โรงเรียนเป็นฐาน


การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

บทความทางวิชาการ : การบริหารการจัดการศึกษากับการใช้โรงเรียนเป็นฐาน

 

โดย : น.ต. หญิง นวลลักขณ์ บุษบง

 

บทนำ

การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management) เริ่มมีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ในหลายประเทศทั่วโลก ได้มีการนำเอานวัตกรรมการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานมาเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการนำมาใช้เพื่อการปฏิรูปการศึกษา แทนการบริหารที่สั่งการมาจากต้นสังกัด หรือเรียกว่า การบริหารรูปแบบที่ควบคุมจากภายนอก (External Control Management) ซึ่งลักษณะของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในแต่ละประเทศก็จะมีชื่อเรียกกันแตกต่างกันไป เช่น ประเทศอังกฤษและเวลส์ เรียก Local Management of Schools และ Grant – Maintained Schools ในออสเตรเลียรัฐ  วิคทอเรีย เรียก The Schools of the Future ในออสเตรเลียตะวันตก เรียก Beeter Schools ในแคนนาดา มลรัฐ Edmonton เรียก School – Based Budgeting ในนิวซีแลนด์ เรียก Tomorrow’s Schools ในสหรัฐอเมริกา เรียก Charter Schools หรือ Site – Based Management หรือ School – Based Leadership หรือ Administrative Decentralization ในฮ่องกง เรียก School – Management Initiative (Ibtisam Abu – Duhou, 1999 : 18 - 19) การดำเนินการจัดการศึกษาตามแนวนี้ ประสบความสำเร็จค่อนข้างกว้างขวาง เนื่องจากการบริหารการจัดการศึกษานั้นจะให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารการจัดการศึกษาโรงเรียนโดยตรง มีการกระจายอำนาจทางการบริหาร ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ชุมชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา สำหรับประเทศไทยได้นำแนวคิดการบริหารจัดการศึกษามาใช้ โดยให้มีการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาจากส่วนกลาง ไปยังสถานศึกษา ตามแนวการปฏิรูประบบการบริหารการศึกษา ทั้งทางด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป โดยมุ่งการกระจายอำนาจ การตัดสินใจ และมีอิสระในการจัดการศึกษาร่วมกับชุมชน ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ความสำคัญแก่ครูและนักเรียน การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน กับการปฏิรูปการศึกษา

การปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน มีลักษณะการปฏิรูปการศึกษา 3 ลักษณะ คือ (เสาวนิตย์ ชัยมุสิก, 2544 : 4 )

1) การให้ความเป็นอิสระในการตัดสินใจแก่โรงเรียนในขอบข่ายหน้าที่ และภาระงานของโรงเรียน ในเรื่องการกำหนดงบประมาณ และการบริหารงบประมาณด้วยตนเอง

2) การให้โอกาสผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

3) การให้โรงเรียนกำหนดความต้องการของโรงเรียนเอง มีการร่วมคิด ร่วมกำหนดความต้องการของตนเอง รวมทั้งแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการของโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู- อาจารย์ ผู้ปกครองและนักเรียน

การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน กับการกระจายอำนาจ ก่อนที่จะเริ่มมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การบริหารโรงเรียนจะเน้นการบริหารแบบดั้งเดิม จะมีลักษณะเป็นการบริหารแบบรวมอำนาจ นิยมการปฏิบัติตามระเบียบ นโยบาย และคำสั่ง เน้นกระบวนการควบคุมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาภายใน อำนาจการบริหารอยู่ที่ส่วนกลาง โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจน้อยมาก ภายหลังจากที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้มีการปฏิรูปการศึกษา การบริหารโรงเรียนจึงเปลี่ยนแนวความคิดมาเป็นการบริหารแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ทางการศึกษา ได้มีนักการศึกษาหลายท่าน เช่น Rondinelli และ Cheema (1983 อ้างถึงใน เสาวนิตย์ ชัยมุสิก, 2544 : 10 – 11) ให้ความเห็นว่า การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เป็นการถ่ายโอนความรับผิดชอบเกี่ยวกับ การวางแผน การบริหารจัดการ การจัดสรรทรัพยากร จากส่วนกลางลงสู่หน่วยงานเครือข่าย ในลักษณะที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบทั้งหมด โดยมีลักษณะของการกระจายอำนาจ (Decentralization) ในรูปแบบ ดังนี้ 1) การแยกอำนาจ (Deconcentration) เป็นการถ่ายโอนความรับผิดชอบภาระงาน อำนาจการบริหารเพียงบางส่วน จากส่วนกลางสู่เครือข่ายระดับล่าง ยึดนโยบายและแผนงานและแนวทางการดำเนินงานที่กำหนดโดยหน่วยงานกลาง สามารถปรับวิธีการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขของท้องถิ่นได้   2) การมอบอำนาจ (Delegation) การแต่งตั้งผู้ทำการแทน เป็นการถ่ายโอนความรับผิดชอบเชิงบริหารจัดการในงานเฉพาะกิจที่ไม่ได้เป็นงานประจำให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ความรับผิดชอบสูงสุดจะยังคงอยู่ที่หน่วยกลาง  3) การถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) เป็นการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจจากส่วนกลาง หรือระดับบนลงสู่ระดับล่างอย่างสมบูรณ์ โดยมีกฎหมาย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการโอนอำนาจอย่างชัดเจน ผู้บริหารระดับล่างมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย ผู้โอนอำนาจไม่มีอำนาจหรือมีเพียงเล็กน้อยในการควบคุมการดำเนินการในภารกิจที่ได้โอนอำนาจไปแล้ว 4) การโอนอำนาจให้เอกชน (Privatization) เป็นการถ่ายโอนอำนาจความรับผิดชอบในการดำเนินงานให้กับองค์กรเอกชนแทนภาครัฐโดยสิ้นเชิง สำหรับส่วนการศึกษา การกระจายอำนาจจะเป็นแบบการถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) โดยให้บริหารจัดการตนเอง มีการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจไปจากส่วนกลาง ซึ่งลักษณะของการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน (Ibtisam Abu – Duhou, 1999 : 30 - 31) ประกอบด้วย 1) ด้านความรู้ (Knowledge) เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตร รวมทั้งการตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายและผลลัพธ์ของโรงเรียน 2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 3) ด้านอำนาจหน้าที่ (Power) เป็นการกระจายอำนาจการที่ให้อำนาจในตัดสินใจ 4) ด้านวัสดุ ครุภัณฑ์ (Material) เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์และครุภัณฑ์ต่างๆ 5) ด้านบุคลากร (People) เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ ในเรื่องการใช้ทรัพยากรบุคคล การพัฒนาบุคลากรสู่มืออาชีพ ในด้านการจัดการเรียนการสอน และการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน 6) ด้านเวลา (Time) เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เกี่ยวกับการบริหารเวลา 7) ด้านการเงิน (Finance) เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของการเงินและงบประมาณ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน กับอำนาจการตัดสินใจ (Decision - Making) การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น ใช้หลักของความเสมอภาคเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย โดยเน้นในเรื่องของความยืดหยุ่นและการบริหารจัดการด้วยตนเอง (Self - Managing) ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมทั้งในแง่ความซับซ้อนของการจัดการศึกษา และความแตกต่างระหว่างสถานศึกษา เปิดโอกาสให้โรงเรียนตัดสินใจที่จะเลือกวิธีที่เดินไปสู่เป้าหมายได้หลายวิธี โดยโรงเรียนสามารถกำหนดระบบการบริหารตนเองได้ภายใต้โครงสร้างและนโยบายหลัก มีอิสระในการคิดริเริ่มพัฒนางานในความรับผิดชอบของตนแองอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในด้านการพัฒนาการเรียนการสอน การกำหนดยุทธศาสตร์ การบริหารให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ให้สมาชิกของสถานศึกษามีส่วนร่วมกว้างขวางขึ้น ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ (เสาวนิตย์ ชัยมุสิก, 2544 : 24 – 25) ดังนั้นโรงเรียนจะต้องกำหนดระบบโครงสร้าง บทบาทความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยยึดนโยบายและเป้าหมายของโรงเรียนเป็นสำคัญ การตัดสินใจในระดับโรงเรียน จะต้องคำนึงถึง 1) ประสิทธิภาพในการบริหาร การตัดสินใจให้เกิดการดำเนินงานของสถานศึกษา จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน 2) ประสิทธิผลของการจัดการศึกษา การกระจายอำนาจก่อให้เกิดการระดมความคิดในเรื่องหลักสูตรที่มีความยึดหยุ่นมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ และเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน 3) การมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการตัดสินใจในการจัดการศึกษาร่วมกันจากทุกๆฝ่ายของโรงเรียน รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน สำหรับสถานศึกษาในประเทศไทย อุทัย บุญประเสริฐ (2546) ได้เสนอรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management) ที่เหมาะสมสำหรับสถานศึกษาในประเทศไทยไว้        5 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบที่มีการบริหารจัดการโดยมีชุมชนเป็นหลัก (Community Control) เป็นการเพิ่มความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชนและผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้รับบริการการศึกษาได้รับความพึงพอใจในการศึกษาที่จัดให้มากที่สุด คณะกรรมการโรงเรียนจึงต้องมีสัดส่วนจำนวนตัวแทนผู้ปกครองและชุมชนมากที่สุด ประกอบด้วย ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาชุมชน (NGO) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา   2) รูปแบบที่มีการบริหารจัดการโดยมีผู้บริหารเป็นหลัก (Admistrative Control) ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้มีอำนาจและรับผิดชอบโดยตรงในการบริหารจัดการโรงเรียนให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีผู้บริหารเป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการอื่นๆได้มาจากการเลือกตั้งหรือคัดเลือกจากกลุ่มผู้ปกครอง ครู และชุมชน คณะกรรมการมีบทบาทให้คำปรึกษา แต่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน 3) รูปแบบที่เป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ มีสถานภาพเป็นองค์กรนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการหรือไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโดยอิสระ (Deregulation) จากกฎระเบียบตามปกติที่ใช้บังคับกับโรงเรียนทั่วไป สามารถออกกฎระเบียบของตนเองได้โดยเฉพาะ มีความเป็นอิสระในเรื่องการจัดการด้านวิชาการ การเงิน และบุคคล แต่โรงเรียนจะต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานตามพันธะสัญญาหรือข้อตกลงที่ได้ทำไว้ 4) รูปแบบที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารสถานศึกษาตามรูปแบบการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัด หรือมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ถ้ามีความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยอาจจัดการศึกษาเองทั้งหมด จัดเองบางส่วน ร่วมกับหน่วยงานอื่น มอบให้หน่วยงานอื่นบางส่วน หรือมอบให้หน่วยงาน องค์การอื่นจัดในรูปแบบใด หรือจัดให้เป็นแบบโรงเรียนในกำกับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ได้ โดยมีการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาโดยตรง (ไม่ผ่านเขตพื้นที่การศึกษา) ในระดับกระทรวงมีหน้าที่และบทบาทสำคัญอยู่ที่การกำหนดนโยบายระดับชาติ กำหนดมาตรฐาน และสนับสนุนงบประมาณบางส่วน แต่งบประมาณส่วนใหญ่สำหรับการดำเนินงานทางการศึกษาจะได้มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง 5) รูปแบบที่ให้เอกชนดำเนินการหรือดำเนินการแบบเอกชน เนื่องจากเห็นว่าเอกชนมีความสามารถในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในประเทศที่เน้นรูปแบบเศรษฐกิจแบบการตลาดและเศรษฐกิจแบบเสรีนั้นการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแบ่งเบาภาระของรัฐ แต่เป็นหลักการสำคัญของระบบการตลาดและเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนที่มีประสิทธิภาพสูง ข้าราชการครูและลูกจ้างประจำในโรงเรียนมีสถานภาพเป็นครูหรือลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานหรือพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน คณะกรรมการโรงเรียนประกอบด้วยผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ และครูใหญ่ เป็นหลัก ประโยชน์ของการนำหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ประโยชน์ของการนำหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานหรือเป็นศูนย์กลางในการบริหารและจัดการศึกษา (อุทัย บุญประเสริฐ, 2546 : 49 - 51) มีดังนี้ 1) เป็นการระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์มาร่วมจัดการศึกษา เปิดโอกาสให้ครู เจ้าหน้าที่และชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของโรงเรียน 2) ขวัญและกำลังใจของครูดีขึ้น 3) เป็นการระดมทรัพยากรด้านการเงินและด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน 4) สร้างและสนับสนุนให้เกิดผู้นำทางการศึกษาใหม่ๆ ในทุกระดับ 5) เพิ่มปริมาณและคุณภาพการติดต่อสื่อสาร 6) สร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน ทำให้เกิดการริเริ่มการมีโครงการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น 7) การที่ครูและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ เกิดแนวทางการใช้งบประมาณโดยประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด 8) เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนในโรงเรียนได้เสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงการศึกษา 9) ชุมชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิ์ในการบริหารและจัดการศึกษาของโรงเรียน 10) การบริหารและการตัดสินใจทำด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้     11) ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน และโครงการใหม่ๆทางการศึกษาของโรงเรียน ความสำเร็จของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ความสำเร็จของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ดูได้จาก 1) การยึดหลักการบริหารตนเอง (Self – Managing) โดยโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง อย่างเป็นระบบ โดยโรงเรียนจะต้องมีการดำเนินการ ดังนี้  กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดคุณภาพของตนเอง  สำรวจสภาพตนเองเพื่อทราบจุดเด่นและจุดที่จะต้องพิจารณาเข้าสู่มาตรฐาน  กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน และเป้าหมายความสำเร็จ  กำหนดวิธีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยใช้วงจรคุณภาพเดมมิ่ง (Plan – Do – Check – Act :

P-D-C-A)  กำหนดหลักเกณฑ์ในการทำงานของบุคลากรของโรงเรียนให้เป็นทิศทางเดียว        กำหนดวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน / ปฏิบัติงานของตน 2) การยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โรงเรียนจะมีการบริหารจัดการที่ดีได้ ต้องยึดหลักคุณธรรม โปร่งใส และสนองประโยชน์ต่อองค์กร ชุมชน และประเทศชาติ โดยโรงเรียนจะต้องมีการดำเนินการ ดังนี้  ทบทวนระบบโครงสร้างการบริหารของโรงเรียน  จัดบุคลากรให้เหมาะสมกับลักษณะงานในความรับผิดชอบ  กำหนดระเบียบ / ข้อปฏิบัติในกระบวนการบริหารจัดการ  เน้นการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การยอมรับของระบบการบริหารของโรงเรียน  มีแผนพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

 

 

 

 

ความสำเร็จของการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน

ความสำเร็จของการบริหารจัดการศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management) เป็นการกระจายอำนาจจากหน่วยงานส่วนกลาง ไปให้โรงเรียนบริหารจัดการเอง ดังนั้นแนวทางการปฏิรูประบบบริหารการศึกษา จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ ภาวะผู้นำของผู้บริหารและเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 9 มาตรา 39 และมาตรา 40 ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความสามารถ โดยใช้หลักของการปฏิรูปการศึกษา หลักการกระจายอำนาจกาบริหารและการจัดการศึกษาไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุด หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ประชาชน โดยคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีบทบาทในการจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น หลักการบริหารจัดการตนเอง เนื่องจากแต่ละโรงเรียนจะมีบริบทเฉพาะเป็นของตนเอง ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะแตกต่างกันไป ดังนั้นการที่ให้โรงเรียนบริหารจัดการตนเอง มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน ก็ย่อมจะทำให้โรงเรียนบรรลุถึงเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงกว่าเดิม ที่ทุกอย่างถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง นอกจากนี้ผู้บริหารจะต้อง มีการบริหารจัดการทางด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปที่ดี มีการทำงานเป็นทีม สร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากร กำหนดผู้รับผิดชอบที่เหมาะสมกับภาระงาน มีการวางแผนกำกับดูแลที่ดี อีกทั้ง การมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อประสานสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน การบริหารการจัดการศึกษา โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานก็จะประสบความสำเร็จตามที่ทุกคนมุ่งหวัง

 

หมายเลขบันทึก: 195083เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ พี่ฑูรย์ มาอ่าน SBM แล้ว S นี่แทนด้วย SE... หรือป่าวนะครับ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท