BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๓


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๔. การบวชในคัมภีร์พระเวท

พระเวทเป็นคัมภีร์โบราณของอินเดียมีอายุเกิน ๔๐๐๐ ปี แนวคิดของอินเดียทั้งหมดผูกติดอยู่กับคัมภีร์พระเวท โดยแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายไม่คัดค้านคัมภีร์ฯ และ ฝ่ายคัดค้านคัมภีร์ฯ พระพุทธศาสนาจัดอยู่ในฝ่ายคัดค้านคัมภีร์ฯ เป็นการยากและออกนอกแถวนอกทางเกินไปที่จะนำแนวคิดทั้งหมดมาเล่าให้ฟัง ฉะนั้น ผู้เขียนจะนำแต่เพียงเรื่อง อาศรม ๔ ซึ่งว่าด้วยการแบ่งวัยแห่งชีวิตเป็น ๔ ช่วงเวลามาเล่าให้ฟัง เพื่อจะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการบวชมีความเป็นมาอย่างไร

๑. พรหมจารี หมายถึง ผู้ประพฤติประเสริฐ เป็นระยะแรกของชีวิต เริ่มต้นประมาณอายุสิบขวบ (อาจอ่อนหรือแก่กว่านี้เล็กน้อยโดยกำหนดตามชั้นวัยของวรรณะเป็นเกณฑ์) โดยผู้ปกครองจะนำเด็กๆ เข้าไปหาคุรุหรือครูเพื่อทำพิธีรับตัวเข้าเป็พรหมจารี หน้าที่ของพรหมจารีคือการศึกษาเล่าเรียนหลักคำสอนตามแนวคิดในคัมภีร์พระเวท ซึ่งดำหนดว่าให้เรียนคัมภีร์หมดว "มันตระ" หรือการท่องบทสวดมนต์นั่นเอง โดยเป็นบทสวดประเภทร้อยกรองต่างๆ เช่น บทเพลงสดุดีเทพเจ้า บทเพลงว่าด้วยพิธีบูชายัญ หรือว่าด้วยคาถาต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ท่องจำเรื่องราวต่างๆ ไว้ และใช้เวลาที่เหลือฝึกหัดมารยาทและเรียนรู้ขนบธรรมเนียมเบื้องต้น

๒. คฤหัสถ์ หมายถึง ผู้ครองเรือน เป็นระยะที่สองของชีวิต เริ่มต้นด้วยการแต่งงานมีครอบครัว ในระยะครองเรือนนี้กำหนดให้ศึกษาคัมภีร์หมวด "พรหมณะ" มีเนื้อหาอธิบายเรื่องราวต่างๆ ในหมวดมันตระให้เข้าใจยิ่งขึ้น เช่น เทพเจ้ามีความหมายและความสำคัญอย่างไร ประโยชน์ของการบูชายัญ และว่าด้วยข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีกรรม เป็นเป็น

๓. วนปรัสถ์ หมายถึง ผู้อยู่ป่า เป็นระยะที่สามของชีวิต เริ่มต้นหลังจากลูกของเรามีลูก ได้แก่หลานของเรานั่นเอง ผู้ครองเรือนก็ควรเริ่มออกจากบ้านไปอยู่ป่าตามประสาคนเฒ่าคนแก่เพื่อหาความสงบในชีวิต การออกไปอยู่ป่านี้อาจเริ่มต้นด้วยการออกไปเป็นครั้งคราวคนเดียวหรือทั้งสองคนผัวเมียก็ได้ ส่วนภารกิจการงานต่างๆ ก็ให้ลูกหลานดูแลแทน ในระยะที่สามนี้กำหนดให้ศึกษาคัมภีร์หมดว "อารัณยกะ" ซึ่งเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับความสงัดของการอยู่ป่า การบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อความหลุดพ้น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ระยะที่สามของชีวิตนี้เองที่ตรงกับความหมายของการบวชที่แปลว่าผู้เว้นจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้านหรือออกไปจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน ตามความหมายที่อธิบายไว้ข้างต้น และควรยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดได้เพราะได้สละสิ่งต่างๆ แก่ลูกหลานเพื่อแสวงหาความสงบสุขแห่งใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สูงกว่า

อนึ่ง ระยะผู้อยู่ป่านี้เป็นการมาอยู่เป็นครั้งคราว หรือคงจะปลีกตัวมาอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรือนนัก ลูกหลานยังคงสนับสนุนช่วยเหลือความเป็นอยู่หรือยังคงมีผู้มาปรึกษาเรื่องราวทางบ้านที่ยังแก้ไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น แนวคิดคัมภีร์พระเวทจึงได้เสนอแนวทางต่อไปเพื่ออุดมคติของชีวิต

๔. สันยาสี หมายถึง ผู้แสวงหาธรรม เป็นระยะสุดท้ายของชีวิต จะมีการทำพิธีออกบวชอย่างเป็นทางการ มอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายบรรดามีให้แก่ลูกหลานหรือผู้อื่นจนหมดแล้วตนเองก้เที่ยวขอทานเลี้ยงชีพ ท่องเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือท้องถื่นต่างๆ เช่น เลียบริมฝั่งไปตามแม่น้ำคงคาหรือขึ้นไปทางเหนือแถบเทือกเขาหิมาลัย เป็นต้น ในระยะสุดท้ายนี้กำหนดให้เรียนคัมภีร์หมวด "อุปนิษัท" เป็นแนวคิดระดับปรมัตถ์คือมีความหมายลึกซึ้งว่าด้วยวิญญาณ อาตมัน พรหมัน ชีวิต โลก และจักรวาล โดยดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ให้สอดคล้องกับหลักคำสอนเหล่านี้ แนวคิดย่อที่สุดก็คือเพื่อความหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดจิตใจทุกอย่าง (โมกษะ)

อาศรม ๔ ซึ่งเป็นลำดับช่วงวัยชีวิตนี้ อาจมีการลัดขั้นตอนหรือข้ามขั้นได้ เช่น จากพรหมจารีขึ้นไปสู่สันยาสีเลย ตัวอย่างก็คือนักบวชฮินดูที่สำคัญคนหนึ่งซื่อ ศังกราจารย์ อายุสิบปีเรียนจบคัมภีร์พระเวท อายุสิบสองปีก็บวชเป็นสันยาสีแล้วออกท่องเที่ยงเผยแพร่คำสอนไปทั่วอินเดียว อายุสามสิงสองปีก็ตาย ยกย่องกันว่านักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ในโลกที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งก็คือสังกราจารย์คนนี้ แนวคำสอนย่อๆ ของสังกราจารย์ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างเดียว ได้แก่ พรหมัน ไม่มีฉัน ไม่มีเธอ ไม่มีเขา ไม่มีสิ่งนี้สิ่งนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นพรหมันเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยอำนาจของมายาทำให้เราเข้าใจกันว่าเป็นฉันเป็นเธอเป็นเขาหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เมื่อใดที่เราทำลายมายาเครื่องปกปิดเสียได้ เราจะรู้ว่า เราคือพรหมัน... อะไรทำนองนี้

ตามที่เล่ามาย่อๆ จะเห็นได้ว่าการบวชตามแนวคิดเดิมของคัมภีร์พระเวทนั้นตรงตามความหมายของคำว่าบวช คือ เว้นจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน ออกไปจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน และถึงความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด

อนึ่ง ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า ปรัชญาอินเดียแบ่งเป็นฝ่ายไม่คัดค้านฯ กับฝ่ายคัดค้านฯ แม้ว่าแนวคิดเรื่องการออกบวชจะยังคงมีอยู่ทั้งสองฝ่าย แต่วิธีปฏิบัติในเรื่องการบวชก็ไม่ได้เหมือนกับแนวคิดตามคัมภีร์พระเวทเดิม เช่น ในศาสนาเชนซึ่งเป็นฝ่ายคัดค้านคัมภีร์พระเวทก็มีนักบวชเช่นเดียวกัน นักบวชพวกนี้บำเพ็ญเพียรตามคำสอนแบบ ศาสนาปรัชญาเชน ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายทีฆัมพร ซึ่งเป็นพวกนุ่งลมห่มฟ้าหรือชีเปลือย และ ฝ่ายเสวตัมพร ซึ่งเป็นพวกนุ่งขาวห่มขาว เป็นต้น ฉะนั้น ผู้เขียนจะไม่เล่าเรื่องนักบวชต่างๆ ในประเทศอินเดีย ขอยกเรื่องการเสด็จออกบวชของพระบรมศาสดา และการออกบวชของพุทธสาวกบางท่านในสมัยพุทธกาลเป็นตัวอย่าง จะได้เปรียบเทียบว่าการบวชในปัจจุบันมีความเหมือนและความต่างกับครั้งพุทธกาลอย่างไรบ้าง...

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 194884เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2008 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-นมัสการพระคุณเจ้า

-ผมแวะเข้ามาอ่านเรื่องคุณค่าของการบวชปัจจุบันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท