ผลกระทบอุทกภัยและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย


ผลกระทบอุทกภัยและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ผลกระทบอุทกภัยและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตภูมิภาคตะวันออก : กรณีศึกษาจังหวัดจันทบุรี

ดร.ศรีสกุล  เฉียบแหลม* และคณะ**

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจและเชิงบรรยาย (survey and descriptive research) เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากภาวะอุทกภัย ความต้องการความช่วยเหลือและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆเมื่อเกิดภาวะอุทกภัยในเขตจังหวัดจันทบุรี  ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือประชาชนจังหวัดจันทบุรีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในปี พ.ศ.2549 ได้แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง(6 ตำบล) และอำเภอท่าใหม่(1ตำบล) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายที่รุนแรง  ซึ่งผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นเองเพื่อประเมินผลกระทบด้านร่างกาย สภาพทางสังคมเศรษฐกิจ และใช้แบบประเมินของกรมสุขภาพจิต(GHQ-12 Plus-R) เพื่อประเมินภาวะสุขภาพทางด้านจิตใจ      วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้โปรแกรมSPSS  หาค่าเฉลี่ย(X)  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) ค่าร้อยละ และ การวิเคราะห์สาระ(content analysis)

 

                จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า  ผู้ประสบภัยน้ำท่วมส่วนใหญ่ร้อยละ 92.7 เคยได้รับความเสียหายเมื่อปี 2542  ระยะเวลาน้ำท่วมนาน 4-6 วัน ระดับน้ำสูงกว่า 100 เซนติเมตรคิดเป็นร้อยละ 55.7  เวลาที่เกิดภาวะน้ำท่วมมักเกิดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจังหวัดจันทบุรี แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระหว่างน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม      ในช่วงระหว่างน้ำท่วมผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านร่างกายคือประชาชนมีการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ คือ ไข้หวัด โรคผื่นคันน้ำกัดเท้า ท้องร่วง ตาแดงและ สัตว์มีพิษกัด  โรคที่เกิดขึ้นน้อยที่สุดแต่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตถึง 3 ราย คือโรคฉี่หนู   ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจ คือ มีอาการปวดศรีษะ นอนไม่หลับ หวาดผวา    ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังน้ำท่วมทางด้านร่างกาย  ได้แก่ โรคปวดหลังจากการขนย้ายของและทำความสะอาดที่อยู่อาศัย  โรคประจำตัวกำเริบ ได้แก่  โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง  และโรคหัวใจ  ผลกระทบทางด้านจิตใจจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 737 ราย พบผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตจำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.53  คือมีอาการเครียด ปวดศรีษะนอนไม่หลับ เนื่องจากการไม่มีรายได้ สูญเสียทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบอาชีพ           การต้องการความช่วยเหลือของผู้ประสบภัยน้ำท่วม แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1)ระยะก่อนน้ำท่วม ทางจังหวัดควรมีการประชาสัมพันธ์ที่รวดเร็วทันการณ์  2)ขณะน้ำท่วม ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ร้อยละ 84.6 ต้องการให้หน่วยราชการ เช่น เทศบาล โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุข มาให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรคให้ทันท่วงทีและทั่วถึงทุกบ้าน 3)หลังน้ำท่วม ต้องการเงินทุนช่วยเหลือในการซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพ   เงินทดแทนพื้นที่สวน นา ไร่ ที่เสียหาย และควรมีการขุดลอกท่อ ทางระบายน้ำ เป็นต้น

                ประโยชน์ที่ผู้วิจัยได้รับจากการทำวิจัยครั้งนี้ คือ แนวทางในการสร้างบทเรียนเรื่อง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ 1)บทเรียนการช่วยเหลือก่อนประสบภัยน้ำท่วม  2)บทเรียนการช่วยเหลือขณะประสบภัยน้ำท่วม และ3)บทเรียนการช่วยเหลือหลังประสบภัยน้ำท่วม โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติน้ำท่วมของจังหวัดจันทบุรีได้ในอนาคต

 

 

หมายเลขบันทึก: 191405เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้

และลําลังทํางานพอดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ได้ความรู้

และกําลังทํางานพอดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท