คู่มือผู้บริหารโครงการ "พัฒนาการจัดการความรู้ใน รพ. ภาคเหนือตอนล่าง" (ตอน 3)


Link ตอนที่ 2

       วงจรชีวิตเครือข่ายการจัดการความรู้

        เมื่อเปรียบกับการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตนั้น เครือข่ายการจัดการความรู้คงไม่ต่างไปจากการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่คนซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรเป็นองค์ประกอบของการจัดการความรู้ ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายอันส่งผลให้เกิดคลังความรู้ ที่สามารถนำไปพัฒนาความรู้เพื่อการพัฒนางานที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าสักวันใดวันหนึ่งผู้เป็นเจ้าของความรู้จะลาจากองค์กรไปแล้วก็ตาม แต่ความรู้นั้นไม่สูญสลาย แตกดับไปพร้อมกับคน และยังรอการปรับปรุงพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนในองค์กรเกิดการเรียนรู้ตลอดอย่างต่อเนื่อง

ภาพที่ 1.3  แสดงวงจรชีวิตเครือข่ายการจัดการความรู้

      จากภาพที่ 1.3  แสดงให้เห็นลำดับขั้นของพัฒนาการเครือข่ายการจัดการความรู้ซึ่งประกอบด้วย 4  ขั้นตอน รายละเอียดดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 ระยะก่อตัวของเครือข่ายการจัดการความรู้ ซึ่งการก่อตัวนั้นอาจเกิดจากการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการของสมาชิก หรือเกิดจากการสร้างเครือข่ายการจัดการความรู้แบบเป็นทางการ (เครือข่ายแบบจัดตั้ง) สิ่งที่มองเห็นได้ในระยะนี้ คือ ความสัมพันธ์ของสมาชิกยังก่อตัวแบบหลวม ๆ เริ่มมีการสร้างพันธะสัญญาร่วมกัน การค้นหาประเด็นร่วมและการเตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการรองรับกิจกรรมนำไปสู่การขยายตัวในระยะเติบโตของเครือข่าย (ซึ่งจะกล่าวไว้ในรายละเอียดของการสร้างเครือข่ายการจัดการความรู้ในบทที่ 3 ต่อไป)


 ระยะที่ 2  ระยะเติบโตของเครือข่ายการจัดการความรู้ ในระยะนี้เราจะมองเห็นพัฒนาการของเครือข่าย โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ทั้งในเวทีจริง และเวทีเสมือนจริง  สมาชิกจะมีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนความรู้มากมายก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์งาน
และวิธีปฏิบัติอีกมากมาย สิ่งที่พบเห็นได้ในระยะนี้คือความถี่ในการติดต่อของสมาชิกเพิ่มขึ้น สมาชิก มีความสนิทสนมกันมากขึ้น เกิดความสามัคคีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในระยะนี้นักประสานเครือข่ายการจัดการความรู้ต้องจัดหารูปแบบกิจกรรมที่จะให้สมาชิกเครือข่ายได้ไปพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันเอง โดยไม่ต้องรอให้ทีมผู้ประสานเครือข่ายเป็นผู้จัดให้ (ซึ่งในบทที่ 4 จะได้กล่าวถึงรายละเอียดของการกระตุ้นเครือข่ายการจัดการความรู้ในระยะของการเติบโต (ขยายตัว))

ระยะที่ 3 ระยะอิ่มตัวของเครือข่ายการจัดการความรู้ ในระยะนี้เราจะพบถึงความเฉื่อยชาของสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ สิ่งที่นักประสานเครือข่ายจัดการความรู้ มองเห็นและสัมผัสได้คือ ความถี่ในการติดต่อ แลกเปลี่ยนความรู้ การติดต่อสื่อสาร มีอัตราที่ลดน้อยถอยลง จึงเป็นสาเหตุให้คลังความรู้ หรือวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศไม่งอกเงยเพิ่มขึ้นจากเดิม สมาชิกเครือข่ายเกิดการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้า ๆ ออก ๆ จากกลุ่มสมาชิก

ในระยะนี้นักประสานเครือข่ายการจัดการความรู้ต้องค้นหากลวิธีเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกเครือข่าย และเครือข่ายการจัดการความรู้ให้มีดำรงอยู่และมีการพัฒนาการของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
(ซึ่งจะได้นำเสนอในบทที่ 5 ซึ่งเป็นรายละเอียดของกลวิธี/เทคนิคการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ในระยะอิ่มตัว)

ระยะที่ 4 ระยะถดถอย หากนักประสานงานและสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ไม่ได้ดำเนินการค้นหากลวิธี เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเครือข่ายในระยะอิ่มตัวจะส่งผลให้พัฒนาการของเครือข่าย เริ่มถดถอย และสลายไปในที่สุด ซึ่งสัญญาณที่จะบ่งบอกถึงการสลายตัวของเครือข่ายที่สามารถมองเห็นได้ อาทิเช่น

· การหยุดชะงักของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิก

· การขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิก สมาชิกเครือข่ายลาออกจากการเป็น
สมาชิกภาพ

· หัวข้อ (ประเด็น) ที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ถูกนำมาพัฒนางานหมดแล้ว จึงไม่จำเป็น
ที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นเดิม

· สมาชิกเครือข่ายขาดแรงจูงใจ

· ขาดการสนับสนุนจากทีมบริหารในองค์กร

ฉะนั้น นักประสานเครือข่ายการจัดการความรู้ต้องมีความไวต่อความรู้สึกถึงสัญญาณ ที่บ่งบอกถึงการสลายตัวของเครือข่าย และรีบดำเนินการหาวิธีการหรือกลวิธีป้องกันไม่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #คลังความรู้
หมายเลขบันทึก: 19316เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2006 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท