ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร.ศันสนีย์ ชูแวว


ได้รับรางวัลระดับโลกด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

รศ.ดร.ศันสนีย์ ชูแวว ได้รับรางวัล Ramsar Wetland Conservation Award and Evian Special Prize for 2008 ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกสำหรับบุคคลที่อุทิศตนต่อการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวเพียง 4 ท่านจากทั่วโลก

รศ.ดร.ศันสนีย์ หรืออาจารย์เบิร์ด ได้รับรางวัลในสาขาการให้การศึกษาเพื่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์ได้ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ การสร้างศักยภาพในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ และการจัดฝึกอบรมด้านพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับประเทศและนานาชาติ โดยทำงานด้านการอนุรักษ์นี้มานานกว่า 15 ปี ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย ภูมิภาคแม่น้ำโขงและพื้นที่อื่นๆ ในทวีปเอเชียอีกมากมาย

ด้วยความเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งในด้านการจัดกิจกรรมฝึกอบรม การศึกษาวิจัย รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นที่ประจักษ์ มีผลงานตีพิมพ์ในด้านการสร้างจิตสำนึกและการให้การศึกษาอันเป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ส่งผลให้ รศ.ดร.ศันสนีย์ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว ชาวคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และขอให้อาจารย์ประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11092

คนไทยเจ๋งรับรางวัลโลก อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำดีเด่น


นักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยเจ๋ง "ศันสนีย์ ชูแวว" ติด 1 ใน 3 รับรางวัล"อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำดีเด่น"ระดับโลก เตรียมขึ้นรับรางวัลที่เกาหลี ต.ค.นี้ เผยทำงานอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี"35 มีผลงานทั้งการเรียนการสอน ฝึกอบรม สร้างเครือข่าย

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงว่า จากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อทำงานด้านการอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่มีแหล่งน้ำ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มาเป็นเวลากว่า 10 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเคยได้รับเกียรติจากอนุสัญญาฯ เป็นผู้แทนของภูมิภาคเอเชีย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของอนุสัญญา ร่วมกับ เกาหลีใต้ จีน และอิหร่าน โดยการประชุมสมัชชาภาคีในสมัยที่ 10 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม-วันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการบริหารของอนุสัญญาฯ ได้มีมติ คัดเลือกให้ รศ.ดร.ศันสนีย์ ชูแวว นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ได้รับรางวัลนักอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำดีเด่น หรือ Ramsar Wetland Conservation Awards สาขาการศึกษา ถือว่าเป็นนักวิชาการ 1 ใน 3 คนจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลนี้ โดยผู้ได้รับรางวัลอีก 2 คน คือ นาย เดวิด พริชาร์ต จากสหราชอาณาจักร ในสาขาวิทยาศาสตร์ และนายเดนิส แลนเดนเบอร์ก จากสหพันธรัฐสวิส ในสาขาการจัดการ โดย รศ.ดร. ศันสนีย์ จะเดินทางไปรับรางวัลดังกล่าวในการประชุมสมัชชาฯ ภาคีสมัยที่ 10 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ด้วย

นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า รางวัลนักอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำดีเด่น จัดตั้งขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ในโลกที่มีผลงานด้านการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์ และการจัดการที่สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนที่โดดเด่น โดยรางวัลประกอบด้วย ถ้วยรางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท ดาโนน ประเทศฝรั่งเศส มีการมอบมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำสมัยที่ 7 ณ ประเทศคอสตาริกา ปี 2542 ครั้งที่ 2 ในการประชุมฯ สมัยที่ 8 ณ ประเทศสเปน ปี 2545 และครั้งที่ 3 ในการประชุมฯ สมัยที่ 9 ประเทศยูกันดา ปี 2548

"นับว่าเป็นข่าวดีที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศไทย ที่นักวิชาการไทยได้รับยกย่องให้รับรางวัลระดับโลก ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 3 คนของโลก รวมทั้งเป็น 1 ในเอเชียด้วย ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้กับนักอนุรักษ์ไทยได้ทำงานด้านการอนุรักษ์ต่อไป" นายศักดิ์สิทธิ์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ศันสนีย์กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณคณะที่ทำงานด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำร่วมกันมาตลอด ทุกคนต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งนักวิชาการ องค์กร รวมไปถึงชุมชนต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญกับพื้นที่ชุ่มน้ำ รางวัลครั้งนี้เป็นรางวัลของคนไทยทั้งประเทศที่จะเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ดูแลต่อไป

สำหรับ รศ.ดร.ศันสนีย์ เป็นนักวิชาการที่เริ่มทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำมาตั้งแต่ ปี 2535 ทั้งด้านการเรียน การสอน การฝึกอบรม การวิจัย ให้บริการทางวิชาการ สร้างเครือข่ายนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นผู้ริเริ่มและสร้างทีมงาน เป็นผู้บรรยายทั้งในภาคสนามและในชั้นเรียน เกี่ยวกับนิเวศวิทยา และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ การจัดการและการใช้ประโยชน์พื้นที่ ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน และระบบสาร สนเทศเพื่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพบุคลากรทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและในภูมิภาคเอเชียไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ นอกจากนี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่ม และขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันมี 13 มหาวิทยา ลัย ใน 5 ประเทศ ที่เป็นสมาชิก และยังเป็นคณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย
 

ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0110230751&day=2008-07-23&sectionid=0101

 

หมายเลขบันทึก: 195894เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอแสดงความยินดีด้วยคนนะครับ กับรางวัลอันทรงเกียรติที่ รศ.ดร.ศันสนีย์ ชูแวว ได้รับ

นับว่าเป็นเกียรติแก่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ เป็นอย่างยิ่ง   ครับ

อาจารย์สุดยอดอยู่แล้วครับ อ.เบริด ที่1 ในใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยครับ

อาจารย์เป็นแนวทางและไอดอลผมเลยครับ

ดีใจและภูมิใจกะอาจารย์มาก ๆ เลยครับ

นายสุพจน์ สุขพัฒน์

อาจารย์สมควรอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล ทุ่งสามร้อยยอดก็ได้ท่านอาจารย์เป็นผู้สืบค้นข้อมูลอันทรงคุณค่า ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงยาวนานครับ จากเด็กรักษ์ทุ่งโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม

นายสุพจน์ สุขพัฒน์

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยอด คุณธวัชชัย เสถึยรกาล ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์เบิร์ดด้วยครับ

นายสุพจน์ สุขพัฒน์

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดครับ ตก ย ไปตัวหนึ่ง ขออภัยด้วย

หนิง (สุชาดา ซึ้งปรีดา)

5 พ.ย. 52

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ

สมปรารถนาทุกประการ

ด้วยความระลึกถึงอาจารย์เสนอ

สุชาดา ซึ้งปรีดา (หนิง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท