การบริหารจัดการคุณภาพภาครัฐสู่การปฏิบัติ


การบริหารภาครัฐ

ผลการศึกษาข้อมูลรายบุคคลในฐานข้อมูลหมวดความรู้จากหนังสือ

เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

จากแหล่งความรู้  http://www.nidtep.go.th/webforshare/course/category.php?id=30

                             http://www.opdc.go.th/special.php?spc_id=4&content_id=153

         คณะรัฐมนตรี15 ได้เห็นชอบการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการพัฒนาระบบราชการของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2548-2551) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546-2550) โดยให้หน่วยงานภาครัฐมีเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นกรอบในการประเมินส่วนราชการด้วยตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากล ตามแนวทางที่ ก.พ.ร.ได้ศึกษา16 เพื่อให้ส่วนราชการมีเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นกรอบในการประเมินองค์กรด้วยตนเอง และเป็นแนวทางการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การ และยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการต่อไป ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วยหมวดต่างๆ รวม 7 หมวด (ภาพที่ 1- 8) ได้แก่ การนำองค์การ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล การจัดการกระบวนการ และผลลัพธ์การดำเนินการ


ภาพที่ 1-8 เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐดังกล่าวนี้จะเป็นกรอบแนวทางในการประเมินตนเองของส่วนราชการ และเป็นบรรทัดฐานการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการของส่วนราชการด้วย ทั้งนี้ แต่ละส่วนราชการจะสามารถนำเกณฑ์หมวดต่างๆ รวม 7 หมวด มาประเมินองค์กรตนเองโดยการตอบคำถามตามเกณฑ์ดังกล่าวในแต่ละหมวด เพื่อทราบจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุง ซึ่งจะนำไปวางแผนปรับปรุงองค์กร โดยเลือกเครื่องมือทางการบริหารที่เหมาะสมมาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการพัฒนาองค์กรในเรื่องต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะทำให้ส่วนราชการนั้นมีระดับการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน

ส่วนราชการ นอกจากจะได้ประโยชน์จากการตรวจประเมินตนเองแล้ว การพิจารณาทบทวนการดำเนินการตามแนวทางนี้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะส่งผลให้ส่วนราชการมีการพัฒนาตนเอง ซึ่งเมื่อมีความพร้อมในการบริหารจัดการที่เป็นเลิศแล้ว ก็สามารถสมัครขอรับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่ง ก.พ.ร. จะได้จัดให้มีการตรวจประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินรางวัลต่อไป ทั้งนี้ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ดังกล่าว ส่วนราชการที่สมัครเข้ารับรางวัล จะได้ผลป้อนกลับเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรของตนต่อไปด้วย

เป้าหมาย ทิศทาง และวิธีการดำเนินงาน

เป้าหมายการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ก.พ.ร.กำหนดในปี 2551 คือส่วนราชการสามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ส่วนราชการใดที่มีความพร้อมและมีระบบการบริหารจัดการอยู่ในระดับสูงมากเป็นพิเศษ ก.พ.ร.ก็จะสนับสนุนให้สมัครเพื่อขอรับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award - PMQA)

เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงาน โดยปี 2547 ได้ศึกษาแนวทาง วางหลักเกณฑ์รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ในปี 2548 ได้จัดวางระบบการดำเนินงานและสร้างความพร้อมให้ส่วนราชการต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ สร้างความพร้อมโดยสร้างผู้ตรวจประเมินภายในและวิทยากรตัวคูณ ตลอดจนสร้างกลไกในสำนักงาน ก.พ.ร. ในปี 2549สนับสนุนให้ส่วนราชการนำไปปฏิบัติ ส่งเสริมส่วนราชการให้ยกระดับการปฏิบัติงาน เตรียมการผู้ตรวจประเมินตัดสินให้รางวัล และส่งเสริมให้มีหน่วยงานต้นแบบ ในปี 2550 ส่งเสริมให้ส่วนราชการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้อยู่ในระดับมาตรฐานการยอมรับได้ และปี 2551สนับสนุนให้ส่วนราชการสมัครเข้ารับรางวัล ผลักดันให้ส่วนราชการสมัครเข้ารับรางวัล สร้างผู้ตรวจประเมินรางวัลและประชาสัมพันธ์รางวัลให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ในการดำเนินงานตามเป้าหมายและทิศทางดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดวิธีการดำเนินงานในเรื่องที่สำคัญรวม 7 เรื่อง ได้แก่ การสร้างเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การสร้างผู้เชี่ยวชาญ การสร้างหน่วยงานนำร่อง การสร้างกลไกการดำเนินงาน การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การกำหนดเป็นตัวชี้วัด และการสร้างความเชื่อมโยงเรื่องนี้กับสิ่งจูงใจ

ผลการดำเนินการ
1. การสร้างเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาหลักเกณฑ์และแนวคิดรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้อยู่ในประเทศต่างๆ มาเป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่ต้องดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ ได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ของไทยและแนวคิดการบริหารจัดการโดยองค์รวม มาประกอบการดำเนินการด้วย รวมทั้งได้มีการทำ Focus Group เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับส่วนราชการต่างๆและทดลองนำเกณฑ์นี้ไปใช้ในหน่วยงานนำร่องด้วย

2. การสร้างผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการจัดการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 5 ครั้ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แก่หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่องนี้ในส่วนราชการ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผู้เข้ารับการรับฟังการชี้แจงจำนวน 3,000 คน จัดอบรมผู้ตรวจประเมินภายในองค์กรเพื่อสร้างบุคลากรในส่วนราชการเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ในหลักการและวิธีการในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการในส่วนราชการตนเอง โดยได้มีการจัดอบรมผู้ตรวจประเมินภายในองค์กร จำนวน 6 รุ่น ในปี พ.ศ. 2548 มีผู้เข้าอบรมจำนวน 400 คน จัดอบรมวิทยากรตัวคูณ เพื่อสร้างบุคลากรจากส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้กับส่วนราชการตนเอง และส่วนราชการอื่นๆ โดยได้จัดอบรมวิทยากรตัวคูณ แก่ข้าราชการจากกรม และจังหวัด รวมทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัย รวม 2 รุ่น ในปี 2548 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 150 คน การจัดอบรมวิทยากรที่ปรึกษา เพื่อสร้างบุคลากรจากส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามเกณฑ์พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้กับส่วนราชการตนเอง และส่วนราชการอื่นๆ โดยได้มีการจัดอบรมวิทยากรที่ปรึกษารวม 2 รุ่น ในปี 2549 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 130 คน และจัดอบรมผู้ตรวจประเมินรางวัล เพื่อสร้างผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถในการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในจำนวนที่เหมาะสม โดยได้มีการจัดอบรมผู้ตรวจประเมินรางวัล 1 รุ่น ในปี 2549 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 20 คน

3. การสร้างหน่วยงานนำร่อง ในปี 2548 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้คัดเลือกส่วนราชการนำร่อง 2 ส่วนราชการ ได้แก่ กรมการค้าภายใน และกรมสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมการนำระบบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐไปใช้ ซึ่งส่วนราชการทั้งสองได้ทำการประเมินตนเองตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ พร้อมกับวิเคราะห์โอกาสในการปรับปรุงตนเองเบื้องต้นแล้ว

4. การเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ การออกจดหมายข่าวฉบับพิเศษของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เน้นเนื้อหาเฉพาะเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การจัดทำเอกสารเผยแพร่ในโอกาสที่สำคัญต่างๆ การประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Website ของสำนักงาน ก.พ.ร. ในหัวข้อการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการจัดประกวดตราสัญลักษณ์ (Logo) รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเตรียมการรองรับการประชาสัมพันธ์โดยมีสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจในเรื่องนี้ด้วย รวมตลอดถึงการจัดเตรียมวิดีทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อประกอบการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อไป

5. การสร้างกลไกการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความพร้อมภายในสำนักงาน ก.พ.ร. ที่จะรองรับการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป จึงมีแนวทางที่จะดำเนินการตามทิศทาง และวิธีการที่กำหนด ได้แก่ การจัดโครงสร้างภายในเพื่อรองรับการดำเนินงาน การส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของส่วนราชการ การตรวจประเมินเพื่อให้รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การจัดประเภทรางวัลพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และการกำหนดมาตรฐานที่ยอมรับได้ในการบริหารจัดการภาครัฐสำหรับส่วนราชการ

6. การเชื่อมโยงกับสิ่งจูงใจ โดยที่ผลจากการดำเนินการตามกรอบแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จะผลักดันให้ส่วนราชการต่างๆ มีระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน และมีผลการปฏิบัติงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาระบบราชการที่มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จะได้ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อเสนอแนวทางการให้สิ่งจูงใจที่เหมาะสมที่ผูกกับผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ ต่อไป

7. การกำหนดเป็นตัวชี้วัดสำหรับส่วนราชการต่างๆ ในปี 2549 ก.พ.ร. ได้กำหนดให้การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นตัวชี้วัดเลือกสำหรับส่วนราชการต่างๆ (กรม จังหวัด และมหาวิทยาลัย) ซึ่งปรากฏว่ามีส่วนราชการที่เลือกตัวชี้วัดนี้ 114 ส่วนราชการ (37 กรม 37 จังหวัด และ 40 มหาวิทยาลัย)

 

2. สาเหตุที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้/เหตุผลที่เลือกอ่านเรื่องนี้

          1.ให้มีการขยายผลการเรียนรู้จากแหล่งความรู้

           2.เนื่องจากขณะนี้หน่วยงาน ในระดับส่วนราชการ ระดับกรมและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำลังดำเนินการ เพื่อให้เป็นไป คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการให้ส่วนราชการมีเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นกรอบในการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เริ่มศึกษาเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 โดยนำหลักเกณฑ์และแนวคิดตามรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award-MBNQA) และรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand Quality Award - TQA) มาปรับให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบราชการไทย ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ และการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และในปี งบประมาณ พ.ศ. 2551 กำหนดในคำรับรองการปฏิบัติราชการ โดยมีการกำหนดค่าคะแนน 22 .ของมิติการพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะสถานศึกษา ต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นและร่วมปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

3. การนำไปใช้ (เพื่อพัฒนาตนเอง/พัฒนาองค์กร)

   3.1 การพัฒนาตนเอง

          ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานได้ศึกษา เรียนรู้ เครื่องมือทางการบริหารที่มีดำเนินการของการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองต้องทำงานแบบมองทั้งระบบมากกว่ามองเฉพาะด้าน ความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาเกณฑ์และดำเนินการ จะพบว่าการปฏิบัติงานต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การทำงานที่ประสบผลสำเร็จและได้มาตรฐาน

    3.2 การพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงาน

            เป็นเครื่องมือทางการบริหารของระบบราชการหน่วยงานภาครัฐ ให้มีเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นกรอบในการประเมินส่วนราชการด้วยตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากล

                                                                    ลงชื่อ สุวิทย์   มุกดาภิรมย์

หมายเลขบันทึก: 195558เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การประเมินของ ก พ ร. นี่ มันคล้าย ๆ กับการประกันคุณภาพ (ประเมินตนเอง ประเมินภายใน )นะครับ

การประเมินองค์กรด้วยตนเอง น่าจะคล้าย ๆ กับการตรวจสุขภาพขององค์กร ราย 3 เดือน 6 เดือนหรือรายปี เพื่อให้ทราบว่าสุขภาพขององค์กรอยู่ในระดับที่แข็งแรงดีหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ ในด้านใด เมื่อตรวจพบว่าเรื่องใดยังไม่อยู่ในระดับที่ "ไม่แข็งแรง" (น่าพอใจเมื่อเทียบกับเกณฑ์) องค์กรจะได้พัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงสุขภาพขององค์กรให้มีความแข็งแรงเป็นปกติต่อไป การประเมินตนเอง จึงเป็น "การทบทวนสิ่งที่องค์กรดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเทียบกันเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ"

ถ้าเข้าใจเช่นนี้ ถือว่าถูกต้องไหมคะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท