BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

(สะพาน) ชมัยมรุเชษฐ


ชมัยมรุเชษฐ

วันแรกที่กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนย้ายจากสะพานมัฆวานไปยังหน้าทำเนียบแล้วก็ปรากฎชื่อสะพาน ชมัยมรุเชษฐ นั้น... ผู้เขียนก็สงสัยคำนี้ทันที  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ชมัย  เพราะแปลไม่ถูก และไม่คุ้นตา... ส่วนคำว่า มรุ และ เชษฐ นั้น  เห็นถึงก็รู้ว่าแปลว่าอย่างไร...

ลองค้นคัมภีร์บาลีหลายเล่ม ก็ไม่เจอคำที่ใกล้เคียงกับ ชมัย เลย... อีก ๒-๓ วันต่อมา ได้ฟังท่านนายกสมัครบอกว่า ชมัย แปลว่า สอง จึงลองค้นใน Thai-English Dictionary ของ ศ.ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ไม่เจอคำว่า ชมัย แต่เจอคำว่า ชไม ในหน้า 377 ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า...

  • ชไม (ชะ-ไม) (ว. .ข.) ทั้งสอง. ทั้งคู่่ (cha-mai) (adj. both)

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ชไม หรือ ชมัย มาจากภาษาเขมร และที่เห็นอยู่ประจำก็ชื่อหญิงไทยทั่วไปว่า ชไมพร หรือ ชมัยพร ซึ่งอาจแปลได้ว่า ผู้มีพรสองประการ

............

  • ชมัย + มรุ + เชษฐ = ชมัยมรุเชษฐ

ชมัย แปลว่า สอง, ทั้งคู่

มรุ แปลว่า เทวดา หรือ เทพเจ้า... ในที่นี้หมายถึง สมมุติเทพ โดยตรงอาจหมายถึง พระราชา หรือ กษัตริย์ ...  แต่เมื่อพิจารณาความหมายอ่อนลง อาจหมายถึง  พระบรมราชวงศ์ชั้นสูง  ซึ่งจัดเป็นสมมุติเทพเหมือนกัน... และถ้าจะถือเอาคำที่ใช้เรียกพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงแล้ว ก็อาจใช้คำว่า เสด็จ

เชษฐ แปลว่า พี่, ผู้ใหญ่

ดังนั้น ชมัยมรุเชษฐ อาจแปลง่ายๆ ได้ความชัดเจนทันทีว่า เสด็จพี่ทั้งสองพระองค์ หรือ ทูลกระหม่อมพี่ทั้งสองพระองค์ ก็พอได้

ซึ่งนัยนี้ ผู้เขียนแปลตามนัยที่ท่านนายกสมัครบอกว่า ยังมีสะพาน อุภัยเจษฐทิศ (อุภัย +เจษฐ+ทิศ) ซึ่งท่านให้ความหมายทำนองว่า อุทิศให้เสด็จพี่ทั้งสอง

...............

อนึ่ง คำว่า มรุ นั้น ในภาษาบาลี มาจาก มรฺ รากศัพท์ ใช้ในความหมายว่า ตาย .. แต่เมื่อนำมาใช้ก็หมายถึง เทวดา และ ทราย โดยท่านอธิบายไว้ว่า...

  • ทีฆายุโกปิ สมาโน ยถาปริจฺเฉทกํ สมฺปตฺตกาเล มรติ สีเลนาติ มรุ
  • เทวดาใด แม้เป็นผู้มีอายุยืน ย่อมตาย ในกาลที่อายุขัยถึงพร้อม ตามที่กำหนดไว้ โดยปกติ ดังนั้น เทวดานั้น ชื่อว่า มรุ (ผู้ตาย)

อธิบายสั้นๆ ว่า เทวดานั้น แม้จะอายุยืนยาวเพียงใด แต่สักวันหนึ่งก็ต้องตายแน่นอน... อนึ่ง อายุของบรรดาเทวดายาวมาก ทำให้ได้ชื่ออีกอย่างหนึ่ง อมร แปลว่า ผู้ไม่ตาย คงจะหมายว่าไม่ใช่ตายง่ายๆ... ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่า มรุ ผู้ตาย และ อมร ผู้ไม่ตาย หมายถึงเทวดาเหมือนกัน

เทวดา ตามนัยต้นนั้น หมายถึง  อุบัติเทวดา คือเทวดาที่เกิดขึ้นในสวรรค์ ... แต่ยังมี วิสุทธิเทวดา ได้แก่ พระอรหันต์ ในความหมายว่ามีคุณควรแก่การยกย่องยิ่งกว่าเทวดา จึงจัดเป็นเทวดาได้เช่นเดียวกัน... และ  สมมุติเทวดา หมายถึง  มนุษย์ที่ถูกสมมุติให้เป็นเทวดา ได้แก่กษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงทั่วไป... ในคำว่า ชมัยมรุเชษฐ ผู้เขียนคิดว่า หมายถึง สมมุติเทวดา ซึ่งเราเรียกกันอีกนัยหนึ่งว่า เสด็จ

 

  • สตฺฺตา มรนฺติ อเนนาติ มรุ
  • สัตว์ทั้งหลาย ย่อมตาย ด้วยทรายนี้ ดังนั้น ทรายนี้ ชื่อว่า มรุ (เป็นเหตุตายแห่งสัตว์)

มรุ ที่แปลว่า ทราย ตามวิเคราะห์นี้ หมายถึงทรายในทะเลทรายที่ทุรกันดาร สัตว์เหล่าใดหลงไปในที่เหล่านั้นซึ่งมีแต่ทรายแล้ว ก็อาจตายได้... ตามนัยนี้ มรุ อาจหมายถึง ทราย ทะเลทราย หรือท้องถิ่นที่ทุรกันดารยากแก่การดำรงอยู่... นัยนี้คงจะไม่เกี่ยวกับความหมายในคำว่า ชมัยมรุเชษฐ

...........

และคำว่า เชษฐ นั้น อาจเขียนตามบาลีเดิมได้ว่า เชฎฐ ซึ่งนักเรียนบาลีเริ่มแรก จะถูกบังคับให้ท่องว่า เชฏฺโฐ เชฎฺฐา เชฏฺฐํ ผู้เจริญที่สุด... และเมื่อเรียนต่อไปก็จะรู้ว่า คำนี้เป็นศัพท์ตัทธิต โดยมีวิธีการปรุงศัพท์ดังนี้

วัฑฒกะ แปลว่า ผู้เจริญ เมื่อจะลงปัจจัยในตัทธิตก็ให้แปลงศัพท์ว่า วัฑฒกะ เป็น ช.ช้าง ( ชะ ) แล้วก็ลง อิฏฐะ ปัจจัย (ทำนองเดียวกับ ...est ปัจจัยในภาษาอังกฤษ) นั่นคือ

  • ชะ + อิฎฐะ = ชิฏฐะ (เชฏฐะ)

แต่ ชิฏฐะ นั้น ออกเสียงยาก ดังนั้น เพื่อการออกเสียงได้สะดวก จึงแปลงสระอิ เป็นสระเอ จึงกลายเป็น เชฏฐะ (ชิฏฐะ - เชฏฐะ) แปลว่า ผู้เจริญที่สุด

เชฎฐะ หรือ เชษฐ ที่แปลตามตัวว่า ผู้เจริญที่สุด นี้ นำไปเป็นคุณนามแทนคำนามอื่นๆ ได้เยอะ เช่น พี่ พี่คนโต ผู้ใหญ่ หัวหน้า จ่าฝูง หรือพระบรมศาสดา  เป็นต้น... ส่วนในคำว่า ชมัยมรุเชษฐ น่าจะหมายถึง พี่ ตามความเห็นที่เล่าไว้เบื้องต้น

..........

เล่ามาพอสมควรแล้ว... สรุปว่า ชมัยมรุเชษฐ เป็นคำผสมระหว่างภาษาเขมรกํบบาลีสันสกฤต แปลว่า เสด็จพี่ทั้งสองพระองค์ ... จัดว่าเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์ไทยที่จะให้คล้องจองกันว่า ชมัยมรุเชษฐ อุภัยเจษฐทิศ...

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ใกล้สะพานชมัยมรุเชษฐนั้น ไม่เกี่ยวกับบันทึกนี้ (5 5 5...)

 

หมายเลขบันทึก: 191809เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2008 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • มาเข้าเรียนภาบาลี ครับกระผม

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • เข้ามานั่งเรียนตาแป๋ว ด้วยคนนะคะ
  • ทั้ง ๆ ที่ไปประจำ ฟัง กิน คุย ฟัง กิน คุย แล้วก็กลับ
  • สะดุดแค่ความไพเราะของชื่อเท่านั้นค่ะ
  • วันนี้ได้รู้ความหมายแล้ว
  • กราบขอบพระคุณค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • ขอเรียนด้วยคนนะค่ะ
  • วันนี้อิ่มใจได้ทำบุญหลายอย่าง ...(กับผู้ป่วย)
  • ได้ความรู้ภาษาบาลี ... ที่อยากรู้
  • ..............................
  • กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

 

ขอเข้ามาเรียนด้วยคน

มีคนมาเรียนกันเยอะ

ขอบคุณ

/นมัสการพระคุณคุณเจ้า

ขอเป็นศิษย์ด้วยคน

ภูมิปัญญาของปราชญ์ไทยน่าศึกษาค้นคว้า

ยิ่งตำรายาแผนแตแรกอ่านแล้วชวนคิด

/มารุม มากุม ขานางทั้งสอง สะเดา คนที นี้ก็เข้ายา

P

 บังหีม

 

  • มารุม = มะรุม
  • มากุม = ยางตุ่ม
  • ขานางทั้งสอง = โดกไก่
  • สะเดา คนที ชัดเจนแล้ว

ทายว่า ยาชนิดนี้ ทำให้เจริญอาหาร แก้โรคผอมแห้งแรงน้อย เพราะเข้าของขม... บังหีม ช่วยเฉลยและให้คะแนนด้วย (5 5 5...)

 

อย่างหนึ่งที่เคยจำมาคือ สามพันดอก สามพันราก สามพันยอด จัดเป็นยาอายุวัฒนะ...บังหีม พอรู้หม้าย...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

เป็นความรู้ที่ใด้แลกเปลี่ยน

ผมก็ยังไม่ชัดระหว่าง โดกไก่ กับขานาง ที่พบเห็น ขานางเป็นไม้พุ่มยืนต้นสูง แต่ยังไม่ทราบสรรพคูณ ที่นำเรียนมาเพระเห็นเป็นภูมิปัญญา

ส่วนว่า สามพันดอก ที่จัดว่าเป็นยาอายุวัฒณะ สาว่าคือ น้ำผึ้งรวง ข้อควรระวังในการซื้อน้ำผึ้รวง ที่คนเดินขายเขาบอกว่าน้ำผึ้งของเขาเป็น น้ำผึ้ง ลวง แท้ 55555

ส่วนว่า สามพันราก น่าว่าเป็น แม่น

ที่นี้ สามพันยอด สาสาอี้เป็น ค่าง ทั้งสามอย่างทีกล่าวมา ล้วนเข้าอายุวัฒณะทั้งสิ้น

แต่ที่นี้เขาบอกว่า

กินเท่ากินไม่หายยาก

แต่พอกินมากเจ็บหมูก

ต้องให้ตีนป้อนลูก

ให้หมูกป้อนปาก

ครับผม

P

บังหีม

 

ก็มั่วไปนั่นแหละ... เคยเรียนเภสัชกรรมโบราณมาปีสองปี กะว่าจะลองสอบดู พอดีตอนนั้นเค้าออกระเบียบใหม่ว่าห้ามพระภิกษุเข้าสอบ... ถ้าเค้าให้สอบและบังเอิญสอบได้ ตอนนั้นอาจสึกไปเปิดร้านขายยาแล้วก็ได้ (แต่รู้สึกว่าตอนนี้อนุญาตให้พระภิกษุสอบได้อีกแล้ว)... ประจวบกับตอนนั้นเริ่มเรียนบาลีด้วย เมื่อเข้าสอบไม่ได้จึงเลิกเรียน และนานๆ ก็ลืมเลือนไปเกือบหมด เ่ท่าที่พอยังรกหัวสมองอยู่มั้ง ก็ไว้ขัดคอหรือโม้เล่นๆ เท่านั้น (5 5 5...)

  • ก็นึกแล้วว่าระดับ บังหีม ต้องรู้แน่นอน...

สามพันดอก คือ น้ำผึ้งรวง มาจากเกษรดอกไม้นานาพันธุ์ (ผึ้งเลี้ยง ผึ้งลวง ก็พอใช้ได้ แต่คุณภาพต่ำ)

สามพันราก คือ กระเพาะแม่น มันขอบกินรากไม้ จะรู้ว่ารากชนิดใดมีพิษและจะแก้ด้วยรากไม้ชนิดใด... ต่อมายางฝาดของรากไม้จะเคลือบอยู่ที่กระเพาะของมัน....

สามพันยอด คือ กระเพาะค่าง มันชอบกินยอดไม้ จะรู้ว่ายอดไม้ชนิดใดมีพิษและจะแก้ด้วยยอดไม้ชนิดใด... ต่อมายางฝาดของยอดไม้จะเคลือบอยู่ที่กระเพาะของมัน..

เมื่อนำกระเพาะค่างและกระเพาะแม่นไปดองในน้ำผึ้งรวง รสฝาดที่เคลือบอยู่ที่กระเพาะสัตว์ก็ค่อยๆ ซึมซับออกมาผสมกับน้ำผึ้งก็จะกลายเป็นยาอายุวัฒนะ โดยรับประทานครั้งละ ๒-๓ ช้อนแกง...  สรรพคุณก็คือ น้ำผึ้งรวง มีรสหวาน กลิ่นหอม ทำให้ชื่นใจ บำรุงใจ ส่วนรสฝาดจากกระเพาะค่างและกระเพาะแม่นจะเป็นยาคุมธาตุชั้นเลิศ...  สรุปว่า ทำให้สุขภาพดี  ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว  โดยประการฉะนี้

เจริญพร

อิอิ555555555555555555555555555555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท