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังอ่อนแออยู่ในระยะแรก นอกจากนี้ในมาตรา 58(2) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข (ครั้งที่ 2 ) พ.ศ. 2545 ยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาได้ โดยเป็นผู้จัดและมีส่วนร่วมในการจัดก็ได้ วงจรการจัดการศึกษาเพื่อชุมชนควรพัฒนาทั้งวงจร ดังนี้ 1) ถ้าจะให้เด็กเรียนหนังสือได้ดี สมองและอวัยวะส่วนอื่นต้องพัฒนาได้ดีก่อน ซึ่งต้องดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม่ต้องมีสุขภาพดี ต้องส่งเสริมสุขภาพอนามัยของหญิงวัยเจริญพันธุ์ในชุมชนให้พร้อมที่จะเป็นแม่ที่มีสุขภาพดี พร้อมที่จะให้ลูกในครรภ์มีการพัฒนาของสมองเต็มที่ 2) การคลอดและการเลี้ยงดูใน 3 ขวบแรก การเลี้ยงด้วยนมแม่ใน 6 เดือนแรก 8 เดือนแรก สำคัญมากต่อพัฒนาการของเด็ก เป็นเรื่องของการศึกษาที่จะเข้ามาพัฒนา 3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งรับเด็กอายุ 2–3 ขวบ ต้องมีคุณภาพซึ่งปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล รับผิดชอบอย่างเต็มที่แล้ว และบางแห่งทำดีมาก โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็เพื่อพัฒนาความพร้อมแก่เด็กเล็กทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา อย่างเหมาะสมตามวัย ให้เด็กได้อาหารถูกตามหลักโภชนาการให้สมองพัฒนาได้เต็มที่ 4) การศึกษาปฐมวัย คือ อนุบาล 1-2 หรืออนุบาล 1-3 วัตถุประสงค์คือ เพื่อพัฒนาเด็กในวัย 4-6 ขวบ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญาและคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ให้เด็กรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรชั่ว อะไรดี เรื่องศีลธรรมต้องใส่ตั้งแต่ต้น เพราะมีหลักฐานการวิจัยสมองมนุษย์ว่า เด็กจะเรียนรู้และประทับตราไว้ในสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าตั้งแต่วัยต้น ๆ 5) การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมศึกษา 6 ปี วัตถุประสงค์เพื่อจะสร้างพลเมืองดี เก่ง ดี มีสุข ให้กับประเทศชาติ ในประเทศอังกฤษใส่เนื้อหาเพื่อสร้างพลเมืองอังกฤษในอนาคต ญี่ปุ่นต้องการจะสร้างพลเมืองญี่ปุ่นในอนาคต อยากให้พลเมืองรู้อะไร ทำอะไรเป็น มีระบบคุณงามความดีอย่างไร ก็ใส่ไว้ในหลักสูตร เราอยากให้พลเมืองไทยในอนาคตรู้เรื่องอะไร ทำอะไรเป็นก็ใส่เข้าไปในหลักสูตร มีระบบคุณงามความดีอย่างไรก็ใส่เข้าไปในระบบการศึกษาแล้วก็จัดการศึกษาให้ได้ตามนั้น ตามมาตรฐาน นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรทำระบบเปิดในระบบ คือ ร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กับเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน เพื่อช่วยหนุนให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีพ แล้วคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นเอง นำผู้ใหญ่มานั่งเรียนก็ได้เรียนวิชาชีพที่เขาทำอยู่ด้วย เขาก็จะเห็นประโยชน์ทันที 6) ระดับอุดมศึกษา วัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักวิชาการ นักวิชาชีพชั้นสูง ในประเภทที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของท้องถิ่นและของประเทศ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็จัดอยู่และเชื่อว่าเทศบาลขนาดใหญ่ก็อาจจะจัดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยชุมชน ซึ่งตอบสนองต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของท้องถิ่น หัวใจในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน แล้วสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีที่สุด ก็คือ คุณภาพการศึกษา เรามีนักการศึกษาในประเทศไทยที่สนใจเรื่องคุณภาพการศึกษาจำนวนมาก เชิญมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาระบบคุณภาพการศึกษา มีตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาดีเด่นจำนวนมากที่จะศึกษาได้ ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษามากที่สุด คือ สิ่งที่เกิดในห้องเรียน ครูสอนอะไร ครูมีอะไรไปสอน ตรงนั้นสำคัญที่สุด ไม่ใช่งบประมาณ ประเทศไทยใช้งบประมาณการศึกษาเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศ ไม่ได้หมายความว่า คุณภาพของการศึกษาไทยจะดีตามไปด้วย จึงต้องเน้นครูดี ซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ 5 ข้อ คือ 1) ต้องรักเด็ก 2) ต้องรู้วิชาที่สอนเป็นอย่างดี 3) หาวิธีสอนเพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เรียนรู้มากที่สุด 4) มีอุดมการณ์ที่จะมาเป็นครู และ 5) มีคุณธรรม สำหรับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี คือ 1) ต้องมีเจตนาดีว่าการศึกษาคือ การลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลยืนยงที่สุดในการพัฒนาท้องถิ่น 2) ต้องถือหลักธรรมาภิบาลในการบริหารการศึกษา การบริหารต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โปร่งใส และตรวจสอบได้ และ 3) ต้องมีความรับผิดชอบ 3.หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2549 ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน ก.ป.ร.) ได้รวบรวมหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหนังสือชุด 60 ปี ครองราชย์ประโยชน์สุขประชาราษฎร์ ซึ่งหลักการทรงงานทั้ง 23 ข้อ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องหรืออาจจะเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดังนี้ 1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่ง จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร จากแผนที่ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ นักวิชาการและราษฎรในพื้นที่ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่เป็นจริงจะได้พระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วตามความต้องการของประชาชน 2. ระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำเอาความเจริญหรือผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอกเข้าไปในชุมชนที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว เพราะเป้าหมายของเราคือ ให้ท้องถิ่นเจริญงอกงาม 3. แก้ปัญหาต้องเริ่มที่จุดเล็ก ทรงมองปัญหาในภาพรวมก่อน แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากในจุด เล็ก ๆ ที่คนมักจะมองข้าม ทำนองเดียวกันเรากลับไปประเมินสถานการณ์ภาพรวมเป้าหมายใหญ๋ก่อนแต่ให้ค่อย ๆ ทำ 4. ทำตามลำดับขั้น ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ การสาธารณสุข ต่อไปจึงเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชุมชน เรื่องสิ่งจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ การพัฒนาประเทศต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ก่อน แล้วค่อยเสริมสร้างความเจริญและเศรษฐกิจขั้นสูง ค่อย ๆ เป็นลำดับไป 5. ภูมิสังคม การพัฒนาใด ๆ ต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ภูมิประเทศ ของบริเวณนั้น (เป็น ดิน น้ำ ป่า เขา ฯลฯ) ปัจจัยที่สอง สังคมวิทยา ของคนที่นั่น (นิสัยใจคอของผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีลักษณะเฉพาะตรงนี้ คือ รับผิดชอบในขอบเขตที่เป็นท้องถิ่นที่เป็นตัวตนของตนเองที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนท้องถิ่นอื่น แต่ในขั้นปฏิบัติต้องให้สอดคล้องกับภูมิสังคมของท้องถิ่น 6. องค์รวม ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม หรือทรงมองอย่างครบวงจร ทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขอย่างเชื่อมโยง 7. ไม่ติดตำรา การพัฒนาตามแนวพระราชดำริมีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสภาวะสังคมจิตวิทยาของชุมชน คือไม่ผูกติดกับวิทยาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนในชุมชนนั้น 8. ประหยัด เรียบง่ายแล้ว ได้ประโยชน์สูงสุดทรงใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก 9. ทำให้ง่าย ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง แก้ไขงานการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริโดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน โปรดที่จะทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย 10. การมีส่วนร่วม ทรงเป็นนักประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนหรือความต้องการของสาธารณะชน ต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็นแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะ การรับฟังอย่างฉลาดแท้จริงก็คือ การระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลายมาอำนวยการ ปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง 11. ยึดประโยชน์ส่วนรวม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญเสมอ 12. บริการที่จุดเดียว ตัวอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมี 6 แห่งทั่วประเทศ ตามภาคต่าง ๆ ซึ่งหน่วยราชการต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการแล้วให้บริการประชาชนที่แห่ง ทรงรับสั่งเป็น 2 ด้าน หมายถึงว่า ที่สำคัญปลายทาง คือ ประชาชนจะได้ประโยชน์ ส่วนต้นทางเจ้าหน้าที่จะได้อำนวยประโยชน์ให้เขา ถ้าพูดถึงเรื่องการจัดการศึกษาในท้องถิ่นคือ ประชาชนในท้องถิ่นได้ประโยชน์ ผู้ที่จะให้ประโยชน์คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งระดับ 13. ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องให้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก(ต้นไม้) ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ 14. ใช้อธรรมปราบอธรรม ทรงยกตัวอย่างการใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นของเสียแต่ทรงศึกษาจนกระทั่งรู้ว่าผักตบชวาสามารถดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ จึงใช้ผักตบชวาไปทำลายของเสียที่ บึงมักกกะสัน ทำให้น้ำดีขึ้น 15. ปลูกป่าในใจคน เคยรับสั่งไว้ว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง การที่จะฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมา ต้องปลูกจิตสำนึกให้คนรักธรรมชาติก่อน 16. ขาดทุนคือกำไร รับสั่งว่าหลักการคือ ต้องให้ ต้องเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ดังนั้น การเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเรื่องการศึกษาให้ดี ต้องตั้งใจมั่น ต้องใช้ความพยายามไม่สิ้นสุด 17. พึ่งตนเอง การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในเบื้องต้นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้เขาแข็งแรงพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไป พัฒนาให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้คือ พึ่งตนเองได้ 18. พออยู่พอกิน ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถ “พออยู่พอกิน” เสียก่อนและจึงขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป ถ้าโครงการดีในไม่ช้าประชาชนจะได้กำไร จะได้ผลราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ต่อไป 19. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้าน ทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างสมดุลในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง 20. ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจแม้จะความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ 21. ทำงานอย่างมีความสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญและทรงมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทรงช่วยเหลือประชาชน งานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นงานทั้งปิดทองทั้งหน้าและหลังพระและ หากยึดกระแสพระราชดำรัสนี้เป็นเครื่องเตือนใจก็จะให้กำลังใจมหาศาล 22. ความเพียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็ไม่ได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งมั่นพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้ราษฎรบังเกิดความร่มเย็นเป็นสุขในที่สุด 23. รู้รักสามัคคี ใช้เป็นคาถาสำหรับทำงานได้ ขั้นแรกต้อง รู้ : การที่จะลงมือทำสิ่งใด ต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหา เราจะจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น ต้องรู้ให้ดีก่อนว่า การศึกษาคืออะไร ท้องถิ่นเป็นอย่างไร แล้วจะจัดยังไง ขั้นที่สอง รัก : ต้องเห็นคุณค่า เกิดศรัทธา เกิดความรักที่จะลงมือปฏิบัติ พอรู้ว่าระบบการศึกษาเป็นอย่างนี้ เราจะจัดระบบการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่นอย่างไร ต้องเห็นคุณค่าว่าจะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนและชุมชนของเรา เกิดความรัก เกิดความเพียรพยายามที่จะบุกบั่น มุ่งมั่น ทำให้สำเร็จ ขั้นที่สาม สามัคคี : เมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติต้องคำนึงถึงเสมอว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ต้องร่วมมือร่วมใจกัน สามัคคีกันเป็นหมู่คณะ จึงจะเกิดพลังในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ดี งานจัดการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องการความสามัคคีมหาศาลต้องสร้างศรัทธาจากาการมองกันในแง่ดี เห็นความดี เข้าใจทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ใส่ใจซึ่งกันและกัน สามัคคีสร้างความสามัคคีกันในหมู่คณะ สร้างสมานฉันท์ในหมู่มิตรได้ กล่าวโดยสรุป คือ ควรเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาตามความเหมาะสม ตามความต้องการของท้องถิ่นได้ทุกระดับ แต่ต้องนึกถึงความพร้อม ต้องทำทีละขั้นตอน แล้วก็ต้องหาพันธมิตรช่วยกันทำ และสุดท้ายต้องมีหลักการทรงงานทั้ง 23 ข้อ เพื่อที่จะได้เป็นกำลังใจให้ว่าการจัดการศึกษานี้จะต้องมุ่งเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักและเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างน้อยในใจก็เกิดความสุข **********************************************

                           แหล่งที่มา วารสารการศึกษาไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 45 มิถุนายน 2551

                           ออกเอกสาร โดย นางสาวผ่องฉวี มณีรัตนพันธุ์

                                                  เอกการบริหารการศึกษา

                                                  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา



ความเห็น (1)

บทความดีมากๆๆนะคะ ขอบคุณมากแล้วส่งมาอีกนะคะ คุณผ่องขาว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท