R2S


งานวิจัยสำหรับบุคลากร

 

                                                งานวิจัยสำหรับบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์

ในสถาบันอุดมศึกษา

 

สมเกียรติ วรประวัติ

 

 


1.      บทนำ   

 

ด้วยบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) จะใช้คำนิยามตามมาตรา  18 (ค)  ว่า ตำแหน่งประเภททั่วไป วิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)  ซึ่งผู้เขียนบทความขอใช้คำว่า บุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา แทนก็แล้วกัน(ซึ่งของเดิมจะเป็นบุคลากรสาย ก สาย ข และสาย ค ซึ่งผู้เขียนต้องการสื่อความหมายเฉพาะบุคลากรสาย ข และสาย ค เท่านั้น) เพื่อสะดวกแก่การเขียนบทความนี้  บุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมักจมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดทำ หรือการนำเสอนผลงานวิจัยไม่มากก็น้อย แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน อีกทั้ง     การพัฒนางานวิจัยของบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจาย์ในสถาบันอุดมศึกษา เป็นไปอย่างค่อนข้างช้า ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าคนที่ทำงานในสายนี้ มักจะปฏิบัติงานตามคำสั่ง ซึ่งเป็นงานประจำเสียส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือ คนทำงานในสายนี้ มักจะให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ และให้ความสำคัญกับด้านเทคนิคของงานมากกว่า ที่จะให้ความสนใจในด้านแนวคิดและด้านแสวงหาความรู้ใหม่  ซึ่งในบริบทของบทความวิชาการในเรื่องนี้ ต้องการสื่อให้รู้ว่าบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษานั้น สามารถทำผลงานวิชาการในด้านงานวิจัยได้ โดยไม่ยากอย่างที่คิด หรือไกลเกินเอื้อมไป     อีกทั้งต้องการส่งเสริมให้บุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว     ได้ทำผลงานวิจัยให้มากขี้น ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งในตอนต้นนี้ขอให้พิจารณาในคำนิยามดังนี้

 

นิยามเบื้องต้นสำหรับ คำว่า วิจัย  มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลาย ดังนี้ พจน์ สะเพียรชัย กล่าวว่า "การวิจัยคือวิธีแก้ปัญหาที่มีระบบแบบแผนเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดความรู้ที่เชื่อถือได้" อนันต์ ศรีโสภา กล่าวว่า "การวิจัยเป็นกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้จากปัญหาที่ชัดเจน อย่างมีระบบ โดยมีการทดสอบสมมติฐานที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในเรื่องนั้นๆ เพื่อนำไปพยากรณ์ หรือสังเกตการเปลี่ยนแปลงเมื่อควบคุมสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คงที่"    เบส (Best) ให้ความหมายไว้ว่า "การวิจัยเป็นแบบแผนหรือกระบวนการวิเคราะห์อย่างเป็นปรนัย มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ มีการจดบันทึกรายงาน และสรุปผลเป็นกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีขึ้น เพื่อนำไปอธิบาย ทำนาย หรือควบคุมปรากฎการณ์ต่าง ๆ"  เคอร์ลิงเจอร์ (Kerlinger) ให้ความหมายว่า "เป็นการใช้ข้อมูลในการตรวจสอบสมมติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ของปรากฎการณ์ธรรมชาติ โดยมีการควบคุมอย่างเป็นระบบสม่ำเสมอ  [1]

 

ส่วน คำว่า วิจัย  ของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่า วิจัยคือ การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา ในขณะที่ต่างประเทศให้ความหมายงานวิจัยว่า เป็นการสร้างความรู้ใหม่หรือสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ศึกษา โดยต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ซึ่งจากความหมายทั้งหมดนี้สามารถนำมาประมวลเป็นความหมายที่กระชับและเข้าใจได้ง่าย        นั่นคือการวิจัย คือกระบวนการสร้างความรู้อย่างเป็นระบบดังนั้น การวิจัยตามความหมายนี้ จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะนักวิจัยที่อยู่ในสถาบันการศึกษาระดับสูงเท่านั้น แต่หมายถึงใครก็ตามที่สามารถสร้างความรู้ได้ ย่อมมีบทบาทเป็นนักวิจัยเช่นกัน  [2]

 

2.      งานวิจัยสำหรับบุคลากรสายสนับสนุน

 

ในความคิดและความเข้าใจเดิมๆ ของบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาและในสายงานอื่น ที่มีความเกี่ยวข้องกับการวิจัยและไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้นมักจะมีความคิดว่า การวิจัยเป็นเรื่องของกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือเป็นของนักวิชาการระดับสูง หรือเป็นของบุคลากรสายอาจารย์ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง หากพิจารณาให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่าการวิจัยสามารถเกิดได้ในทุกระดับของบุคคากรและในทุกสายงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนภายในตัวมหาวิทยาลัย          โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งการทำวิจัยนั้นยังสร้างองค์ความรู้และเป็นการนำเอาความรู้นั้นมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อีก หรือเป็นการสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนางานของหน่วยงานตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย

                ในเมื่อบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา มีความต้องการที่จะลงมือทำวิจัยจริงๆ นั้น จะมีลำดับขั้นตอน และรายละเอียดของสิ่งที่ผู้ที่จะทำวิจัยควรรู้ ก็คือลำดับขั้นตอนการทำวิจัย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวางแผนดำเนินการวิจัย ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ลำดับขั้นตอนการทำวิจัย อันได้แก่ การเลือกเรื่อง เลือกปัญหา และการกำหนดปัญหาการวิจัย, การทบทวนเอกสาร วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง, การกำหนดกรอบแนวคิดหรือทฤษฎี, การตั้งสมมติฐาน, การกำหนดตัวแปรและการวัด, การกำหนดหรือวางรูปแบบการวิจัย, การเตรียมและพัฒนาเครื่องมือในการวิจัย, การกำหนดกลุ่มประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง, การเก็บรวบรวมข้อมูล, การเตรียมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์, การวิเคราะห์ข้อมูล, การแปลผลจากการวิเคราะห์ข้อมูล, การเขียนรายงานวิจัย, การนำเสนอผลงานการวิจัยและการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) ซี่งการวิจัยจะป็นกระบวนการค้นคว้าหาความรู้หรือการประดิษฐ์คิดค้น ด้วยวิธีการที่เป็นระบบที่เรียกว่า "วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Method)" ซึ่งเป็นวิธีการค้นหาความรู้โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical Data) ที่สังเกตวัดค่าได้ และพิสูจน์ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสากล

จากขั้นตอนการทำวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยอย่าเพิ่งวิตกกังวลอะไร หรือมีข้อกังขาในเบื้องต้นก่อน พยายามค่อยๆ ทำ และค่อยขีดๆ และค่อยๆ เขียนในแต่ละลำดับขั้นตอนของการวิจัยไว้ที่ละน้อยก่อน แล้วค่อยนำมาวิแคราะห์และค่อยๆ เรียบเรียงให้เกิดความสอดคล้องกัน ในแต่ละหัวข้อของลำดับขั้นตอนของการทำวิจัย ทั้งนี้ถ้าท่านไม่เขียนความคิดออกมาก่อนท่านก็จะเสียโอกาส เพราะความคิดอาจจะเปลี่ยนไป และจะรู้สึกว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหน ทั้งนี้ พยายามถามหรือแสวงหาแนวทางการทำวิจัย จากผู้ที่เคยทำวิจัยมาก่อน แล้วจะได้คำตอบและทิศทางในเบื้องต้นได้ หลังจากนั้นก็หาองค์ความรู้โดยรวมของการวิจัยในเรื่องที่เราได้ทำ ซึ่งมีหลายวิธีไม่ว่าจากการค้นคว้าจากตำรา จากผลงานการวิจัยของผู้อื่น หรือค้นจาก Internet เป็นต้น ซึ่งการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ท่านสำเร็จตามเงื่อนไขของการวิจัยนั้น คือการกำหนดกระบวนการวิจัย อาจจะเป็นสิ่งสำคัญกว่าผลได้ของการวิจัย ดังนั้นความคิดที่เป็นอันแรกและทั้งทมดของการวิจัย ควรจะเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ของบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้ท่านพอเห็นแนวทางที่จะทำวิจัยได้แล้ว โดยไม่ยากเกินไปนัก เพียงแต่ท่านพอที่จะมีความคิคความอ่านในการที่จะเริ่มต้นการทำวิจัยให้ได้ เมื่อได้แล้วค่อยๆ หาคำตอบและวิธีการไปเรื่อยๆ อย่างมีหลักเกณฑ์ภายใต้หลักการทางวิชาการที่ถูกต้อง ก็มีชัยไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้วของการทำวิจัย และเมื่อทำมาจนเสร็จแล้วจะต้องมีการตีพิมพ์นั้น ก็ไปพิจารณาหาแหล่งตีพิมพ์ทางวิชาการในสาขาวิชานั้นๆ เพื่อก่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ในกระบวนการทำวิจัยนั้นเอง     

หลังจากได้ผลงานการวิจัยที่ได้ดำเนินการจัดทำเป็นที่แล้วเสร็จไปสู่การนำเสนอและการเผยแพร่แล้วก็จะทำให้ท่านพอที่จะเล็งเห็นประโยชน์ของการวิจัย ทั้งในด้านการนำผลการวิจัยมาช่วยตัดสินใจ  หรือนำมาใช้แก้ปัญหาการดำเนินงานภายในหน่วยงานของท่านได้  ตลอดจนการนำเอาองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยมาพัฒนาองค์กร และกำหนดนโยบายที่สำคัญต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง  แต่ความมากน้อยของประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยในแต่ละครั้งย่อม ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ความรู้และความเข้าใจของผู้ทำวิจัยที่มีต่องานวิจัยนั้นๆ  ทั้งนี้เพราะผู้ทำวิจัยเป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหา ออกแบบการวิจัย วิเคราะห์และแปลผลข้อมูลที่ได้ หากผู้ทำวิจัยมีความเข้าใจ สามารถออกแบบการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ผลการวิจัยที่ได้ย่อมมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน ซึ่งปัญหาที่พบโดยทั่วไป สำหรับบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา หรือผู้ที่เริ่มทำงานวิจัย คือ ความวิตกกังวล และมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการวิจัยไปในเชิงที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น โครงการวิจัย ต้องเป็นโครงการใหญ่  ใช้สถิติขั้นสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความลังเล ท้อถอย และคิดว่าไม่สามารถทำการวิจัยได้ แต่โดยแท้จริงแล้ว การวิจัยไม่จำเป็นจะต้องเป็นโครงการใหญ่ หรือใช้สถิติขั้นสูง ทั้งนี้เพราะการวิจัยเป็นวิธีการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ในสิ่งที่วิจัยนั้น ผลการวิจัยที่ได้อาจนำไปตั้งเป็นกฎ ทฤษฎี หรือใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ทำวิจัยเองก็ยังได้   หรือแม้กระทั้งใช้แก้ปัญหา หรือตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการวิจัยที่ถูกต้อง ผู้วิจัยจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และผู้วิจัยต้องพยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องของการวิจัย โดยทำความเข้าใจว่าการวิจัยที่แท้จริงนั้นคืออะไร  เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น ตลอดจนเกิดเจตคติที่ดี และมีความมั่นใจในการทำวิจัยเพิ่มขึ้น สามารถนำเอาความรู้ เทคนิคต่างๆ ไปใช้ในการทำงานวิจัยของตนได้อย่างถูกต้องต่อไป

 

  

3. รูปภาพ

รูปที่ 1 ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

 

รูปที่ 2 ลำดับขั้นตอนการทำวิจัย


4. สรุปและข้อเสนอแนะ

ในส่วนของการสรุปและข้อเสนอแนะในเรื่อง งานวิจัยสำหรับบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                สรุป

ในการสรุปผลพอที่จะพิจารณาออกมาเป็นประเด็นที่ได้ดังนี้

1. ในเรื่องของบริบทของงานวิจัยสำหรับบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษานั้น คือความวิตกกังวล ความลังเล ท้อถอย และคิดว่าไม่สามารถทำการวิจัยได้ ซึ่งผู้วิจัยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยในเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจ และพยายามศึกษาจากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วค่อยหาคำตอบในเรื่องที่ยังคาใจ โดยทำความเข้าใจว่าการวิจัยที่แท้จริงนั้นคืออะไร  เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำวิจัย แล้วนำไปสู่การทำผลงานวิจัยของเราเองให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของเราให้จงได้ ดังนั้นพึงคิดเสมอว่าการวิจัยคือการลงทุน (Investment) เมื่อได้เริ่มงานวิจัยไปในส่วนหนึ่งแล้วและมีปัญหา หรืออุปสรรคต่างๆ  อย่าพยายามเลิกความคิดในการทำวิจัยนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่า(Sunk Cost) นั้นเอง

2.ในการท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวในปัจจัยต่างๆ ของการวิจัยนั้น ยังมีสิ่งท้าทายที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในที่ผู้วิจัยจะต้องเผชิญอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหรือระบบหรือสถานที่ทำงานของผู้วิจัยเองที่ไม่ยืดหยุ่นและมีลักษณะแยกส่วน ขาดการปรับตัวที่ไวเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง ขาดทิศทางนโยบายการวิจัย  ขาดการเชื่อมโยงการวิจัยอย่างเป็นระบบ  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้วิจัยะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานได้ด้วยการทำวิจัยให้เป็นพื้นฐานของงานประจำ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงาน และตนเองต่อไปในอนาคต

 

3. หากงานวิจัยที่บุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา ได้ปรากฏสู่สาธารณะชนแล้ว มีความเที่ยงตรง นำเสนอสิ่งที่เป็นความจริงที่สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้เป็นอย่างดีนั้น ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ การที่จะให้ได้มาซึ่งงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพ จำเป็นต้องมีส่วนประกอบสำคัญหลายประการ นอกจากการดำเนินตามระเบียบวิธีการวิจัยอย่างมีคุณภาพแล้ว คุณธรรมหรือจรรยาบรรณของผู้ทำการวิจัยก็เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งด้วยเช่นกัน

 

                ข้อเสนอแนะ

ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้นพอที่จะพิจารณาออกมาเป็นประเด็นได้ดังนี้

1. บุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษา ต้องพยายามที่จะเริ่มต้นการทำวิจัยจากปัญหา และคำถามจากหน้างาน หรืองานประจำที่ตนเองทำและรับผิดชอบอยู่จะเป็นการดี เพราะแต่ละคนมีงานที่ต้องทำต่างกัน ทำงานต่างตำแหน่ง ต่างบทบาท ต่างหน้าที่ หรือ ต่างบริบทกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแยกแยะได้ว่าการทำวิจัยนี้เป็นการทำวิจัยในงานประจำ หรือเป็นวิจัยทั่วๆ ไป    หรือเป็น R&D อีกทั้ง เป็นการทำให้เราได้แยกแยะในแง่ของการสร้างผลงานในเชิง  Initiation, Creation หรือ Innovation ทั้งนี้เพื่อการสร้างความน่าเชื่อถือตามหลักวิชาการในงานวิจัยได้ในระดับหนึ่ง

2. การทำวิจัยจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่างานวิจัยที่ท่านได้ทำนั้น สามารถจะแก้ไขปัญหา พัฒนางาน หรือต่อยอดงาน หรือขยายผลงาน ที่ได้ทำอยู่อย่างไรเพื่อสร้างความชัดเจนของเป้าหมายของการทำวิจัย

3. การทำวิจัยของบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาจะต้องพยายามเริ่มต้นด้วยที่ใจอยากทำ และมีทัศนคติที่ดีต่อการทำวิจัย และไม่ควรฝืนความรู้สึกของผู้ทำวิจัย อีกทั้งจะต้องไม่รู้สึกว่าเป็นการสร้างภาระให้กับตนเองหรือภาระงานที่ตนเองเป็นผู้ทำ

4. บุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบัน อุดมศึกษาเมื่อได้มีการทำวิจัยแล้วจะทำให้เราได้เห็นถึงวิธีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและทีมงานในกระบวนการทำงานวิจัยที่เราได้ทำขึ้นมานั้นเอง

 

กิตติกรรมประกาศ

ตามที่ข้าพเจ้า นายสมเกียรติ วรประวัติ ได้จัดทำบทความทางวิชาการเรื่อง งานวิจัยสำหรับบุคลากรที่ไม่ใช่สายอาจารย์ ในสถาบัน อุดมศึกษา)    ได้รับความเกื้อหนุนและกำลังใจจากบรรดาพี่ๆ และน้องๆ เพี่อนร่วมงานเป็นอย่างดียิ่ง  ซึ่งข้าพเจ้าขอขอบคุณ เป็นอย่างยิ่ง

ในการนี้     ข้าพเจ้าได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านทุนทรัพย์    กำลังกาย   กำลังใจ    จากครอบครัว     

หมายเลขบันทึก: 191401เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท