อบต.ต้องจัดการศึกษาเอง


ท้องถิ่นของเราควรจะจัดการศึกษาอย่างไร ชุมชนท้องถิ่นของเราจึงจะได้ประโยชน์จากการศึกษาอย่างเต็มที่ การศึกษาของเราจะทำให้เด็ก ๆของเรา เก่ง ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้น

 

 

 

 

อบต.ต้องจัดการศึกษาเอง

 

                ปัญหาใหญ่ของการศึกษาของบ้านเรา คือ การศึกษาทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ

                ผมอยากจะฟันธงลงไปว่า  สาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าว คือ ระบบการจัดการศึกษาของเราเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป

                แม้ในปัจจุบัน  มีกฎหมายการศึกษาที่วางกรอบไว้ให้ระบบการจัดการศึกษาเป็นแบบกระจายอำนาจค่อนข้างมากแล้วก็ตาม  แต่ในทางปฏิบัติ  กระทรวงศึกษาธิการ  และหน่วยงานอื่น ๆในสังกัด  เขตพื้นที่การศึกษา  และโรงเรียน  ไม่ได้กระจายอำนาจการจัดการศึกษาตามตัวหนังสือที่ได้ตราเอาไว้  การจัดการศึกษายังคงรวมศูนย์อยู่   การตัดสินใจแทบทุกเรื่องยังอยู่ที่กระทรวง  แม้การรับนักเรียน  กระทรวงยังมากำหนดสัดส่วนว่าต้องเป็นเท่าไร

                ผลร้ายของการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง  ทำให้การศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆที่กระจายอยู่ในชุมชนท้องถิ่น  ไม่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น  เพราะโรงเรียนทั้งหลายจะเพียงเพียรพยายามทำตามที่กระทรวงหรือหน่วยเหนือกำหนด  ถ้ากระทรวง  หรือหน่วยเหนือ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของตน  ok  ทุกอย่างก็จบ  ประเด็นสำคัญอยู่ที่  กระทรวง หรือหน่วยต้นสังกัดของโรงเรียนไม่รู้จักชุมชนท้องถิ่น  ไม่เข้าใจปัญหาของชุมชนท้องถิ่น  และไม่มีความละเอียดอ่อนพอที่จะใส่ใจเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนท้องถิ่น  แม้ใส่ใจก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติด้วยความจำกัดในเรื่องระยะทาง  เวลา  และกำลังคน  สิ่งที่กระทรวง หรือหน่วยต้นสังกัดเข้าใจก็คือความเป็นชุมชนแบบเมือง  ดังนั้น การศึกษาในประเทศเราโดยภาพรวมจึงสามารถตอบสนองต่อประเทศและชุมชนเมืองได้เท่านั้น ชุมชนท้องถิ่นถูกทอดทิ้งให้อ่อนแอลงทุกวัน ๆ

                ผมเข้าใจว่า  อบต.เข้าใจความจริงข้อนี้ดีว่าชุมชนของเราอ่อนแอลงทุกวัน ๆแต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร  มี อบต. จำนวนมากมองเห็นความสำคัญของการศึกษาที่มีต่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นตน  ได้ดำเนินการเพื่อขอเป็นผู้จัดการศึกษาเอง  ก็ประสบกับปัญหาไม่ผ่านการประเมินความพร้อม  อบต.เหล่านั้นก็กลับไปนั่งทำตาปริบ ๆอย่างยอมรับความจริงว่าไม่พร้อม  จะพร้อมได้อย่างไรหากไม่มีการจัดการเพื่อให้พร้อม  บ้านเมืองเรามีพัฒนาการมาอย่างไร  กระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆก็รู้  ถ้ากระทรวงศึกษาธิการมีความจริงใจต่อการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่น ต้องเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ท้องถิ่นเกิดความพร้อมโดยเร็ว  แต่ตั้งแต่มีการประเมินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็ไม่เห็นมีการดำเนินการใด ๆที่เป็นการยกระดับความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นเลย

            เป็นที่รู้กันว่า  ความพร้อมมันเป็นเครื่องมือสำหรับการกีดกัน  แต่ความจริงก็คือ  กระทรวงศึกษาธิการไม่ประสงค์จะให้มีการโอนโรงเรียนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล

                ผมเองไม่สนใจคอยการอุ้มชูจากข้างบน  โดยเฉพาะจากหน่วยงานของรัฐ  มีความเห็นว่าชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบันมีศักยภาพพอที่จะดิ้นรนเพื่อทำให้เกิดความพร้อมขึ้นในท้องถิ่นของตนเองได้  อันดับแรกก็คือผู้นำในท้องถิ่นเองนั่นแหละ  ผู้รู้ในท้องถิ่นก็มีอยู่มาก  หน่วยงานในท้องถิ่นทั้งของรัฐและเอกชนก็มี  ท้องถิ่นสามารถระดมทรัพยากรบุคคลเหล่านี้มาช่วยท้องถิ่นได้  คุยกันว่าท้องถิ่นของเราควรจะจัดการศึกษาอย่างไร  ชุมชนท้องถิ่นของเราจึงจะได้ประโยชน์จากการศึกษาอย่างเต็มที่  การศึกษาของเราจะทำให้เด็ก ๆของเรา เก่ง  ดี  และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้น  อย่าได้เบื่อหน่ายในการปรึกษาหารือกันเช่นนี้  ทำไปด้วยจิตอันเป็นกุศล  แล้วท้องถิ่นจะเห็นรูปแบบของการจัดการศึกษาที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ท้องถิ่นเอง  ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะเห็นและมีการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนแตกต่างกันไป

                ถ้าเห็นว่าการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นตนควรเป็นอย่างไร  ก็ลงมือดำเนินการได้เลยไม่ต้องรอความพร้อม  ในโลกนี้ความพร้อมมีอยู่ทันทีที่เราอยากจะทำ  จุดแข็ง  จุดอ่อน  โอกาส  และอุปสรรค  มีอยู่ในทุกปัจจุบันขณะ  ขอให้มีความมั่นใจและศรัทธาในผองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย  ทุกอย่างจะดำเนินการไปสู่ความสำเร็จได้ 

                กฎหมายการศึกษาได้เปิดโอกาสให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว  ในมาตรา 41 ความว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิในการจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่ง หรือทุกระดับ  ตามความพร้อม  ความเหมาะสม  และตามความต้องการภายในท้องถิ่น
            กฎหมายกำหนดไว้อย่างมีเงื่อนไข  ทำให้ ความพร้อม  กลายเป็นด่านสกัด  การเป็นผู้จัดการศึกษาของท้องถิ่น  แต่ในกฎหมายการศึกษาฉบับนี้  ได้เปิดช่องไว้  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดการศึกษาในสถานศึกษาประเภท  ศูนย์การเรียนได้ 

            ศูนย์การเรียน   อบต.สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องประเมินความพร้อม

 

หาก  อบต.จะจัดการศึกษา  เราสามารถเริ่มจัดในรูปแบบ  ศูนย์การเรียน  ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้จัดการศึกษาในสถานศึกษาที่เรียกว่า  ศูนย์การเรียน ได้ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยศึกษา  จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  สาระสำคัญของความที่ตราไว้อยู่ใน  มาตรา 18 ของ  พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

  เอาไหม๊????
 
อบต.  เรามาช่วยกันวางรากฐานการศึกษาเพื่อท้องถิ่นของเราเองกันไหม๊????

หมายเลขบันทึก: 195058เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ

  • "เครื่องจักสาน" หรือ "ตะกร้าไม้ไผ่" คือ ตัวอย่างที่ดี
  • เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ครับ  และผมเคยเสวนากับเพื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย ดังนี้ครับ
  • เพื่อนเขายกตัวอย่าง ประเทศบราซิลที่นำระบบการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปใช้ ปรากฏว่าพบปัญหา คือ ความสามารถในการจัดการศึกษาของพื้นที่รวยกับพื้นที่จนแตกต่างกันมากขึ้น ๆ  ครูไม่อยากไปสอนในพื้นที่จน เพื่อการศึกษาของลูกหลานคนมีฐานะก็ย้ายออกจากพื้นที่จนไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เกิดปัญหาสีผิวทางการศึกษาว่าคุณจบจากที่ไหน ม.ท้องถิ่น ม.เมืองใหญ่ ประมาณนั้นครับ
  • อีกตัวอย่างหนึ่งที่เยอรมนี ตามประวัติศาสตร์แล้ว เยอรมนีประกอบขึ้นจากรัฐ 16 รัฐ ในอดีตแต่ละรัฐจัดการศึกษาของตนเอง มีกระทรวงศึกษาธิการของตนเอง ใช้หลักสูตรของตนเอง ปัญหาที่ตามคือ ความแตกต่างด้านมาตรฐานการจัดการศึกษาครับ ต้องใช้กว่า 100 ปี กว่าจะสร้างมาตรฐานกลางและรวมศูนย์กลางการศึกษาแห่งชาติครับ
  • ขอบคุณครับ

กราบสวัสดีค่ะท่านอาจารย์

เมื่อวานได้ดูรายการทีวีช่องหนึ่ง...เขานำเสนอการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย เสียดายที่ไม่ได้ดูตั้งแต่ต้น..จับประเด็นได้ว่า

  • ในชุมชนนั้นจะมีเยาวชนส่วนหนึ่งขาดโอกาสทางการศึกษา อย่างเช่นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องตื่นมาทำงานตั้งแต่ตีสอง....กว่าจะเสร็จงานก็หกโมงเช้า...ทำให้การไปโรงเรียนและการเรียนรู้ในห้องเรียนขาดประสิทธิภาพ....เด็กบางคนติดเกม ติดยาเสพติด ทำให้ไม่สามารถอยู่ในระบบโรงเรียนได้ แต่ชุมชนที่นี่ไม่ได้ทอดทิ้ง...มีการจัดการให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ตามความพร้อม ตามศักยภาพ
  • เป็นงานที่น่าชื่นชม...และถือว่าเป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างแท้จริง....และส่งเสริมให้คนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
  • ทั้งหน่วยงานนี้ยังได้ประสานกับชุมชน โรงเรียน และวัดในการดำเนินงาน ...เป็นภาพที่งดงามค่ะ

● ในแง่ที่เด็กข้างบ้านคุยกัน สภาพการณ์ดังที่ว่ามาก็คงจะเกิดขึ้น แต่มันจะกลายเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อ

          1.เรายังมองการจัดการศึกษาภายใต้กระบวนทัศศน์เก่า หรือความคิดที่ว่าต้องมีมาตรฐาน และเป็นมาตรที่เกิดจากความคิดที่ถูกครอบงำ เช่นใช้ฝรั่งเป็นมารตรฐาน ต้องมาตรฐานของสมศ. หรือมาตรฐานอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เอาความเจริญ ความทันสมัย เอาความเชื่อ เอาค่านิยม แล้วแต่จะเรียกของผู้อื่น เป็นตัวตั้ง          
           การจัดการศึกษาโดยท้องถิ่นที่ว่านี้ มันเริ่มจากความไม่พอใจของผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เป็นอยู่ของคนในชุมชน แล้วคนในชุมชนคิดจะทำใหม่เพื่อลดผลที่ไม่พึงประสงค์ตามความคิดของตนเอง และโดยตนเอง อาศัยศักยภาพที่ตนมี อาศัยโอกาสที่สังคมเปิดให้ อาศัยพลังของตนในการแสวงหาโอกาสใหม่ และหรือลดอุปสรรคต่าง ๆที่ปัญญาบารมี ที่ชุมชนจะพึงมี เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการจัดการศึกษาอย่างที่ได้คิดได้ฝันร่วมกันไว้
           เบื้องแรกก่อนลงมือทำงานแบบนี้ โดยภาวะผู้นำของผู้นำท้องถิ่น ก็คงต้อง ถาม แถม และเถียง กับสมาชิกในชุมชนอย่างถึงพริก ถึงขิง จนกระทั่ง คนในชุมชนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดมีดวงตาเห็นธรรมร่วมกัน   
           คำตอบสำหรับคำถามสำคัญ ๆจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่น
                  คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า
                       -เราตั้องการให้ชีวิตของเราและลูกหลานเราเป็นอย่างไร
                       -เราจะทำอย่างไรชีวิตของเราและลูกหลานเราจึงจะเป็นแบบนั้นได้
                       -ใครบ้างเล่า และอะไรบ้างเล่าจำเป็นในการที่เราจะทำแบบนั้นได้
                       -ใครบ้างเล่าในชุมชนของเรา จะเป็นคนกำกับดูแลให้ความคิดเหล่านี้บังเกิดผลจริงกับเรา ลูกหลานเราและชุมชนของเรา

             ตามที่ว่ามานี้ มาตรฐานชีวิตของชุมชนได้ถูกกำหนดเป็นมารตฐานทางการศึกษาของชุมชนนี้แล้ว หากชุมชนมองเห็นว่านี่คือสวรรค์ของเขา ในฐานะชุมชน จะต้องไปสนใจใยดีต่อมาตรฐาน อะไร ของใครอีกเล่า
            สิ่งที่เขาควรสนใจใยดีต่อไปก็คือ ความคิดของเขามันนำไปสู่ความเป็นจริงได้เพียงใด ถ้าไม่ได้อย่างที่คิดก็มาคิดกันใหม่ จะปรับ จะปรุง จะแก้ตรงไหนก็ว่าไป กระบวนการคิด และทำร่วมกันก็ดำเนินไปรอบแล้วรอบเล่า จนกว่าจะพอใจ มันก็แค่นี้ และ มันก็เช่นนี้แหละ

            2.ในกรณีที่เกิดปัญหาด้านมาตรฐานทางการศึกษาของชาติ เนื่องจากความเด่น ด้อย แตกต่างกันของชุมชน นั่นเป็นความรับผิดชอบในระดับรัฐ ในฐานะรัฐบาลที่มีหน้าที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติ รัฐบาลก็ทำหน้าที่กำกับดูแลไป ซึ่งน่าจะไม่ใช่เรื่องยากนัก ถ้าเงื่อนไขด้านชุมชนเป็นดังที่กล่าวข้างต้น ควรให้การสนับสนุนอะไรก็สนับสนุนไปตามควร ปัญหาก็คงจะถูกกำจัดขัดเกลาไปตามควรแก่เหตุ
           สำหรับบ้านเรา ปัญหาการศึกษาในระดับรัฐ ผมเชื่อว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ โครงสร้างการบริหารจัดการในบ้านเรา มันเป็นโครงสร้างที่อำนวยความไม่เท่าเทียมกันขององค์ประกอบย่อยที่มีความแตกต่างภายในโครงสร้างนั้น
           ตัวอย่าง 2 ตัวอย่างที่เด็กข้างบ้านยกมา ผมก็เชื่อว่าโครงสร้างก็คงมีลักษณะอย่างที่ว่านี้ ชีวิตคน หรือชุมชน ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของรํฐหรือส่วนกลางอยู่มาก
           ตัวอย่างในแวดวงการศึกษา ในบ้านเรา เขากำหนดเงินอุดหนุนรายหัวไว้เท่ากันทั้งประเทศ งบประมาณในการจัดการศึกษาของโรงเรียนได้จาก เงินอุดหนุนรายหัว X จำนวนนักเรียน โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจึงประสบปัญหามาก เพราะปีหนึ่ง ๆก็จะมีงบประมาณมาจัดการศึกษา เพียงแสนกว่าบาท โรงเรียนเหล่านี้จะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานของชาติได้อยางไร ตรงกันข้ามกับโรงเรียนในเมือง โรงเรียนในเมืองใหญ่มีคนนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนมากมาก แถมยังมีโครงการของส่วนกลางไปลงที่โรงเรียนเหล่านี้อีกด้วย อย่างนี้คุณภาพจะเท่าเทียมกันได้อย่างไร           
           ปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐบาลมักไม่สนใจที่จะจัดการ เพราะโครงสร้างดังกล่าว เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความได้เปรียบทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางอื่น ๆของชนชั้นตน นี่แสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องการเมืองด้วย ไม่ใช่เรื่องการศึกษาอย่างเดียว ดังนั้นคนที่เป็นชาวไร่ชาวนา คนในชุมชนท้องถิ่น แม้กรรมกรผู้ขายแรงงาน ถ้าต้องการลดภาวะความเสียเปรียบของตนก็ต้องมาเล่นการเมือง มามีบทบาททางการเมือง ทั้งภาคตัวแทน และภาคประชาชน ให้สมบท สมบาท จึงจะสามารถเข้ามาแก้โครงสร้างได้ ไม่เช่นนั้นก็จะตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบร่ำไป

● ส่วน ตัวอย่างที่ noktalay พูดถึงนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นในชุมชน มันได้รับการส่งเสริม พัฒนา ให้เข้มแข็ง ครอบคลุม ตอบสนองปัญหาและความต้องการของชุมชนได้ โดยชุมชนลุกขึ้นเอาใจใส่ เอาธุระเรื่องเหล่านี้กันจริง ๆ อย่างรู้จักเรียนรู้ เมื่องไทยจะยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นไหน ๆทั้งหมดแหละโยม

                                                 

                                                                   Paaoobtong

  • แวะมาเรียนรู้-ทำความรู้จักกับอบต.อีกมุมค่ะ

อยากทราบนะครับอาจารย์

ว่ามีพื้นที่ใดบ้างในเมืองไทย ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้อย่างทีประสิทธิภาพ

  • เท่าที่ทราบยังไม่มี
  • แต่เชื่อว่า มีหลายอบต.ในประเทศเรามีศักยภาพที่จะจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นสำคัญอยู่ที่เขายังไม่เชื่อ ยังไม่เชื่อว่าการศึกษานั้นเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของชุมชน(ทุกระดับ)ในการที่จะบริหารจัดการชีวิตของคนและชุมชนให้สมดุล มั่นคง และยั่งยืน
  • สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ผู้นำจะต้องเข้าใจคือ อย่าไปกังวลว่าการศึกษาที่เราจัดจะทัดเทียมกับที่ที่อื่น หรือที่ไหน ๆเขาจัดกัน ให้สนใจว่าชุมชนของเราต้องการอย่างไร การศึกษาที่เราจัดอยู่นี้ตอบสนองความต้องการของชุมชนเราได้หรือไม่ ถ้าได้ ทุกอย่างก็ OK ถ้าไม่ ก็แก้ไขปรับปรุงกันไป ประสิทธิภาพต้องคิดภายใต้เงื่อนไขของเราเอง จึงจะเป็นสุข             
                         paaoobtong 
                            6/3/52 
                             8:26
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท