เรื่องที่เขาไม่ได้สอนกันในชั้นเรียนบัณฑิตศึกษา


ผมขอสรุปเลยนะครับ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น

(1) อาชีพของเราคือ นักเรียน (เรียนแล้วได้เงินเดือน)
(2) ในการเลือกวิชาเรียน ไม่ใช่ดูว่าเรียนวิชาอะไร แต่ให้ดูว่าใครเป็นคนสอน
(3) เป็นผู้ช่วยสอน บางครั้งงานหนักกว่าอาจารย์ผู้สอน
(4) อย่างลืมเก็บหน่วยกิตวิชาทำครัว

ทีนี้เอาแบบละเอียดๆ

เนื่องจากบทความใน Chronicle เรื่อง What They Didn't Teach You in Graduate School บทความนี้เขียนให้คนที่จบปริญญาเอกอ่าน เหมือนกับเป็นการเตือนว่าจะต้องไปเจออะไรในภายหน้า ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับระบบการจ้างงานอาจารย์ที่อเมริกา ซึ่งไม่ค่อยจะเหมือนกับบ้านเรา ถ้าใครหวังจะหางานที่นี่ อ่านดูก็น่าจะมีประโยชน์ ส่วนผม ยังไงก็กลับเมืองไทยครับ อ่านแล้วก็เอามาคิดต่อว่าตลอดระยะเวลาที่เรียนมาสองปีกว่าๆ นี้ มีอะไรที่เก็บได้ทั้งนอกและในห้องเรียน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้คือเรื่องการเลือกที่ทำงานที่แรก ซึ่งเขาแนะนำว่าเมื่อจบแล้วไม่ควรทำงานในมหาวิทยาลัยที่ได้รับปริญญาเอก เหตุผลน่าสนใจครับ ผู้เขียนอ้างถึงทัศนคติของอาจารย์ผู้ใหญ่และที่ปรึกษาของเรา ซึ่งในสายตาเขาเหล่านั้นอาจจะยังมองเราเป็นเพียงนักศึกษาอยู่ แม้จะเปลี่ยนบทบาทเป็นอาจารย์แล้วก็ตาม ธรรมเนียมทั่วไปในการเข้าทำงานของอาจารย์ใหม่จึงต้องเริ่มงานในสถาบันการศึกษาที่ใหม่ แต่ถ้าเกิดรักและผูกพันกับสถาบันต้นสังกัดที่ตัวจบมามาก ก็ต้องหาทางย้ายกลับมาหลังจากสามารถพิสูจน์ตัวเอง สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับได้ในวงการ ดูตัวอย่างจากหนังก็นึกถึงเรื่อง A Beautiful Mind (2001) เมื่อจอร์น แนช (ในเรื่องรับบทโดยรัสเซล โคร) ไปเริ่มงานที่ MIT หลังจากได้รับปริญญาเอกจาก Princeton University แล้วภายหลังถึงกลับมาที่ Princeton อีกครั้ง ถ้าผมจำไม่ผิด ในหนังอ้างถึงความผูกพันที่ แนช มีต่อ Princeton ด้วย

เรื่องนี้ผมว่าน่าสนใจเพราะมันตรงข้ามกับบ้านเราเลยครับ เรารับคนจบปริญญาโทเป็นอาจารย์ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มงานในสถาบันที่ตนเองจบการศึกษา จากนั้นก็ได้ทุนไปต่อปริญญาเอกที่อื่น เพื่อที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ในสถาบันเดิม นักเรียนเก่งๆ มักจะถูกทาบทามให้เป็นอาจารย์ และมีทุนเสนอให้เป็นข้อจูงใจ ถ้ามองในแง่ลบก็เป็นการสร้างคุณค่าสถาบันให้แข็งแกร่ง เพิ่มพวกพ้อง ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นการสนับสนุนคนเก่ง ส่งเสริมคนดี ก็แล้วแต่จะมองมุมไหนนะครับ

แต่ผมว่าที่เราควรจะเอามาคิดกันก็คือเหตุผลของการเข้าทำงานในสถาบันที่ตัวไม่ได้จบการศึกษานั้น เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากร แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสริมสร้างเครือข่ายภายนอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดีต่อการร่วมมือทำงานทางวิชาการและทางงานวิจัย

ผมก็พิมพ์ไป บ่นไป ตามประสา

เข้าเรื่องดีกว่า ขอเริ่มด้วยเรื่องที่เขาไม่ค่อยจะสอน แต่ผมโชคดีที่มีคนแอบบอก

(1) เมื่อตอนเรียนวิชาสัมมนาพื้นฐานของแผนกฯ อาจารย์เรียนนักศึกษาปริญญาเอกไปนั่นรวมกัน แล้วก็เล่าให้ฟังว่าตอนอาจารย์เรียนปริญญาเอกนั้น มีเพื่อนที่มีแฟน มีคู่สมรสอยู่หลายคู่ รวมถึงตัวท่านด้วย ท่านเล่าว่าตอนที่ได้รับปริญญานั้น มีแค่ตัวท่านกับสามีเท่านั้นที่สามารถประคองชีวิตคู่รอดมาได้ ส่วนคู่อื่นหย่าร้าง หรือเลิกรากันไปหมดเลย จากนั้นท่านก็เปรียบเทียบว่ามีโถแก้วใบหนึ่ง มีหินก้อนใหญ่ มีลูกแก้วก้อนเล็กๆ แล้วก็มีกรวดละเอียดอยู่ ปริมาตรของสามอย่างนี้รวมกันพอดีๆ กับขวด ท่านก็เปรียบว่าหินนั้นเหมือนภาระหน้าที่สำคัญของเรา แล้วลูกแก้วก็เหมือนบทบาทอื่นๆ ที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง เป็นคู่สมรส เป็นบุตรธิดา ส่วนกรวดละเอียดนั้นเหมือนเรื่องจุกจิกในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือเรื่องบันเทิงต่างๆ
สามสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน ถ้าเราใส่ลูกแก้ว และกรวดลงก่อน ก้อนหินก็ลงไม่ได้ ถ้าใส่หินไปเสียเยอะก่อน ก็มีช่องว่างน้อยให้ลูกแก้วลง จะให้ดีต้องค่อยๆ ใส่ไปทั้งสามอย่าง ให้มันสมดุล ผมละชอบข้อคิดนี้เหลือเกินครับ เสียดายว่าอาจารย์ไม่เอาขวดโหลมาให้เราลองเล่นกันจริงๆ เท่านั้นเอง

Pebble

(2) ในชั้นเรียนสัมมนาของภาควิชาฯ มีสองเรื่องที่ผมติดใจอาจารย์ผู้สอนครับ (2.1) ท่านให้เราแนะนำตัวทุกครั้ง และให้บอกหัวข้อวิจัยที่สนใจ โดยให้อยู่ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งนาที เรียกว่าเป็นบทสนทนาในลิฟท์ หรือ elevator speech เป็นการช่วยสังเคราะห์ความคิดเราไปในตัว (2.2) ท่านบอกว่าบางครั้งการเลือกเรียนวิชาในบัฒฑิตศึกษานั้น คนสอนสำคัญกว่าวิชาที่สอน อาจารย์บางท่าน แค่ได้ไปนั่งในชั้นเรียนก็ถือว่าคุ้มแล้ว ได้ไปดูพลัง ดูทักษะ ดูพรสวรรค์ เพื่อจะนำมาเป็นตัวอย่าง และปรับให้เข้ากับสไตล์ของเราเอง

เรื่องที่เขาไม่ได้สอน ต้องมาสำนึกด้วยตัวเอง

(3) เขาไม่ได้บอกให้เตรียมใจว่าเราต้องใส่หน้ากากหลายหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยวิจัย ผู้ช่วยสอน นักเรียน แฟน เพื่อน พ่อครัว นักบัญชี ต้องทำใจเลยครับว่าเราจะเลิศหมดทุกอย่างคงไม่ได้ แต่ก็ต้องไม่ให้อย่างใดอย่างหนึ่งเสีย เพื่อนหลายคนต้องลดการงานวิจัยไปเมื่อกลายเป็นผู้ช่วยสอน โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยนั้นภาระการสอนส่วนใหญ่จะตกเป็นของผู้ช่วยสอนครับ ส่วนอาจารย์จริงๆ ไปรับงานวิจัยเสียมากมาย

(4) วิชาหนึ่งที่นักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บหน่วยกิตกันคือวิชาทำครัวครับ เป็นวิชาที่เรียนตามอัธยาศัย ผมเห็นเรียนกันจังเลย ผมก็ลงตั้งแต่เทอมแรก จนตอนนี้เก็บไปได้หลายหลักสูตรแล้ว

รอรับฟังความคิดเห็นเช่นเคยครับ

ภาพ Just Pebbles on the Beach

โดย -RobW-

 

หมายเลขบันทึก: 191942เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2008 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สบายดี นะท่าน

เรื่องสนุกดี

รถซ่อมเสร็จแล้วใช่ปะ 555

 

  • ขอบคุณครับ

สวัสดี scmman

เราสบายดี รถซ่อมเสร็จแล้ว เสียไปหลายตังค์อยู่

scm สบายดีนะ?

รักษาสุขภาพด้วย

เรื่องอาหารนั้น เป็นเรื่องสำคัญ แต่บางทีการทำครัวเหมือนูกมองว่า ไม่สำคัญค่ะ
http://lanpanya.com/deli/

สวัสดีครับ อ. แว๊บ

ขอปลุกผีกระทู้เก่านะครับ

ข้อ 1 นั้นอธิบายง่ายๆเนื่องจากสภาวะการขาดแคลนอาจารย์ครับ คนเก่งไม่นิยมมาเป็น อ.

สมัยผมเรียน ป.ตรี ด้านวิศวะไฟฟ้า ร้อยวันพันปีจะมี นศ. ที่เรียนได้ระดับเกียรตินิยม ซึ่งสมัยนั้นเป็นช่วงที่วิศวะเฟื่องฟูมาก จบไปได้งานทำชัวร์ เงินเดือนก็ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับ ป.ตรี สาขาอื่นๆ อีกทั้งสถาบันการศึกษาเริ่มมีการเปิดภาคพิเศษกันเป็นดอกเห็ด จึงทำให้อัตราส่วน อ. กับ นศ. ไม่พอครับ จึงต้องมีการจีบ นศ. ที่มีแววมาเป็น อ. ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด

ผ่านไป 10 ปี ผมก็มาเจอการแก้ปัญหาแบบนี้อีกครั้งที่แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ ชีวิตไม่หวือหวา เงินเดือนไม่เร้าใจ เรียกว่ายากที่จะหาคนมาทำงานที่นี่ครับ กลยุทธการชักจูง นศ. ในพื้นที่ ที่มีผลการเรียนดีเลยถูกนำมาใช้อีกครั้งครับ

เรื่องวิชาทำครัวนั้นผมว่าเหมาะกับหนุ่มๆในยุคสมัยนี้นะครับ เพราะศรีภรรยายุคใหม่เป็นแม่บ้านอาหารถุงกันหมดแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท